สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วิจัยทุจริตประพฤติมิชอบ กรมส่งเสริมการปกครอง

สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชุดที่ 1
ชื่อรายงานการวิจัย     รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการศึกษาวิจัยการทุจริตและประพฤติมิชอบในหน่วยงานราชการ
                                   ไทย กรณีศึกษา : กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย
ชื่อนักวิจัย                   ศาสตราจารย์ ดร.อนุสรณ์ ลิ่มมณี และคณะ หน่วยงานวิจัย วิทยาลัยการเมืองการปกครอง
                                   มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
แหล่งทุนวิจัย              สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สถานภาพ โครงการที่ทำเสร็จแล้ว เมื่อ พ.ศ.
                                   2547
 บทคัดย่อหรือบทสรุปผู้บริหาร  บทคัดย่อ


    ปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นปัญหาที่สำคัญยิ่ง แต่ยังขาดการดำเนินการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน่วยราชการของไทย จึงได้ให้มีการดำเนินการศึกษาวิจัยโครงสร้าง รูปแบบของการเกิดปัญหาการทุจริตในหน่วยงาน เพื่อให้ได้ข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว กรณีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งอยู่ในการดูแลของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ได้ทำการศึกษา มีวัตถุประสงค์ ดังนี้
    1) เพื่อศึกษาสภาพปัญหาของการทุจริตและประพฤติมิชอบที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงานของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจากมุม ของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน
    2) เพื่อศึกษาและวิเคราะห์เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดการทุจริตและประพฤติมิชอบในกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นทั้งปัจจัย
เศรษฐกิจ การเมือง และสังคม รวมถึงศึกษารูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการเมืองในระดับประเทศ
3) เพื่อเสนอแนวทางและมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการขจัดปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบในกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นปฏิบัติ งานของ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นการนำข้อมูลที่ได้จากแบบสอบถามมาเป็นประเด็นในการสัมมนา

ผลการศึกษาวิจัย

    ข้อสรุปของการศึกษา มีความเห็นว่าด้านที่มีระดับปัญหาทุจริตมากที่สุด คือ ด้านการบริหารบุคคล รองลงมา คือ ด้านการจัดทำแผนงานโครงการ ด้านงบประมาณ ด้านการเงินและพัสดุ และด้านการตรวจสอบภายใน ซึ่งข้อมูลที่ได้จากกลุ่มตัวอย่างตรงกับข้อมูลการสัมภาษณ์เชิงลึก และข้อมูลการสัมมนากลุ่มย่อยจำนวน 5 ครั้ง ตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ ปัญหาพื้นฐานด้านการบริหารงานบุคคลมี 3 ประการ คือ โครงสร้างเชิงกฎหมายและระเบียบที่ให้อำนาจแฝงในการวินิจฉัย (Latent discretion) กับผู้ปฏิบัติงาน, วัฒนธรรม องค์การในเชิงระบบอุปถัมภ์, ตัวข้าราชการกรมส่งเสริมฯ ส่วนใหญ่มีทัศนคติเชิงลบต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทัศนคติโดยรวมของกลุ่มตัวอย่างมีความเห็นว่าระดับการทุจริตกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นในงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นอยู่ในระดับปานกลาง
ด้านแผนงานและโครงการ ที่ผ่านมาระเบียบปฏิบัติมีความยุ่งยาก ส่งผลให้องค์กรปกครองส่วนท้องที่มีขนาดเล็กมีปัญหา เนื่องจากขาดบุคลากรและประสบการณ์ด้านแผนงานและโครงการ ทำให้ต้องขอรับความช่วยเหลือจากข้าราชการกรมส่งเสริมฯ ทำให้เกิดระบบอุปถัมภ์ ตลอดจนการครอบงำความคิด ด้านงบประมาณ กระบวนการการจัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไปและเงินอุดหนุนเฉพาะกิจของกรมส่งเสริมฯ มีระดับปัญหาสูงที่สุดเมื่อเทียบกับปัญหาอื่น ซึ่งข้อมูลดังกล่าวตรงกับผลที่ได้จากการสัมภาษณ์เชิงลึก และการสัมมนากลุ่มย่อย กล่าวคือ ข้าราชการระดับสูงในกรมส่งเสริมฯ มีอำนาจอย่างมากในการวินิจฉัยจัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไปที่กำหนดวัตถุประสงค์บางรายการ และจัดสรรเงินอุดหนุนเฉพาะกิจบางรายการให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งการจัดสรรมักเป็นไปตามแบบระบบอุปถัมภ์ และสนับสนุนให้เกิดโครงสร้างระบบอุปถัมภ์ระหว่างนักการเมืองระดับประเทศ ข้าราชการประจำกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีผลทำให้เกิดการกีดกันผู้เข้าแข่งขันการประกวดราคาตามมา ปัญหาดังกล่าวมีพื้นฐานมาจากการที่โครงสร้างเชิงกฎหมายและระเบียบที่ให้อำนาจแฝงในการวินิจฉัย (Latent discretion) กับผู้ปฏิบัติงานมากเกินไปวัฒนธรรมองค์กรเชิงระบบอุปถัมภ์ และโครงสร้างทางการเมืองระดับประเทศ
บทบาทด้านการเงิน การทำงานของข้าราชการกรมส่งเสริมฯ มีระดับปัญหาปานกลาง ในขณะที่การทำงานด้านพัสดุกลุ่มตัวอย่างให้ความเห็นว่าปัญหาในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวข้องกับระบบอุปถัมภ์ยังคงมีอยู่ ซึ่งเป็นปัญหาต่อเนื่องมาจากปัญหาด้านงบประมาณ ส่วนปัญหาการทุจริตที่เกิดจากบทบาทการทำงานด้านการตรวจสอบภายใน พบว่ามีระดับปัญหาน้อยกว่าด้านอื่น

ข้อเสนอแนะ
    1) ควรแก้ไขพระราชบัญญัติการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 โดยให้มีคณะกรรมการบริหารงานบุคคลชุดต่างๆ ที่มีอยู่ให้ทำงานร่วมกันอย่างมีเอกภาพ และเปลี่ยนรูปแบบจากคณะกรรมการแบบไตรภาคีเป็นแบบจตุภาคี โดยควรเพิ่มตัวแทนจากภาคประชาชนเข้าไปเป็นกรรมการ ในคณะกรรมการทุกชุดฯ โดยให้กรรมการในสัดส่วนของตัวแทนภาคประชาชน และกรรมการใน
สัดส่วน ผู้ทรงคุณวุฒินั้นมาจากการคัดสรรของบุคคลหลากหลายสาขาอาชีพในแต่ละภูมิภาค รวมถึงให้เพิ่มอำนาจคณะกรรมการฯ
ดังกล่าวมีหน้าที่ในการเห็นชอบพิจารณาอนุมัติหลักสูตรการพัฒนาบุคลากรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเสนอให้กรมส่งเสริมฯ เป็นเจ้าภาพในการสร้างหลักเกณฑ์กำหนดระยะเวลาปฏิบัติงานมาตรฐานในกรณีการรับโอนข้าราชการท้องถิ่น พนักงานท้องถิ่น ให้ชัดเจนในทางปฏิบัติ และมีมาตรฐานเดียวกัน รวมถึงเร่งการพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางบุคลากรส่วนท้องถิ่นให้เป็นปัจจุบันและโปร่งใส นอกจากนี้กรมส่งเสริมฯ ควรวางแผนการทำงาน หรือกลไกการทำงานเพื่อรองรับการขยายตัวของบุคลากรในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
    2) ด้านงบประมาณควรให้อำนาจในการจัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไปบางชนิด (เงินอุดหนุนทั่วไปชนิดที่มีลักษณะแบบเงินก้อน หรือ lump sum) ให้เป็นอำนาจของคณะอนุกรรมการจัดสรรฯ ซึ่งเป็นกรรมการเชิงจตุภาคี อันประกอบด้วย ตัวแทนจากภาครัฐ ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตัวแทนภาคประชาชน และผู้ทรงคุณวุฒิ แทนที่จะให้ข้าราชการในกรมส่งเสริมฯ เป็นผู้จัดสรรแต่เพียงผู้เดียว นอกจากนี้เสนอให้กรมส่งเสริมฯ เปิดเผยแผนงาน โครงการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ได้ส่งเข้ามาขอรับการสนับสนุนเงินอุดหนุนต่างๆ เพื่อให้ทุกภาคส่วนของสังคมได้ทราบ และเปิดเผยหลักเกณฑ์การพิจารณาเงินอุดหนุนทุกประเภทให้ชัดเจน โดยเฉพาะกรณีที่ใช้เกณฑ์ที่นอกเหนือจากที่คณะกรรมการกระจายอำนาจฯ ได้กำหนดไว้
view