สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

Creative Economy มาร์ค ปะทะ เดอะดรีมเมอร์ ใครของจริง ใครของปลอม และใครตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ?

จากประชาชาติธุรกิจ



วิวาทะครั้งใหญ่ Creative Economy มูลค่า 20,000 ล้าน ทางเลือกและทางรอดประเทศไทย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศ 12 พันธสัญญา นำประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ก้าวขึ้นเป็นผู้นำแห่งอาเซียน "พันศักดิ์ วิญญรัตน์" เจ้าเก่า ต้นตำรับ Value Creation ตั้งคำถามว่า คุณหนูเข้าใจการขายเซ็กซ์ในโลกยุคใหม่แค่ไหน ?

...ชั่วโมง นี้ ใครไม่พูดเรื่อง Creative Economy หรือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ถือว่าเชยแหลก ปลายเดือนที่แล้ว นายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ฤกษ์เปิดตัว "เศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทย" ในอนาคตจะเกิด 30 กว่าโครงการ มูลค่าประมาณ 20,000 กว่าล้านบาท 
    รัฐบาลฝันว่าสักวัน ประเทศไทยจะเป็น Hub แห่ง Creative Economy ในอาเซียน แต่เอาเข้าจริง Creative Economy ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะคนที่จุดประกายฝันเป็นคนแรกๆ ในสังคมไทย ก็คือ พันศักดิ์ วิญญรัตน์ อดีตประธานที่ปรึกษานโยบายของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
     ล่าสุด พันศักดิ์ หรือเดอะดรีมเมอร์ วิพากษ์ Creative Economy อย่างยับเยิน ผ่านสื่อยักษ์ใหญ่
     ใครกันของจริง ใครกันที่เป็นของปลอม ใครตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ 
    ประชาชาติออนไลน์ นำเสนอแนวคิดของเดอะมาร์ค กับเดอะดรีมเมอร์ ให้ท่านผู้อ่านพิสูจน์ ณ บัดนี้
  

@ Creative Thailand สูตรโอบามาร์ค
      ปลายเดือนที่แล้ว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดโครงการ "เศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทย" และปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "ก้าวใหม่ ขับเคลื่อนประเทศไทยด้วย ′Creative Thailand′" ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
     นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า รัฐบาลมีแนวทางอย่างชัดเจนเรื่อง เศรษฐกิจสร้างสรรค์การพัฒนาเศรษฐกิจต่อไป โดยเฉพาะที่บรรจุอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 เรื่องของเศรษฐกิจสร้างสรรค์จะเป็นองค์ประกอบสำคัญของยุทธศาสตร์ของการพัฒนา ประเทศ
   เราได้เริ่มต้นขับเคลื่อนจากการให้คณะกรรมการที่ดูแลในเรื่องขีดความสามารถ ในการแข่งขันของประเทศก็ดี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมไปถึงกระทรวงการคลัง ตลอดจนสำนักนายกรัฐมนตรี และได้มอบหมายท่านที่ปรึกษา อภิรักษ์ โกษะโยธิน ให้ช่วยดูในเรื่องนี้ ก็มีการผลักดันและเชื่อมโยง จนขณะนี้ออกมาเป็นแผนงานที่มีความชัดเจน           
    เดือนเมษายนที่ผ่านมา ในกรอบความคิดของการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการลงทุนต่อไป ก็มีโครงการที่จัดได้ว่าอยู่ในหมวดของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 30 กว่าโครงการ มูลค่าประมาณ 20,000 กว่าล้านบาท และเมื่อเราจัดทำยุทธศาสตร์ในเรื่องของไทยเข้มแข็ง โดยเฉพาะการใช้จ่ายเงินยอดแรก ซึ่งจะใช้จ่ายภายในปี 2553 ตรงนี้จะมีมูลค่าอยู่ประมาณ 3,800 ล้านบาท 20 โครงการ นี่คือจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การขยายผลในเรื่องของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ใน ฐานะของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไปในวันข้างหน้า โครงการที่จะมีการดำเนินการภายใต้กรอบของไทยเข้มแข็ง ยกตัวอย่าง เช่น ในเรื่องของการท่องเที่ยว ก็กำลังจะเริ่มต้นจากการไปดูพื้นที่ที่เป็นมรดกโลก ไม่ว่าจะเป็นสุโขทัย ไม่ว่าจะเป็นอยุธยา แน่นอนในเบื้องต้นไทยเข้มแข็ง อาจจะไปปรับปรุงในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานก่อน ในแง่ของกายภาพ 
     แต่สิ่งที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ต้องเติมเข้าไปให้ได้ คือการนำเสนอ การท่องเที่ยวสุโขทัย อยุธยา ที่จะไปอิงกับประวัติศาสตร์ ที่จะเป็นแรงดึงดูดให้มากขึ้นได้อย่างไร หลายท่านคงเคยไปสุโขทัย ไปอยุธยา ผมก็ไปมา ผมรู้สึกเสมอว่า ที่จริงแล้ว มูลค่าที่เราน่าจะได้จากการท่องเที่ยวตรงนี้ มันน่าจะมากมายมหาศาลกว่าปัจจุบันมากนัก อยู่ที่ว่าเราจะจริงจังในการนำเสนอมากน้อยแค่ไหน แต่ไม่ใช่เฉพาะมรดกโลก 2 แห่ง
    โครงการที่เรียกว่า Creative City ก็คือ การไปขับเคลื่อนในทุกภูมิภาคที่จะมีเมืองหลักเมืองใหญ่ที่จะทำในเรื่องของ เศรษฐกิจสร้างสรรค์โดยการมีพื้นที่สร้างสรรค์ โดยมีหน่วยเคลื่อนที่ที่จะไปกระตุ้นทางด้านนี้ อย่างนี้เป็นต้น นี่ก็เป็นอีกหนึ่งโครงการที่อยู่ในแผนงานของไทยเข้มแข็ง และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นอีกกระทรวงหนึ่งที่เกี่ยวข้อง กำลังจะจัดงาน Digital Media Asian 2010 จะเป็นการดึงหลายประเทศซึ่งทำงานทางด้านนี้มาเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนและ การถ่ายทอดเทคโนโลยี
  

@ เราจะเป็น Hub ของ Creative Economy แห่งอาเซียน
    เพราะฉะนั้น วันนี้สิ่งที่เราจะได้ประกาศต่อไปคือ พันธสัญญาที่รัฐบาลมีต่อเรื่องของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยเริ่มต้นจากเป้าหมายหลัก 2 เป้าหมาย คือ เป้าหมายแรก เราจะต้องทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในภูมิภาคอาเซียน ให้ได้ คือเป็น Hub ของ Creative Economy ในอาเซียน และเป้าหมายที่สอง คือภายในปี 2555 ที่เราเคยมีมูลค่าของเศรษฐกิจสร้างสรรค์อยู่ในปัจจุบันอาจจะร้อยละ 10 ร้อยละ 12 เราจะขับเคลื่อนให้นำไปสู่ร้อยละ 20 เป็นอย่างน้อยภายในปี 2555 นี่คือเป้าหมายสองเป้าหมาย   
                        
    ส่วนพันธสัญญานั้นจะมี 4 ด้าน ประกอบด้วย เรื่องโครงสร้างพื้นฐาน (Creative Infrastructure) เรื่องของคน (Creative Education & Human Resource) เรื่องสังคมและแรงบันดาลใจ (Creative & Inspiration) เรื่องธุรกิจสร้างสรรค์ (Creative Business Development & Investment)  
  

@ 12 พันธสัญญา ก้าวสู่ความฝัน
    ในด้านแรก ในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานนั้นมี พันธสัญญาที่ 1 คือภายใน 6 เดือนจากนี้ไป เราจะจัดกลไกต่างๆ ให้มีความเป็นเอกภาพ และมีหน่วยงานเฉพาะที่จะมาขับเคลื่อนในเรื่องนี้ พันธสัญญาที่ 2  คือเราจะปรับปรุงระบบการดูแลในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเราได้มีคณะกรรมการระดับชาติอยู่แล้ว มียุทธศาสตร์เร่งด่วนอยู่แล้ว แต่จากนี้ไปไม่ใช่เรื่องของการไปปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเพียง อย่างเดียว คือการบังคับใช้กฎหมายต้องทำ แต่เรากำลังจะต้องทำระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อเอื้อต่อการเติบโตของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ภายในเศรษฐกิจไทยอย่างแท้จริง และพันธสัญญาที่ 3 ที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ 3G, WiMAX, Broadband ต่างๆ นั้นก็จะมีการผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว            
   สำหรับด้านที่ 2 ก็มีพันธสัญญาข้อที่ 4 และข้อที่ 5 ในเรื่องของรากฐานปลูกฝังความสามารถด้านการคิด การสร้างสรรค์ให้เป็นในส่วนของระบบการศึกษาและการเรียนรู้ของคนไทย ในพันธสัญญาข้อที่ 4 จะไปเกี่ยวพันกับการปฏิรูปการศึกษา คือ การปรับปรุงหลักสูตร การสร้างความตื่นตัว การกระตุ้นให้เด็ก ให้เยาวชน ให้คนของเรานั้นเป็นนักคิดตั้งแต่ต้น ผมได้กล่าวไปหลายครั้งแล้วว่า ในการปฏิรูปการศึกษารอบ 2 ที่เป็นการปรับปรุงคุณภาพการศึกษานั้น เราจะเปลี่ยนจากการที่เราคิดว่า การศึกษาคือการให้ความรู้ มาเป็นการสร้างนักคิด นี่จะเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา และถือเป็นพันธสัญญาที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 
     ส่วนพันธสัญญาข้อที่ 5 คือ การสนับสนุนทักษะ โดยเฉพาะในส่วนของช่างเฉพาะทาง ทั้งที่จะไปเกี่ยวข้องกับการออกแบบ ทั้งที่จะเกี่ยวข้องกับในด้านทักษะการผลิต และในเรื่องของบุคลากรกำลังคนที่มีขีดความสามารถในทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งปัจจุบันทางกระทรวงศึกษาธิการก็ได้กำหนดชัดเจนแล้วว่า จะมีสถาบันที่ขึ้นมาทำงานในเรื่องของคุณวุฒิ ในเรื่องของอาชีพและวิชาชีพ ซึ่งจะเป็นตัวสำคัญในการที่จะขับเคลื่อนในเรื่องนี้              
    ในส่วนของสังคม ในส่วนของแรงบันดาลใจนั้น พันธสัญญาข้อต่อไป ข้อที่ 6 คือเรื่องของการที่จะส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในภูมิภาคและในท้องถิ่น ซึ่งโครงการ Creative City ก็เป็นตัวนำ แต่จะสอดคล้องกับนโยบายทางด้านเด็กและเยาวชน ซึ่งผมได้ประกาศไปแล้วว่า หัวใจสำคัญวันนี้ของการแก้ปัญหาเด็ก เยาวชน และสังคม คือการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ในรูปแบบต่างๆ ที่เป็นแหล่งเรียนรู้ ที่กระตุ้นให้เด็กเข้ามาสนใจในเรื่องของดนตรี ศิลปะ กีฬา หรือเรื่องอื่นๆ ซึ่งนอกจากจะเป็นการขับเคลื่อนเพื่อเตรียมความพร้อมให้คนของเรามีทักษะที่ สอดคล้องกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์แล้ว จะเป็นภูมิคุ้มกันและเป็นหลักประกันที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาสังคมด้วย 
     พันธสัญญาข้อที่ 7 ยังอยู่ในเรื่องนี้ ก็จะเป็นเรื่องของการที่จะยกย่องและส่งเสริมคนที่ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ให้เป็นประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของงานวิจัย ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการต่างๆ เพื่อเป็นกำลังใจและแรงบันดาลใจให้คนอื่น ส่วนพันธสัญญาที่ 8 เป็นเรื่องของการจัดให้มีพื้นที่กิจกรรมและแสดงผลงานในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งตรงนี้ทั้งกระทรวงวัฒนธรรม รวมไปถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะต้องเข้ามามีส่วนร่วม       
  

@ Creative Thailand ก้าวสู่ตลาดโลก         
   สำหรับด้านสุดท้าย คือ เรื่องของการส่งเสริมสนับสนุนธุรกิจและอุตสาหกรรม คือ Creative Business นั้น ก็เริ่มตั้งแต่พันธสัญญาข้อที่ 9 ที่จะมีการจัดตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อสนับสนุนแหล่งเงินทุน เพื่อประโยชน์ในการที่จะให้ธุรกิจที่อิงกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์นั้นสามารถที่ จะมีเงินทุนในการทำงานได้     
     พันธสัญญาข้อที่ 10 จะเป็นเรื่องของมาตรการในการส่งเสริมการลงทุนสำหรับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง กับเศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นการเฉพาะ และนอกจากในมาตรการของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแล้ว ก็จะมีการพิจารณาในการผลักดันกฎหมาย เพื่อให้มีมาตรการในการที่จะส่งเสริมการลงทุนทางด้านนี้เป็นพิเศษได้อีก ด้วย  
   พันธสัญญาข้อที่ 11 เรื่องของการตลาด เพราะว่านอกเหนือจากแหล่งเงินทุน นอกเหนือจากเรื่องของการสนับสนุนทางด้านอื่นๆ แล้ว การทำงานทางด้านการตลาด กิจกรรมเชิงพาณิชย์และการสนับสนุนส่งเสริมการส่งออกและบริการสู่ตลาดโลก จะต้องเป็นงานสำคัญที่เป็นยุทธศาสตร์ของการขับเคลื่อนในเรื่องนี้ และสุดท้ายพันธสัญญาข้อที่ 12 ซึ่งเราได้เริ่มต้นแล้ว คือเรื่องนี้จะอยู่ในแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ซึ่งภายในปี 2553-2555 ก็จะได้มีการกำหนดโครงการต่างๆ มูลค่าประมาณ 20,000 ล้านบาท เพื่อขับเคลื่อนในเรื่องนี้              
   การทำงานเรื่องนี้จะต้องทำงานกันอย่างต่อเนื่อง มีความสม่ำเสมอ ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย
  

@ ต้นตำรับ Value Creation ฉบับเดอะดรีมเมอร์
     "พันศักดิ์ วิญญรัตน์" อดีตประธานที่ปรึกษาด้านนโยบายเศรษฐกิจของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
      หลายคนยกย่องให้เขาเป็น นักฝัน เดอะดรีมเมอร์ และจะว่าไป เขาคือต้นตำรับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพราะเขาพูดเรื่องนี้มาเกือบ 10 ปีแล้ว
      ผลงานที่เป็นรูปธรรมคือ การก่อตั้งสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (สบร.) หรือ The Office of Knowledge Management and Development (OKMD) อุทยานการเรียนรู้ (สอร.) ศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ หรือ Thailand Creative & Design Center (TCDC) สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (ศลชท.) และศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม)
      ปัจจุบัน ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นั่งเป็นประธานกรรมการบริหาร OKMD
      Value Creation ในยุคของพันศักดิ์ มักถูกวิจารณ์ว่า หรูหรา ฟู่ฟ่า เกินตัว เช่น เฟอร์นิเจอร์ ห้องทำงานของเดอะดรีมเมอร์ ราคาแพงจนน่าขนลุก !!!
       ล่าสุด พันศักดิ์ให้สัมภาษณ์สื่อยักษ์ใหญ่ ไทยรัฐ ในช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา วิพากษ์ Creative Economy ฉบับประชาธิปัตย์ อย่างตรงไปตรงมา
  

@ เข้าใจเรื่องแนวคิด การขายเซ็กซ์แค่ไหน ?
        "พันศักดิ์" ฉายภาพว่า ภาพของประเทศไทยภายใต้ซูเปอร์แม็กโครอีโคโนมิกของโลกตอนนี้เปลี่ยนไปมหาศาล เมื่อก่อนนี้คนเอเชียเห็นฝรั่งกินแมคโดนัลด์ กินเคเอฟซี นึกว่าเท่ แต่เดี๋ยวนี้คนเหล่านั้นตกงานหมด กลายเป็นไพร่ผู้ยากไร้กว่าคนอีสานที่กินแจ่วตอนกลางวัน
    เมื่อไอคอนของผู้นำในการบริโภคของโลกปัจจุบันมีสถานะหายไป พวกขับรถบีเอ็มดับเบิลยู ทำงานในลอนดอน ตกงานหมด บริษัทคอมพิวเตอร์ไมโครซอฟท์ แอปเปิลก็ไล่คนออก หมายความว่าตัวอย่างของการบริโภคของความสำเร็จในชีวิตในโลกปัจจุบันมันหาย อย่างประเทศไทยเคยส่งออกสินค้าให้คนทำพวกนี้ เมื่อคนพวกนี้ตกงาน คนทำของขายก็ต้องตกงานไปด้วย
      ที่สำคัญ คนจีนแย่งคนไปหมดทั้งโลก พรรคคอมมิวนิสต์จีนประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ ทำให้คนจีนมีความสามารถในระดับที่ทำให้ประเทศอื่นหมดความหมาย คนจีนมีประสิทธิภาพในทักษะในการทำงานในโรงงานและผลิตอะไรก็ได้ออกมาในราคา ที่เหมาะสม
     ส่วนไทยเมื่อไม่สามารถผลิตในราคาที่จะแข่งกับจีนได้ คุณต้องใส่อะไรลงไป คุณต้องอยู่ ที่บอกว่าอยากให้เศรษฐกิจเจริญเติบโต ลงทุนในประเทศ ผลิตในประเทศ บริโภคในประเทศ ก็ต้องทำงานขายของให้ได้ นั่นคืองานสร้างสรรค์ เวลาบอกขายเซ็กซ์คนไม่เข้าใจ ในโลกนี้อาชีพที่เก่าที่สุดคือ อาชีพขายเซ็กซ์
     โลกในยุคก่อนอียิปต์ มาซิโดเนีย ไบแซนไทน์ ขายเซ็กซ์กันเป็นเรื่องปกติ รูปแบบของสังคมในศตวรรษที่ 20 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เยอรมนีแพ้ ญี่ปุ่นแพ้ คนพวกนี้ขายความสุขชั่วคราวของเพศสตรี ญี่ปุ่นมีโอเปร่าที่โด่งดังมากเป็นที่ขายผู้หญิง สมัยก่อน ค.ศ.1960 คนจีน-ไทยรวยๆ ไปเที่ยวผู้หญิงที่ไต้หวัน
   แต่คอนเซ็ปต์ของเซ็กซ์สมัยนี้ คือ sen-suality หรือความรู้สึกที่ดีต่อตัวเอง ความรู้สึกดีต่อความปรารถนา และความคิดคำนึงต่อความอ่อนไหวทางอารมณ์ ก่อให้เกิดสิ่งที่ตามมามากมาย ทั้งเสื้อผ้า เครื่องหอม เครื่องปรุง อาหารการกิน ซึ่งขายกันอย่างมากมาย เป็นสินค้าชั้นสูง และลงมาเรื่อยๆ ขายกันแหลกโดยเฉพาะอิตาลี และตอนนี้สังคมได้พัฒนาและได้ปริญญาเอกไปแล้ว
    "จากการขายเซ็กซ์ทางร่างกาย กลายเป็นขายแนวความคิด ความเข้าใจของความรู้สึก เช่น ดอกไม้ขายได้เพราะแสดงถึงความเซ็กซี่ มาจากลักษณะของเนื้อหนัง รูปทรงของผิวของดอกและเฉดสีมาไล่บนเนื้อหนัง หรือถ้าเป็นผ้าคอตตอน ก็ต้องขายเนื้อผ้าที่ให้ความรู้สึกในการสัมผัสทั้งด้วยตา ร่างกาย ลิ้น และด้วยความคิดคำนึง จึงเป็นการเปลี่ยนวิธีการจากขายร่างกายก็มาขายความคิดคำนึงของความอ่อนไหว ของอารมณ์"   


@ รีแบรนดิ้งท่องเที่ยวไทย

ในประเทศที่มีสังคมยอมรับความคิดสร้างสรรค์ ที่มีรากจากความเป็นจริงของมนุษยชาติมักจะประสบความสำเร็จในการสร้างสรรค์ มูลค่า (value creation) ไม่ใช่สร้างมูลค่าเพิ่ม (value added) เป็นกระบวนการสร้างมูลค่าทำให้คนอื่นมามองสินค้าและบริการของบริษัทนั้นมี ความคิดสร้างสรรค์ที่ยิ่งใหญ่ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เมื่อคนซื้อมองอย่างนั้น ราคาจะมีความสำคัญลำดับรองลงมา สิ่งที่สำคัญลำดับแรก คือ ปฏิสัมพันธ์ในการสื่อสารมูลค่าระหว่างสินค้าและบริการกับตัวเขา "เมืองไทยหวังว่าญี่ปุ่นจะใช้เราเป็นคนงานอิเล็กทรอนิกส์และรถยนต์ไปตลอด ชาติ คำถาม เราได้ทำตัวให้ได้อย่างนั้นจริงหรือ เราได้ผลิตนักเรียนอาชีวะให้ได้อย่างนั้นจริง หรือภาวนาไว้ หากเศรษฐกิจโลกยังเหมือนเดิมก็ยังต่อรองเขาได้ แต่บริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นก็ชีวิตลำบาก บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ญี่ปุ่นใหญ่ๆ ก็เจ๊งไปเท่าไหร่แล้ว"   หมายความว่า ไม่ว่าอะไรที่เคยทำระดับที่ 2 และ 3 ของโครงสร้างอุตสาหกรรมของโลกจะอยู่ได้อย่างไร เมื่อระดับที่ 1 พังไป
สถานการณ์ รอบโลกบอกเราว่า ไม่ได้ต้องทำ ถ้าบอกขายท่องเที่ยว เมืองไทยไม่อยู่ในเรดาร์ท็อปคลาสของแหล่งท่องเที่ยวในโลก ของไทยสูงกว่าระดับฉิ่งฉับทัวร์มาหน่อย แล้วมีไอ้รูเล็กๆ ที่เป็นระดับสูงนิดๆ ที่ภูเก็ต บ้านราคา 100-200 ล้านบาท แต่ไม่ใช่ภาพพจน์ แบรนดิ้งของเรา   "คุณหันมาถามผมว่าครีเอทีฟอีโคโนมี ในสัดส่วนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวต้องทำอย่างไร ผมก็บอกว่าต้อง rebranding หรือปรับภาพลักษณ์แบรนด์ของเราใหม่ ต้องเปลี่ยนสินทรัพย์ของตัวเอง คือจุดหมายปลายทางของการเป็นฉิ่งฉับทัวร์เอาออกวางกับพื้น ตัวอย่าง หัวหินถึงเขาตะเกียบ คิดว่าเศรษฐีไทยลงทุนสร้างคอนโดมิเนียม บูติคโฮเต็ล เป็นสินทรัพย์ไม่ต่ำกว่า 600,000 ล้านบาท ถามว่าหัวหินมีระบบน้ำทิ้งไหม ไม่มี เงิน 600,000 ล้านบาท กางอยู่กลางกองขี้ อายเขา ประเทศนี้เป็นอย่างนี้"   


@ คนอีสาน 80% บนถนนสุขุมวิท
    พันศักดิ์ยกคำว่า stimulus มาอธิบาย หมายความว่า "ต้องกระตุ้นให้เกิดโอกาสและทิศทางที่เปลี่ยนทั้งในแง่มูลค่าและสร้างสรรค์ การทำสินทรัพย์ให้มีมูลค่าจะต้องสร้าง ต้องซ่อม วางแผนการใช้เงินใหม่ ทำให้เกิดการจ้างงานแบบต่อเนื่อง ประเทศไทยต้องเปลี่ยนโครงสร้างของสินทรัพย์สำหรับในอนาคต ที่จะอยู่ตรงกลางระหว่างเจ๊กและแขก ไม่งั้นจะทำอย่างไร"        การเปลี่ยนแปลงเพื่อเพิ่มสินทรัพย์ให้มีมูลค่าที่เป็นโครงสร้างต้องเป็น หน้าที่ของรัฐบาล การเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างแรงจูงใจ การลดภาษีอะไรบางอย่างจะช่วยได้         ถ้ากำลังพูดเรื่องครีเอทีฟ อีโคโนมี ทุกสัดส่วนขึ้นกับรัฐบาล สังคมขวางกั้น งี่เง่าบัดซบหรือไม่ เช่น การเป็นพ่อครัวในประเทศไทย ถนนสุขุมวิทเต็มไปด้วยเชฟญี่ปุ่น ปรากฏว่าเป็นคนอีสานทั้งนั้นที่เรียนมาจากคนญี่ปุ่นที่มีสังคมใหญ่มากในไทย กุ๊กญี่ปุ่นก็สอนคนอีสานที่มีวิธีการแล่ปลาอยู่แล้ว ผสมกับความรู้ญี่ปุ่นเข้าไป      เกือบ 200 ร้านค้าบนถนนสุขุมวิท เป็นคนอีสานถึง 80% หมายความว่า คุณอยากให้ประเทศไทยเป็นที่ที่นักท่องเที่ยวอยากมา อยากให้มีคนครีเอทีฟอยู่ที่นี่ คุณต้องมีสิ่งแวดล้อมที่ให้คนครีเอทีฟทุกชาติ ทุกสัญชาติมาอยู่ที่นี่แล้ว แล้วมันสร้างสิ่งที่เรียกว่าไดนามิก ที่ทำให้เกิดสินค้าที่เกิดจากเศรษฐกิจสร้างสรรค์ แล้วเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากสินค้านั้น เช่น คนไทยกิน 24 ชั่วโมง เป็นที่รู้กันเลย เมืองไทยเป็น the biggest kitchen in the world (ครัวที่ใหญ่ที่สุดในโลก)
   เมื่อก่อนนี้ฮ่องกงถามหาโจ๊กตอนเที่ยง มันมองหน้าเลยเหมือนดูถูก แต่เดี๋ยวนี้เขาก๊อบปี้กรุงเทพฯ มีโจ๊กขายตลอด 24 ชั่วโมง วิธีการเราไม่ต้องใช้เงินในแผนกระตุ้นเศรษฐกิจเลย คุณออกกฎหมายมา ถ้าคุณได้พิสูจน์ว่าคุณเป็นมาสเตอร์เชฟไม่ว่าเป็นอาหารประเภทใดของโลก จะเป็นละตินอเมริกา ยุโรป ที่ใดก็ได้ แล้วมีเงินลงทุนอย่างน้อย 10 ล้านบาทขึ้นไป อยากมาเปิดร้านในไทย ก็ต้องจ้างงานคนไทย 7-8 คน ให้เลยวีซ่า 5 ปี หนังสืออนุญาตการทำงาน ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากบีโอไอ 2 ปี ไหบางอย่าง หม้อบางอย่าง เช่น ที่โมร็อกโกมีอะไรที่พิเศษ เชื่อไหม แป๊บเดียวโรงงานเซรามิกไทยก๊อบปี้ได้ พอมาถึงเมืองไทย ถ้าอยากยืมเงินก็ให้ยืมเลย รับรองเปิดร้านไม่ถึง 5 ปี กลายเป็นคนอีสานไปเลย
    สิ่งที่เราได้คือสร้างภาพพจน์ของประเทศไทย เป็น Thailand the best gourmet kitchen of the world (ครัวที่ดีที่สุดของโลก) มีบรรยากาศสบาย มีอาหารที่สุดยอดที่สุด
    สรุป คือการลดภาษีเพื่อเก็บภาษี แค่ทำกระบวนการแบบนี้ ฉะนั้นอย่าไปคิดว่าครีเอทีฟเองได้ อย่างลอนดอนมีหมด แขก เจ๊ก ไทย ฝรั่ง หมู หมา กา ไก่ อยู่ที่นั้นหมด อาหารเลบานอนที่อร่อยที่สุดยังอยู่ที่ลอนดอนเลย คนก็เชื่อเป็นเมืองที่แพงที่สุดก็ยังกระเสือกกระสนไป เพราะที่นั่นเป็นศูนย์รวมของแหล่งความคิดสร้างสรรค์ที่ดีที่สุด
 

@ ต้องเริ่มต้นจาก mapping
    เพราะฉะนั้นก่อนอื่นต้องทำ mapping หรือกำหนดก่อนว่าจะทำอะไร ต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวก รัฐบาลต้องชี้เป้า เมื่อก่อนมีไหม โรงแรม 5 ดาวที่เกาะช้าง พอรัฐบาลชี้เป้า ก็มีคนไปลงทุนกันที่เกาะช้าง รัฐบาลแค่ลงทุนทำถนนลาดยางมะตอยเท่านั้น
    ฉะนั้นอุตสาหกรรมการสร้างสรรค์ และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สังคมจะต้องสรุปกับการสร้างสรรค์ ไม่ใช่บอกว่าไอ้นี่ก็ทำได้ ไอ้นั้นก็ทำไม่ได้ แล้วคุณจะไปทำมาหากินยังไง จะไปก๊อบของขายแข่งกับจีนก็ไม่ได้ มันมีทางออก
  "เรื่องครีเอทีฟ อีโคโนมี ทั้งง่ายและยาก ง่ายถ้าเกิดเข้าใจก็จะมองทุกสิ่งทุกอย่างออกว่าต้องจะทำอะไรกับมัน ไม่ใช่แค่บอกทำสินค้ามีคุณภาพ พระเจ้าบอกไม่มีอะไรฟรี ทำสินค้าให้ดี ต้นทุนก็เพิ่มขึ้น แล้วก็เจ๊งสิ เจ๊งหนักด้วยเพราะลงทุนเยอะ เพราะต้องการสินค้ามีคุณภาพ แต่เหมือนอีกคน ยิ่งอีกคนยากที่ถุงเงินเยอะกว่า แค่เขาลดราคาลงมา 10% ก็ตายแล้ว"
   ตัวอย่างช่องทางของการทำ Creative Economy ที่ประเทศไทยมีศักยภาพ มีบริษัทคอสเมติกของโลก 2-3 ชาติ กำลังขอซื้อสินค้าสปาของไทย นี่คือโอกาสของเรา ชีวิตที่งามโดยคนไทยกำลังเป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ เพราะความล้มเหลวของยุโรปกำลังเกิดขึ้น ดีไซเนอร์ที่เก่งของยุโรปออกแบบแฟชั่น ดีไซน์เฟอร์นิเจอร์เหมือนกันหมด และบริษัทเฟอร์นิเจอร์ดีๆ ของยุโรปต้องขายให้จีนไป หมายความว่าเนื้อหาที่จะต่อยอดการสร้างสรรค์ของยุโรปให้มีความหลากหลายออกไป ตาย และเมื่อเขาตายก็จะกลายเป็นนักล่าใหม่ของโลก ออกล่าผลงานสร้างสรรค์ดั้งเดิมของคนพื้นเมืองทุกแห่งหน ละติน-อเมริกาก็มีแล้ว เอเชียก็ล่า แอฟริกาอีกหน่อยก็จะล่า แล้วเขาก็จะทำการตลาดใหม่ ตัวแบรนด์สินค้าอาจไม่เปลี่ยน แต่เปลี่ยนคุณภาพและส่วนผสมให้ดีขึ้น
  ฉะนั้นการเข้าใจโลกใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นกับเรา ท่ามกลางทุกอย่างที่ล้มเหลว เราจะเอาอะไรเป็นรายได้ งานสร้างสรรค์ไม่ใช่ก๊อบปี้ฝรั่ง ต้องไทย แต่ใช้องค์ความรู้ของโลกมาสร้างตัวเองให้กลายเป็นสินค้าและบริการ     


@ กระตุ้นเพื่อสร้างโอกาสการลงทุนใหม่    คำว่าสร้างประเทศไทยให้เข้มแข็ง ขอให้พิจารณาว่าเข้มแข็งอย่างไร เข้มแข็งไปทำไม เมื่อเข้มแข็งแล้วจะทำอะไร เป้าคืออะไร รายละเอียดของเป้าเมื่อเทียบกับความเป็นจริงของโลกคืออะไร แผนกระตุ้นเศรษฐกิจไม่สามารถทำได้เหมือนใน ค.ศ.1930, 1940, 1950, 1960 อีกแล้ว   เพราะทั้งโลกนี้ การจ้างงานที่ต่อเนื่องมาจากภาคเอกชน ไม่ได้มาจากภาครัฐ คุณจะต้องไม่กระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้การบริโภคเกิดขึ้น และมีการจ้างงานโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิต การกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยให้มีการบริโภคทำให้ผู้ผลิตขี้เกียจสันหลังยาว เพราะจะผลิตสินค้าเดิมๆ ออกมา ไม่คิดทำอะไรใหม่เพื่อสร้างโอกาสให้กับตัวเอง "เพราะฉะนั้นต้องให้คำจำกัดความคำว่า stimulus หรือกระตุ้นใหม่ เป็น stimulus to create change หรือการกระตุ้นเพื่อสร้างโอกาสการลงทุนใหม่"   แต่กระตุ้นเศรษฐกิจได้หรือไม่ต้องมีเป้าที่ชัดเจนก่อน เพื่อให้การลงทุนใหม่ทำให้เกิดการสร้างงาน และค่อยสร้างการบริโภค คนละเรื่องกันนะ ไม่ใช่มาสร้างการบริโภคขึ้นมาก่อน นี่คือเหตุผลที่นายกรัฐมนตรีเยอรมันไม่เอาแผนกระตุ้นเศรษฐกิจในการประชุม G-7 ครั้งสุดท้าย   "เรื่องต่อมาอย่าเอาเงินดีตามเงินเน่า สิ่งที่โลกทำกำลังเอาเงินดีไปถมสินทรัพย์ที่เน่า โลกตะวันตกกำลังเอาเงินเราไปไล่ถมหลุมขี้ เพื่อหวังจะกลายเป็นหลุมกุหลาบ เป็นไปไม่ได้ แต่จะต้องสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมา ของเราอย่าไปบอกประเทศอื่นก็ทำแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ มิน่าถึงได้เจ๊งกันไปหมด"   ส่วนทางออกของประเทศไทยคืออะไร คนไทยไม่เข้าใจเนื้อหาจริงๆ ของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้วยหรือไม่ ? คำตอบคือ ใช่ เพราะผู้ประกอบการไทยล้วนแต่รับจ้างทำสินค้ามานาน   "ต้องบริหารจัดการพื้นฐานให้มีการสร้างสรรค์มูลค่า หรือ value creation ให้ได้ และให้สิทธิประโยชน์ภาคเอกชนให้สามารถสร้างความผิดพลาดได้บ้าง เช่น ลงทุน 1,000 คน ผิดพลาด 300 คน อีก 700 คนรอดก็สำเร็จแล้ว อีก 300 คนด่ารัฐบาลเป็นเรื่องปกติ แต่พอทำบัญชีสิ้นปีมีรอดตั้ง 700 คน ถือว่าดีชั้นหนึ่งแล้ว"     


@ ทางเลือกและทางรอดของประเทศไทย
     แต่ถ้าถาม ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการบริหาร OKMD คนปัจจุบัน ว่า Creative Economy สำคัญอย่างไร ?
    คำตอบที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงคือ การสร้างสรรค์สินค้าและบริการใหม่ๆ ที่ใช้ความคิด (สร้างสรรค์) ในการเชื่อมโยงกับรากฐานทางวัฒนธรรม เทคโนโลยี สังคม และความเป็นอยู่ ตัวอย่างของประเทศในยุโรป ทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส หรืออิตาลีก็ดี ล้วนเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จจากการใช้ creative economy มาพัฒนาหรือกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างได้ผล
   ดร.ณรงค์ชัยยกตัวอย่างว่า ในแถบเอเชีย นอกจากสิงคโปร์ จีน และฮ่องกงแล้ว ประเทศเกาหลีถือเป็นตัวอย่างของการก้าวกระโดด และมุ่งมั่นใช้ "Creative Economy" เป็นอาวุธหลักสำหรับการแข่งขันในตลาดโลก จนประสบความสำเร็จอย่างน่าทึ่งและชื่นชม โดยใช้สื่อต่างๆ (media) ในการเข้าถึงผู้บริโภคทั่วโลก ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาล ด้วยการจัดระบบและการจัดการ มองถึงสิ่งที่มีและพัฒนาเชื่อมโยงเพิ่มมูลของที่เกาหลีมีอยู่ จากภาพยนต์ที่สื่อถึงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมมาสู่สินค้าและบริการ จนกลายเป็นแม่เหล็กขนาดใหญ่ของการท่องเที่ยวเกาหลีที่สร้างรายได้และดึงเงิน เข้าประเทศเกาหลีได้เป็นกอบเป็นกำ
     "ผมเชื่อมาตลอดว่า Creative Economy น่าจะเป็นทางเลือกและทางรอดของประเทศไทย ที่จะก้าวข้ามภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ในตอนนี้ไปได้
       ส่วนจะทำให้เกิดขึ้นได้อย่างไร นั่นคือโจทย์ที่ทุกคนต้องช่วยกัน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนทุกคน ที่ต้องช่วยกัน ′คิด′ และ ′ทำ′ อย่างจริงจังและต่อเนื่อง
        หากประเทศไทยพัฒนาธุรกิจสินค้าและบริการให้สามารถแข่งขันในเวทีการค้าโลกได้ ภายใต้ยุคเศรษฐกิจแห่งการสร้างสรรค์ หรือครีเอทีฟ อีโคโนมี
       ผมเชื่อว่าเราจะต้องรอด รอดด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มจากสติปัญญา และการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด" 
      ประชาชาติออนไลน์เชื่อว่า อีกหลายปีนับจากนี้ Creative Economy จะมีคนพูดมากขึ้นเรื่อยๆ
       แต่ปัญหาว่าคนไทยจะก้าวไปสู่การใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้แค่ไหน ยังน่าสงสัย เพราะดูแค่ละครสุดฮิตหลังข่าวที่คนไทยติดกันงอมแงม
      ก็เชื่อแล้วว่า คนไทยสร้างสรรค์ เจงๆ

view