สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เก็บบทเรียนปี 54 เศรษฐกิจโลก-อุทกภัย เตรียมรับมือหัวเราะดัง ปี 2555

จาก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์



ผ่านพ้นไปแล้วปีกระต่ายเล่นน้ำ ย่างเข้าสู่ปีมะโรง ที่บ้างก็ว่าเป็นปีพญานาคพ่นน้ำ เพราะคำทำนายล่วงหน้าที่ว่าปี 2555 อาจจะไม่ 555 เพราะอุทกภัยครั้งใหญ่จะเกิดซ้ำอีกในปีนี้ แต่บ้างก็ว่าปีนี้เป็นปีมังกรทอง เพื่อความไม่ประมาทเหมือนปี 2554 ที่ต้นปีก็เกิดภาวะเศรษฐกิจโลกผันผวนอีกครั้ง ทั้งจากฟากสหรัฐอเมริกาและฝั่งยุโรป ที่ยังจัดการปัญหาหนี้สินรุงรังมาตั้งแต่เกิดเหตุวิกฤตซับไพรม์ในสหรัฐ ตั้งแต่ปี 2551 และช่วงปลายปีเกิดมหาอุทกภัยที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน จนบอบช้ำทั้งประเทศ ลองมาฟังความเห็นของภาคเอกชนว่าได้บทเรียนอะไรจากปี 2554 เพื่อรับมือในปี 2555

รบ.ต้องบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ

ฉัตรชัย บุญรัตน์ รองประธานคณะกรรมการหอการค้าไทย

มี 2 ประเด็นสำคัญที่ประเทศไทยและรัฐบาลใช้เป็นบทเรียน เพื่อการป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตอย่างที่เกิดขึ้นในปี 2554 หรือปล่อยให้เกิดซ้ำรอยอีก ประเด็นแรกคือบริหารจัดการทุกอย่างให้เป็นระบบและมีศูนย์กลางที่จะใช้ในการตัดสินใจ ควบคุมดูแลและแก้ปัญหาให้ทันท่วงที ไม่ใช่เฉพาะการบริหารจัดการน้ำท่วม หรือภัยแล้งเท่านั้น ต้องดูทั้งระบบ

อีกประเด็น คือการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้วิกฤตหนักขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น โดย 2 ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่เราละเลยมานาน และกลายเป็นจุดอ่อนของประเทศในขณะนี้ จึงเห็นด้วยที่ผู้นำประเทศและรัฐบาลควรจัดงานระบบให้รวดเร็ว เป็นวาระชาติ มีแผนงานปฏิบัติ แผนดำเนินการ และระบุให้ชัดเจนหากเกิดปัญหาอย่างปีนี้อีก ใครจะเข้ามาดูแลและมีอำนาจในการตัดสินใจ โดยไม่รอจนกลายเป็นวิกฤต

"หากปล่อยให้เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก หรือแค่ครั้งเดียวต่อจากนี้ ความเชื่อมั่นเชื่อถือต่อนักลงทุนทั้งต่างประเทศและในประเทศเองก็จะหมดไป" การจะกู้กลับมานั้นค่อนข้างยาก เพราะการเปิดเสรีการค้าที่กำลังเกิดขึ้น ไม่เพียงการแข่งขันในตลาดต่างประเทศเท่านั้น แต่ต้องแข่งขันกับตัวเองด้วย คงไม่ต้องพูดถึงว่าเศรษฐกิจไทยหรือการส่งออกจะขยายตัวได้เท่าไร แค่จะประคองตัวให้เท่าเดิมก็แย่แล้ว



สำคัญการเมืองนิ่ง..ปรองดอง-ถอยคนละก้าว

พยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

บทเรียนแรกที่ต้องเฝ้าระวังคือ เศรษฐกิจโลก เพราะยังมีความผันผวนและอ่อนไหวจากสภาพ

เศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ปี 2555 ยังต้องติดตามว่าจะฟื้นตัวได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปไม่ใช่ลูกค้าหลักของไทย เพราะไทยส่งออกในสัดส่วนเพียง 10% หากถดถอยจะไม่กระทบไทยมากนัก

บทเรียนต่อมาคืออุทกภัยครั้งร้ายแรงทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัว พร้อมรับสถานการณ์ ใช้องค์ความรู้ เพราะปี 2555 ผู้ประกอบการต้องฟื้นฟูกิจการโดยเฉพาะช่วงต้นปี ขณะเดียวกันวันที่ 1 เมษายน 2555 ยังเป็นวันกำหนดขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เริ่มต้น 7 จังหวัด ดังนั้น เมื่อต้นทุนเพิ่มขึ้นผู้ประกอบการต้องพร้อมประกอบการกิจการภายใต้ปัจจัยดังกล่าว ต้องรู้จักใช้จ่ายเงิน อย่าเก็งกำไรมากเกินไป

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นที่ต้องระวัง อาทิ ราคาพลังงานที่ผันผวนตามเศรษฐกิจโลก ต้นทุนการผลิต ต้นทุนวัตถุดิบ อัตราแลกเปลี่ยน หากเงินบาทแข็งค่าเหมือนต้นปี 2554 จะทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบได้ อัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อก็เป็นปัจจัยที่ผู้ประกอบการต้องติดตาม

"แต่ทั้งหมดนี้ การเมืองในประเทศต้องนิ่งด้วย ต้องไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างคนในประเทศ เพราะปัจจัยทางการเมืองมีผลต่อเศรฐกิจประเทศ ดังนั้นคนไทยต้องหันหน้าเข้าหากัน ปรองดอง ยอมถอยคนละก้าว เพราะความขัดแย้ง เห็นต่างเกิดขึ้นมานานหลายปีแล้ว"



รับมือศก.ต้องใส่ใจบริหารความเสี่ยง

บัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)

ประเทศไทยสะบักสะบอมมาจากน้ำท่วมที่เพิ่งผ่านพ้นเมื่อปลายปี 2554 เรื่องของน้ำท่วมเป็นโจทย์ในตัวของมันเองที่ต้องแก้ไขอยู่แล้ว และยังมีความเห็นที่ไม่ตรงกันทางการเมืองที่ยังไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไร ทั้งประเด็นทางกฎหมายและการเมืองโดยรวม เป็นโจทย์ที่ภาคการเมืองและภาคประชาชนต้องปรับตัว ส่วนการรับมือของเศรษฐกิจไทยในปีหน้า ในมุมของธนาคารพาณิชย์ เรื่องการบริหารความเสี่ยงเป็นประเด็นที่ต้องให้ความใส่ใจ เศรษฐกิจไทยในปีหน้าที่มองว่าจะเติบโตได้ 4-5% ทำให้คาดการณ์ด้านสินเชื่อว่าจะเติบโตไม่มาก "แต่หากมีการเติบโตแบบพรวดพราดจนเกินตัวก็หมายความว่าต้องมีความเสี่ยง โตมากก็ต้องมีความลำบากมาก เพราะเป็นการสวนทางกับความเป็นจริง และอย่าทำอะไรที่เกินตัว"



อสังหาฯยังต้องระวัง..คนไร้อารมณ์ซื้อ

ธำรง ปัญญาสกุลวงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย

บทเรียนสำหรับรับมือเศรษฐกิจในปี 2555 ของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ต้องมีความระมัดระวังใน 3 เรื่องคือ เศรษฐกิจโลก การเมือง และภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะภัยธรรมชาติเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เพราะมาเร็วและรับมือไม่ทัน คาดว่าจะมีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี ส่วนภาคเศรษฐกิจจะต้องระมัดระวังเรื่องเศรษฐกิจยุโรปและสหรัฐอเมริกาว่าจะเป็นอย่างไร เพราะเชื่อว่าจะส่งผลกระทบมายังประเทศไทยแน่นอน โดยเฉพาะการส่งออกที่อาจลดลง คงต้องหันมาพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก ภาครัฐจะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศด้วย แต่ก็คงยาก เพราะประชาชนในระดับล่างจนลงจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว ส่งผลให้กำลังซื้อตกต่ำ การว่างงานก็มีสูง ดังนั้น รัฐบาลควรต้องประกาศให้ชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการแก้ไขปัญหาน้ำระยะยาวว่าจะดำเนินการอะไรบ้าง เพื่อให้เกิดความมั่นใจและเชื่อมั่นกลับมาลงทุนเหมือนเดิม

สำหรับอสังหาปี 2555 การลงทุนจะต้องระมัดระวังมากขึ้น แม้ว่าเหตุการณ์น้ำท่วมจะผ่านไปแล้ว โดยตลาดยังเป็นของผู้ประกอบการรายใหญ่ ส่วนรายเล็กคงลำบาก จะต้องรักษาสภาพคล่องไว้ให้มากที่สุด เพราะไม่รู้ว่าพัฒนาแล้วจะมีคนซื้อมากแค่ไหน กำลังซื้อเป็นอย่างไร ที่สำคัญที่สุดคือคนไม่มีอารมณ์จะซื้อ



บทเรียน54-พึ่งตัวเองให้มาก

อิสระ บุญยัง นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร

บทเรียนที่เกิดขึ้นในปี 2554 นั้นถือเป็นบทเรียนของทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน และภาคครัวเรือน ในส่วนของผู้ประกอบการ ในอนาคตจำเป็นต้องเตรียมตัวรับมือกับเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงด้วย เพราะเชื่อว่าปี 2555 เหตุการณ์เหล่านี้น่าจะเกิดขึ้นอีก แต่ที่ผ่านมาผู้ประกอบการอสังหาจะมองเฉพาะเรื่องแผ่นดินไหว ไม่ได้มองเรื่องน้ำท่วมเพราะที่ผ่านมาไม่ได้รุนแรง

แต่ครั้งนี้รุนแรง ถือเป็นบทเรียน จากนี้ไปผู้ประกอบการต้องพึ่งพาตัวเองให้มากขึ้นโดยเฉพาะการทำระบบป้องกันน้ำท่วม การทำประกันภัยน้ำ ส่วนเรื่องเศรษฐกิจและการเมืองต้องระวังเช่นกัน เพราะจะส่งผลกระทบกับทุกส่วน โดยต้องป้องกันความเสี่ยงทางด้านการเงิน การกระจายทำเล และการกระจายประเภทสินค้า



ปี55ศก.โตดี..ต้องบริหารจัดการดี

ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)

เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยปี 2555 โดยรวมจะมีการเติบโตได้ดี เนื่องจากวิกฤตการณ์น้ำท่วมทำให้ต้องมีการใช้จ่ายในการซ่อมแซมบ้านเรือน และซื้อสินค้าที่จำเป็นเข้าบ้าน เศรษฐกิจจึงสามารถขับเคลื่อนได้อย่างต่อเนื่อง แต่ภาครัฐต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีความเหมาะสมเพิ่มเติมด้วย

หลังเกิดน้ำท่วมใหญ่ สิ่งที่ภาคเอกชนได้เรียนรู้คือการให้ความสำคัญกับเรื่องการบริหารความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เช่น พื้นที่ตั้งโรงงาน อาจต้องกระจายความเสี่ยงโดยตั้งโรงงานในพื้นที่อื่นๆ ที่ไม่ถูกน้ำท่วม รวมทั้งยังต้องพิจารณาเรื่องการบริหาร Supply Chain (ห่วงโซ่อุปาทาน) ต้องบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

และจบท้ายเรื่องการสื่อสาร ในยามปกติอาจเห็นเป็นเรื่องไฮเทคโนโลยี แต่ในช่วงวิกฤตอย่างช่วงน้ำท่วมหนักในหลายจังหวัดที่ผ่านมา การสื่อสารกลายเป็นปัจจัยสำคัญอีกปัจจัยหนึ่งที่ขาดไม่ได้ โดยเฉพาะความถูกต้องของข้อมูลข่าวสาร แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลยังจัดการข้อมูลได้ไม่ค่อยดี ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อหลักไม่เพียงพอ และบางครั้งเกิดข้อผิดพลาดด้านข้อมูลข่าวสาร สื่อออนไลน์อย่าง เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ จึงเข้ามามีบทบาทอย่างมาก ทั้งการให้ข้อมูลข่าวสารที่ทันการณ์ การแจ้งเตือน รวมถึงการขอความช่วยเหลือของพื้นที่ๆ ถูกน้ำท่วม จนกลายเป็นสื่อทางเลือกที่มีพลังมหาศาลในภาวะวิกฤต

แต่ถือเป็นดาบสองคม ผู้รับสารควรใช้วิจารณญาณให้มากขึ้น และต้องตรวจสอบข้อมูลจากหลายแหล่ง เพื่อป้องกันการตัดสินใจที่ผิดพลาดจนนำมาสู่ความเสียหาย ดังนั้น ภาครัฐควรตระหนักและเร่งผลักดันต่อไปหลังวิกฤตน้ำท่วมผ่านพ้นไปแล้วคือ ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องแม่นยำ ทันสถานการณ์และเข้าถึงประชาชนได้ ซึ่งดูเหมือนประเทศไทยยังขาดดาต้าเหล่านี้อยู่ เห็นได้จากรายงานผลการวิจัยของเวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรั่ม 2011 ในการจัดอันดับการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ และไอซีทีของทั่วโลก ประเทศไทยได้อันดับที่ 59 ลดลงจากการจัดลำดับครั้งล่าสุดเมื่อปี 2548 จากอันดับที่ 34 และตามหลังเวียดนามที่อยู่อันดับ 55

ขณะที่ระบบการสื่อสารเคลื่อนที่ โทรศัพท์มือถือนั้น ในพื้นที่ประสบภัยถือเป็นความจำเป็นอย่างมาก แต่ช่วงที่เกิดเหตุการณ์นั้น ผู้ให้บริการ (โอเปอเรเตอร์) ทุกราย ได้เตรียมแผนรับมือเพื่อไม่ให้หรือได้รับผลกระทบน้อยที่สุด สำหรับโครงข่ายส่งสัญญาณมือถือ ทั้งการเตรียมน้ำมันสำรอง การเตรียมระบบแบ๊กอัพชุมสาย กรณีเสียหายฉุกเฉิน นอกเหนือไปจากนี้ ผู้ประกอบการยังได้ตระหนักถึงแผนรับมือในอนาคต อาทิ การเตรียมลงทุนระบบพลังงานแสงอาทิตย์ ของบริษัท ทรูมูฟ จำกัด และการย้ายชุมสายสำคัญๆ มายังพื้นที่ที่ไม่มีความเสี่ยงจากน้ำท่วม ของหลายๆ ค่าย เพื่อให้การติดต่อสื่อสารสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุกขณะ

หากปีนี้ ประเทศไทยหนีไม่พ้นน้องน้ำ อย่างน้อยคงมีระบบสื่อสารเตือนภัยที่ดีกว่าปีที่ผ่านพ้น และเราคงมีเวลารับมือกับน้องน้ำได้อย่างละมุนละม่อน

  วันที่ 02 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 34 ฉบับที่ 12350 มติชนรายวัน  


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : เก็บบทเรียนปี 54 เศรษฐกิจโลก อุทกภัย เตรียมรับมือ หัวเราะดัง ปี 2555

view