สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การตรวจสอบดำเนินงาน โครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรม (ระยะที่ 3)

 
 การตรวจสอบดำเนินงานโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรม (ระยะที่ 3)
ปีงบประมาณ 2543 - 2545

ความเป็นมา
    โครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรม เป็นโครงการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรในชนบท โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ
    ระยะที่ 1-2 (ปีงบประมาณ 2537-2539 และ 2540-2542) เป็นการค้นหาหมู่บ้านที่มีศักยภาพ เพื่อนำเข้าสู่ กระบวนการพัฒนาให้ความช่วยเหลือ
    ระยะที่ 3 (ปีงบประมาณ 2543-2545) มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะในการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ควบคู่ไปกับ การตลาดของผลิตภัณฑ์
    สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน จึงเลือกตรวจสอบการดำเนินงานของโครงการฯ เพื่อให้ทราบถึงผลการดำเนินงานด้านการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรม (ระยะที่ 3) ปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคสำหรับโครงการอื่นๆ ต่อไป ผลการตรวจสอบสรุปได้ดังนี้
ข้อตรวจพบที่ 1 การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ไม่เป็นไปตามเป้าหมายของโครงการฯ
ในปีงบประมาณ 2543-2544 โครงการฯ ได้กำหนดเป้าหมายให้มีการดำเนินการพัฒนารูปแบบฯ รวม 67 หมู่บ้าน โดยพัฒนารูปแบบฯ ให้ได้หมู่บ้านฯละไม่ต่ำกว่า 3 รูปแบบ รวมจำนวน 200 รูปแบบ โดยชุมชนเป็นผู้ดำเนินการตามขั้นตอนการพัฒนารูปแบบฯ ที่กำหนดไว้จำนวนทั้งหมด 6 ขั้นตอน คือ การสำรวจฯ การจัดทำร่างแบบฯ การจัดทำต้นแบบฯ การปรับปรุงแบบฯ การทดสอบตลาด และการจัดทำตัวอย่างฯ
จากการสุ่มตรวจสอบภาคสนาม จำนวน 20 หมู่บ้าน พบว่า
    1.1 มีการดำเนินการพัฒนารูปแบบฯ แล้วเสร็จครบทุกขั้นตอน เป็นจำนวน 5 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 25 ของหมู่บ้านฯที่สุ่มตรวจสอบได้รูปแบบฯ ใหม่ จำนวน 33 รูปแบบ ส่วนใหญ่เป็นหมู่บ้านฯ ที่มีตลาดรองรับผลิตภัณฑ์ที่แน่นอน สามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์เดิมได้เป็นจำนวนมากจนผลิตไม่ทันตามคำสั่งซื้อ บางหมู่บ้านฯ มีทักษะในการพัฒนารูปแบบฯ อยู่แล้ว
    1.2 มีการดำเนินการไม่แล้วเสร็จตามขั้นตอนที่กำหนด จึงไม่มีผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการพัฒนารูปแบบฯ ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ จำนวน 15 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 75 ของหมู่บ้านฯ ที่สุ่มตรวจสอบ โดยมีหมู่บ้านฯ ที่ไม่ได้ดำเนินการและดำเนินการเพียงขั้นตอนการสำรวจฯ คิดเป็นร้อยละ 30 ของหมู่บ้านฯ ที่สุ่มตรวจสอบ และหมู่บ้านฯ ที่มีการดำเนินการในขั้นตอนการจัดทำร่างแบบฯ คิดเป็นร้อยละ 25 ของหมู่บ้านฯ ที่สุ่มตรวจสอบ ส่วนที่เหลือเป็นหมู่บ้านฯ ที่ดำเนินการในขั้นตอนการทดสอบตลาด คิดเป็นร้อยละ 20 ของหมู่บ้านฯ ที่สุ่มตรวจสอบ
    จากการดำเนินงานไม่แล้วเสร็จตามขั้นตอนที่กำหนดทำให้ผลการดำเนินงานไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ข้างต้น ส่งผลให้หมู่บ้านฯ ดังกล่าวไม่ได้รับรูปแบบฯ ที่มีมาตรฐานและคุณภาพตามที่กำหนดไว้ทำให้ไม่ได้รับประโยชน์ด้านรายได้เพิ่มขึ้น

ข้อตรวจพบที่ 2 การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ
โครงการฯ มีวัตถุประสงค์ที่จะเพิ่มทักษะให้กับกลุ่มอาชีพฯ ให้มีความรู้ความสามารถในการพัฒนารูปแบบฯ ได้ด้วยตนเอง และเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับตนเอง ดังนั้นการเข้าไปช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ฯ ควรเป็นการเข้าไปช่วยแนะนำแนวคิดในการพัฒนารูปแบบฯ ให้กับกลุ่มอาชีพฯ ในทุกขั้นตอน โดยเฉพาะ 3 ขั้นตอนแรกที่สำคัญที่จะทำให้กลุ่มอาชีพฯ สามารถพัฒนาทักษะในการพัฒนารูปแบบฯ ได้ คือ ขั้นตอนการสำรวจฯ การจัดทำร่างแบบฯ และการจัดทำต้นแบบฯ แต่จากการตรวจสอบภาคสนาม พบว่า
    2.1 ส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่ฯ เข้าไปดำเนินโครงการฯ เอง กลุ่มอาชีพฯ มีส่วนร่วมในการพัฒนารูปแบบฯ น้อยมาก ในจำนวน 20 หมู่บ้านที่สุ่มตรวจสอบ มีส่วนร่วมในการพัฒนารูปแบบฯ ไม่ครบทุกขั้นตอนที่สำคัญใน 3 ขั้นตอนแรก จำนวน 17 หมู่บ้าน (ภาคผนวกที่ 4) คิดเป็นร้อยละ 85 ของหมู่บ้านฯ ที่สุ่มตรวจสอบ ซึ่งในจำนวนนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ
ลักษณะที่หนึ่ง กลุ่มอาชีพฯ ที่มีทักษะในการพัฒนารูปแบบฯ ของตนเองอยู่แล้ว คิดเป็นร้อยละ 40 ของหมู่บ้านฯ ที่สุ่มตรวจสอบ ดังนั้นการพัฒนาทักษะในการพัฒนารูปแบบฯจึงไม่ใช่ปัญหาสำคัญและเร่งด่วนให้เจ้าหน้าที่ฯ เข้าไปให้ความช่วยเหลือ และกลุ่มอาชีพฯ ที่มีทักษะบางหมู่บ้านฯ มีปัญหาเกี่ยวกับการหาตลาดและ แจ้งให้เจ้าหน้าที่ฯ ทราบว่า ตนเองไม่ต้องการได้รับความช่วยเหลือด้านการพัฒนารูปแบบฯ ดังนั้นจึงไม่มี การดำเนินโครงการฯ ตามขั้นตอนที่กำหนด
ลักษณะที่สอง กลุ่มอาชีพฯ ที่ไม่มีทักษะในการพัฒนารูปแบบฯ ด้วยตนเอง แต่สามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์เดิมได้เป็นจำนวนมาก จึงไม่มีเวลาให้กับการเข้าร่วมในการพัฒนารูปแบบฯ
จะเห็นได้ว่ากลุ่มอาชีพฯ ส่วนใหญ่ได้รับการพัฒนาทักษะในการพัฒนารูปแบบฯ น้อยมาก เป็นเพียงการพัฒนารูปแบบฯ ตามรูปแบบฯ เฉพาะที่ได้รับการพัฒนาจากเจ้าหน้าที่ฯ เพื่อให้กลุ่มอาชีพฯนำไปพัฒนารูปแบบฯ ของตนเอง แต่ไม่ใช่เป็นการพัฒนาทักษะให้กับกลุ่มอาชีพฯ ให้สามารถพัฒนารูปแบบฯ ได้ด้วยตนเองอย่างแท้จริง
    2.2 เมื่อกลุ่มอาชีพฯ ได้รับการพัฒนาทักษะ ในการพัฒนารูปแบบฯ จนกระทั่งได้รูปแบบฯ ใหม่ ที่มีคุณภาพและมาตรฐาน เป็นที่ต้องการของตลาดแล้ว สามารถนำรูปแบบฯ ที่ได้ไปจำหน่ายเพื่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น จากการตรวจสอบภาคสนาม พบว่า มีเพียง 5 หมู่บ้าน ในจำนวน 20 หมู่บ้านที่สุ่มตรวจสอบ สามารถดำเนินการได้ครบทุกขั้นตอน และนำผลิตภัณฑ์นั้นไปจำหน่ายและเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มได้
    2.3 ปีงบประมาณ 2545 มีการปรับเปลี่ยนเป้าหมายในการปฏิบัติงานโครงการฯ จากเป้าหมายเดิมที่เน้นจำนวนหมู่บ้านฯ ในการดำเนินการทั้ง 67 หมู่บ้าน มาเน้นที่การดำเนินการตามกลุ่มวัตถุดิบ  พบว่า ขณะนั้นโครงการฯ อยู่ระหว่างดำเนินการโดยมีการปฏิบัติงานตามขั้นตอนที่กำหนดแตกต่างกันตามแนวคิดของเจ้าหน้าที่ฯ แต่ละกลุ่มโดยไม่ได้ดำเนินการทุกหมู่บ้าน และกลุ่มอาชีพฯ ไม่ได้มีส่วนร่วมหรือมีส่วนร่วมเพียงบางขั้นตอน นอกจากนี้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ฯ ยังคงมีการดำเนินการเหมือนเดิมก่อนที่มีการปรับเปลี่ยนเป้าหมายในปีงบประมาณ 2545 ดังนี้
        2.3.1 ส่วนกลาง
        - เป็นการปฏิบัติงานด้านการพัฒนารูปแบบฯ ของเจ้าหน้าที่ฯ เองทั้งหมด ซึ่งกลุ่มอาชีพฯ มีส่วนร่วมเพียงขั้นตอนการประชุมกลุ่มอาชีพเป้าหมายและขั้นตอนสุดท้าย คือ การนำข้อมูลจากการทดสอบตลาดมาดำเนินการปรับปรุงและจัดทำตัวอย่างฯ เพื่อนำไปจำหน่าย
        - เป็นการปฏิบัติงานด้านการพัฒนารูปแบบฯ โดยให้กลุ่มอาชีพฯ มีส่วนร่วมในการพัฒนารูปแบบฯ ทุกขั้นตอน ยกเว้น ขั้นตอนการวิเคราะห์ข้อมูลและดำเนินการจัดทำร่างแบบและต้นแบบผลิตภัณฑ์ซึ่งเจ้าหน้าที่ฯ เป็นผู้ดำเนินการเอง
        2.3.2 ส่วนภูมิภาค
การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ฯ จาก ศภ. ขณะนั้น ส่วนใหญ่ยังไม่เริ่มดำเนินการ แต่เจ้าหน้าที่ฯ มีแนวคิดที่จะปฏิบัติงานแบบเดียวกับการดำเนินการตามขั้นตอนเดิม จำนวน 6 ขั้นตอน ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
    2.4 จากการเปรียบเทียบหมู่บ้านฯ ที่ดำเนินการในปีงบประมาณ 2545 กับหมู่บ้านฯ ที่ดำเนินการในปีงบประมาณ 2543-2544 ทั้งหมด 67 หมู่บ้าน พบว่า มีหมู่บ้านฯ ที่ดำเนินการไม่แล้วเสร็จในปีงบประมาณ 2543 - 2544 ซึ่งไม่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหมู่บ้านฯ ที่ดำเนินโครงการฯ ในปีงบประมาณ 2545 คิดเป็นร้อยละ 17.91 ของหมู่บ้านฯ ทั้งหมด

สาเหตุที่ทำให้ผลการดำเนินงานไม่เป็นไปตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของโครงการฯ เนื่องจาก
    1. การคัดเลือกหมู่บ้านอุตสาหกรรมเพื่อเข้าร่วมโครงการฯ ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่กำหนด ให้ความสำคัญน้อยมากเกี่ยวกับปัญหาและความต้องการที่หมู่บ้านอุตสาหกรรมต้องการให้ช่วยแก้ไขอย่างเร่งด่วนในด้านการพัฒนารูปแบบฯ
    2. การกำหนดแนวทางในการปฏิบัติงานตามขั้นตอนการดำเนินงานไม่ชัดเจน
    3. ขาดการประชาสัมพันธ์ในรายละเอียดของโครงการฯ ให้กับหมู่บ้านฯ
    4. ด้านบุคลากรไม่มีความพร้อม ทั้งเจ้าหน้าที่ฯ ของ ศภ. มีประสบการณ์น้อยในด้านการพัฒนารูปแบบฯ และไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรายละเอียดของการดำเนินโครงการฯ
    5. การติดตามและการรายงานผลการดำเนินงานด้านการพัฒนารูปแบบฯ ไม่ชัดเจน
    6. การจัดทำและการจัดเก็บข้อมูลของโครงการฯ ไม่เป็นระบบ
ข้อสังเกต การกำหนดตัวชี้วัดและผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของโครงการฯ ไม่เหมาะสม
จากวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ที่เน้นให้มีการพัฒนาทักษะในด้านการพัฒนารูปแบบฯ เพื่อให้ได้รูปแบบฯ ที่มีคุณภาพและมาตรฐาน เป็นการส่งเสริมให้กลุ่มอาชีพฯ นำผลิตภัณฑ์เหล่านั้นไปจำหน่าย ให้มีรายได้เพิ่มขึ้น การกำหนดตัวชี้วัดของโครงการฯ จึงควรกำหนดตัวชี้วัดที่ชี้ให้เห็นถึงความสำเร็จของโครงการฯ ทั้งหมด แต่จากการตรวจสอบ พบว่า มีการกำหนดตัวชี้วัดในเรื่องจำนวนรูปแบบฯ ที่ได้รับการพัฒนาให้ได้ 200 รูปแบบฯ เท่านั้น ซึ่งเป็นการกำหนดตัวชี้วัดในระดับกิจกรรม เพราะการพัฒนารูปแบบฯ เพื่อให้ได้จำนวนรูปแบบฯ ตามที่กำหนดไว้ เป็นเพียงกิจกรรมหนึ่งของโครงการฯ เท่านั้น
    นอกจากนี้ยัง พบว่า มีการกำหนดผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของโครงการฯ ว่ามีผลทำให้ราษฎรมีรายได้เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2,000 บาท/คน/เดือน แต่พบว่า หมู่บ้านฯ ที่กำหนดไว้ จำนวน 67 หมู่บ้าน เป็นหมู่บ้านอุตสาหกรรมที่ต้องมีรายได้เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2,000 บาท/คน/เดือน ดังนั้นการกำหนดระดับ รายได้ดังกล่าวข้างต้น จึงไม่เหมาะสม เพราะแม้จะไม่ได้รับความช่วยเหลือจากการเข้าร่วมโครงการฯ นี้ กลุ่มอาชีพฯ ก็มีรายได้เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2,000 บาท/คน/เดือน อยู่แล้ว
ข้อเสนอแนะ
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน มีข้อเสนอแนะให้ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พิจารณาดำเนินการแก้ไขเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินโครงการที่ต่อเนื่องต่อไป ดังนี้
    1. การกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกหมู่บ้านฯ โดยเน้นเรื่องปัญหาและความต้องการของหมู่บ้านฯ ที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการฯ
    2. ต้องมีการกำหนดแนวทางในการปฏิบัติงานให้ชัดเจนในแต่ละขั้นตอนการดำเนินงานพัฒนารูปแบบฯ ที่กำหนดไว้
    3. มีการซักซ้อมความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ฯ เกี่ยวกับรายละเอียดของโครงการฯ และแนวทางในการปฏิบัติงานให้ชัดเจน
    4. ให้มีการบริหารจัดการภายในโครงการฯ อย่างมีประสิทธิภาพ ให้มีความรู้ด้านการพัฒนารูปแบบฯ เพื่อให้พร้อมที่จะปฏิบัติงานได้ทันที ควรมีการวางแผนร่วมกันและประสานงานล่วงหน้า กับ ศภ.ที่รับผิดชอบหมู่บ้านฯ
    5. กำหนดแนวทางในการควบคุม ติดตาม และรายงานผลการดำเนินงานด้านการพัฒนารูปแบบฯ ให้ชัดเจน เป็นระบบ และควรมีการติดตามผลการดำเนินงานในพื้นที่ดำเนินการจริง
    6. ต้องให้ความสำคัญต่อการจัดทำและการจัดเก็บข้อมูลให้เป็นไปอย่างมีระบบ
    7. จากข้อสังเกตเกี่ยวกับความเหมาะสมของการกำหนดตัวชี้วัดและผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระดับโครงการ กสอ. ต้องมีการศึกษา วิเคราะห์เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของโครงการฯ แล้วจึงกำหนดวัตถุประสงค์ ตัวชี้วัด และผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของโครงการฯ ให้เหมาะสมสอดคล้องกันตั้งแต่เริ่มต้นโครงการฯ

อ่านฉบับเต็ม

view