สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คำต่อคำ ธีระชัย เปิดทางเลือกแก้หนี้ กองทุนฟื้นฟูฯ 1.14 ล้านล้านบาท

จาก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ภายหลังมีการถกเถียงกันมากในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2554 ถึงแนวคิดการโอนหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) 1.14 ล้านล้านบาท กลับไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รับภาระทั้งก้อน จนเหมือนกับว่าเกิดความไม่ลงรอยกันของทีมเศรษฐกิจรัฐบาล ล่าสุด ช่วงเย็นวันที่ 28 ธันวาคม นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง ได้ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางของกระทรวงการคลัง อย่างเปิดเผยมากขึ้น จากก่อนหน้านี้การแก้ปัญหาเรื่องนี้ดูเหมือนจะเป็นความลับอย่างมาก

 

 

@การโอนหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF)

เรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ นี้ คนที่ไม่ได้ดูรายละเอียด อาจจะเข้าใจผิดคิดว่าหนี้อันนี้เวลานี้อยู่ที่ทางรัฐบาล และจะต้องไปโอนให้กับแบงก์ชาติ (ธนาคารแห่งประเทศไทย) จริงๆ ไม่ใช่ จริงๆ กฎหมายเขียนไว้ว่าคนที่มีหน้าที่ชำระหนี้อันนี้คือแบงก์ชาติอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นตามหลักจริงๆ เวลานี้จริงๆ คือไม่ต้องไปโอนหนี้คืนให้เขา เพราะเป็นหนี้ของเขา ของแบงก์ชาติอยู่แล้ว ปัญหาอยู่ที่ภาระในการชำระดอกเบี้ย ทีนี้ ในส่วนภาระการชำระดอกเบี้ยนี้ ถ้าหากให้แบงก์ชาติชำระดอกเบี้ยทุกปีๆ ไป อย่างนี้ในแง่กระทรวงการคลังก็ไม่มีภาระอะไร ดอกเบี้ยเวลานี้ คือเดิม 6.5 หมื่นล้านบาท แต่ว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยเวลานี้ลดลง ก็ตกประมาณสัก 4.5 หมื่นล้านบาทต่อปี ถ้าหากว่าจะให้แบงก์ชาติเป็นคนชำระดอกเบี้ย วิธีการก็สามารถที่จะออกเป็นกฎหมายบังคับให้แบงก์ชาติชำระดอกเบี้ย ก็สามารถที่จะทำได้


แต่ว่าประเด็นและข้อสังเกตที่ผมให้ไว้ ก็คืออย่างนี้ว่า ถ้าหากจะให้แบงก์ชาติชำระดอกเบี้ยนี้ ถ้าหากว่าชำระจากส่วนที่แบงก์ชาติมีกำไร มันก็จะไม่มีผลในการเพิ่มปริมาณเงิน ไม่มีผลในการพิมพ์ธนบัตร พิมพ์เงินออกมา แต่ถ้าบังคับให้แบงก์ชาติชำระเกินกว่าที่แบงก์ชาติมีกำไรที่พึงได้ตามปกติ ตามวิธีการบัญชีปกติ มันก็จะกลายเป็นว่าไปบังคับให้แบงก์ชาติต้องพิมพ์เงิน

 

ทีนี้รัฐบาลทั่วโลก ทุกประเทศเขามีอำนาจในการที่จะออกกฎหมายบังคับให้ธนาคารกลางของประเทศเขา พิมพ์เงิน เพื่อจะให้รัฐบาลใช้ ทุกประเทศมีอำนาจอย่างนี้ทั้งนั้น แต่ถ้าประเทศไหนเอาอำนาจนี้มาใช้ ส่วนใหญ่มันจะทำให้นักลงทุนต่างชาติ แล้วก็สถาบันการเงินต่างชาติ อย่าง IMF(กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) หรือ WorldBank (ธนาคารโลก) แล้วก็สถาบันวิเคราะห์เครดิตใหญ่ เขาก็จะตั้งข้อกังวลว่า ไอ้การที่รัฐบาลใช้อำนาจทางกฎหมายมาบีบบังคับให้ธนาคารกลางพิมพ์เงินเอามา ให้รัฐบาลใช้นี้ มันจะเป็นช่องโหว่ แล้วมันจะกลายเป็นว่าไอ้ตรงนี้ มันจะทำให้เราไปอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับประเทศแบบ อาร์เจนตินา หรือซิมบับเว อะไรอย่างนั้น


เพราะฉะนั้นการที่เราจะเรียกร้องให้แบงก์ชาตินำเงินมาชำระเป็น ดอกเบี้ย มันต้องขีดเส้นเอาให้พอดี ในจำนวนที่สมควร อันนี้ไม่ได้เสียวินัยการเงินการคลัง แต่ถ้าเกินกว่านี้มันมีความเสี่ยงที่จะถือว่าเสียวินัยการเงินการคลัง พูดง่ายๆ ว่าถ้าเราไปบังคับให้เขาต้องพิมพ์เงินออกมา เพื่อจะให้รัฐบาลใช้ มันจะเป็นภาพที่ค่อนข้างไม่ดี


@สรุปแล้ว ครม. มีมติให้ทำอย่างไร

มติ ครม. นั้น เนื่องจากว่าผมได้มีข้อสังเกตอันนี้เอาไว้ ผมก็เลยเสนอว่าควรจะมีการปรึกษาหารือกัน โดยขอให้รองนายกฯ กิตติรัตน์ (นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์) เป็นประธาน แล้วก็นัดปรึกษาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งแบงก์ชาติ สภาพัฒน์ (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) รวมทั้งกระทรวงการคลัง เพื่อที่จะดูตัวเลขกันให้ชัด


ผมเอง แนวคิดอันนี้ ที่จะให้แบงก์ชาติชำระหนี้เต็มที่ อันนี้เป็นแนวคิดที่ผมมีอยู่เดิม แล้วผมได้หยิบยกขึ้นหารือกับทางผู้ว่าการแบงก์ชาติก่อนหน้านี้แล้ว แต่ว่าพอผมได้ลงไปดูตัวเลข คือผมเอางบดุลของแบงก์ชาติมาดู แล้วผมก็เอาบัญชีกำไรขาดทุนมาดู เอาบัญชีทุนสำรองเงินตรามาดูด้วย ในประเด็นต่างๆ ก็เห็นได้ชัดว่ามันมีขีดจำกัด ถ้าหากว่าเราเรียกร้องจากแบงก์ชาติเกินกว่าขีดนั้น มันก็จะเข้าข่ายเป็นการพิมพ์เงิน พิมพ์ปริมาณเงินออกมา ผู้ว่าการแบงก์ชาติก็มาชี้แจงว่า ถ้าหากว่ารัฐบาลไปออกกฎหมายแล้วบังคับแบงก์ชาติเกินกว่าขอบเขต มันจะต้องมีคนมาถามว่า อันนี้เป็นการพิมพ์เงินออกมาให้รัฐบาลใช้หรือเปล่า ผู้ว่าการแบงก์ชาติก็บอกว่า ถ้าเขาถามท่าน ท่านก็ต้องพูดตามตรง ว่าถ้ามันเลยไปเขาก็ต้องยอมรับว่ามันเป็นการพิมพ์เงิน แล้วท่านก็บอกว่าแล้วถ้าเขามาถาม รมว.คลัง รมว.คลังจะว่าอย่างไร ผมก็บอกว่า ถ้าเขามาถามผม ผมก็ต้องยอมรับเหมือนกันว่ามันจะเข้าข่ายพิมพ์เงิน อันนี้มันก็จะไม่ดี แล้วถ้ามันกลายเป็นว่าถ้าเราจะไปเอาจากแบงก์ชาติเกินกว่าขอบเขตที่สมควร เข้าข่ายบังคับให้ธนาคารกลางพิมพ์เงินมาให้รัฐบาลใช้ มันจะกระทบเครดิตไม่ใช่เฉพาะของรัฐบาล แต่มันจะกระทบเครดิตไปถึงของแบงก์พาณิชย์ไทย กระทบถึงบริษัทไทยใหญ่ๆ ที่มีการค้าขายกับต่างประเทศ กว้างขวางไปหมด อันนี้ผมคิดว่าเป็น ประเด็นที่ต้องระมัดระวังมาก

 

 

@ขอบเขตที่แบงก์ชาติรับได้นี่ หมายถึงในแง่วิธีการ หรือจำนวนเงิน

จำนวนเลย ที่เราพูดถึงคือจำนวน

 

 

@แล้วจำนวนเท่าใดจึงจะเหมาะสม
จำนวน ที่เหมาะสมนี้ ผมขออุบไว้ก่อน คืออย่างนี้ ถามว่าจำนวนที่พอจะทำได้เป็นเท่าไหร่ ผู้ว่าการแบงก์ชาติก็ได้ให้ไอเดียมาแล้ว คือทางแบงก์ชาติ ตั้งแต่สมัย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ได้เคยเสนอแนวทางไว้ คือวิธีการปรับกระบวนการลงบัญชี ระหว่างบัญชีผลประโยชน์กับบัญชีกำไรสะสม ซึ่งตรงนั้น จำนวนนั้นผู้ว่าการแบงก์ชาติดูแล้ว เป็นจำนวนที่อยู่ในขอบข่าย ที่ยังอยู่ในวินัยการเงินการคลัง


แต่ปัญหาคืออย่างนี้ ปัญหาคือว่าจะต้องออกกฎหมาย แล้วก็มีการแก้ไขวิธีลงบัญชี ผมก็เลยปรึกษากับท่าน ก็บอกว่าถ้าอย่างนั้นขอให้ท่านไปปรึกษาหารือกับทางศิษย์หลวงตา (หลวงตามหาบัว) ปรากฏว่ารอบแรกที่ไปปรึกษา ลูกศิษย์หลวงตาก็ยังไม่สบายใจเท่าไหร่ ผมเองกำลังมีการรวบรวมข้อมูล แล้วผมเองก็คิดว่าถ้ามีโอกาส ผมเองก็อยากจะลองปรึกษาหารือกับบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด อีกสักทางเหมือนกัน


อย่างไรก็ตาม แนวคิดขณะนี้ คือว่า หลักเป็นอย่างนี้ หลักในการที่แบงก์ชาติขอปรับปรุงวิธีการลงบัญชีหลักคืออย่างนี้ คือทุนสำรองเงินตรานั้น เงินต้น และทองคำ จะไม่แตะต้อง แต่ขอเอาประโยชน์ที่เกิดขึ้น ดอกผลที่เกิดในแต่ละปี เอามาใช้ในการแก้ไขปัญหาหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ หลักง่ายๆ แค่นี้ ขณะนี้ไอ้วิธีการลงบัญชี มันทำให้ดอกผลไม่ออก เขาก็บอกว่าถ้าอย่างนั้น ขอหลักอย่างนี้ เงินต้นไม่แตะ ทองคำไม่แตะ ดอกผลที่เกิดในแต่ละปี ที่งอกในแต่ละปีเท่านั้นที่เราจะเอามาใช้ แล้วหลักนี้ถ้าเราเอาแค่นี้ ในแง่ของทางแบงก์ชาติก็บอกว่าอันนี้อยู่ในขั้นที่มันไม่มีปัญหาวินัยการเงิน การคลัง

 

@ปัจจุบันการลงบัญชีทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้


มันอีรุงตุงนังกันอยู่เวลานี้ คือกระบวนการลงบัญชีเวลานี้มันกลายเป็นว่าดอกผลประจำปี ซึ่งควรจะเอามาใช้ มันไปวนกันอยู่ จนกระทั่งเอาออกมาใช้ไม่ได้ ก็ต้องมีการเสนอแก้ไขกฎหมาย แต่หลัก ผมย้ำอีกครั้ง อย่าไปลงรายละเอียด เพราะเทคนิคทางบัญชีของแบงก์ชาติมันวุ่นวายมาก แต่หลักก็คือว่าเราจะไม่แตะต้นเงิน จะไม่แตะทองคำ ไม่แตะเงินบริจาค แต่ว่าดอกเบี้ย ดอกผลที่ออกในแต่ละปี เอาดอกผลตรงนี้มาใช้ในการแก้ปัญหา แล้วเราก็ไม่ได้เอามาใช้เป็นงบประมาณรัฐบาลทั่วไป แต่เอามาใช้เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินของกองทุนฟื้นฟูฯ เท่านั้น


@จะเอามาในจำนวนที่ดูมีนัยยะสำคัญแค่ไหน
เท่า ที่ดู ผมกำลังให้เขาเก็บตัวเลข แล้วก็จะเอาตัวเลขตรงนี้มาดู แต่ว่าถ้าดูตัวเลขปีนี้ที่จะออกมา มันประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท ดอกผลตรงนี้ เป็นดอกผลที่ไม่ได้มาจากการตีราคา แต่มาจากพันธบัตรรัฐบาลที่ไปลงทุนไว้แล้วมีดอกเบี้ย


นอกเหนือจากนั้นเอง ผมได้มีการปรึกษาหารือกับผู้ว่าการแบงก์ชาติ ลองหาแนวทางอื่น คือสมมติว่าเงินต้นทางแบงก์ชาติเขาต้องรับภาระอยู่แล้ว เราก็ไม่ต้องไปกังวล แต่ทำยังไง เราจะแหล่งเงินเพื่อเอามาใช้ประจำปีให้ได้ ประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาท ที่ผมตั้งไว้ สมมติว่าได้จากดอกผลจากบัญชีเงินตรา สมมติว่า 2-2.5 หมื่นล้านบาท ผมไปดูอีกแหล่งหนึ่งที่เจอ ก็คือว่า สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) ปัจจุบันเรียกเก็บเงินเพื่อคุ้มครองเงินฝากจากระบบ จากแบงก์ 0.4% เป็นเงินปีหนึ่งประมาณ 2.9 หมื่นล้านบาท ตรงนี้ผมคิดว่าเราเอามาใช้ก่อนได้ โดยที่ในระหว่างนี้กระทรวงการคลังจะเป็นคนค้ำประกัน ในส่วนภาระของการประกันเงินฝาก กระทรวงการคลังจะเป็นคนดูแลเอง นี่ก็สามารถทำได้ เพราะฉะนั้น ถ้ามีแหล่ง 2 แหล่งนี้ เราก็สามารถจะ Survice ดอกเบี้ยไปได้เรื่อยๆ ส่วนต้นเงินก็เมื่อวันนึงแบงก์ชาติมีกำไรขึ้นมา แบงก์ชาติก็ค่อยๆ ลดต้นเงิน ก็คงไม่มีปัญหา


นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงการคลังให้ข้อมูลด้วยเงินที่เราได้จาก สคฝ. มันจะโตขึ้นตามปริมาณเงินฝาก ซึ่งเวลนี้โตทุกปี พอเราทำพยากรณ์แล้ว เงินตรงนี้มันจะเหลือเกินกว่าที่จะเอามาใช้ชำระดอกเบี้ยอย่างเดียว ก็ใช้ชำระเงินต้นได้ด้วย คร่าวๆ คือในเวลาประมาณ 30 ปี ส่วนจะเอามาเท่าไหร่ ผมขออุบไว้ก่อน


@จะกระทบกับความเชื่อมั่นของระบบสถาบันการเงินหรือไม่ หากทำเช่นนั้น
คิด ว่าไม่ เพราะว่า หนึ่ง คือที่ผ่านมา เราได้มีการแก้ไขฐานะของระบบสถาบันการเงินของเรา อย่างเข้มแข็งอยู่แล้ว แล้วก็อีกประการหนึ่งก็คือว่า ในส่วนนี้กระทรวงการคลังเข้าไปยืนเป็นหลักให้แทน คือภาระ แล้วก็ความรับผิดชอบของสถาบันคุ้มครองเงินฝากมีอยู่อย่างไร กระทรวงการคลังก็จะเข้าไปรับผิดชอบแทนเป็นการชั่วคราว


@ดูเหมือนกับว่าภาระไม่ได้เปลี่ยนไป แต่เพียงแค่โยกดอกเบี้ยออกไปจากความรับผิดชอบของกระทรวงการคลังเท่านั้นเอง


แต่ว่าการบริหารการคลังง่ายขึ้นเยอะ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว เราก็จะมีเงินจาก สคฝ. ปีนึงอาจจะ 2.9 หมื่นล้านบาท แล้วก็จะโตขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันก็จะมีเงินจากดอกผลทุนสำรองเงินตรามาอีก 2-2.5 หมื่นล้านบาท มันก็พอที่จะ Survice ดอกเบี้ยได้ ทีนี้ในส่วนที่มันเกินจากการชำระดอกเบี้ย มันก็สามารถนำไปตัดเงินต้นได้ ก็เอาไปช่วยลดเงินต้นได้ ผมว่าปัญหาตอนนี้เรายังไม่ต้องไปกังวลถึงเรื่องเงินต้น ขอให้เรามีแหล่งเงินมา Survice ดอกเบี้ยก่อน ผมย้ำอีกครั้งว่าดอกเบี้ยเวลานี้มัน 4.5 หมื่นล้านบาท


@แต่ว่าถ้าไม่ชำระเงินต้น ดอกเบี้ยก็จะเดินต่อไปเรื่อยๆ
ดอกเบี้ยก็ยังเดิน แต่ว่ามันก็ยังพอ การตัดต้นนั้น ถ้าหากว่ามันมีส่วนเกิน ก็สามารถนำไปชำระต้นได้ทุกปีๆ


@ทำไมไม่ใช้วิธีออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เอาดอกผลตรงนั้นมาใช้ชำระหนี้เงินต้นไปเลย
เข้า ใจ แต่ว่าเวลานี้การจะออก พ.ร.ก.นั้น ให้แบงก์ชาติเขาไปทาบทามทางลูกศิษย์หลวงตา เขาก็ยังมีข้อกังวลอยู่ ขณะนี้กำลังดูว่าจะออกยังไง ขอผมปรึกษาหารือกันก่อน


@จะคุยกับลูกศิษย์หลวงตามหาบัวเมื่อไหร่
เดี๋ยว กำลังให้จัดตัวเลข แล้วจะคุย ตอนนี้เท่าที่ฟังดูรองนายกฯ กิตติรัตน์ จะนัดคุยวันศุกร์ (30 ธ.ค.54) ก็เลยยังไม่แน่ใจว่าท่านจะมีไอเดียอะไรเพิ่มเติมรึเปล่า เผื่อมีก็จะได้เอาไปคุย


@สรุปแล้วที่บอกว่าถ้าโยกหนี้ไปอยู่แบงก์ชาติแล้วหนี้สาธารณะจะลดลง ถือว่าจริงหรือไม่
คือ อย่างนี้ มันอยู่ที่ไหนก็ตามหนี้มันไม่หายไปจากโลกนี้นะ เราจะโยกบัญชี ย้าย แล้วก็ขีดเส้นออกจากนี้ แล้วเอาไปลงไว้ที่ไหน หนี้มันไม่หายไปจากโลกนี้หรอก เพราะฉะนั้นไม่จริง บัญชีที่อาจจะดูว่ามันไม่ใช่บัญชีของรัฐนั้น คือเราอาจจะดูจากในแง่มุมของสายตาเราเอง สำหรับคนพื้นๆ อาจจะสายตาของใครก็ตาม แต่ถ้าเป็นสายตาของ IMF ที่เขาเป็นคนคอยดูตัวเลขเงินทุนระหว่างประเทศ ถ้าเป็นสายตาของนักวิเคราะห์ ถ้าเป็นสายตาของ Rating Agency หรือสถาบันการจัดอันดับ ผมคิดว่าเขาก็ยังนับเป็นหนี้สาธารณะอยู่ดี

 

@แล้วแนวทางที่เคยเสนอว่าจะใช้วิธีคงภาษีนิติบุคคลกลุ่มแบงก์ไม่ลดเหลือ 23%ยังทำหรือไม่
อันนั้น ก็คิดแล้วคิดอีก บังเอิญตอนนี้มันจบไปแล้ว เผอิญว่ากระบวนการลดภาษีมันผ่านไปแล้ว ลงราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว


@แบงก์จะยอมรับหรือไม่ ถ้าจะไปเอาเงิน สคฝ.มาใช้
อันนี้เป็นอำนาจของรัฐบาลที่จะไปเอามา


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : คำต่อคำ ธีระชัย เปิดทางเลือก แก้หนี้ กองทุนฟื้นฟูฯ 1.14 ล้านล้านบาท

view