สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กานต์ ตระกูลฮุน แนะเคล็ดล้างหนี้-เพิ่มยอดขายจากพันล.เป็นแสนล.ใน1 ปี ก่อนนำ SCG ผงาดฉลองครบ100ปี

จากประชาชาติธุรกิจ

ถึงวันนี้หลายคนยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับทฤษฎีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คิดว่าเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเพียงเรื่องของ"คนจน"เท่านั้น


แต่ความเป็นจริงแล้ว ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับคนทุกระดับ ทุกชนชั้น แม้แต่ผู้ดำเนินธุรกิจขนาดเล็ก กลางหรือขนาดใหญ่ระดับร้อยล้านบาท พันล้านบาท หมื่นล้านบาท หรือแสนล้านบาทรูปธรรมที่เห็นชัดกรณีเหตุการณ์วิกฤติทางการเงินที่เกิดขึ้น กับบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)  ซึ่งถือเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับเอเซีย และระดับโลก เมื่อปี 2540 ที่ทำให้บริษัทถึงกับซวนเซ หนี้สินล้นพ้นตัว แต่เพียงไม่กี่ปี บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย รอดตายมาได้ พร้อมกับการกลับมาผงาดอย่างยิ่งใหญ่ภายใต้ชื่อใหม่ "เอสซีจี" และกำลังจะฉลอง 100 ปีในปี 2556


โดยบริษัทไม่ต้องปลดคนงานออกเลยแม้แต่คนเดียว แถมยังสามารถปลดหนี้สินทั้งหมดได้ โดยไม่เคยขอให้ทางสถาบันการเงินหรือธนาคารเจ้าหนี้ตัดหนี้เสียให้ แต่แม้บาทเดียว

@นำ"เศรษฐกิจพอเพียง"ผ่าทางตันหนี้กว่า2แสนล้าน

นายกานต์  ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี  ได้มาบอกเล่าอย่างภาคภูมิใจเกี่ยวกับการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ใน การบริหารธุรกิจยุคใหม่ว่า ภายในเอสซีจีเองมีการคุยกันในเรื่องทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ในเรื่อง“ความพอประมาณ” ความพอดีโดยไม่เบียดเบียนตัวเอง และผู้อื่น 


เรื่องของ”ความมีเหตุมีผล” โดยพิจารณาจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนต่าง ๆ ไม่ได้ทำ เพราะความสะใจอยากจะไปลงทุนตรงนั้น เพราะมีเพื่อน


รวมถึง”ความมีภูมิคุ้มกัน”พูดกันมาก ต้องมีการเตรียมตัวให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเมื่อประสบปัญหาตอนปี 2540 ต้องพิจารณาเรื่องของ”ความรู้” และต้องคำนึงถึง“คุณธรรม”


ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย ถือเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ขยายงานไปมาก มีธุรกิจหลัก 10 กลุ่มธุรกิจ มีบริษัทในเครือ 140 กว่าบริษัท มีบริษัทร่วมทุนกับญี่ปุ่นประมาณ 50 ราย ถือว่ามากที่สุดในโลก มีทั้งไฟฟ้า เรื่องเหล็ก เครื่องจักรยานยนต์ต่าง ๆ ปิโตรเคมีเราเป็นผู้ริเริ่มตั้งแต่พบแก๊สธรรมชาติในอ่าวไทย


แต่หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจความต้องการสินค้าลดลง โดยก่อนวิกฤตเศรษฐกิจปูนซิเมนต์มียอดขาย 36 ล้านตัน ถัดมาปีเดียวความต้องการเหลือเพียง 18 ล้านตัน


เมื่อมีการลอยตัวอัตราแลกเปลี่ยนหนี้ของบริษัทที่เป็นเงินดอลลาร์ประมาณ 80% คิดแปลงเป็นเงินบาทสูงขึ้นมาก จากหนี้เดิมแสนกว่าล้านบาท เพิ่มขึ้นไปเป็น 247,000 ล้านบาท หนี้ของเอสซีจีช่วงนั้นคิดเป็นประมาณ 5%ของหนี้ทั้งประเทศ เกือบ 2 เท่าจากเดิม


ในปีนั้นบริษัทขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 52,000 กว่าล้านบาทภายในปีเดียว นั่นคือ สิ่งที่เกิดขึ้น และมีการปรับตัวแก้ไขอย่างรวดเร็ว


ช่วงปี 2541 ผมทำงานที่อินโดนีเซีย ทางคุณชุมพล ณ ลำเลียง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ในตอนนั้นเรียกผมกลับมา ให้เป็นหัวหน้าทีมปรับโครงสร้างทั้งเครือ


ได้ทำการปรับลดธุรกิจหลักเหลือเพียง 5 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ปูนซิเมนต์ เหล็ก เครื่องจักรกลและยานยนต์ ปิโตรเครมี และที่ดินอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันเร่งส่งออก เพราะพอเงินบาทอ่อน ส่งออกได้ เงินทุนหมุนเวียน ลดต้นทุนต่าง ๆ โดยไม่ปลดคนงานแม้แต่คนเดียว มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพต่าง ๆ


ด้านเสถียภาพทางการเงิน เราหยุดการลงทุน เรามีหนี้เป็น 5,000-6,000 ล้านดอลลาร์ หนี้โดยตรงและมีหนี้ที่กับบริษัทที่ร่วมทุนกับต่างชาติออีกประมาณ 6,000 ล้านดอลลาร์เหมือนกัน มีการแก้ปัญหาโดยออกหุ้นกู้เป็นเงินบาทภายในประเทศ และใช้นโยบายบริหารความเสี่ยงเต็มที่


ด้านความเชื่อมั่น โดยผู้บริหารของบริษัทได้เดินทางไปพบปะนักลงทุน และเจ้าหนี้ทั้งหมดมีประมาณ 80 กว่าราย  เพื่อสร้างความมั่นใจ หนี้ที่เกิดขึ้นทางบริษัทไม่เคยขอลดหนี้ แม้แต่บาทเดียว เราชำระหนี้อย่างถูกต้อง แก้ปัญหาโดยใช้วิธีการขายธุรกิจ ขายบริษัทนำเงินมาชำระหนี้


 

หลังการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการบริหาร ที่เห็นเป็นรูปธรรมยกตัวอย่าง เช่น เรื่องความพอประมาณ ลงทุนอย่างพอประมาณไม่ฟุ้งเฟ้อ เห็นชัดก่อนหน้าที่เราลงทุนเกินตัวจริง ๆ ทำให้หนี้สินต่อทุนสูงมาก หลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจตัววัดตัวหนึ่งที่ผู้บริหารระดับสูงทางด้านการเงิน ทั่วโลกใช้ คือ Net Debt to EBITDA ซึ่ง “Net Debt” คือ หนี้สินสุทธิ ถ้าเทียบกับกระแสเงินสด(cash flow) ของเรา ส่วน “EBITDA” คือ  กำไรก่อนหักภาษี ก่อนหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ  ก่อนหักค่าเสื่อมอาคารต่าง ๆ  ก่อนหักดอกเบี้ย


ตอนหลังวิกฤตเศรษฐฏิจ Net Debt to EBITDA  ขึ้นไปถึง 9 เท่าเศษ ขณะนี้เรามีวินัยทางการเงินดึงลงมาเหลือ 2 เท่าเศษนี่คือเรื่องความไม่พอดี ความไม่ฟุ้งเฟ้อเรื่องพวกนี้อยู่ในสายเลือดของเราแล้ว


@ปรับวิธีบริหารศึกษา"ตลาด"ก่อน"ลงทุน"ไม่ฟุ้งเฟ้อ


ทางเอสซีจีได้พัฒนาธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญก่อน จากธุรกิจหลัก 5 กลุ่มที่เราสามารถขยายต่อยอดเข้าไปในภูมิภาคได้ ปิโตรเคมี กระดาษ ปูนซิเมนต์ วัสดุก่อสร้าง และการจัดนิทรรศการ เรามีความแข็งแกร่ง โดยเราจะศึกษาการตลาดก่อน


ต่างจากเมื่อก่อนเวลาเราจะไปลงทุนในอาเซียน หรือนอกอาเซียน เช่น จีน อเมริกา จะใช้วิธีเริ่มต้นด้วยการไปตั้งโรงงานก่อน ตลาดยังไม่ค่อยรู้เรื่องเลย


แต่ขณะนี้ไม่ใช่ เราเปลี่ยนวิธีโดยการส่งสินค้าเข้าไปขายก่อน เช่น เวียดนามส่งสินค้าพวกกระดาษเข้าไปประมาณ 10 ปี จนปริมาณกระดาษที่เราส่งเข้าไปขายประมาณ 140,000 ตันต่อปี  เรารตั้งโรงงานขนาด 220,000 ตัน ขณะที่คู่แข่งของเรา110,000 ตัน  เมื่อตั้งโรงงานเสร็จเราใช้เวลาประมาณ 3 ปี เราแทบจะเดินเครื่องเต็มกำลังการผลิต


ที่กัมพูชาเราส่งซิเมนต์เข้าไปขายประมาณ 9 ปีเศษ ส่งไปจนถึง 400,000 ตัน จึงขออนุมัติจากกรรมการตั้งโรงงานขนาด 800,000 ตัน  ตอนนี้อยากทำ 900,000  ตัน ถ้าโรงงานใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปีเสร็จเดินไปเต็มกำลังการผลิต


เราจึงเข้าใจตลาดอย่างถ่องแท้ก่อนที่จะเข้าไป หรือขณะนี้เราใช้ซื้อกิจการเข้าไป เราทำการศึกษามาก่อนยาวนาน หลายกิจการที่เราเข้าไปซื้อในอินโดนีเซียล่าสุด เราคบกันมา 10 กว่าปี ผมไปเยี่ยม พบปะพูดคุยกันมาเรียกว่า รู้ไส้รู้พุงว่าแต่ละคนเป็นอย่างไร สำคัญมากคือ พาร์ทเนอร์ ก่อนที่จะเข้าไปซื้อกิจการ

เรามีความพอประมาณ เราตัดสินใจลงทุนทุกอย่างด้วยเหตุด้วยผล เรามีการบริหารความเสี่ยงเป็นภูมิคุ้มกัน มีการคาดการณ์ไว้ตลอดว่า ในอนาคตจะเกิดภัยอะไรขึ้น วิกฤตเศรษฐกิจล่าสุด วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ เราผ่านพ้นมาได้อย่างสบายที่สุด

หลังภัยพิบัติทางเศรษฐกิจในปี 2551 พอปี 2552 เรามีเงินสดเหลือ 50,000 กว่าล้านบาทสูงสุดถึงเกือบ 60,000 ล้านบาท คิดเป็นเงินดอลลาร์ประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์ มาถึงวันนี้ปัญหาเศรษฐกิจถดถอยในยุโรปยังไม่จบ

เรื่องความมีเหตุมีผล การตัดสินใจต้องอยู่บนพื้นฐานความมีเหตุมีผล ศึกษาเรามีกรอบการศึกษามากมายในหน่วยงานวางแผนของเรา ต้องรอบคอบมาก ๆ เราจะมีการวิเคราะห์การกระจายความเสี่ยงอยู่เสมอมีความเสี่ยงอะไรบ้าง


หากเกิดภาวะอย่างนี้ขึ้นจะรับมืออย่างไร เรื่องความมีเหตุผลก็คือ ความมีเหตุผลทางด้านธุรกิจจริง ๆ เพื่อสร้างความเจริญเติบโตของบริษัท ไม่ใช่ว่าเศรษฐกิจพอเพียง แล้วเราอยู่เท่าเดิม ไม่ใช่ เติบโตได้แต่เติบโตอย่างยั่งยืนอย่างไร


เราเน้นเรื่องการสร้างมูลค่าให้กับผู้มีส่วนได้เสีย ไม่ใช่ทำให้กับตัวเราคนเดียว แต่ให้กับทุกคนที่มีส่วนรวม


เรามีการจัดทำแผนการดำเนินธุรกิจระยะกลาง 3-5 ปี(Medium Term Plan) และจัดแผนปฏิบัติงานประจำปี(Action Plan) ให้ครอบคลุม และสอดรับกัน รวมทั้งการพิจารณาถึงเหตุการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น(Scenario Planning) เช่น หากวิกฤตเศรษฐกิจเกิดขึ้นแล้วจะรับมืออย่างไร เราทำโครงการไปในอนาคตเลยว่า อีก 5 ปีถ้าเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น แผนการเงินเราจะเป็นอย่างไรบ้าง ต้องรับมืออย่างไร ซึ่งจะเชื่อมโยงไปถึงเรื่องการเตรียมตัวด้วย การทำธุรกิจต้องมีเหตุมีผล ไม่ใช่ใครอยากจะทำอะไรเพื่อสนองความต้องการของตัวเอง ไม่ใช่


@เร่ง"วิจัย"สร้าง"มูลค่าเพิ่ม"สร้างภูมิคุ้มกันรับความเปลี่ยนแปลง


ขณะนี้โลกเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก วันนี้รวยมาก พรุ่งนี้จนได้ทันที ถ้าไม่รับมือให้ดี ผมยกตัวอย่างเฉพาะเรื่องประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ที่จะมาถึงปี 2558 มีคนพูดกันมาก และมีคนถามผมมากว่า เราเตรียมพร้อมหรือไม่ ผมค่อนข้างมีความรู้สึกว่า เรายังไม่ค่อยพร้อมดีนักสำหรับประเทศไทยเองทั้งหมด


สำหรับตัวบริษัทเอสซีจีเองเรามุ่งสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของเรา เราสร้างเรื่องของเทคโนโลยีของเราให้แข็งแกร่ง เราเร่งเพิ่มสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง โดยบริษัทของไทยอย่างเราทำได้ ถ้าตั้งใจที่จะลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีของเราขึ้นมาเอง อย่าไปพึ่งต่างชาติ


ขณะนี้ประเทศไทยต้องสร้างองค์ความรู้ขึ้นมาเองแล้ว ถึงเวลาทำได้ เรื่องการวิจัยและพัฒนาที่คนพอพูดแล้วค่อนข้างกลัวร้องเลยเรื่องการวิจัยและ พัฒนา เราลงทุนขยายฐานการผลิตเข้าไปในอาเซียนเพื่อที่จะใกล้ลูกค้าด้วย และแสวงหาโอกาสจากการรวมตัวของอาเซียนนี้ เราทำเรื่อง"แบรนด์ดิ้ง"ด้วย ไม่ใช่ทำแต่เฉพาะเรื่องของตัวผลิตภัณฑ์ให้ดีแล้ว ถ้าแบรนด์ไม่แข็งแล้วก็ไม่สามารถที่จะได้คุณค่าอย่างที่เราสร้างไว้เต็มที ต้องไปด้วยกัน

นอกจากนี้ ต้องเร่งเพิ่มสินค้าและบริการ โดยการวิจัยและพัฒนา ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติของประเทศไทย ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 7 ปีที่แล้วเราใช้งบในการวิจัยและพัฒนา 40 ล้านบาท ยอดขายขณะนั้น 200,000 ล้านบาท ยอดขายสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มที่ใช้คำว่า Hight Value Added 7,700 ล้าน คือ คิดเป็น4%ของยอดขายรวม 7 ปีที่แล้ว สินค้าและบริการส่วนใหญ่ของเอสซีจี คือ สินค้าพื้น ๆ สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มยังน้อยมาก


เมื่อเรามีนโยบายชัดเจน เรามีการสร้างองค์ความรู้ เราเพิ่มการลงทุนในเรื่องการวิจัยและพัฒนา จำนวนคนก็เพิ่มขึ้นจากเมื่อก่อน 100 กว่าคน วันนี้เรามีเกือบ 1,000 คน มีพนักงานที่จบระดับปริญญาเอกทำงานเต็มเวลาอยู่ประมาณ 62 คน


แต่ที่เรียกว่า Amazing เลยคือ ยอดขายสินค้ามูลค่าเพิ่มจาก 7,800 ล้านบาท ปี 2554 เพิ่มมาเป็น 118,000 ล้านบาท จากยอดขายรวมทั้งสิ้น 200,000 ล้านบาท เพิ่มมาเป็น 368,000 ล้านบาท ยอดขายรวมเพิ่มขึ้น 85% ยอดขายของสินค้าที่เป็นพื้น ๆ เพิ่มขึ้น 35% ใน 7 ปี แต่เรามุ่งเน้นสร้างสินค้ามูลค่าเพิ่ม โดยสินค้ามูลค่าเพิ่ม เพิ่มขึ้น 1,400% หรือเท่ากับ 14 เท่าจากยอดขายรวมที่เพิ่มขึ้นแค่ 85%


แต่สำคัญที่สุดคือว่า ในยอดขาย 118,000 ล้านบาท คิดเป็น 32% ของยอดขายทั้งหมด สร้างผลกำไรตอบแทนประมาณเกือบ 50% เพราะฉะนั้นถึงเวลาที่ประไทยจะต้องมุ่งเน้นสร้างองค์ความรู้ของเราเองทำได้ ไม่ใช่มัวแต่ไปซื้อสินค้าเทคโนโลยีโนฮาวจากคนอื่น


ยกตัวอย่างสินค้าบริการสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น ท่อ PE 100 เป็นท่อขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 เมตรส่งไปขายที่ยุโรป มีการทดสอบด้วยการใช้แรงดันน้ำเข้าไป ทดลองกันครั้งหนึ่งเป็นปี 300 กว่าวัน ถึงจะผ่านการทดสอบได้ สินค้ามีหลากหลาย


@ท้ารบตลาดอาเซียน8ประเทศอย่างยั่งยืน

ปัจจุบันเอสซีจีได้เปิดตลาดและลงทุน 8 ประเทศในกลุ่มอาเซียน ได้แก่ พม่า เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ลาว เขมร มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย รวมยอดการลงทุนในตลาดอาเซียน ณ เดือนมีนาคม 2555 ทั้งหมด 52,300 ล้านบาท หรือเท่ากับ 14% ของสินทรัพย์ทั้งหมดที่มีประมาณ 300,000 กว่าล้านบาท


ในอินโดนีเซียเอสซีจีมีสินทรัพย์เกือบ 30,000 ล้านบาท หรือประมาณเกือบ 1,000 ล้านเหรียญ มีพนักงาน 6,000 คน มีธุรกิจที่ดำเนินการ เช่น ปิโตรเคมี วัสดุก่อสร้าง ซิเมนต์ มีศูนย์กระจายสินค้า ในเวียดนามมีสินทรัพย์รวม 10,000 ล้านบาท มีพนักงาน 2,200 คน มีธุรกิจ เช่น ซิเมนต์ ปิโตรเคมี กระดาษ วัสดุก่อสร้าง และมีศูนย์กระจายสินค้า ในฟิลิปปินส์มีสินทรัพย์ 7,200 ล้านคน มีพนักงานประมาณ 1,000 คน มีธุรกิจ เช่น กระดาษ วัสดุก่อสร้าง และมีศูนย์กระจายสินค้า


ในลาวมีสินทรัพย์ และกัมพูชามีสินทรัพย์รวม 4,400 ล้านบาท มีพนักงานเกือบ 1,000 คน ธุรกิจที่ดำเนินการ เช่น ซิเมนต์ วัสดุก่อสร้าง และมีศูนย์กระจายสินค้า ในมาเลเซีย และสิงคโปร์มีสินทรัพย์รวม 1,300 ล้านบาท มีธุรกิจกระดาษ และศูนย์กระจายสินค้า ในพม่ามีสินทรัพย์ 100 ล้านบาท มีธุรกิจ เช่น ซิเมนต์ และมีการตั้งศูนย์กระจายสินค้า มากที่สุดในประเทศไทย 28,000 คน


กำลังการผลิตสินค้า 4 ตัวของบริษัทขณะนี้มีถือว่ามีกำลังการผลิตมากที่สุดในประเทศไทย และเป็นที่ 1 ในอาเซียนด้วย ได้แก่ 1.Downstream Chemicals  2. Packaging Paper 3.Building Products และ4.ซิเมนต์ เรามีกำลังการผลิตมากที่สุดในประเทศไทย แต่เป็นที่ 2 ในอาเซียน


อย่างไรก็ตาม เรื่องของความรู้ที่เป็นเงื่อนไขสำคัญ เอสซีจีเชื่อว่า ธุรกิจจะต้องยืนอยู่บนพื้นฐานขององค์ความรู้ เราต้องมีการพัฒนาองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง มีการพัฒนาพนักงานอย่างต่อเนื่อง ต้องมีการพัฒนการวิจัย และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง


 

การพัฒนาพนักงาน ปีหนึ่งรับเด็กจบใหม่ปริญญาตรี และโท 800 คน เรามีการเรียน ฝึกอบรมตลอด ทั้งการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชื่อดังหลายแห่งในต่างประเทศ ส่งคนไปเรียน เพื่อสร้างคนเตรียมพร้อมเชิงรุกและเชิงรับ จึงต้องมีการเตรียมความพร้อม พนักงานของเอสซีจีขณะนี้ไปอยู่ต่างประเทศเป็นคนไทย 220 กว่าคน พนักงานของเราทั้งหมดตอนนี้มีอยู่ 38,000 คน ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจมี 35,000 คน นับเฉพาะบริษัทที่เราไปถือหุ้นใหญ่ แล้วเราบริหาร ไม่นับบริษัทที่เราไปร่วมทุนเราถือหุ้น 50%ที่เราไม่นำรายได้มารวมกับในบริษัทแม่


 

 

เมื่อปี 2545 เรามีการขายธุรกิจออกไป มีพนักงานติดไปด้วย พนักงานลดลงมาต่ำสุดเหลือ 16,000 คน เมื่อตอนต้นปี 2545 ต้นปี 2546 ขึ้นมาเป็น 7,000 คน วันนี้เรามีพนักงานทั้งสิ้น 38,000 คน และในจำนวนนี้ 10,000  คนอยู่นอกประเทศไทย เป็นชาวอินโดนีเซีย ชาวเวียดนาม เป็นชาวอาเซียน


@ตั้งเป้า3ปีผู้นำตลาดอาเซียนอย่างพอเพียง-ยั่งยืน

สำหรับวิสัยทัศน์ของบริษัท ซึ่งดูแล้วจะสอดรับกับเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ภายในปี พ.ศ. 2558 เอสซีจีตั้งเป้าจะเป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับในฐานะที่เป็นองค์กรแห่งนวัต กรรมที่น่าร่วมงานด้วย และเป็นแบบอย่างด้านบรรษัทภิบาลและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ในปี พ.ศ. 2558 เอสซีจีจะเป็นผู้นำตลาดในภูมิภาคอาเซียนที่มุ่งดำเนินธุรกิจควบคู่กับการ เสริมสร้างความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน ให้แก่อาเซียนและชุมชนที่เข้าไปดำเนินงาน เราดูแลทั้งชุมชน และสังคมที่เราเข้าไปอยู่ด้วย ให้เจริญเติบโตไปพร้อมกับเรา

มุ่งสร้างคุณค่าให้แก่ลูกค้า พนักงาน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยความตั้งใจเราไม่ใส่ “ผู้ถือหุ้น” เข้าไปในวิสัยทัศน์ ขณะที่องค์กรฝรั่งมากมาย จะมุ่งสร้างความมั่งคั่งสูงสุดแก่ผู้ถือหุ้น(Maximize shareholder value) โดยไม่ได้สนใจสังคม และสิ่งแวดล้อม 


ถ้าลูกค้าได้ประโยชน์เต็มที่ พนักงานได้ประโยชน์เต็มที่ พนักงานจะสามารถดูแลลูกค้าได้อย่างเต็มที่ประโยชน์ทั้งหลายจะเกิดกับตัว องค์กรเอง พร้อม ๆ ไปกับสังคม และสิ่งแวดล้อม มันเป็นความยั่งยืน ภายใต้การบริหารงานระดับโลกสอด คล้องกับหลักบรรษัทภิบาล และมีมาตรฐานความปลอดภัยสูง เรื่องของพนักงานต่าง ๆ หรือธุรกิจของเราต้องทำงานอย่างปลอดภัย อีกทั้งมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของผู้คนด้วยสินค้า และบริการที่มีคุณภาพ จากกระบวนการดำเนินงาน การพัฒนาเทคโนโลยี และการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เป็นเลิศ


เอสซีจี เชื่อมั่นในคุณค่าและศักยภาพของพนักงาน ซึ่งจะทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ ในบรรยากาศการทำงานที่เปิดเผย โปร่งใส เปี่ยมด้วยพลังแห่งความกระตือรือร้น โดยพนักงานของเราทุกคนจะยึดมั่น และปฏิบัติตามอุดมการณ์ 4 “ตั้งมั่นในความเป็นธรรม มุ่งมั่นในความเป็นเลิศ เชื่อมั่นในคุณค่าของคน และถือมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคม”

เรื่องจรรยาบรรณ อุดมการณ์ 4 ข้อ น้องใหม่ที่เข้ามาทำงาน เรารับปีละ 800 คน พอครบ 100 คนเรามีการจัดอบรม 20 วันทำงาน ประมาณ 1 เดือน ครูคนแรกที่สอนคือ ผมเอง วิชาแรกที่สอนคือ อุดมการณ์ 4  วิชาที่ 2 คือ วิชั่นของเอสซีจี ใช้เวลาสอน 1.30 ชม. อุดมการณ์ 4 มี 4 บรรทัด แต่พูดได้ 35 นาที เพราะต้องการให้น้องทุกคนซึมซับเรื่องนี้ ยกตัวอย่างประกอบมากมาย ที่ผมได้ประสบมา อันนี้คือ เรื่องสำคัญมาก ๆ  ภายในปี พ.ศ. 2558เอสซีจี จะพัฒนาพนักงานซึ่งมีความหลากหลายทางเชื้อชาติวัฒนธรรม และประสบการณ์ ให้มีความมุ่งมั่นตอบสนองความต้องการของลูกค้า และมีโลกทัศน์ที่กว้างไกล

สุดท้ายเรื่องคุณธรรมไม่ว่าจะไปทำธุรกิจที่ไหนวาง ตัวเป็นกลางในเรื่องการเมือง ให้ความช่วยเหลือกับทุกรัฐบาลและหน่วยงานราชการ เพื่อประโยชน์โดยรวมของประเทศ ยึดมั่นในจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ โดยเป็นธรรมต่อผูมี้ส่วนได้เสีย  แบ่งปันผลประโยชน์ต่อสังคม


ถ้าเราแข็งแรงเราก้าวเท้าไปเอาเปรียบ ถ้าวันหนึ่งเขาแข็งแรงกว่าเขาก็กลับมาเหยียบเรา


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : กานต์ ตระกูลฮุน แนะเคล็ดล้างหนี้ เพิ่มยอดขาย จากพันล.เป็นแสนล. SCG ผงาดฉลองครบ100ปี

view