เมื่อ Top down คือ Dictator Bottom up คือ ประชาธิปไตย
โดย : บุญชัย ปัญฑุรอัมพร
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ผู้นำที่ชาญฉลาดมักจะสร้างสมดุลระหว่างวิธีการทั้งสองแบบได้อย่างลงตัวบนความยุติธรรม
“ไปบอกมันเลย ถ้าพรุ่งนี้ไม่เสร็จ ไม่ต้องเหยียบมาที่นี่ให้เสี่ยเห็นหน้าอีก” “ไปบอกทุกคนเลยว่าซ้อจะเอาอย่างงี้ ที่พวกผู้บริหารประชุมกันมาเป็นเดือนๆ ซ้อไม่เอาด้วย” “เอ่อจริง เรื่องมันเยอะแยะจนลืม แต่ทำไมไม่เข้ามาเตือน ซ้อคุยงานอยู่ก็เข้ามาเตือนได้” “ใครผิดล่ะเรื่องนี้ เห็นไหม เสี่ยไม่อยู่แค่วันเดียว เป็นเรื่องเลย” “แบบนี้ก็ดีอยู่แล้ว ทำกันมาก็หลายสิบปีละ จะไปเปลี่ยนมันทำไม ยังไงซ้อก็ไม่เอา” “ไม่เห็นหรือไง ซ้อมีแขกอยู่ เข้ามาสุ่มสี่สุ่มห้า ไร้มารยาทเสียจริง”
รูปแบบการบริหารแบบ “ซ้อชี้นิ้ว” หรือ “เสี่ยสั่งลุย” ดังกล่าว คงเข้าข่ายการบริหารแบบ Top down ล้วนๆ ในทางการปกครอง ไม่ว่าจะเป็นองค์กรเล็กหรือใหญ่หรือจะเฉพาะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือแผนกใดแผนกหนึ่ง ผู้นำเหล่านี้มักจะทำงานไม่เป็นระบบ (Unorganized) ชอบสั่งการเชิงเผด็จการ ไม่ค่อยถามความคิดเห็น (Command) ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ใต้บังคับบัญชาแสดงออก หรือเปิดโอกาสแต่สุดท้ายคำตอบในใจที่ตนเองกำหนดอยู่แล้วก็เป็นคำตอบที่ต้องการอยู่ดี (Dictate) ชอบรวมศูนย์แบบเป็นกลุ่มก้อนรวบอำนาจอยู่กับตนเอง ไม่ไว้วางใจผู้อื่น (Centralize) วิสัยทัศน์แคบ มองไม่เห็นผลกระทบในอนาคต ไม่วางแผน (Short run) ที่แย่ที่สุด คือ คิดว่าตนเองจะอยู่ค้ำฟ้า ไม่เคยเตรียมตัวตายตัวแทนรองรับอนาคต (Lack of Successor) องค์กรที่บริหารในลักษณะ Top down ล้วนๆในแบบซ้อชี้นิ้วหรือเสี่ยสั่งลุยก็คงจะอยู่ได้ไม่ยั่งยืน ปัญหาบุคลากรลาออก (High Turnover) เนื่องจากผู้คนขาดขวัญและกำลังใจคงจะเกิดขึ้นตลอดเวลา (Low Employee Moral)
ในทางตรงกันข้าม “เสี่ยว่ารอไปก่อน รอให้พวกเขาประชุมกันก่อน แล้วค่อยมาว่ากัน” “เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน คราวหน้าตั้งคณะทำงานพิเศษขึ้นมา ไปซาวเสียงกันว่าจะเลือกใคร แล้วค่อยมาหาทางเลือกกัน” “เรื่องจะไปเจาะตลาดไหน พวกเราลองไปคิดๆดูว่าจะยังไงดี” “แล้วเรื่องนี้ไปถามคุณแดงกับคุณสำราญหรือยัง แล้วสมศรีล่ะ ว่ายังไง” “ใช่ ใช่ ถ้าสมหวังว่ายังไง พวกเราก็เอาตามนั้น ดีไหมพวกเรา...เฮ้ ไชโย ” การบริหารที่นิยมแบบ Bottom up ล้วนๆ ต้องการสร้าง Employee Engagement มากจนเกินไปก็ส่งผลเสียได้เช่นกัน ความล่าช้าในการแก้ปัญหาต่างๆ (Slow Decision Making) หรือแม้แต่การไม่มีใครตัดสินใจ เพราะคอยแต่จะวิเคราะห์หาผลเลิศ สอบตกในเรื่องของเวลา (Timing) ไม่ทันการกับการแข่งขัน เพราะต้องใช้เวลานานในการรวบรวมความคิดเห็นจากผู้คนมากมาย ตลอดจนการเพิ่มขั้นตอนเพิ่มกระบวนการการทำงานที่ซ้ำซ้อน หรือแม้แต่การตัดสินใจผิด (Misleading) โดยความเห็นของผู้นำแฝงในกลุ่มก็เป็นได้
การผสมผสานระหว่าง Top down กับ Bottom up จะเป็นแบบ Top down มาก Bottom up น้อย หรือจะเป็น Top down น้อย Bottom up มาก ก็สุดแล้วแต่โอกาส แล้วแต่กรณี แล้วแต่ระดับการตัดสินใจว่าเรื่องใดควรจะใช้วิธีใดและเมื่อใด น่าจะเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด ผู้นำที่ชาญฉลาดมักจะสร้างสมดุลย์ระหว่างวิธีการทั้งสองแบบได้อย่างลงตัวบนความยุติธรรม
ที่คิดถึงเรื่อง Top down และ Bottom up ในบทความวันนี้ ก็เพราะถูกเจ้าลูกชายชวนไปดูภาพยนตร์เรื่อง Dictator ที่อธิบายระหว่างเรื่องของเผด็จการกับประชาธิปไตยในแบบขำขัน (ออกจะ Nasty) ได้เป็นอย่างดี เป็นภาพยนตร์ของฮอลลีวู้ด กระทบความเป็นผู้นำจอมเผด็จการในประเทศสมมติแถบๆ ตะวันออกกลางและก็ไม่ลืมกระทบความเป็นประชาธิปไตยจอมปลอมของประเทศตนเองด้วย ทีแรกเข้าใจว่า เป็นหนังตลกโปกฮา ไม่มีสาระอะไร แต่เมื่อดูไปจนจบ จึงค้นพบว่า สาระเด็ดๆได้ถูกซ่อนอยู่ในบทที่ไร้สาระหลายๆตอน
ที่เด็ดที่สุดจะเป็นตอนท้ายที่จอมเผด็จการผู้บริสุทธิ์ขึ้นปราศรัยในเวทีสหประชาชาติ กล่าวถึงประชาธิปไตยเลวต่อหน้านักการเมือง นักการทูต นักธุรกิจ เจ้าหน้าที่ทางราชการรวมทั้งเหล่า Lobbyists และนักหนังสือพิมพ์จากนานาชาติไว้อย่างหน้าฟังว่า “ This constitution is nothing but the license for oil companies and foreign interest to destroy my beloved country. My country will remain a dictatorship” ว่าแล้วก็ฉีกใบสัญญาที่จะเปิดประเทศนั้นทิ้งไป และกล่าวต่อว่า “Oh, be quiet. Why are you guy so anti dictator, imagine for America was a dictatorship. You could let 1% of the people have all the nation wealth. You could help your rich friends get richer by cutting their taxes. You can ignore the need of the poor for health care and education. Your media would appear free but would secretly be controlled by one person and his family. You could lead direction. You could lie about why you go to war. You can use the media to scare the people into supporting policy that are against their interest. I know this is hard for you, but please try. I will tell you what Democracy is. Everyone is talking and listening to every stupid opinions and everybody vote count no matter how creeper their representatives are. Democracy is fraud. She is not perfect. And that is why I call for real Democracy, a real election, a real constitution in my country.”
จอมเผด็จการกล่าวในเชิงประชดประชันว่า เผด็จการไม่ดีตรงไหน เจตนาที่แท้จริงของเขา ก็คือ ไม่ยอมเปิดประเทศและเปลี่ยนการปกครองไปเป็นประชาธิปไตย เพราะเขารู้ซึ้งถึงเบื้องหลังของการเรียกร้องอันจอมปลอมและไม่อาจจะสร้างความทัดเทียมให้กับประชาชนของเขาได้ในที่สุด เริ่มแรกประชาชนออกมาขับไล่จอมเผด็จการผู้บริสุทธิ์ที่ถูกหักหลังโดยคนสนิท ที่ต้องการปรับเปลี่ยนประเทศให้เป็นประชาธิปไตยตามที่ผู้คนส่วนใหญ่ต้องการ คนสนิทเองก็ได้แอบติดต่อการค้าน้ำมันให้กับโลกภายนอกไว้ก่อนหน้าแล้ว โดยใช้ตำแหน่งหน้าที่และอำนาจรวมทั้งการสนับสนุนให้เปิดประเทศโดยนำเวทีสหประชาชาติมาบังหน้า ภายหลังที่ได้ฟังคำปราศัยของจอมเผด็จการผู้บริสุทธิ์แล้ว ประชาชนก็ถึงบางอ้อ ป้ายที่ชูขับไล่กลับนำลงและต่างก็ปรบมือส่งเสียงไชโยโห่ร้องชื่นชมในความจริงใจของจอมเผด็จการ ที่ตอนท้ายแสดงออกว่า ประชาธิปไตยที่ดีนั้นต้องเป็นของแท้ไม่มีวาระแอบแฝงซ่อนเงื่อนใดๆ ทั้งสิ้น
Theme ของภาพยนตร์ได้บอกกับเราว่า ไม่ว่าจะปกครองแบบเผด็จการหรือประชาธิปไตย ผู้ปกครองต้องตั้งอยู่บนความถูกต้อง จริงใจ และไม่เอาเปรียบ ไม่คดโกงประชาชน ไม่เปลี่ยนหน้าที่ไปเป็นอำนาจและใช้อำนาจไปเปลี่ยนกฎเกณฑ์เพื่ออำนวยประโยชน์ใส่ตนและพวกพ้อง เผด็จการที่ดี ยังจะดีกว่าประชาธิปไตยที่เลว ประชาธิปไตยที่เลวก็ไม่ได้แตกต่างไปจากเผด็จการที่เลวแต่กลับยิ่งเลวร้ายกว่าเสียอีก
มองกลับมาที่องค์กร Top down ในรูปแบบซ้อชี้นิ้วหรือเสี่ยสั่งลุยที่ Honest, Fair Minded, Prolong Vision, Well Organized, Decentralize, Promote Employee Engagement, Sharp Decision Making, Strict with Good Governance ผนวกเข้ากับ Bottom up ที่จริงใจ ไม่แบ่งกลุ่มแบ่งพรรคแบ่งพวก คิดและทำแต่สิ่งดีๆให้กับส่วนรวม เพื่อความเจริญก้าวหน้าและความอยู่รอดขององค์กรเป็นที่ตั้งก็จะเป็นแนวทางที่ดีที่สุด
http://www.youtube.com/watch?v=ks53LrlnxzM&feature=related ลองเข้าชมตัวอย่างได้ที่ URL นี้ครับ แต่บอกก่อนนะครับว่า มีบางฉากบางตอนอาจจะไม่เหมาะสมกับวัฒนธรรมบ้านเราครับ
สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน