จากประชาชาติธุรกิจ
หลังจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทของรัฐบาลที่มีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 1 เมษายนผ่านมา ส่งผลให้หลายสถานประกอบการต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงครั้ง นี้
โดยเฉพาะในส่วนของสถานประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ถือว่าได้รับผลกระทบในทุกมิติตั้งแต่บุคลากร ต้นทุน จนถึงผลประกอบการในระยะยาวด้วย ดังนั้นเพื่อให้เห็นภาพที่เกิดขึ้นในตลาดแรงงาน ทางมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ได้สังเคราะห์ออกมาเป็นผลวิจัยชิ้นสำคัญ ที่ชี้ให้เห็นถึงระบบเศรษฐกิจไทยที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไป
จากการ วิจัยของ "ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว" ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้สำรวจจากกลุ่มตัวอย่างของผู้ประกอบการจำนวน 536 ราย ใน 7 จังหวัดนำร่องที่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม และภูเก็ต โดยได้สำรวจระหว่างวันที่ 23-27 เมษายน 2555
พบว่าการปรับขึ้นค่าแรง ขั้นต่ำเป็น 300 บาท ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ 16.2% จึงจำเป็นจะต้องมีการปรับราคาขึ้นโดยเฉลี่ย 13.8% ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับต้นทุนถึง 2.4% เนื่องจากไม่สามารถปรับราคาขึ้นเท่ากับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดได้
ดัง นั้น เมื่อเอสเอ็มอีต้องแบกรับภาระที่หนักเช่นนี้ จึงส่งผลให้เกิดแผนการเลิกจ้างงานในช่วง 8 เดือนข้างหน้า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 38.9% ระบุว่าอาจมีการเลิกจ้างแรงงานที่มีช่วงอายุไม่เกิน 20 ปี 25.5% อาจเลิกจ้างแรงงานในช่วงอายุ 20-25 ปี และ 15.3% อาจเลิกจ้างแรงงานที่มีอายุมากกว่า 25 ปีขึ้นไป
ผลตรงนี้จึงทำให้ "ดร.เกียรติอนันต์" มองเชิงวิเคราะห์ของผลกระทบค่าแรงขั้นต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ พบว่าหากขึ้นค่าแรงเพิ่มขึ้นจนเกินกว่า 40% ของค่าแรงเฉลี่ยในประเทศ จะก่อให้เกิดปัญหาการเลิกจ้างในที่สุด ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทยที่คิดเป็น 300 บาท ทำให้ค่าแรงใหม่คิดเป็น 75% ของค่าแรงเฉลี่ย ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่สูงมาก
"สอดคล้องกับผลการศึกษาจากประเทศ อินโดนีเซีย ที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดในช่วงปี 2531-2538 ส่งผลให้ใน 5 ปีแรกผลิตภาพในการผลิตของประเทศเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างค่าแรงขั้นต่ำ และค่าแรงเฉลี่ยในประเทศลดลง และแน่นอนว่ากาจ้างงานของเอสเอ็มอีมีอัตราลดลงด้วยเช่นกัน ดังนั้นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากนโยบาย
ค่าแรงขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดนี้ จึงเป็นแรงงานที่ทำงานในสถานประกอบการใหญ่มากกว่าจะเป็นคนจนที่สุด
"ดร.เกียรติ อนันต์" ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลนี้อาจส่งผลให้เกิดการเลิกจ้างในสถานประกอบการเอสเอ็มอีจาก 7 จังหวัดนำร่องเพิ่มขึ้นจนถึงขั้นปิดกิจการประมาณ 10-15% หรือ 80,000-120,000 ราย ภายในระยะเวลา 18 เดือนข้างหน้า
"และเวลาที่ เหลือก่อนการปรับขึ้นค่าแรงอีกครั้งในเดือนมกราคม 2556 ผู้ประกอบการจะต้องเร่งปรับตัวในช่วง 8 เดือนหลังจากนี้ จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 76.6% ระบุว่าจะต้องเข้มงวดกับประสิทธิภาพการทำงานให้เพิ่มขึ้น 61.3% ควบคุมต้นทุนในส่วนอื่น 45.1% ใช้อุปกรณ์หรือเครื่องจักรมาแทนพนักงาน 36.4% เพิ่มชั่วโมงการทำงานต่อวันให้กับแรงงานที่มีอยู่ และอีก 15.5% ปรับตัวด้วยวิธีอื่น เช่น การฝึกอบรม และการจ่ายงานเหมารายชิ้น"
"ส่วน ผลสำรวจจากมาตรการบรรเทาผลกระทบเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 24 เมษายน 2555 พบว่ากลุ่มตัวอย่าง 21.1% สนใจมาตรการสินเชื่อเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิต และอีก 78.9% ไม่สนใจ ซึ่งจำแนกตามสาเหตุได้ว่า 42.4% ไม่มั่นใจว่าจะชำระคืนได้ 22.3% ระบุว่าดอกเบี้ยสูงเกินไป และ 14.2% ยังไม่ต้องการกู้เงิน แต่ต้องยอมรับว่ามีกลุ่มตัวอย่างถึง 71.6% สนใจมาตรการจากกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน แต่ได้ให้ข้อสังเกตว่าในวงเงิน 42,000 บาทต่อสถานประกอบการ อาจไม่เพียงพอต่อการฝึกอบรมในส่วนงานที่ต้องการ"
"ส่วนโครงการสิน เชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน ผ่านกองทุนประกันสังคม มีกลุ่มตัวอย่าง 14.7% ให้ความสนใจ แต่ 85.3% ไม่สนใจ โดยกลุ่มนี้แบ่งออกเป็น 71.1% ระบุว่า ไม่มั่นใจว่าจะชำระคืนได้ และอีก 14.2% ยังไม่ต้องการกู้เงิน"
ขณะ เดียวกัน ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มทางธุรกิจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีใน 7 จังหวัดนำร่อง (ตามรูป) โดยคิดจากดัชนีผสาน (Diffusion Index) พบว่ากลุ่มตัวอย่างได้คาดการณ์ถึงยอดขายในไตรมาส 2 ของปีนี้มีการเพิ่มขึ้นในอัตราน้อยกว่าไตรมาส 1 นั่นเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าเกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของพื้นที่ทั้ง 7 จังหวัดนำร่องการเพิ่มขึ้นของดัชนีด้านต้นทุนในไตรมาส 2 เป็นผลโดยตรงจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และต้นทุนทางวัตถุดิบ ซึ่งจะส่งผลให้ดัชนีสภาพคล่องทางการเงิน ภาระหนี้สิน และการลงทุน มีค่าติดลบมากขึ้น หรือจะมีการเลิกจ้างเพิ่มขึ้นในไตรมาส 2 ด้วยเช่นกัน
นอก จากนั้น "ดร.เกียรติอนันต์" บอกว่า จากการสำรวจของธนาคารโลก พบว่าสถานประกอบการแรงงานไทยยังขาดแคลนแรงงานมากที่สุดในอาเซียน คิดเป็น 38.8% ของสถานประกอบการทั้งหมดในอาเซียน เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของอาเซียนที่ไม่รวมประเทศไทยมี 12.6% จะเห็นว่าปัญหาของไทยสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอาเซียนถึง 3 เท่า ขณะที่หากเปรียบเทียบค่าแรงขั้นต่ำของประเทศไทยเป็น 300 บาท ทำให้มีค่าแรงขั้นต่ำใกล้เคียงกับประเทศฟิลิปปินส์ และมีอัตราสูงกว่ากลุ่มประเทศในอาเซียนทั้งหมด
"เมื่อเห็นภาพรวมใหญ่ ขนาดนี้ สิ่งเดียวที่รัฐบาลจะทำได้คือจะต้องเดินหน้าไปสู่การปรับค่าแรงขั้นต่ำ ตามนโยบายเป็น 300 บาท ถึงแม้ว่าในระยะสั้นอาจจะส่งผลให้เกิดปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจไทย แต่หากรัฐบาลเปลี่ยนให้เป็นโอกาสในการยกเครื่องธุรกิจไปพร้อม ๆ กับยกระดับฝีมือแรงงานขนานใหญ่พร้อมกันทั้งประเทศ เป็น big push แล้วเศรษฐกิจไทยจะแข็งแกร่งขึ้นในระยะยาว"
ในเมื่อถอยหลังไม่ได้ต้องเดินสู่การพัฒนาของประเทศอย่างจริงจัง โดยอย่าลืมว่าการเดิมพันเพื่อการอยู่รอดครั้งนี้คือประชาชนในประเทศไทย
สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน