ด่วน!กกร.เร่งหาทางออกแบล็กลิสต์FATF
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
กกร.-สภาธุรกิจตลาดทุน-สมาคมธนาคารไทย แถลงด่วน 4 โมงเย็น ประกาศแผนร่วมมืออัยการ-ปปง. หาทางออกแบล็กลิสต์FATF ผวาล่าช้า เอกชนอ่วม!
รายงานข่าวเปิดเผยว่า ในวันนี้ (4 พ.ค.) คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) สภาธุรกิจตลาดทุน และสมาคมธนาคารไทย ได้มีการหารือกันอย่างเร่งด่วน เพื่อติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายการฟอกเงิน หรือการดำเนินการ เพื่อให้ไทยพ้นจากถูกขึ้นบัญชีดำ (แบล็กลิสต์) หลังจากที่ การประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน (FATF) ที่ปารีส ฝรั่งเศส ในเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ไทยได้ถูกขึ้นบัญชีดำ
"เราได้มีการหารือกันถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายฟอกเงิน เพราะต้องยอมรับว่า ยิ่งไทยมีความล่าช้า ยิ่งส่งผลกระทบกับภาคธุรกิจเอกชน ซึ่งต้องยอมรับว่าผู้ประกอบการส่งออก เริ่มได้รับผลกระทบบ้างแล้ว และหากยังขืนล่าช้าออกไปอีก จะส่งผลกระทบกับคนที่ใช้บัตรเครดิตในต่างประเทศด้วย" แหล่งข่าวกล่าว
ทั้งนี้ นอกเหนือจากสภาธุรกิจตลาดทุน กกร. และสมาคมธนาคารไทย มีการหารือร่วมกันในวันนี้แล้วยังมีตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และอัยการสูงสุด เข้าร่วมหารือด้วย เพื่อติดตามความคืบหน้าและหาทางออกร่วมกัน
โดยในวันนี้ จะมีนายธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย ซึ่งเป็นประธานคณะทำงาน แถลงข่าวอย่างเป็นทางการในเวลาประมาณ 16.00 น.ของวันนี้ ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โซนซี ชั้น 2 ห้องบอร์ดรูม
ก่อนหน้านี้ คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน (FATF) ขึ้นบัญชีดำไทย, ปากีสถาน, อินโดนีเซีย, กานา และแทนซาเนียในรายชื่อ ประเทศที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการสกัดการฟอกเงิน
ทั้งนี้ เนื่องจากทั้ง 5 ประทเศ ไม่ได้ปฏิบัติตามคำแนะนำเรื่องการปราบปรามการฟอกเงิน และการ ให้ทุนสนับสนุนการก่อการร้าย
FATF ไม่ได้ปลดรายชื่อประเทศใดออกจากบัญชีดำเดิม (blacklist) แต่มีการปลดฮอนดูรัสและปารากวัยออกจากบัญชีเทา (grey-list) หรือรายชื่อ ประเทศที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานสากล ถึงแม้เคยแสดงความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตาม มาตรฐานดังกล่าว
ทั้งนี้ มี 17 ประเทศที่มีชื่อติดอยู่ใน blacklist ของ FATF ในขณะนี้ โดยนอกจาก 5 ประเทศใหม่แล้ว ประเทศที่เหลือประกอบด้วยโบลิเวีย, คิวบา, เอธิโอเปีย, อิหร่าน, เคนยา, พม่า, ไนจีเรีย, เกาหลีเหนือ, เซา โตเม แอนด์ ปรินซิเป, ศรีลังกา, ซีเรีย และตุรกี
ส่วน 22 ประเทศที่มีชื่อติดอยู่ใน grey-list ประกอบด้วย แอลจีเรีย, แองโกลา, แอนติกวา แอนด์ บาร์บูดา, อาร์เจนตินา, บังคลาเทศ, บรูไน, กัมพูชา, เอกวาดอร์, เคอร์กิซสถาน, มองโกเลีย, โมร็อกโก, นามิเบีย, นิคารากัว, ฟิลิปปินส์, ซูดาน, ทาจิคิสถาน, ตรินิแดด แอนด์ โตเบโก, เตอร์กเมนิสถาน, เวเนซุเอลา, เวียดนาม, เยเมน และซิมบับเว
FATFขึ้นแบล็กลิสต์พ่นพิษ แบงก์ต่างชาติเริ่มระงับทำธุรกรรม
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
กกร.-สภาธุรกิจตลาดทุน-สมาคมธนาคารแถลงด่วนFATFขึ้นแบล็กลิสต์พ่นพิษ แบงก์ต่างชาติเริ่มระงับทำธุรกรรม จี้รัฐผ่านกม.ในเดือนม.ค.56ก่อนสายเกินแก้
นายธวัชชัย ยงกิตติคุณ ประธานคณะทำงานภาคเอกชนเพื่อติดตามความคืบหน้าการออกกฎหมายและผลกระทบในการที่ประเทศไทยถูกปรับลดระดับตามประกาศ FATF เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยเริ่มได้รับผลกระทบจากการที่ The Financial Action Task Force (FATF) จัดประเทศไทยอยู่ในกลุ่มสีเทา ทำให้มีสถาบันการเงินในต่างประเทศบางแห่งสั่งระงับการทำธุรกรรมกับประเทศไทยแล้ว รวมทั้งยังมีสถาบันการเงินในต่างประเทศบางแห่งเริ่มขอข้อมูลในการทำธุรกรรมทางการเงินจากสถาบันการเงินไทยมากขึ้น หรือการที่การทำค้าขายระหว่างประเทศผู้ค้าในต่างประเทศเริ่มไม่แน่ใจว่าควรจะส่งเงินเข้ามาชำระค่าสินค้าหรือไม่ เป็นต้น และหากประเทศไทยยังไม่ถูกปลดออกจากกลุ่มบัญชีสีเทานี้ภายในเดือนก.พ.56 ผลกระทบที่จะติดตามมาในอนาคตอาจเป็นได้ว่าคนไทยจะไม่สามารถใช้บัตรเครดิตในต่างประเทศได้เพราะสถาบันการเงินในต่างประเทศไม่รับ เป็นต้น
โดยผลกระทบเริ่มต้นมาจากสถาบันการเงินในฝั่งยุโรปและคงจะไปยังประเทศอื่นด้วยที่เขาจะต้องพิจารณาว่าการทำธุรกรรมกับไทยมีความเสี่ยง หรือมีต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นและคุ้มค่าที่จะทำธุรกรรมด้วยหรือไม่ นั่นเป็นที่มาว่าทำไมสถาบันการเงินบางแห่งจึงสั่งระงับการทำธุรกรรมกับประเทศไทยเพราะเขาอาจมองว่าไม่คุ้มค่าที่จะทำก็ได้
"ปัจจุบันผลกระทบจากการที่ไทยถูกขึ้นบัญชีในกลุ่มสีเทาเริ่มต้นส่งผลกระทบกับภาคเอกชนไทยบ้างแล้ว และผลกระทบนี้จะยังคงอยู่จนกว่าไทยจะมีความคืบหน้าในการเร่งออกพรบ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินและการก่อการร้ายอย่างเป็นรูปธรรมให้เร็วที่สุด เพราะคณะพิจารณา International Cooperation Review Group (IRCG) ซึ่งเป็นคณะทำงานย่อยของ FATF ในการพิจารณาประเทศที่อยู่ในกลุ่มบัญชีสีเทานี้จะพิจารณาอีกครั้งในเดือนก.พ.56 ดังนั้นอย่างน้อยที่สุดก็หวังว่ากฎหมายจะมีความคืบหน้าและผ่านสภาออกมาได้ทันในเดือนม.ค.56 นี้เช่นกัน"
นายธวัชชัย กล่าวอีกว่า ในทางที่ดีคือกระบวนการในการออกกฎหมายฉบับนี้มีความคืบหน้าขึ้นตามลำดับ จากที่ประเมินไว้มีประมาณ 9 ขั้นนั้น ตอนนี้ก็ผ่านมาได้ประมาณ 4 ขั้นแล้ว ทางสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้ยกร่างใหม่เสร็จหมดแล้ว โดยเป็นร่างที่เป็นที่ยอมรับทั้งของสากลทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)หรือ FATF ตลอดจนเป็นที่ยอมรับของผู้ที่ปฏิบัติในประเทศด้วยเช่นกัน ซึ่งจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป ซึ่งคาดว่าทางคณะรัฐมนตรีน่าจะให้ความเห็นชอบได้ภายในเดือนมิ.ย.55 นี้ เพื่อที่จะส่งไปให้กฤษฎีการพิจารณาอีกครั้งซึ่งจะใช้เวลาในส่วนนี้ประมาณ 2 – 3 เดือน อย่างเร็ว ก่อนที่จะส่งกลับมาที่คณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและนำสู่สภาเพื่อพิจารณาออกเป็นกฎหมายต่อไป ซึ่งทุกความคืบหน้าในกระบวนการออกกฎหมายจะเป็นสัญญาณที่ดีต่อประเทศไทยเองด้วย แต่หากเข้าสู่สภาแล้วกฎหมายไม่คืบหน้าไปไหนดึงกันไปกันมาในสภา ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมากับประเทศไทยก็คงมีมากขึ้นเช่นกัน
"ปัจจุบันในภาคของธนาคารเองมีความพร้อมอยู่แล้วในการที่จะอายัติ ระงับธุรกรรมการเงินของผู้ต้องสงสัยว่าก่อการร้าย แต่ที่ผ่านมาไม่สามารถจะทำได้เพราะไม่มีกฎหมายรองรับตรงนี้ ทาง FATF เองก็ต้องการให้ทุกอย่างดำเนินไปได้เร็ว แต่ไทยทำไม่ได้เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ ก่อนหน้านี้ทางคณะทำงานได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีไปแล้วครั้งหนึ่ง และคาดว่าภายในเดือนนี้คงจะทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีอีกครั้งเพื่อขอเข้าพบเพื่อชี้แจงความคืบหน้าต่างๆ ต่อนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งด้วย และหวังว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็จะร่วมมือกันเป็นอย่างดี โดยหวังว่าประเทศไทยจะถูกปลดจากรายชื่อในกลุ่มสีเทาได้ภายใน 1 ปี โดยเร็วที่สุดด้วย"
ทั้งนี้ ได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) สมาคมธนาคารไทย และสภาธุรกิจตลาดทุน เพื่อติดตามความคืบหน้าและหาทางออกกรณี FATF ขึ้นแบล็กลิสต์ไทยเมื่อเดือนก.พ.55 ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้เริ่มส่งผลกระทบผู้ประกอบการส่งออก และอาจลามไปยังสถาบันการเงิน หากรัฐบาลไม่เร่งผ่านกฎหมายป้องกันการฟอกเงิน
สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน