คอลัมน์ หน้าต่าง ก.ล.ต.
โดย รพี สุจริตกุล (info@sec.or.th)
การตรวจสอบการปั่นหุ้น
ก่อนอื่นผมขอเริ่มที่ความหมายของคำว่า “ปั่นหุ้น” ก่อนนะครับ การปั่นหุ้นก็คือการซื้อขายหุ้น โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างหรือควบคุมราคาหุ้นให้เป็นไปตามที่ต้องการทำให้ราคาหุ้น นั้นเคลื่อนไหวผิดปกติ เพื่อลวงคนอื่นว่าหุ้นตัวนั้นมีการซื้อขายอย่างคึกคักและอาจหลวมตัวผสมโรงเข้าซื้อขายด้วย จนทำให้ ราคาหุ้นปรับสูงขึ้นตามที่ต้องการ การปั่นหุ้นบางกรณีก็ไม่ได้หวังกำไร แต่ต้องการควบคุมราคาหุ้น เพื่อรักษาระดับราคาทำให้ผู้ลงทุนเห็นว่าหุ้นของบริษัทนี้ไม่ค่อยตก เพื่อตกแต่งบัญชีโดยแสดง ผลกำไรจากเงินลงทุนในบัญชี หรือเพื่อเพิ่มมูลค่าเงินลงทุนที่ใช้เป็นหลักประกันทำให้ไม่ต้อง วางหลักประกันเพิ่ม
การปั่นหุ้นแตกต่างจากการเก็งกำไรตรงที่ ผู้ปั่นหุ้นจะมีพฤติกรรมทั้งซื้อและขายในเวลาเดียวกัน เพื่อสร้างภาพว่ามีการซื้อขายหลักทรัพย์ และยอมซื้อในราคาที่สูงทั้ง ๆ ที่ขณะนั้นมีโอกาสที่จะซื้อได้ใน ราคาต่ำกว่าเพื่อผลักดันราคาขึ้นไป ในขณะที่ผู้เก็งกำไรต้องการลงทุนเพื่อหวังกำไร เวลาซื้อก็จะพยายามซื้อ เมื่อราคาต่ำและจะพยายามขายในราคาที่สูงเพื่อให้ได้กำไร การปั่นหุ้นถือเป็นความผิดทางอาญาครับ กฎหมายกำหนดโทษให้จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับตั้งแต่ 500,000 บาท จนถึง 2 เท่าของผลประโยชน์ที่ได้รับ เพราะเป็นพฤติกรรมหลอกลวงคนอื่น ทำให้ผู้ลงทุนเสียหาย
ในการป้องกัน ติดตาม และตรวจสอบการปั่นหุ้นนี้ ต้องเริ่มจากการติดตามภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์ เพราะหากมีการปั่นหุ้นเกิดขึ้นก็จะทำให้การซื้อขายหลักทรัพย์มีความผิดปกติตามมา ซึ่งด่านแรกในการติดตาม อย่างใกล้ชิดนี้จะเป็นใครอื่นไปไม่ได้นอกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ เนื่องจากเป็นเจ้าของตลาดที่อยู่ใกล้ชิด โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ มีระบบที่เรียกว่า Market Watch ติดตามการส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์จากโบรกเกอร์ รวมทั้งการซื้อขายหลักทรัพย์ของผู้ลงทุนทุกราย แต่ต้องขอทำความเข้าใจกันไว้แต่แรกก่อนว่า การปั่นหุ้นทำให้ ภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์ผิดปกติ แต่ความผิดปกติในการซื้อขายหลักทรัพย์ไม่ได้มาจากการปั่นหุ้นเสมอไป นะครับ อาจเกิดจากข้อมูลข่าวสารใหม่ ๆ หรือจิตวิทยาทางพฤติกรรมของผู้ลงทุนก็ได้
เมื่อตลาดหลักทรัพย์ฯ พบพฤติกรรมที่ไม่ชอบมาพากลและเข้าข่ายเป็นการปั่นหุ้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็จะใช้อำนาจที่มีในการรวบรวมหลักฐานเบื้องต้น เช่น ข้อมูลการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาด การเรียกข้อมูล หรือสอบถามจากโบรกเกอร์หรือบริษัทจดทะเบียน ซึ่งอำนาจของตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็จะจำกัดอยู่ในวงผู้ที่ เกี่ยวข้องในตลาดหลักทรัพย์ฯ เท่านั้น หลักฐานเบื้องต้นที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ รวบรวมได้จึงอาจไม่ครบถ้วน หรือมีน้ำหนักเพียงพอที่จะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ปั่นหุ้น แต่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็สามารถส่งเรื่องให้ ก.ล.ต. พิจารณารวบรวมหลักฐานเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไปได้
ด้วยเหตุนี้เองที่เมื่อเรื่องถึงมือ ก.ล.ต. จึงต้องมีการตรวจสอบเพื่อรวบรวมเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย หลักฐานที่ว่านี้อาจเป็นเอกสารที่แสดงทางเดินของเงิน ข้อมูลการสั่งซื้อสั่งขาย การสอบปากคำเจ้าหน้าที่การตลาดหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการให้โอกาสผู้ต้องสงสัยชี้แจง เพื่อให้ความเป็นธรรม แก่ทุก ๆ ฝ่าย ขั้นตอนเหล่านี้ดูเหมือนไม่ยาก แต่หากผู้ที่เกี่ยวข้องมีจำนวนหลายราย ก็อาจต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง และเมื่อรวบรวมหลักฐานได้ชัดเจนหนาแน่นแล้ว ก็ต้องนำเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการตรวจสอบและคดี ซึ่งประกอบด้วยผู้บริหารจากส่วนงานต่าง ๆ ภายใน ก.ล.ต. เพื่อให้การพิจารณาเป็นไปอย่างรอบคอบและเป็นธรรม ก่อนที่จะตัดสินใจดำเนินคดีโดยการเปรียบเทียบปรับหรือกล่าวโทษผู้ต้องสงสัย
ที่เล่ามาก็คงตอบคำถามที่เกริ่นไว้ตอนต้นได้นะครับ แต่ทางที่ดีเราน่าจะมาร่วมมือป้องกันการฉวยโอกาส จากผู้ปั่นหุ้นเหมือนการป้องกันยาเสพติดจะดีกว่าครับ เพราะเมื่อเกิดขึ้นแล้วมีแต่ความเสียหายในวงกว้าง ซึ่งเป็นบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือของตลาดหลักทรัพย์ฯ วิธีที่ผู้ลงทุนจะร่วมมือได้ก็คือต้องตัดสินใจลงทุน บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง คอยติดตามข้อมูล ไม่ลงทุนโดยอาศัยข่าวลือ อย่าหลวมตัวเข้าไปลงทุนในหุ้น ที่มีการซื้อขายหุ้นหรือความเคลื่อนไหวผิดปกติโดยไม่มีข่าวสารใด ๆ รองรับ ส่วนโบรกเกอร์เองก็ต้องช่วย สอดส่องดูแลการซื้อขายของผู้ลงทุนที่อาจทำให้มีผลต่อการปรับตัวของราคาหลักทรัพย์อย่างรุนแรง คอยเตือนผู้ลงทุนที่มีพฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ระบบ เท่านี้ทุกคนก็จะช่วยกันจรรโลง ความยุติธรรมและความเรียบร้อยให้เกิดแก่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้แล้วครับ