เศรษฐกิจเอเชียปี 2555 : เติบโตในอัตราที่ชะลอลงแต่เงินเฟ้อชะลอตัวลงด้วย
โดย : ดร.อาภรณ์ ชีวะเกรียงไกร
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
เศรษฐกิจในปี 2554 ที่กำลังจะผ่านพ้นไปถือว่าเป็นปีที่โลกเผชิญกับปัจจัยความเสี่ยงหลายประการ
ดังที่จะเห็นได้ว่า เศรษฐกิจโลกได้ชะลอตัวลงอย่างถ้วนทั่วหน้า ดังที่ได้นำเสนอไปแล้วในบทความเรื่องเศรษฐกิจโลกเมื่อประมาณ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา สำหรับแนวโน้มของปี 2555 นั้นเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจจะเติบโตอย่างอ่อนแอ โดยมีปัญหาหนี้สาธารณะของยุโรปเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักที่จะฉุดรั้งเศรษฐกิจยุโรปและสหรัฐอเมริกา เพราะประเทศเหล่านี้ต้องใช้นโยบายการคลังแบบเข้มงวดต่อไปอีกระยะหนึ่ง ที่อาจจะใช้เวลา 3-5 ปี
ในสัปดาห์นี้ก็คงจะพูดถึงแนวโน้มของเศรษฐกิจเอเชีย ที่เดิมนักวิเคราะห์มองว่าเศรษฐกิจเอเชียจะสามารถแยกออกจากเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและยุโรปได้ (decoupling) ก็คงจะเป็นคำถามว่าแล้วเศรษฐกิจเอเชียที่เคยเติบโตได้สูงจะเป็นอย่างไรภายใต้เศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ ข้อเท็จจริงก็คือ เศรษฐกิจเอเชียเองก็ย่อมจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้ จากคาดการณ์ของธนาคารดอยช์ ของประเทศเยอรมนีได้มีประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเกิดใหม่ในเอเชียเติบโตได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ในปี 2554 นี้ซึ่งนับได้ว่าเป็นอัตราที่สูง แต่หากเทียบกับปี 2553 ที่ขยายตัวได้ร้อยละ 9.5 แล้วจะเห็นได้ว่าเป็นการชะลอลงอย่างชัดเจน อันเป็นผลมาจาก 1) การชะลอตัวของการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาและยุโรป 2) การชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์อันเกิดจากการใช้นโยบายการควบคุมที่เข้มงวดในการป้องกันปัญหาฟองสบู่
สำหรับในปี 2555 ที่จะมาถึงนั้น ได้มีคาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียจะยังคงอ่อนตัวลงต่อเนื่องลงมาอยู่ที่อัตราร้อยละ 6.9 เนื่องจากหัวจักรในการขับเคลื่อนที่สำคัญคือ ประเทศจีนเองก็จะมีอัตราการเติบโตที่ประมาณร้อยละ 8 เทียบกับที่เคยเติบโตได้ในอัตราร้อยละ 9-9.5 ของปีก่อนหน้า สำหรับประเทศที่เติบโตในอัตราที่สูงในลำดับที่สองและสาม คือ ศรีลังกา อินเดียและอินโดนีเซีย ที่คาดว่าจะเติบโตได้ในอัตราประมาณร้อยละ 7.5 7.3 และ 6.3 ตามลำดับ สำหรับประเทศไทยได้มีคาดการณ์ว่าจะเติบโตได้ในอัตราร้อยละ 3.9 ฟื้นตัวดีขึ้นจากร้อยละ 1.8 ของปี 2554 อันมาจากการฟื้นฟูการผลิตหลังมหาอุทกภัยที่คาดว่าการผลิตจะกลับเข้าสู่ระดับปกติได้ในครึ่งหลังของปี
อย่างไรก็ตาม การอ่อนตัวลงของการเติบโตทางเศรษฐกิจก็จะมีผลดี คือทำให้อัตราเงินเฟ้อที่เป็นปัญหาของกลุ่มภูมิภาคเอเชียในปี 2554 จะพลอยอ่อนตัวลงมาตามด้วย ซึ่งหมายถึงว่าธนาคารกลางประเทศจะมีช่องทางที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้ หลังจากที่ในปี 2554 เป็นช่วงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางในประเทศเอเชีย นอกจากนี้แล้วเงินเฟ้อที่เกิดจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์และราคาอาหารในปี 2554 เองก็จะคลี่คลายดีขึ้น ซึ่งรวมไปถึงราคาน้ำมันดิบ ที่ชัดเจนคือในกรณีของประเทศจีนที่อัตราเงินเฟ้อในหมวดอาหารเคยขึ้นไปสูงสุดที่ร้อยละ 14.8 ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านได้ลดลงมาเหลือเพียงร้อยละ 8.8 ในเดือนพฤศจิกายน และมีผลทำให้อัตราเงินเฟ้อของจีนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งการชะลอลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์นี้จะทำให้อัตราเงินเฟ้อของประเทศจีนลดลงได้ประมาณร้อยละ 2 (จากร้อยละ 5.3 ในปี 2554 ลงเหลือประมาณ ร้อยละ 2.8 ในปี 2555)
ในสภาวะที่เศรษฐกิจชะลอและอัตราดอกเบี้ยขาลงนี้ โดยปกติแล้วจะเป็นประโยชน์ต่อการลงทุนในตราสารหนี้ประเภทพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้เอกชน เพราะในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดอ่อนตัวลงจะทำให้ราคาตราสารหนี้มีราคาสูงขึ้น ซึ่งประกอบกับพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียยังคงแข็งแกร่ง คือ มีสัดส่วนของหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่ดีเฉลี่ยเพียงประมาณร้อยละ 40 มีฐานะการคลังที่ดี มีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศในระดับที่สูง และนอกจากนี้ธนาคารพาณิชย์ยังคงมีงบดุลที่ดี (ไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุนหรือควบรวมกิจการเหมือนกับธนาคารพาณิชย์ในยุโรป) จากพื้นฐานการเงินการคลังดังกล่าวทำให้ประเทศในกลุ่มภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มว่าจะได้มีการปรับอันดับความน่าเชื่อถือสูงขึ้น ซึ่งจูงใจให้มีการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนในตราสารหนี้มากขึ้น
ความกังวลต่อความเสี่ยงที่มีความไม่แน่นอนอยู่สูงมากนี้จะทำให้นักลงทุนจะยังคงหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อไปอีกระยะหนึ่ง ดังนั้นจะเห็นได้ว่า จะมีการถือเงินสดหรือการลงทุนในระยะสั้นที่รอจังหวะการเคลื่อนย้ายการลงทุน ตลอดจนการถือสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงที่เรียกว่า "Save Haven" เช่น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล เงินสกุลที่มีความมั่นคงสูง หรือ สินทรัพย์ที่สามารถรักษาคุณค่าไว้ได้ เช่น ทองคำ หรืออสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตามหุ้นแม้ว่าจะมีความผันผวนสูงแต่ก็ยังมีหุ้นในบางภูมิภาค โดยเฉพาะเศรษฐกิจเกิดใหม่ ที่ยังให้ผลตอบแทนที่ดีจากผลกำไรและเงินปันผล ทั้งนี้จะต้องมีการวิเคราะห์และติดตามสภาวะตลาดหุ้นของแต่ประเทศอย่างใกล้ชิด
สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี