สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ยิ่งลักษณ์ ทำคนไทยแบกหนี้อ่วม จุฬาฯ-มธ. ชี้หนักกว่ายุคไอเอ็มเอฟ!

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

       นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ‘จุฬาฯ-มธ.’ ชำแหละการบริหารงานของ 2 รัฐบาล ‘ปู-มาร์ค’ กู้เงิน-ทึ้งงบประมาณทำประชานิยม-แบ่งปันผลประโยชน์กันเอง ชี้ภาระหนี้สินใหม่-เก่าจะทำให้ประเทศไทยถึงขั้นล้มละลาย พบหมกเม็ดหนี้จริงอาจถึง 8 แสนล้านบาท มีสิทธิ์ต้องเข้าโปรแกรมฟื้นฟูกับ IMF รอบ 2 ขณะที่ภาคการลงทุนประสานเสียง ขอภาวะผู้นำ “ยิ่งลักษณ์” แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ชี้ต่างชาติมอง “นายกฯ-ครม.”อ่อน ต้องตั้ง ‘กยอ.’ ยิ่งลดความเชื่อมั่น
       ปัญหาวิกฤตน้ำท่วมในประเทศไทยที่เกิดขึ้นรุนแรงมากว่า 2 เดือนนั้น ต้องยอมรับว่านอกจากจะส่งผลต่อคนไทยหลายครอบครัวแล้ว ยังหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดผลกระทบอย่างรุนแรงกับภาคเศรษฐกิจไทยด้วย โดยมีผู้เชี่ยวชาญประเมินกันแล้วว่าปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้สร้างความเสียหาย ให้ประเทศไทยสูงมากถึง 1-3 แสนล้านบาท
        แม้ว่ากระทรวงการคลัง คาดว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยจะตกลงร้อยละ 1.8 จากที่ประมาณการไว้เบื้องต้นที่คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2555 จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ5.0 และมองว่าความจำเป็นในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังน้ำท่วมทั้งจากภาครัฐและเอกชน จะส่งผลให้ธุรกรรมทางเศรษฐกิจในปี 2555 เพิ่มขึ้นทั้งด้านการบริโภคและการลงทุน รวมทั้งการอัดฉีดเงินของรัฐบาลจากการตั้งงบประมาณขาดดุล 400,000 ล้านบาท จะเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ
        อีกทั้งการที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รู้ตัวดีว่ายังมีบารมีทางการเมืองระดับนานาชาติไม่มากนัก จึงตัดสินใจตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) เมื่อวันที่ 8 พ.ย.2554 โดยให้ ดร.โกร่ง หรือวีรพงษ์ รามางกูร เป็นประธานกรรมการ และมี ยงยุทธ วิชัยดิษฐ และกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธานกรรมการ
       นอกจากนี้ยังมีชื่อของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, พันศักดิ์ วิญญรัตน์, กิจจา ผลภาษี, ประเสริฐ บุญสัมพันธ์, วิษณุ เครืองาม, ศุภวุฒิ สายเชื้อ, เลขาธิการนายกรัฐมนตรี, เลขาธิการคณะรัฐมนตรี, ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, ประธานสมาคมธนาคารไทย เป็นกรรมการ และให้เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ
       พร้อมตั้ง ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นที่ปรึกษาวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำด้วย
        ชื่อคนระดับเซียนล้วนๆ!
        ดังนั้นแม้รัฐบาลจะตัดสินใจทำอะไรขึ้นมาหลายอย่าง เพื่อแก้ความผิดพลาดที่ประเมิน ว่า “เอาอยู่” โดยเฉพาะความพยายามป้องกันนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดอยุธยา มาถึงปทุมธานี และเข้าเขตกรุงเทพฯ รอบนอก ที่ล้วนแต่ผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในที่สุดทุกสิ่งทุกอย่างพังทลายจนจบสิ้น แล้วรัฐบาลค่อยเอางบประมาณเยียวยาผู้เดือดร้อนซึ่งมีจำนวนมากมาย แทนที่จะใช้งบฯ ลงทุนเพื่อการป้องกันซึ่งสามารถทำได้ ประเมินได้ ตั้งแต่ช่วงที่เริ่มวิกฤตน้ำท่วมในภาคเหนือ
       นั่นหมายถึง เงินจำนวนมหาศาลที่จะต้องนำมาใช้ เมื่อรวมกับเงินอีกจำนวนหนึ่งที่เป็นโครงการประชานิยมของพรรคเพื่อไทยซึ่ง อนาคตอันใกล้นี้ คนไทยต้องเตรียมตัวแบกหนี้มหาศาล และอาจร้ายแรงกว่าช่วงที่ประเทศไทยต้องเข้าแผนฟื้นฟูกับไอเอ็มเอฟในครั้ง ก่อน!
       
       เตรียมรับมือหนี้สาธารณะพุ่ง!
        ดร.ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยมีอยู่ 2 ส่วนที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก ได้แก่ หนี้สาธารณะที่การเมืองกำลังจะทำให้คนไทยมีหนี้สินต่อครัวเรือนสูงขึ้น และความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่ตกต่ำลง และมีแนวโน้มย้ายฐานการผลิตในระยะยาว
        ในส่วนของหนี้สาธารณะ ดร.ตีรณ ยอมรับตามตรงว่า ที่น่าเป็นห่วงคือไม่ว่านักการเมืองพรรคไหน ขณะนี้ต่างรุมทึ้งประเทศไทยจนประชาชนไทยต้องรับหนี้ท่วมหัวทั้งสิ้นแปลว่า ไม่ว่าจะพรรคประชาธิปัตย์ หรือเพื่อไทย กำลังจะทำสิ่งเดียวกัน และเพิ่มภาระให้ประชาชนทั้งสิ้น
        โดยหนี้สาธารณะของไทยขณะนี้อยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง กล่าวคือ ขณะที่ยังไม่เกิดวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้ ประเทศไทยมีหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ประมาณร้อยละ 40 ซึ่งกล่าวตามจริง มูลค่าหนี้สาธารณะขณะนี้คือร้อยละ 40 แม้ยังไม่ได้สร้างปัญหาให้ระบบเศรษฐกิจในภาพรวม แต่มูลค่าหนี้สาธารณะนี้ถือว่าสูงอยู่แล้ว โดยเฉพาะหากเศรษฐกิจโลกอยู่ในขาลง และไทยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพียงแค่ร้อยละ 2-3 ก็มีโอกาสที่ไทยจะใช้หนี้ไม่ได้อยู่มาก
        ปรากฏว่า การตั้งงบประมาณปี 2555 ที่เพิ่งผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรไปนั้น กลับมีการตั้งงบประมาณแบบขาดดุลสูงถึง 3.5 แสนล้านบาท โดย ครม.มีมติอนุมัติกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 วงเงิน 2.33 ล้านล้านบาท แยกเป็นรายจ่ายประจำ 1.839 ล้านล้านบาท รายจ่ายลงทุน 3.84 แสนล้านบาท รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 5.4 หมื่นล้านบาท รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 5.1 หมื่นล้านบาท รายได้สุทธิ 1.98 ล้านล้านบาท ขาดดุลงบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งตัวเลขการขาดดุลงบประมาณเป็นตัวชี้ว่ารัฐบาลกำลังจะก่อหนี้สาธารณะก้อน ใหญ่เพิ่มในอนาคตอันใกล้นี้
        “หนี้สาธารณะของไทยตอนนี้มีสูงอยู่แล้ว แต่มีโอกาสที่จะขึ้นสูงอีกจากการขาดดุลงบประมาณเพิ่มได้ ซึ่งยังไม่รู้เท่าไร ขึ้นอยู่กับจำนวนเม็ดเงินที่จะกู้ รัฐบาลบอกประมาณร้อยละ 43.5 แต่ก็ต้องบอกว่าเป็นตัวเลขที่ยังไม่รวมกับตัวเลขที่ซ่อนอยู่ ซึ่งตามกรอบงบประมาณของไทย ไทยก็ยังสามารถสร้างหนี้สาธารณะได้ถึงร้อยละ 60 ของ GDP ซึ่งยังเป็นระดับที่เรียกว่าเกิดวิกฤตแล้วแต่ก็ยังพอรับได้ สิ่งที่ต้องดูคือ ถ้าเศรษฐกิจโลกขาขึ้น ประเทศไทยจะไม่มีปัญหามากนัก แต่ถ้าเศรษฐกิจโลกขาลง การมีหนี้สาธารณะสูงถึงร้อยละ 50-60 ของ GDP ถือว่าเสี่ยงมากที่จะไปถึงจุดที่คืนหนี้ไม่ได้ และอาจต้องเข้าระบบฟื้นฟูเศรษฐกิจกับ IMF อีกครั้ง”

ผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์รวบรวม

       คนไทยแบกหนี้ต่อหัวกว่าแสนบาท
        ตัวเลขหนี้สาธารณะต่อ GDP นี้ อาจารย์ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เคยทำประมาณการตัวเลขไว้ด้วยว่า หากหนี้สาธารณะของประเทศไทยมีประมาณร้อยละ 40 ต่อ GDP เท่ากับว่าคนไทยมีหนี้เท่ากับ 60,000 บาทต่อคน แต่หากหนี้สาธารณะอยู่ที่ระดับร้อยละ 60 ต่อ GDP เท่ากับว่าคนไทยจะมีหนี้สูงถึง 100,000 บาทต่อคนด้วย
        “จะรอดหรือไม่รอด ขึ้นอยู่กับแผนฟื้นฟูหลังน้ำท่วม ว่าจะมีการขอใช้เงินไปในทางไหน หากใช้เงินไปเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ก็จะทำให้หนี้สาธารณะที่ก่อขึ้นมีประโยชน์กับประเทศจริงๆ แต่ถ้ายังเน้นทำโครงการหาเสียง แจกเงิน และโครงการไม่คุ้มทุน อย่างโครงการประชานิยมต่างๆ อยู่ หนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นก็เป็นหนี้ที่สร้างภาระให้คนไทยอย่างมาก” ดร.ตีรณ กล่าว
        ดร.ตีรณ ย้ำว่า ประเทศไทยมีโอกาสที่จะล้มละลาย หรือถึงจุดคืนหนี้ไม่ได้มีมากกว่าตัวเลขหนี้สาธารณะที่แสดงอยู่ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีคนพูดถึงเลยว่า ธนาคารของรัฐบางแห่งที่ดำเนินโครงการนิยมต่างๆ นั้นมีหนี้อยู่เท่าไร และไม่เคยมีการนำหนี้มานับรวมในส่วนหนี้สาธารณะเลย ตัวเลขนี้ถือเป็นตัวเลขสำคัญซึ่งซ่อนอยู่ ซึ่งเมื่อรวมตัวเลขนี้เข้าไปด้วยแล้ว หนี้ที่จะก่อขึ้นจาก 4 แสนล้าน อาจเป็นจริงสูงถึง 7-8 แสนล้านบาทด้วยซ้ำ ซึ่งจะทำให้หนี้สาธารณะมีตัวเลขรวมเป็นร้อยละที่สูงขึ้นมาก และอาจสูงถึงร้อยละ 60 หากมีการเปิดเผยตัวเลขในส่วนนี้ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มี
        “ตัวเลขพวกนี้จะเปิดเผยก็ต่อเมื่อเศรษฐกิจไทยมันล้มเหลวถึงขั้นวิกฤตแล้วเท่านั้น”
        ดังนั้น จึงมองว่าหนี้สาธารณะในมือนักการเมืองไทยยังน่าเป็นห่วง
        “ประเด็นคือกู้เงินเพิ่มขึ้น จะเอาเงินไปทำอะไร ขณะนี้ก็ยังเป็นปริศนา ห่วงแค่ว่าจะเป็นการถลุงเงินในหมู่นักการเมือง หรือในหมู่ผู้ที่มีความเชื่อมโยงกันทางการเมือง หรือเส้นทางทางการเมืองเท่านั้น หมู่นักการเมืองได้ประโยชน์ แต่เศรษฐกิจภาพใหญ่กำลังถูกปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม ดังนั้นโอกาสสูงขึ้นเรื่อยๆ ที่การเมืองจะสร้างความบอบช้ำทางเศรษฐกิจไทยมากขึ้น”
        ทั้งหมดนี้จะแตกต่างกับสมัยที่ประเทศไทยต้องเข้าไอเอ็มเอฟครั้งแรก
        “ตอนนั้นหนี้สาธารณะไทยสูงถึงร้อยละ 60 ซึ่งตัวเลขนี้เกิดก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง เนื่องจากตัวเลขทางการคลังจะช้ากว่าวิกฤตเล็กน้อย ถ้าเปรียบเทียบแล้ว วิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 นั้นยังโชคดีเพราะเศรษฐกิจโลกยังดี และเศรษฐกิจไทยยังมีภูมิคุ้มกันหลายตัว โดยเฉพาะดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยยังเป็นตัวเลขที่เกินดุลมาก แต่ตอนนี้หากเพิ่มหนี้สาธารณะมากไป ไทยมีโอกาสจะเสียหายหนักกว่าปี 2540”
        เช่นเดียวกับ ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มองว่าปัญหาหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นในยุคนี้จะแก้ได้ยากกว่าตอนปี 2540
        “สมัยเข้าไอเอ็มเอฟ ไทยมีหนี้สาธารณะอยู่มากกว่าร้อยละ 50 ของ GDP แต่ตอนนั้นเศรษฐกิจโลกดี ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้เร็วจากการส่งออก รวมกับการลดค่าเงินบาทยิ่งทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้เร็วมากใน 2-3 ปี แต่ตอนนี้ไม่ใช่ เศรษฐกิจโลกกำลังตกต่ำ ไทยจะไปอาศัยการส่งออกอีกไม่ได้ อีกทั้งยังมีภาระต้องหาเงินก้อนใหญ่มาทำโครงการประชานิยม ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวยากมาก”
        โดยตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจ ศ.ดร.พรายพล มองว่า การตั้งงบประมาณปี 2555 แบบขาดดุล 3.5 แสนล้านบาท จะทำให้หนี้สาธารณะอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 42 ของGDP แต่หากมีการกู้เงินเพิ่มขึ้นมาอีกในโครงการนิวไทยแลนด์ตั้งแต่ 4 แสนล้านบาทจนถึง 6 แสนล้านบาท ก็จะทำให้ภาระหนี้ของไทยสูงมาก คืออย่างน้อยอยู่ในระดับร้อยละ 45 ต่อ GDP ขึ้นไป
        “ที่น่าเป็นห่วงคือภาระหนี้สะสม เพราะถ้าปีหน้าหนี้อยู่ที่ระดับร้อยละ 45 ของ GDP แล้วปีงบประมาณ 2556 ก็ต้องทำงบประมาณขาดดุลเพิ่ม หนี้สาธารณะก็จะเพิ่มขึ้นไปอีก และมีสิทธิ์เพิ่มได้ถึงร้อยละ 50 ต่อ GDP ซึ่งน่าวิตกในเรื่องความยั่งยืนทางการคลัง”
        การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ พี่ใหญ่ของตระกูลชินวัตร แอบอ้างว่าเป็นผู้ทำให้ไทยหมดหนี้กับไอเอ็มเอฟ นั้นไม่จริง เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจและปัจจัยทางเศรษฐกิจโลกรองรับให้เศรษฐกิจไทยเติบโต อยู่แล้ว และวันนี้น่าเป็นห่วงว่า คนในตระกูลชินวัตรคนน้อง กำลังจะทำให้คนไทยแบกหนี้จำนวนมหาศาลนี้อ่วมไปอีกหลายปี!
       
       ‘ปู’ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก่อนสาย
        ขณะที่อีกภาคส่วนที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทยตอนนี้คือความเชื่อมั่นของนักลงทุน ต่างชาติ ขณะนี้นายกรัฐมนตรี หลังจากสื่อต่างประเทศ และกระแสข่าวที่รายงานว่า นักลงทุนต่างชาติหลายภาคส่วนกำลังเตรียมตัวที่จะย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศ ไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ และได้มีการเร่งตั้งคณะกรรมการฯ กยอ.ขึ้นมา โดยชูไปที่ตัว ดร.โกร่ง เพื่อเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นนั้น
        ดร.ตีรณ กล่าวว่า ความเชื่อมั่นของต่างชาติจะเกิดได้จากปัจจัยเดียวเท่านั้น คือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของตัวนายกรัฐมนตรี ให้เด็ดขาด และเห็นผล
        นอกจากนั้นไม่ว่าจะเป็นการตั้งบุคคลที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ การออกไปโรดโชว์ต่างประเทศหลังวิกฤตครั้งนี้เสร็จสิ้นไป ฯลฯ ล้วนไม่ได้ผลทางความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติที่มีการลงทุนในประเทศไทยอยู่แล้ว เพราะนักลงทุนต่างชาติเหล่านั้นต้องการให้นายกรัฐมนตรีไทยแก้ปัญหาอย่างทัน ท่วงทีมากกว่าจะแก้ปัญหาผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ดังนั้นแม้จะตั้งคณะกรรมการอีกกี่คณะ เอาคนเก่งอีกกี่คนมานั่งเป็นคณะกรรมการคณะต่างๆ ย่อมไม่มีผลเท่ากับการตัดสินใจแก้ปัญหาให้ชัดเจนโดยตัวนายกรัฐมนตรีเอง
        “ขณะนี้วิกฤตน้ำท่วมยังไม่จบ นายกฯ ยังมีโอกาสแสดงความสามารถตรงนี้ออกมาให้ประจักษ์ อย่ารอให้วิกฤตน้ำท่วมจบแล้วค่อยมากู้ภาพลักษณ์ เพราะจะเรียกความเชื่อมั่นอะไรไม่ได้”
        อย่าลืมว่านักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว จะมีการให้ความสำคัญกับคนที่สำคัญที่สุดในการบริหารประเทศก่อน ดังนั้นการยิ่งตั้งคณะกรรมการต่างๆ ขึ้นมาชุดแล้วชุดเล่า นอกจากจะไม่ได้สร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นแล้ว ยังทำให้นักลงทุนต่างชาติยิ่งเห็นว่า นายกฯ และ ครม.แก้ปัญหาอะไรไม่ได้ ต้องตั้งคณะกรรมการมาช่วย
        “เขามองว่า เอะอะก็ตั้งคณะกรรมการ แต่มันไม่ใช่ รัฐต้องแก้ไขให้ได้ด้วยตัวเอง”
        ปัญหาทั้งหมดจึงอยู่ที่การบริหารจัดการ!
        “ต้องพูดความจริง เพราะทุกคนเข้าใจดีว่าปัญหาเกิดจากน้ำที่มากเกิน แต่การบริหารจัดการปัญหาต่างหากที่นักลงทุนต่างชาติอยากเห็น”
        นอกจากนี้ปัญหาที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยก็ยังไม่ใช่แค่ที่เห็น แต่ยังมีอีก 2 ปัจจัยที่ขณะนี้ถูกมองข้ามไป
        ปัจจัยแรก คือขณะนี้ทุกคนต่างมองเห็นว่าภาคธุรกิจได้รับความเดือดร้อนอย่างไร แต่ความจริงแล้ว ภาคธุรกิจจะเป็นภาคส่วนที่มีความรู้ มีการรับข่าวสารข้อมูลที่รวดเร็ว จึงมีการปกป้องทรัพย์สินไว้ได้ส่วนใหญ่ แต่ภาคที่เสียหายหนักคือภาคครัวเรือน
        โดยรายงานที่จัดทำถึงนายกรัฐมนตรีนั้น ที่ยังมองว่าผิดพลาด ได้แก่ความเสียหายภาคธุรกิจเอกชนที่มีการประเมินว่าสูงถึง 3 แสนล้านบาท ยังเป็นตัวเลขที่สูงเกินจริง มองว่าการประเมินมาจากการคำนวณเงินลงทุนของอุตสาหกรรมนั้นๆ ทั้งหมด ไม่ได้แยกตัวเลขเฉพาะที่เสียหาย ซึ่งการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่เร็ว ทำให้หลายส่วนป้องกันทรัพย์สินไว้ได้ทัน
        ขณะที่ภาคครัวเรือน เป็นภาคที่มีการรับข้อมูลข่าวสารที่น้อยกว่า และช้ากว่า มองแล้วการประเมินที่ว่า มีภาคประชาชนเดือนร้อนทั้งสิ้น 2 ล้านครัวเรือนนั้น ก็เป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าความเป็นจริง และมองว่ามีความเสียหายในส่วนนี้มาก และจะเป็นภาระใหญ่มากต่อรัฐบาลในอนาคต
        อีกปัจจัยหนึ่งคือ แนวโน้มภาวะน้ำท่วมที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า แม้ปัจจุบันยังไม่มีใครบอกได้ว่าปี 2555 จะเกิดภาวะน้ำท่วมหนักขนาดนี้หรือไม่ แต่ดูแล้วมีแนวโน้มที่จะมีปัญหาน้ำท่วมหนักมากกว่าน้ำแล้ง ซึ่งต่างชาติหลายสำนักก็ได้ประเมินว่าประเทศไทยมีแนวโน้มเกิดปัญหาน้ำท่วม หนักในปีหน้าเช่นกัน ดังนั้นหากมีความสามารถในการจัดการปัญหาน้ำท่วมในปีนี้ได้ดี ถือว่าประเทศไทยยังเป็นประเทศที่น่าสนใจเข้ามาลงทุน แต่หากไม่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ดี และต่างชาติยังประเมินว่าปีหน้าประเทศไทยยังมีปัญหาน้ำท่วมแน่นอน ก็จะเป็นผลเสียต่อภาคการลงทุนของต่างชาติในระยะยาว
        “ในระยะสั้น ยังเชื่อว่าต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทย ไม่อยากถอนการลงทุน เพราะการลงทุนแต่ละครั้งต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมาก กระบวนการผลิตหรือห่วงโซ่การผลิต หรือซัปพลายเชน ก็ยังอยู่ในเมืองไทย การจะย้ายฐานการผลิตจึงเป็นเรื่องใหญ่ ดังนั้นอะไรที่ใช้วิธีการปรับได้ ก็ดีกว่า แต่ระยะยาวแล้วต่างชาติเขาจะดูว่าศักยภาพการแก้ปัญหาของรัฐบาลในวิกฤตครั้ง นี้เขารับได้ไหม ถ้ารับไม่ได้ ปัญหาระยะยาวก็มีโอกาสย้ายฐานการลงทุนมาก”
       
       หวั่นปีหน้าท่วมซ้ำ-นักลงทุนระส่ำ
        เช่นเดียวกับ พยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างประเทศต่างมีคำถามตรงกันและต้องการคำตอบ จากภาครัฐให้ชัดเจนก่อนว่า ปีหน้าจะเป็นแบบนี้อีกหรือไม่ จะมีวิธีป้องกันอย่างไร และระยะยาวจะต้องเผชิญปัญหาอย่างนี้อีกหรือไม่ มากกว่าจะเชื่อมั่นเพราะว่ามีคณะกรรมการชุดต่างๆ ขึ้นมา
        แต่การที่รัฐบาลตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคต ประเทศ(กยอ.) และคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ก็ไม่ถือเป็นเรื่องเสียหาย ถือเป็นการที่รัฐแสดงสัญญาณที่ทำให้เห็นว่ามีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาใน ประเทศ เพราะว่าโครงสร้างประเทศไทยไม่ได้มีแค่เรื่องน้ำท่วมเรื่องเดียวที่ต้อง โฟกัส แต่ยังมีโครงสร้างเศรษฐกิจ โครงสร้างอุตสาหกรรม และโครงสร้างด้านอื่นๆ ด้วย
       “การเชิญบุคคลซึ่งเป็นที่ยอมรับทางสังคมเข้ามาทำงานแสดงว่ารัฐบาลมี ความตั้งใจทำงานด้านนี้อย่างจริงจัง แต่ต้องมีความโปร่งใส เพราะแผนการทำงานจะมีระยะเวลายาวนาน อาจจะต้องเปลี่ยนผ่านอีกหลายรัฐบาล ซึ่งมีเรื่องของงบประมาณและการกู้เงินจำนวนมากเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นต้องมีความชัดเจน โปร่งใส และมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของไทยและต่างประเทศ”
       อย่างไรก็ตาม การดำเนินการต้องทำอย่างต่อเนื่องจริงจัง แม้จะเปลี่ยนรัฐบาลไปแล้วก็ต้องทำต่อ โดยภาคเอกชนและประชาชนจะต้องช่วยกันขับเคลื่อนด้วย เนื่องจากเป็นเรื่องของประเทศที่ต้องร่วมกันทำทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ประชาชน และภาคเอกชนต่างๆ ส่วนผลจะออกมาเป็นอย่างไร ในเบื้องต้นคงต้องรอดูไปก่อน
       พยุงศักดิ์ ระบุว่า ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อประเทศไทยขณะนี้ยังคงมั่นใจ แต่ขอดูแผนปีหน้าว่าไทยจะฟื้นฟูอย่างไร นักลงทุนส่วนใหญ่กว่า 80% เป็นประเทศญี่ปุ่น ซึ่งบางบริษัทเคยพูดไว้ว่า ญี่ปุ่นกับไทยทำมาค้าขายร่วมกันมาหลายร้อยปีแล้ว ดังนั้นไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็คงต้องยืนหยัด และเหตุการณ์อุทกภัยก็เป็นเรื่องของภัยธรรมชาติที่สามารถแก้ไขได้ จึงกล่าวได้ว่าความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติยังมีแน่นอน นอกจากนั้น พื้นฐานของไทยยังมีความเชื่อมโยงของซัปพลายเชนที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง หากใครจะย้ายการลงทุนไปที่อื่น ก็ต้องไปสร้างใหม่อีกนานกว่า 10 ปีเป็นอย่างน้อย เพราะประสบการณ์ของพนักงาน รวมทั้งเครือข่ายของซัปพลายเชนที่อื่นยังไม่แข็งแรง ความเป็นไปได้ที่จะย้ายฐานการผลิตคืออาจย้ายจากที่ลุ่มไปที่สูงมากกว่า
       สำหรับแนวทางการเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติ สภาอุตสาหกรรมฯ ได้จัดตั้งคณะทำงานด้านนี้โดยเฉพาะ โดยนำเสนอแนวทางการฟื้นฟูทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการช่วยเหลือนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ด้วยวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจำนวน 1.5 หมื่นล้านบาท ที่รัฐบาลอนุมัติให้แล้ว เพื่อให้นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ สามารถทำโครงการป้องกันอุทกภัยด้วยตนเอง เพื่อไม่ให้กลับมามีปัญหาอีกในระยะสั้น นอกจากนั้นยังให้ Soft loan กับผู้ประกอบการ SME ที่อยู่นอกนิคมอุตสาหกรรมแต่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยอีกด้วย
       ประธาน ส.อ.ท. แสดงความเห็นต่อแผนการกู้เงินจำนวนมากจากต่างประเทศของรัฐบาลว่า การกู้เงินเป็นเรื่องปรกติ เนื่องจากมีเพดานหนี้สาธารณะกำกับอยู่ หากรัฐบาลรักษาวินัยทางการเงินการคลัง การกู้เงินก็จะไม่มีปัญหาตามมา อย่างไรก็ดี รัฐบาลอาจจะกู้เงินในประเทศไทยก็ได้ เพราะยังมีสภาพคล่องอยู่พอสมควร และอาจจะให้ต่างประเทศเข้ามาลงทุน แต่ต้องรักษาวินัยการเงินการคลังและเพดานหนี้ต่างๆ ไม่ให้กลายเป็นปัญหาของประเทศไป
       
       หอการค้าไทยขอ “Leadership”
       ขณะที่ ฉัตรชัย บุญรัตน์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ในฐานะผู้รับผิดชอบเรื่องการวางแผนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในระยะยาว เผยว่า จากการพูดคุยกับนักลงทุนหลายๆ ประเทศ ทุกคนเข้าใจว่าอุทกภัยเป็นเรื่องของภัยธรรมชาติ แต่สิ่งที่ทุกคนกำลังจับตามองคือ สิ่งที่ประเทศไทยกำลังจะทำต่อไป เมื่อเกิดสถานการณ์เช่นนี้อีก เรามีแผนการป้องกันและรับมือที่มีประสิทธิภาพอย่างไรบ้าง
        “สำหรับการตั้ง กยอ.และ กยน.ขึ้นมา อย่างน้อยที่สุด คณะกรรมการชุดนี้ก็มีผู้ทรงคุณวุฒิ และมีความรู้เข้ามาร่วมช่วยกัน แต่สิ่งที่ยังสับสนกันอยู่คือ คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมามีจำนวนมากเหลือเกิน และยังไม่ชัดเจนว่าคณะกรรมการมีขอบเขตอำนาจการดำเนินการอยู่แค่ไหน”
        ฉัตรชัย กล่าวต่อว่า สิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้คือ เรายังขาดการบูรณาการ ขาด Leadership โดยส่วนตัวเห็นว่า ผู้นำประเทศขณะนี้เป็นคนดี เพียงแต่สถานการณ์เช่นนี้ต้องการคนที่กล้าตัดสินใจ เอาไงก็เอากัน ให้ดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ใช่เดี๋ยวคนนั้นว่าอย่าง คนนี้ว่าอย่าง หรือต่างคนต่างทำ
       “ทางออกคือ ประเทศไทยต้องบูรณาการ แต่การจะบูรณาการได้ ต้องมีคนที่เป็นหัวหน้าที่ตัดสินใจได้จริงๆ จากการที่ผมได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบเรื่องการวางแผนแก้ไขปัญหาน้ำท่วมใน ระยะยาว พอเข้ามาดูจริงๆ พบว่าความรู้และการศึกษาต่างๆ ยังมีอยู่เยอะมาก แต่ไม่ได้นำมาปฏิบัติ หากผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปแล้ว เราก็สามารถที่จะหยิบมาดำเนินการกันได้เลย แต่ต้องอาศัยการบูรณาการ ที่จะทำให้มีการตัดสินใจและดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน”
       ดังนั้นยืนยันว่า การที่นายกรัฐมนตรีแสดงภาวะผู้นำในขณะนี้จะทำให้ความเชื่อมั่นเกิดขึ้นได้มากที่สุด
       
       เร่งประสานจีน กู้ท่องเที่ยวไทย
       ด้าน บุญยงค์ ยงเจริญรัฐ นายกสมาคมนักธุรกิจยุคใหม่ไทย-จีน กล่าวว่า นักลงทุนจีนกำลังเฝ้ามองสถานการณ์อุทกภัยในประเทศไทยอย่างเป็นห่วง
       “การเรียกความเชื่อมั่นที่สำคัญที่สุดคือการแถลงให้ต่างประเทศรับรู้ ว่า ไทยสามารถควบคุมสถานการณ์ต่างๆ ได้ และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ร้ายแรงมาก อย่าขยายความมากเกินไป เพื่อให้นักลงทุนต่างชาติเกิดกำลังใจที่จะสู้กับสถานการณ์ต่อไป”
       นอกจากนั้น รัฐบาลควรออกมาแถลงข่าวชักชวนนักท่องเที่ยวจีน และนักธุรกิจจีน ให้เข้ามาเยือนประเทศไทยตามปรกติ เพราะน้ำท่วมครั้งนี้เกิดขึ้นในไม่กี่จังหวัด สถานที่ท่องเที่ยวอีกหลายแห่งในประเทศไทยยังสามารถมาได้ เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ พัทยา หรือเกาะสมุย เพราะตอนนี้แม้รัฐบาลจีนจะพยายามช่วยเหลือเหตุการณ์อุทกภัยในไทย แต่ก็ไม่ได้สนับสนุนให้คนจีนออกมาเที่ยวที่ประเทศไทย ซึ่งลำพังสมาคมนักธุรกิจยุคใหม่ไทย-จีนเอง ก็สามารถพูดให้คนจีนเข้าใจได้แค่ในสมาคมส่วนตัวเท่านั้น ไม่เหมือนรัฐบาลออกมาพูดซึ่งจะสามารถสื่อสารถึงรัฐบาลจีนได้
       บุญยงค์ กล่าวถึงกรณีการกู้เงินจากต่างประเทศจำนวนมากเพื่อฟื้นฟูประเทศไทยว่า ถือเป็นเรื่องธรรมดา ถ้ากู้แล้วมีความสามารถในการใช้คืนได้ การกู้เงินจะต้องนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับส่วนรวม ประชาชนต้องเฝ้ามองการแก้ปัญหาของรัฐเพื่อไม่ให้นำเงินที่กู้มาไปทำอย่าง อื่น หรือเกิดการทุจริต ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในฐานะลูกหนี้ไปตลอดด้วย
       ท้ายที่สุดแล้วแม้วิกฤตน้ำท่วมจะจบลงไปในอีกไม่ช้านี้ แต่สิ่งที่ภาคเอกชนและนักวิชาการพยายามสื่อให้รัฐบาลเข้าใจก็คือ แม้ว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ เข้ามาเสริมความเชื่อมั่นก็ตาม แต่นายกรัฐมนตรีจะต้องแสดงให้เห็นถึงความมี Leadership ในการบริหารและจัดการที่ถูกต้อง โปร่งใสและชัดเจน เพราะทุกฝ่ายต่างประเมินแล้วว่า ปีหน้าประเทศไทยยังคงมีโอกาสเกิดน้ำท่วมสูง
       ที่สำคัญต้องเร่งจัดการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศไทยที่กำลังจะ เกิดขึ้นจากการบริหารน้ำที่ผิดพลาด จนทำให้เกิดความเสียหายและนำไปสู่การก่อหนี้ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ส่งผลให้คนไทยทุกคนต้องมีภาระแบกหนี้ก้อนใหญ่จากฝีมือของ ‘ชินวัตร’ ล้วนๆ
       
       ทีมเศรษฐกิจ-การเมือง


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : ยิ่งลักษณ์ ทำคนไทย แบกหนี้อ่วม จุฬาฯ-มธ. ชี้หนักกว่า ยุคไอเอ็มเอฟ!

view