สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วิจัยทุจริตประพฤติมิชอบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชุดที่ 1
ชื่อรายงานการวิจัย      รายงานฉบับสมบูรณ์การทุจริตและประพฤติมิชอบในหน่วยราชการไทย
                              กรณีศึกษาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สถานีตำรวจนครบาล)
ชื่อนักวิจัย                 รศ.ดร.สุพจน์ จุนอนันตธรรม, อาจารย์วิษณุ วงศ์สินศิริกุล, อาจารย์ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร
หน่วยงานวิจัย            สถาบันวิจัยสังคมและเศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
แหล่งทุนวิจัย             สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชุดที่ 1
สถานภาพ                 โครงการที่ทำเสร็จแล้ว เมื่อ พ.ศ. 2547
บทคัดย่อหรือบทสรุปผู้บริหาร
บทคัดย่อ
    1. วัตถุประสงค์โครงการวิจัย
        1. เพื่อศึกษาถึงปัญหาและสาเหตุของ การทุจริตและประพฤติมิชอบของข้าราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในสถานีตำรวจนครบาล
        2. เพื่อศึกษาวิเคราะห์กระบวนการ และวิธีการในการทุจริตคอร์รัปชันในแต่ละขั้นตอน การทำงานของข้าราชการสำนักงานตำรวจ แห่งชาติ ในหน่วยงานที่ทำการศึกษา
        3. เพื่อสร้างแบบจำลอง(Model)ของการทุจริตและประพฤติมิชอบของข้าราชการในหน่วยงานที่เลือกศึกษาของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
        4. เพื่อเสนอแนะเชิงนโยบายนำไปสู่การสร้างแนวทาง และวิธีการ รวมไปถึงรูปแบบในการแก้ไขและป้องกัน ปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบของข้าราชการ ในหน่วยงานที่ศึกษาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
    2. รูปแบบการศึกษาวิจัยที่ใช้
        การศึกษาในโครงการนี้จึงมุ่งศึกษาในปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบเฉพาะของสถานีตำรวจนครบาล โดยให้น้ำหนักในประเด็นของ งานในลักษณะต่างๆ กันที่ตำรวจในเขตนครบาลต้องเกี่ยวข้องกับประชาชน โดยศึกษาจาก
        (ก) เอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
        (ข) สัมภาษณ์เชิงลึกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานของตำรวจ
        (ค) การจัดการสัมมนา เพื่อระดมความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องกับวงการตำรวจ
    3. ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
        จำนวนตัวอย่างที่จะศึกษาทั้งสิ้น 5 สถานีตำรวจ โดยจะเลือกศึกษาสถานีที่มีการกระจายของลักษณะงานที่แตกต่างกันไป คือ นอกจากงานที่เรียกว่างานธุรการหรืออำนวยการแล้ว งานที่สถานีตำรวจนั้นยังรวมถึงงานปราบปราม สืบสวน สอบสวน และงานด้านสายจราจร เพราะงานที่ตำรวจต้องปฏิบัติจะเกี่ยวโยงไปถึง ผลประโยชน์ทางรายได้ที่สามารถเกิดขึ้นได้ ถ้าตำรวจทำการทุจริตประพฤติมิชอบ ทำให้รู้ได้ว่าสถานีตำรวจในที่แตกต่างกัน ที่มีสัดส่วนของกิจกรรมที่แตกต่างกันจะมีรายได้จากคอร์รัปชันที่อาจแตกต่างกันได้ จำนวนตัวอย่าง 5 สถานีตำรวจนี้เป็นร้อยละ 6 ของสถานีตำรวจทั้งหมด 88 สถานีที่มีอยู่ในเขตนครบาล ในทางสถิติถ้าจำนวนตัวอย่างมีเกินกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนประชากรและการคัดเลือกสถานี เป็นการทำตามที่กล่าวข้างต้นแล้วก็ถือได้ว่าเป็นการเพียงพอกับวัตถุประสงค์ของการศึกษา ในงานวิจันนี้ หรือกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า งานวิจัยเรื่องนี้เป็นกรณีศึกษาของสถานีตำรวจ 5 สถานีเขตนครบาล
    4. ผลการศึกษาวิจัย
        รูปแบบการคอร์รัปชันที่สำรวจพบ แตกต่างกันไปตามสายงาน (จราจร ป้องกันปราบปราม สืบสวน สวบสวน และอำนวยการหรือธุรการ) และพื้นที่ของสถานีตำรวจในเขตนครบาล รูปแบบการคอร์รัปชันในสายงานหนึ่ง อาจแตกต่างในอีกสายงานหนึ่ง ขึ้นอยู่กับว่าสายงานไหน มีโอกาสในการคอร์รัปชันในส่วนใด ก็จะดำเนินการคอร์รัปชันในส่วนนั้น รูปแบบการคอร์รัปชันในสายงานต่างๆ สามารถสรุปได้ดังนี้
    สายงานป้องกันปราบปราม (ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสีเทา) ประกอบด้วย ตู้แดง สถานบริการ ม่านรูด ร้านทอง ร้านสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ งบบริการ โรงงาน โต๊ะโทรศัพท์ ยักยอกของกลางและงดเว้นการจับกุม
    สายงานสืบสวน (ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสีดำ) ประกอบด้วย บ่อน ซ่อง รับจ้างจับผู้ต้องหา รับจ้างสืบสวนส่วนตัว ร้านขายสื่อลามก หวยใต้ดิน ตู้ม้า โต๊ะสนุ้กเกอร์เถื่อน สร้างสายปลอม เพื่อรับสินบน โต๊ะรับพนันบอล สินค้าหนีภาษี ร้านสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ แรงงานต่างด้าว ยักยอกของกลาง งดเว้นการจับกุม และการสร้างผู้สนับสนุนปลอมเพื่อรับส่วนแบ่ง
    สายงานสอบสวน (ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการทำสำนวนคดี) ประกอบด้วย ไม่สอบพยาน บิดสำนวน หลักฐานอ่อน ไกล่เกลี่ยคดี ส่วนแบ่งจากคู่กรณี บริษัทประกัน และการประกันตัว
    สายงานจราจร (ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจราจรทั้งหมด) ประกอบด้วย วินมอเตอร์ไซด์รับจ้าง วินรถตู้ รถสองแถว ห้างสรรพสินค้า โรงแรม โรงพยาบาลเอกชน รถบรรทุกน้ำหนักเกิน การตั้งด่านผี ร้านอาหาร อู่รถแท๊กซี่ อู่รถตุ๊กตุ๊ก และการสร้างผู้สนับสนุนเพื่อรับส่วนแบ่ง
    สายงานอำนวยการ (ส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานธุรการ) ประกอบด้วย คอมมิชชั่น ประมูลร้านขายอาหารบนโรงพัก ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตสถานบริการ การอำนวยความสะดวก ในการติดต่อราชการ น้ำมัน และเงินค่าล่วงเวลา
ที่มาของการคอร์รัปชันเป็นปัญหาที่สามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎีตัวการ-ตัวแทน (principal-agent theory) ประชาชนหรือรัฐบาลเป็นตัวการ ขณะที่ตำรวจเป็นตัวแทนในการรักษาความสงบเรียบร้อยและบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชน
    สาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดการคอร์รัปชันของตำรวจในสถานีตำรวจเขตนครบาลสามารถจึงจำแนกได้ 2 ประการ คือ
     1) โครงสร้างแรงจูงใจที่ไม่เหมาะสม และ
     2) โอกาสในการคอร์รัปชันที่มาจากอำนาจหน้าที่ของตำรวจในฐานะที่เป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย ทางด้านโครงสร้างแรงจูงใจที่ไม่เหมาะสม นั้น ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลหรือตัวการยังไม่มีโครงสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสม ทั้งในรูปของผลประโยชน์และการลงโทษนั้น ไม่เพียงพอหรือไม่เหมาะสมที่จะทำให้ตำรวจทำงานได้โดยปราศจากการคอร์รัปชัน ตัวอย่าง แรงจูงใจในรูปผลประโยชน์ที่ไม่เหมาะสมเช่น เงินเดือนและสวัสดิการที่ไม่เพียงพอและไม่เหมาะสมกับงาน และงบประมาณในการดำเนินงานไม่เพียงพอ และไม่สะท้อนความเป็นจริง เป็นต้น ขณะที่แรงจูงใจในรูปการลงโทษที่ไม่เหมาะสม คือ อัตราการจับกุมตำรวจที่คอร์รัปชันรวมไปถึงการนำตำรวจเหล่านั้นมาลงโทษยัง อยู่ในระดับที่ต่ำมาก
    5. ข้อเสนอแนะและข้อสังเกตที่ได้จากการศึกษาวิจัย
        ก) การนำผู้กระทำความผิดคอร์รัปชันมาลงโทษนั้น ควรเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากที่สุด
        ข) รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรปรับปรุงโครงสร้างแรงจูงใจ ทั้งในรูปของผลประโยชน์และการลงโทษให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น อันได้แก่ การปรับปรุงเงินเดือน สวัสดิการและงบประมาณ เพื่อให้ในงานควรให้เพียงพอต่อการทำงานจริงๆ
        ค) ควรยกเลิกบทบาทของ กต.ตร. ที่เกี่ยวกับการติดตามและตรวจสอบการบริหารงานของตำรวจในระดับสถานี
        ง) ควรพิจารณาปรับปรุงและแก้ไขกฎระเบียบต่างๆที่มิได้สะท้อน ความเป็นจริงหรือไม่สามารถปฏิบัติได้จริง รวมทั้งการลดความยุ่งยากที่เกิดจากกฎระเบียบเหล่านี้ เพื่อให้โอกาสในการคอร์รัปชันของสถานีตำรวจในเขตนครบาลลดลง ทั้งนี้ การพิจารณาปรับปรุงและแก้ไขกฎระเบียบต่าง ๆ จะต้องอยู่ในกรอบที่สังคมโดยรวมยอมรับได้
        จ) สำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน่วยงานภายในควรเผยแพร่ข้อมูลที่มิได้เป็นความลับแก่สาธารณชนอย่างถูกต้อง โปร่งใส และสม่ำเสมอ
view