สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วิจัยวิเคราะห์ประสิทธิภาพและเข้าถึง บริการโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค

สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชุดที่ 1
ชื่อรายงานการวิจัย     โครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค : การวิเคราะห์ประสิทธิภาพและการเข้าถึงบริการของประชาชนระดับล่าง
ชื่อนักวิจัย                 รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ และคณะ
หน่วยงานวิจัย            หน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม (วจภส) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
แหล่งทุนวิจัย             สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชุดที่ 1 สถานภาพ โครงการที่ทำเสร็จแล้ว เมื่อ พ.ศ. 2547
บทคัดย่อหรือบทสรุปผู้บริหาร
    สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เห็นความสำคัญแก่สิทธิประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ในการได้รับบริการด้านสุขภาพ โดยเท่าเทียมกันและทั่วถึง ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ แต่ขณะนี้ ประชาชนยังไม่สามารถบรรลุถึงสิทธิ หน้าที่ ในระบบหลักประกันสุขภาพได้ จึงมอบหมายให้หน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการศึกษาโดยมี

วัตถุประสงค์ในการศึกษาวิจัย ดังนี้
    (1) เพื่อจัดทำข้อมูลเชิงประจักษ์สนับสนุนการให้ความเห็นของสภาที่ปรึกษาฯในกระบวนการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าว่าสามารถ บรรลุ วัตถุประสงค์ได้ตามแนวทางการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างไร
    (2) ประเมินความพร้อมของหน่วยงานที่ให้บริการด้านสุขภาพกับประชาชนว่ามีความพร้อมในการให้บริการมีคุณภาพอยู่ในระดับใด และ         (3) เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการให้ความสำคัญและการมีส่วนร่วมของประชาชนว่าการดำเนินการ 30 บาทรักษาทุกโรค สามารถบริการได้ถึงประชาชนระดับล่างหรือไม่

    การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการวิเคราะห์ประสิทธิภาพ การเข้าถึงบริการ และการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคฯ โดยเป็นการศึกษาเชิงปริมาณสอบถามจากประชาชนกลุ่มต่างๆที่มีบัตรทอง เช่น กลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ติดเชื้อเอดส์ ผู้อาศัยในชุมชนแออัด และผู้ที่อยู่ห่างไกล ในเรื่องต่างๆ คือ ข้อมูลทั่วไป และประสบการณ์ในการใช้บัตรทองเมื่อเทียบกับก่อนมีโครงการ พฤติกรรมสุขภาพเมื่อเจ็บป่วยทั้งก่อนและหลังมีโครงการ ความพึงพอใจต่อการใช้สิทธิบัตรทอง โดยกระจายใน 5 ภูมิภาค 25 จังหวัด รวมแบบสอบถามทั้งสิ้น 2,500 แบบสอบถาม และศึกษาเชิงคุณภาพด้วยการสัมภาษณ์ระดับผู้บริหาร ตั้งแต่ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลจังหวัด และผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน ตลอดจนทำกลุ่มสนทนากับคณะกรรมการบริหาร หน่วยบริการปฐมภูมิ และกลุ่มประชาชน ใน 10 จังหวัด หลังจากได้ผลการศึกษาเบื้องต้นแล้ว จึงได้มีการจัดเวที 4 ภาค
ผลการวิจัย พบว่า ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขมากขึ้น โดยได้รับบริการสาธารณสุขที่จำเป็นเพิ่มมากขึ้นจากจำนวนผู้มี หลักประกันสุขภาพเกือบครอบคลุมประชาชนทั้งหมด อย่างไรก็ตามที่ผ่านมายังมีปัญหาในการดำเนินโครงการในด้านต่างๆ ตั้งแต่เรื่อง ฐานข้อมูลผู้มีสิทธิ การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจต่อสิทธิประโยชน์ในโครงการ 30 บาทฯ การบริหารจัดการงบประมาณ การบริหาร บุคลากร การบริการระบบยาและเวชภัณฑ์ และการจัดระบบการให้บริการ ในสถานีอนามัยซึ่งจะต้องมีการดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ต่อไป
    กลุ่มตัวอย่างเห็นด้วยกับโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เข้าใจเป้าหมายของโครงการเพื่อเป็นหลักประกันในด้านสาธารณสุขของ ประชาชน และเห็นด้วยกับหลักการจัดสรรงบประมาณตามรายหัวของผู้รับบริการ

ปัจจัยที่มีส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพอย่างมากและไม่เป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ คือ ความพยายามที่จะทำให้นโยบายบรรลุผลในระยะเวลาอันสั้น ส่งผลให้เกิดความเร่งรัดของนโยบาย ทำให้สถานบริการปรับตัวตามไม่ทัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของฐานข้อมูลผู้มีสิทธิได้รับบัตรทอง การเตรียมความพร้อมของบุคลากร การเตรียมการในการปรับระบบการจัดสรร งบประมาณ ผลกระทบเหล่านี้ หากมีการปรับปรุงให้ดีขึ้น จะทำให้โครงการมีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ประเด็นที่สำคัญในการบริหารโครงการนี้ คือ
การพยายามปรับโครงสร้างระบบบริการสาธารณสุขที่มีปัญหาเชิงโครงสร้าง ปัญหาการกระจายไม่สมดุลของสถานพยาบาลและบุคลากรสาธารณสุข ด้วยหลักการของการจัดสรรงบประมาณที่ยึดตามรายหัวของผู้รับ บริการ ซึ่งในการดำเนินการปรับเปลี่ยนเช่นนี้ ผู้บริการระดับสูงต้องตระหนักถึงปัญหา ทำความเข้าใจ และแก้ปัญหาด้วยการยึดหลักของ การปฏิรูประบบสาธารณสุขจึงจะทำให้โครงการมีการพัฒนาที่ยั่งยืน
    ดังนั้น การวิเคราะห์โครงการนี้สรุปว่า หลักการของการประกันสุขภาพเป็นหลักการที่ดีและต้องการการสนับสนุนอย่างจริงจังจากทุกภาค ส่วน การบริหารโครงการ จึงจำเป็นต้องยึดหลักการนี้ให้มั่นคง นั่นคือ การปฏิรูประบบบริการสาธารณสุขไปพร้อมกับการดำเนินโครงการ เพื่อปรับให้การกระจายของสถานพยาบาลและบุคลากร มีความสมดุลกับจำนวนประชากรโดยใช้ข้อมูลภูมิศาสตร์สารสนเทศประกอบ ในการดำเนินงาน
ข้อเสนอแนะที่ได้รับจากผลการศึกษาวิจัย
1. การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
    กำหนดบทบาทของภาคประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบริหารจัดการโครงการหลักประกันสุขภาพในรูปของ คณะกรรมการ ระดับต่างๆ ตั้งแต่หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด
    สร้างการมีส่วนร่วมในการดำเนินการจัดการด้านสาธารณสุขของชุมชน โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและ/หรือองค์กรชุมชน ควรให้มีทั้งการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการจัดบริการ การดำเนินการสร้างสุขภาพของชุมชน การจัดหาบุคลากรเพื่อสนับสนุน การให้บริการ การดำเนินการสร้างสุขภาพชุมชนสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนสนับสนุนสุขภาพระดับชุมชน สนับสนุนระบบร้องทุกข์ โดยภาคประชาชน ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการพิทักษ์สิทธิของประชาชนผู้เดือดร้อน ประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆอย่างต่อเนื่อง ทันเหตุการณ์ สร้างกระบวนการให้กลุ่มผู้มีสิทธิที่ลักษณะเฉพาะ เช่น คนพิการ ผู้สูงอายุ เป็นต้น
2. พัฒนาคุณภาพบริการโดยเฉพาะหน่วยบริการปฐมภูมิ
    สนับสนุนให้มีโครงการนำร่องพัฒนารูปแบบหน่วยงานบริการปฐมภูมิ โดยเฉพาะโรคเรื้อรังที่ค่าใช้จ่ายสูง จัดทำมาตรฐานการให้บริการทั้ง การแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์ทางเลือก และแพทย์แผนไทยในโครงการหลักประกันสุขภาพอย่างชัดเจน พัฒนาสถานีอนามัยให้เป็น หน่วยบริการปฐมภูมิที่เน้นการพัฒนาระบบการจัดการสุขภาพของชุมชน มีระบบการนำส่งผู้ป่วยจากชุมชนมายังโรงพยาบาลได้อย่างปลอดภัย และทันการ
3. การจัดสรรงบประมาณ
    ดำเนินการจัดสรรงบประมาณให้เป็นไปตามรายหัวของผู้รับบริการ และส่งงบประมาณทั้งหมดลงไปให้ถึงหน่วยงานในระดับจังหวัด จัดให้มี กองทุนฉุกเฉิน (Contingency Fund, CF) เพื่อช่วยด้านงบประมาณสำหรับจังหวัดที่มีบุคลากรต่อจังหวัดมาก พัฒนาระบบฐานข้อมูลโดย เฉพาะบัญชี และฐานข้อมูลการใช้บริการ เพื่อใช้คำนวณต้นทุนค่าใช้จ่ายต่อรายหัวที่สถานพยาบาลแต่ละระดับใช้ไปจริง พัฒนาระบบการจัดสรรงบประมาณตามภารกิจของหน่วยงาน
4. แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่เสมอภาคของการกระจายบุคลากรและสถานบริการ
    ซึ่งรัฐบาลควรจัดตั้งคณะทำงานติดตามสภาพปัญหาความแตกต่างเหลื่อมล้ำของการกระจายบุคลากรสาธารณสุขต่อประชากร ระบบจัดสรรงบประมาณและการเบิกจ่าย และการกระจายสถานพยาบาลเพื่อเป็นการแก้ปัญหาความไม่เสมอภาค
view