สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คำต่อคำ ทนง พิทยะ เปิดใจ 15 ปี วิกฤติ 2540 และบุญคุณต้องทดแทน ต้องเข้าใจว่าผมเป็นลูกจ้างของนายกทักษิณ

คำต่อคำ ทนง พิทยะ เปิดใจ 15 ปี วิกฤติ 2540 และบุญคุณต้องทดแทน ต้องเข้าใจว่าผมเป็นลูกจ้างของนายกทักษิณ

จาก ไทยพับลิก้า


วิกฤติปี 2540 ผ่านมา 15 ปีแล้ว แต่เชื่อว่าเมื่อพูดถึงวิกฤติครั้งนั้น ชื่อแรกๆ ที่หลายคนนึกถึงทันทีต้องมี “ทนง พิทยะ” ผุดขึ้นอย่างแน่นอน ในฐานะรัฐมนตรีคลังที่ตัดสินใจเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทจากระบบ ตะกร้าเงิน หรือระบบคงที่ มาเป็นระบบลอยตัวแบบมีการจัดการ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติในช่วงนั้น แต่นำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจและวิกฤติสถาบันการเงิน ที่ทั่วโลกรู้จัก”วิกฤติต้มยำกุ้ง” สร้างความเสียหายจำนวนมหาศาล

เพื่อบันทึกประวัติศาสตร์ และถอดบทเรียนวิกฤติ 2540 สำนักข่าวไทยพับลิก้าจัดทำซีรีส์พิเศษ สัมภาษณ์บุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าว

ซีรีส์นี้จึงเปิดบทสัมภาษณ์แรก ด้วย “ดร.ทนง พิทยะ” แบบเจาะลึกเหตุการณ์ในช่วงนั้น เกี่ยวกับข้อมูลและกระบวนการตัดสินใจในขณะนั้นว่ามีใครเกี่ยวข้องบ้าง และทำไมถือฤกษ์ยามเช้าวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท มีใครได้ใครเสียหรือไม่อย่างไร โดย ดร.ทนง เปิดใจทุกเรื่อง และหลายเรื่องไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน

โดยเนื้อหาของการสัมภาษณ์ที่นำมาเสนอนี้ เป็นส่วนเดียวกับซีรีส์ “15 ปีวิกฤติ 2540 “ทนง พิทยะ” ขออภัยที่ทำให้หลายคนเจ็บปวด” โดยเป็นการถอดเทปอย่างละเอียดดังนี้

ปกป้อง : คุณทนงเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2540 แทน ดร.อำนวย วีรวรรณ ที่ลาออกไป ตอนนั้นสถานการณ์เศรษฐกิจไทยเรียกได้ว่าเข้าขั้นวิกฤติ เราถูกโจมตีค่าเงินจนธนาคารแห่งประเทศไทยต้องปกป้องค่าเงินจนเงินทุนสำรอง ระหว่างประเทศสุทธิลดลงเหลือนิดเดียว สถาบันการเงินมีปัญหาสภาพคล่องเยอะไปหมด ตอนนั้นคุณทนงตัดสินใจยังไงถึงยอมรับครับ

ต้องเข้าใจสถานการณ์ ณ วันที่ 21 มิถุนายนตอนนั้นว่า ไม่มีใครรู้จริงๆ ว่าสถานการณ์จะเลวร้ายแค่ไหน แต่แน่นอนว่าสถานการณ์เริ่มแย่ลงมาก ที่รับตำแหน่งจริงๆ เลย คือว่าท่านพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ (นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น) เป็นนายเก่าที่ธนาคารทหารไทย และก็ดูแลเกื้อกูลผมมาตลอด ตอนที่ท่านสมัครนายกรัฐมนตรี เริ่มที่จะหาเสียง ท่านขอให้ผมร่วมไปอยู่กับท่าน ผมก็ปฏิเสธท่านไปเพราะผมยังต้องอยู่ที่ธนาคารทหารไทย ก็เลยได้คุณอำนวย (วีรวรรณ) ไปเป็นหัวหน้าเศรษฐกิจเต็มตัว แต่พอท่านลาออกท่านคงนึกถึงใครไม่ได้แล้ว เพราะตอนนั้นคงยากที่ใครจะมารับตำแหน่ง เลยอาจจะนึกถึงผม

ปกป้อง : ตอนนั้นคิดไหมว่าสถานการณ์จะเลวร้ายถึงขั้นนี้

ผมไม่เคยคิดว่าจะหนักขนาดที่มารู้ทีหลังนะครับ

ปกป้อง : ถ้ารู้ว่าจะหนักขนาดนี้จะยังรับตำแหน่งอยู่ไหมครับ

ก็คงต้องรับ ผมคิดว่าบางทีชีวิตเราเลือกไม่ได้ อาจจะเป็นดวงชะตาหรืออะไรก็แล้วแต่ มันก็คงต้องรับ ตอนที่ท่านโทรศัพท์เรียกผมคือวันศุกร์ซึ่งผมกำลังเดินเล่นอยู่ที่ฮ่องกง เตรียมตัวไปเที่ยวมาเก๊ากับภรรยาผม ท่านก็ถามว่าน้องอยู่ที่ไหน ผมก็บอกอยู่ฮ่องกงกับภรรยา ท่านก็บอกใกล้ไทยนิดเดียวบินกลับมาเลย กลับมาช่วยชาติหน่อย ซึ่งก็ทราบแล้วครับว่าทานชวนมาเป็นรัฐมนตรี ผมก็ตอบ “ครับ” เลย เพราะรู้ตัวว่าถ้าท่านโทรตามผม แปลว่าท่านสรุปแล้วในใจ และก็ไม่มีสิทธิปฏิเสธ ก็รับโดยที่ไม่คิดว่าอะไรจะเป็นอะไรนะ รู้ว่าสถานการณ์คงไม่ง่าย เพราะคนอยากเป็นรัฐมนตรีเยอะแยะในสถานการณ์ปกติ ดังนั้นเขาเรียกเรา แล้วเราก็ตัดสินใจทันทีโดยที่เราไม่อยู่เมืองไทยและไม่ได้คุยล่วงหน้า ก็คงมีอะไรฉุกเฉิน

ปกป้อง : มองจากวงนอกตอนนั้น ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจไทยว่าอย่างไร แล้วพอมาเจอตัวเลขจริง มาเจอข้อเท็จจริงแล้วประเมินมันใหม่ว่าอย่างไรครับ

คือสิ่งที่เรารู้ชัดเจนในฐานะที่เป็นนายธนาคารอยู่ รู้ว่ามีการถอนเงินออกจากธนาคารทุกสัปดาห์ แม้แต่ธนาคารขนาดเล็กก็ถูกถอนเช่นเดียวกัน แล้วธนาคารแห่งประเทศไทยก็ยังประกาศชัดเจนว่าสถานการณ์ยังสามารถช่วยเหลือ ดูแลได้ กองทุนฟื้นฟูฯ (กองทุนเพื่อการฟื้นฟูพัฒนาระบบสถาบันการเงิน) ยังพร้อมที่จะช่วยดูแล ก็เป็นสถานการณ์ที่มองว่าการถอนเงินและการที่ต่างชาติเรียกร้องเงินคืน รุนแรงมากๆ ตั้งแต่ปลายปี 2539 เป็นต้นมา

ตอนในช่วงที่มีการป้องกันค่าเงินในเดือนมีนาคม และครั้งใหญ่ที่สุดในเดือนพฤษภาคม หลังจากการป้องกันค่าเงินก็มีจัดทานอาหารเย็นร่วมกันทั้ง ดร.อำนวย วีรวรรณ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และนายธนาคารทุกธนาคาร ระหว่างทานข้าว ทาง ดร.อำนวย ก็บอกให้เราทราบว่า ตอนนี้เราป้องกันค่าเงินได้สำเร็จแล้ว จากที่ต่างชาติเข้ามาลุยประเทศไทยนั้น เราก็ได้ช่วยกันป้องกัน และสามารถเอาชนะได้แล้ว แต่ก็มีข้อที่เตือนเราคือ ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งควรจะไม่เข้าไม่สนับสนุนการเก็งกำไร ไม่เข้าไปสนับสนุนการโจมตีค่าเงินบาท แล้วธนาคารแห่งประเทศไทยก็จะพยายามออกระเบียบกำกับดูแลไม่ให้ต่างชาติเข้ามา โจมตีค่าเงินบาทอีกต่อไป ก็คุยกันระหว่างทานข้าว

ปกป้อง : ในวันนั้นรู้สึกเฉลิมฉลองไปกับเขาด้วยหรือไม่ หรือเริ่มเห็นความเสี่ยงบางอย่างจากการปกป้องค่าเงินที่สูญเสียทุนสำรองไปเรื่อยๆ

มีนายธนาคารบางแห่งเริ่มพูดถึงความเป็นห่วงว่า ถ้าธนาคารแห่งประเทศไทยจะใช้นโยบายป้องกันการไหลออกของทุนอย่างรุนแรง เรื่องของการเปิด LC ( Letter of Credit ) ป้องกันไม่ไห้พ่อค้าทำการค้าระหว่างประเทศ ก็จะมีปัญหา ถ้ามีมาตรการรุนแรงเกินไป ก็ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าใจด้วยว่าเศรษฐกิจต้องดำเนินต่อไปด้วยการค้า ระหว่างประเทศเหมือนกัน ก็มีการคุยกันพอสมควรในเรื่องนี้ แสดงว่าความกังวลของนายแบงก์รุ่นใหญ่บางท่านก็เข้าใจ

ผมเองก็มองภาพว่าปัญหาจะรุนแรง แต่เราไม่แน่ใจว่าดีกรีของความรุนแรงนั้นแค่ไหน แต่การที่มีเพื่อนต่างประเทศถามมาอยู่ตลอดเวลา แสดงว่าเขาเองก็มองเห็นปัญหา ประเทศไทยในการต่อสู้ครั้งสุดท้ายในเดือนพฤษภาคมนั้น เป็นการต่อสู้ซึ่งทำให้ต่างชาติกับประเทศไทย อยู่ในจุดซึ่ง dead lock คือในจุดที่ยังคลายกันไม่ออก ซึ่งเราก็ไม่รู้ เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทยไม่มีเปิดเผยข้อมูลซึ่งเป็นความลับการต่อสู้ ค่าเงินครั้งนั้น และยังพูดถึงว่าเรายังสามารถต่อสู้ได้

ปกป้อง : การที่สวมหมวกนายธนาคารที่เป็นวงนอก กับสวมหมวกรัฐมนตรีคลังที่เป็นวงใน พอได้มาเห็นว่าสถานการณ์รุนแรงแค่ไหน ได้เห็นข้อมูลจริง ได้ไปคุยกับแบงก์ชาติยังไง

ต้องเรียนว่าวันพุธ-พฤหัส ผมต้องไปแถลงที่สภาและวุฒิสภา และไปประชุมกับธนาคารแห่งประเทศไทยเย็นวันพฤหัสนั้น

ปกป้อง : เป็นไงครับเห็นข้อมูลแล้วช็อกไหม

ความจริงไม่ได้เห็นอะไรเลย ก็คุยกันกับผู้ว่าฯ คุณชัยวัฒน์ (วิบูลย์สวัสดิ์) คุณศิริ (การเจริญดี) และผม ก็เป็นการประชุมที่เป็นความลับสุดยอด ผมก็ถามสถานการณ์ไปตรงๆ ว่าเป็นอย่างไร ก็ได้รับทราบว่ามีการทำสว็อปค้างอยู่เป็นจำนวนมาก ประมาณ 30,000 กว่าล้านเหรียญ มีเงินสำรองเหลืออีก 25,000 กว่าล้านเหรียญ ในส่วนนี้เป็นสำรองพิมพ์ธนบัตรจำนวน 24,000 ล้านเหรียญ จึงเหลือเงินสำรองที่ใช้ได้จริงๆ แค่ 1,000 กว่าล้านเหรียญ ฉะนั้นคงไม่พอที่จะไปชดเชยในการคลี่คลายฐานะสว็อปที่ไปทำไว้กลับมาได้

ผมฟังแล้วก็รู้ว่าเขาหมดสถานภาพที่จะไปป้องกันค่าเงินอีก ส่วนมาตรการที่เหลืออยู่ ผมก็ถามผู้ว่าฯ ว่าท่านอยากจะใช้วิธีไหน ในตอนนั้นมีอยู่ 2 วิธีที่คุยกัน วิธีแรกคือการลอยตัวค่าเงิน วิธีที่สองคือลอยตัวแบบมีเพดาน โดยลอยตัวครั้งละ 5-10% วันนั้นเป็นวันพฤหัส ท่านผู้ว่าฯ ก็ขอไปคิดอยู่ 2-3 วันเพื่อเตรียมตัว ต่อมาคืนวันเสาร์ท่านก็โทรหาผมว่าได้ประชุมกันแล้ว ก็ตกลงกันว่าต้องลอยตัวค่าเงิน เพราะถึงแม้จะค่อยๆ ขยับเพดาน สุดท้ายก็ไม่มีเงินไปป้องกันเช่นเดิม เพราะไม่รู้ว่าการโจมตีจะไปถึงไหน

ปกป้อง : ในรายงานผลการวิเคราะห์และวินิจฉัยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวิกฤติสถานการณ์ทาง เศรษฐกิจของ ศปร. ( คณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการ เงินของประเทศ) ซึ่งเป็นรายงานอิสระที่เข้ามาสอบสวนสืบสวนเหตุการณ์ที่เกิดวิกฤตินั้น เขียนไว้ตอนหนึ่ง

“ก่อนคุณทนงเข้ารับตำแหน่ง คุณชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในขณะนั้น ได้เรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องในขณะนั้น เรื่องระบบอัตราการแลกเปลี่ยน ซึ่งก็เห็นพ้องกันว่าต้องเปลี่ยนระบบอัตราการแลกเปลี่ยน และเริ่มเตรียมการเปลี่ยนแปลง ในรายงาน ศปร. ข้อ 208 เขียนว่า การประชุมวันนั้นเกิดขึ้น 2 วันก่อนนายทนง พิทยะ จะได้รับโปรดเกล้าฯ ให้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเข้ารับตำแหน่งก็ได้ใช้เวลา 3-4 วันแรกดูแลให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณผ่านสภาผู้แทนราษฎร ไม่ได้มีโอกาสพบปะกับเจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย จนกระทั่งวันที่ 25-26 มิถุนายน ในการประชุมครั้งนั้น ทางธนาคารแห่งประเทศไทยมีผู้ว่าฯ เริงชัย มะระกานนท์ และรองผู้ว่าฯ ชัยวัฒน์ อยู่ด้วย นายทนงได้ขอให้ฝ่ายธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานผลเงินสำรองสุทธิ เมื่อทราบสถานะ นายทนงก็ตัดสินใจในครั้งนั้นเลยว่าจะต้องเปลี่ยนนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ผู้ว่าฯ เริงชัยตอบว่า จะไปหารือกับแบงก์ชาติก่อน อีกประมาณ 1-2 วันก็ตกลงกันว่าจะไปเรียนนายกรัฐมนตรีในเช้าวันที่ 29 มิถุนายน”

ดร.ทนง พิทยะ(ขวา) อาจารย์ปกป้อง จันวิทย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(ซ้าย)

ดร.ทนง พิทยะ(ขวา)อาจารย์ปกป้อง จันวิทย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(ซ้าย)

คืนวันเสาร์คุณเริงชัยก็โทรหาผมว่า จะเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนเป็นลอยตัว ต้องเรียนก่อนว่าวันพฤหัสก่อนไปพบกับธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น ผมได้เห็นข้อมูลการคลังพอสมควร เรื่องการโจมตีค่าเงินนั้นได้มีการเตือนจากทุนสำรองระหว่างประเทศมาแล้ว และหนังสือนั้นก็พูดถึงความไร้เสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนและความอ่อนแอของ สถาบันการเงิน ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่ของประเทศไทย หนังสือนี้ก็ไปถึงคุณอำนวย แล้วก็แทงเรื่องถึงผู้ว่าฯ ธปท. ให้ศึกษาและรายงานให้ท่านทราบว่าควรจะทำอย่างไรต่อไป

วันอาทิตย์หลังจากที่ทราบว่าต้องรับตำแหน่ง ผมไปพบท่านอำนวย ท่านก็ให้การบ้านผมชัดเจนเลยว่าดูแลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน เพราะในตอนนั้นท่านบอกกับผมตรงๆ ว่า ในคณะกรรมการที่ร่วมกันอยู่ 4-5 ท่าน รวมท่านด้วย ท่านเป็นประธาน มีคนหนึ่งเห็นควรที่จะให้รีบเปลี่ยนอัตราแลกเปลี่ยน แต่คนอื่นยังไม่เห็นด้วยนัก คนที่เสนอก็คือ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ท่านปลัดกระทรวงการคลังในตอนนั้น

ปกป้อง : ทำไมวันนั้นท่านไม่ตัดสินใจทำ

ท่านให้เกียรติ ธปท. ท่าน (อำนวย วีวรรณ) แทงเรื่องถึง ธปท. ให้ศึกษาและรายงานให้ท่านทราบตั้งแต่เดือนมีนาคม-พฤษภาคม การที่ตัดสินใจเรื่องระบบอัตราการแลกเปลี่ยน โดยกฎหมายแล้วต้องร่วมกันทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยและรัฐมนตรีคลังร่วมกัน เพราะถ้าธนาคารแห่งประเทศไทยไม่เสนอรัฐมนตรีคลัง รัฐมนตรีคลังก็ไม่สามารถนำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรีได้ ไม่มีอำนาจ เป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทย
และธนาคารแห่งประเทศไทยจะตัดสินใจในการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราการแลกเปลี่ยน องค์กรเดียวก็ไม่ได้ ไม่มีอิสระที่จะทำ ต้องผ่านคณะรัฐมนตรี โดยรัฐมนตรีว่าการะทรวงการคลัง ดังนั้นก็ต้องมีการประชุมกัน เป็นไปได้ที่สิ่งที่ ศปร. บอกจะเป็นจริงตามนั้น แต่ผมไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ด้วย เพราะฉะนั้น จนถึงวันที่ผมไปพบธนาคารแห่งประเทศไทย ยังไม่มีใครบอกว่าจะเปลี่ยนแปลงระบบ

ปกป้อง : เราโดนโจมตีค่าเงินหนักๆ ตอนต้นปีทีหนึ่ง

เราโดนหนักๆ ตั้งแต่ปลายปี 2539 ช่วงพฤศจิกายนครั้งหนึ่ง และเดือนมีนาคมอีกครั้งหนึ่ง ครั้งที่สองนี่หนักขึ้น และเดือนพฤษภาคมหนักที่สุด คือมีการทำสว็อปเกือบ 40,000 ล้านเหรียญ

ปกป้อง : เราโดนกันมาเป็นระลอก ทุนสำรองหายไป เงินไหลออก

เรื่องทุนสำรองเป็นคนละเรื่องกับการทำสว็อปนะครับ การป้องกันค่าเงินเป็นการซื้อขายล่วงหน้าเพื่อลองเชิงว่าใครจะถูก ใครจะผิด ใครจะชนะ ใครจะแพ้ เป็นการพนันกันล่วงหน้าว่าค่าเงินจะอ่อนลงหรือแข็งขึ้น สำหรับเรื่องทุนสำรองหายไป มาจากที่ต่างชาติเริ่มไม่เชื่อถือในเครดิตประเทศไทยในทางเศรษฐกิจ และต้องการหนี้ที่ให้กู้ยืมไปเป็นจำนวนมหาศาลคืน

ณ วันที่ผมเข้ารับตำแหน่ง ประเทศไทยเหลือหนี้ที่ยังไม่ชำระอยู่ถึง 110,000 ล้านเหรียญ ทั้งๆ ที่มีทุนสำรองอยู่ 25,000 กว่าล้านเหรียญ แล้วเป็นทุนสำรองพึงใช้ได้แค่ 1,000 กว่าล้านเหรียญ ลองคิดภาพนะครับ มีทุนสำรองกว่า 110,000 ล้านเหรียญ แต่มีทุนสำรองใช้ชำระหนี้ได้ 1,000 กว่าล้าน นึกภาพว่าถ้าเกิดนักธุรกิจเอาเงินบาทสัก 50,000 ล้านบาท หรือ 100,000 กว่าล้านบาทมาขอแลกเป็นเงินดอลลาร์ เพื่อชำระหนี้ ไม่มีเงินให้เขาจะทำอย่างไร

ปกป้อง : ในสถานการณ์แบบนั้นคุณทนงคิดอย่างไร และเห็นภาพอะไร

ผมนึกไม่ถึงว่าธนาคารแห่งประเทศปล่อยให้สถานการณ์เป็นแบบนี้ได้ยังไง

ปกป้อง : เมื่อได้เข้าไปทำงานจริง ได้สัมผัส ได้ใกล้ชิดกับ ธปท. ได้ใกล้ชิดกับผู้กำหนดนโยบายก่อนหน้าเรา คุณทนงอธิบายได้อย่างไรว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร รอให้มาถึงวันของคุณทนงได้อย่างไร ระหว่างนั้นเกิดอะไร คุณทนงประเมินมันอย่างไร

นี่คือสิ่งที่น่าสนใจ กรณีที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะกรณีของไทย กรณีซับไพร์มในสหรัฐฯ ในกรีซ หรือในสเปน จะเหมือนกันหมด คือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นท่ามกลางความเจริญ เรามีความเจริญทางเศรษฐกิจร้อยละ 8 ต่อปีมาเป็นเกือบ 20 ปีก่อนหน้า นึกภาพดีๆ เราเจริญจากการนำเงินต่างประเทศเข้ามาลงทุน ชักชวนต่างประเทศเข้ามาลงทุน เปิดให้นักธุรกิจไทยกู้ยืมเงินต่างประเทศเข้ามาลงทุน เพื่อสร้างผลผลิตและทำการค้าให้เศรษฐกิจเติบโต แต่เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้ทั้งๆ ที่ผลผลิตไม่มีจริง มันเติบโตได้จากการเก็งกำไร การกู้ยืมเงินเพื่อมาจับจ่ายใช้สอย มันก็เติบโตได้ เราเผาตึกทิ้งแล้วสร้างตึกใหม่เศรษฐกิจก็เติบโต เราทำลายทรัพย์สินที่มีอยู่แล้วสร้างขึ้นมาใหม่เศรษฐกิจก็เติบโต เราปล่อยให้น้ำท่วมแล้วเอาเงินใส่เข้าไปใหม่อีก 300,000 ล้านบาท เศรษฐกิจก็เติบโต แต่เราทำลายทรัพย์สิน ทำลายความสามารถในการผลิต

ช่วง 10 ปีก่อนหน้าวิกฤติเศรษฐกิจ การค้าติดลบมาโดยตลอด และเราไม่เคยคิดจะแก้ไข เราบอกว่าเราจำเป็นต้องกู้ยืมเงินมาเพื่อลงทุน ดังนั้นไม่มีปัญหาอะไร การลงทุนจะสร้างผลผลิตในระยะยาว แต่หลังจาก 10 ปี เศรษฐกิจเติบโตมาดีมากในช่วงนั้น ตั้งแต่ปี 2530 จนถึง 2540 เศรษฐกิจเติบโตปีละ 8-9% แต่เติบโตจากการเก็งกำไรที่ดิน ไม่ได้เติบโตจากการสร้างผลผลิตแบบแท้จริงจากความสามารถในการแข่งขันเลย ทำให้ที่ดินขึ้นราคา จากตลาดหลักทรัพย์ ทำให้คนมีกำไรและสามารถเอาเงินไปจับจ่ายใช้สอยได้มากขึ้น ผู้ผลิตก็ผลิตได้มากขึ้น มันเกิดจากการกู้ยืมเงินเป็นหลัก ไม่ได้เกิดการจากภาคการผลิตว่าภาคการว่าจ้างแรงงานเป็นหลัก หรือไม่ได้เกิดจากสมรรถนะการแข่งขันทางเศรษฐกิจเป็นหลัก สิ่งเหล่านี้จึงสะสมมา

แต่นึกภาพดีๆ ในช่วงนั้นทุกคนมีความสุขความเจริญกับมัน แล้วอยู่ดีๆ รัฐบาลไหนจะกล้าไปบอกว่าเศรษฐกิจรับไม่ไหวแล้ว ภาระหนี้มันไปไม่ไหวแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยเองก็ต้องออกประกาศมาเรื่อยๆ ว่าประเทศไทยยังแข็งแกร่งอยู่ มูดี้ (Moody’s) ให้เครดิตประเทศไทยต่ำลง ทุกคนก็ไปว่ามูดี้ว่าไม่รู้เรื่อง สแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ส (Standard & Poor’s ) ก็ไม่รู้เรื่อง พวกเราคนไทยเก่งจะตาย

นั่นคือความลืมตัว และความลืมตัวนี้ก็เกิดขึ้นกับทุกจุดที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ อย่างปัญหาซับไพรม์ในสหรัฐฯ คนก็ลืมตัวไปปั่นในตลาดหลักทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ กรีซคนก็ลืมตัว กู้เงินเพื่อจะสร้างทุกอย่างที่ขวางหน้า เป็นประชานิยม ในสเปน ในโปรตุเกส คนก็ลืมตัว พอเข้าไปในอียูทุกคนคิดว่าเขาเริ่มเป็นประเทศที่มีเครดิต

การลืมตัวโดยไม่มองภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง กับความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ เป็นสิ่งที่ทำลายตัวเราเองและไม่มีใครสามารถจะทำมันได้ ไม่มีใครจะไปสามารถไปแก้ตอนที่ไม่มีปัญหาได้ ฉะนั้น แม้แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยเองก็ไม่กล้าที่จะบอกใครว่าประเทศไทยแย่แล้ว

ปกป้อง : ไม่ใช่เพราะเราไม่รู้ แต่เราไม่กล้า

ใช่ นักการเมืองไม่กล้าหรอก ต้องคิดสิว่าทำไมท่านอำนวยลาออก

ปกป้อง : แล้วทำไมคุณทนงกล้ารับตำแหน่ง กล้าลอยตัว

เพราะผมไม่ใช่นักการเมือง ผมไม่ใช่นักการเมืองเลย และไม่เคยเป็นนักการเมือง ผมไม่เคยเป็นสมาชิกพรรคการเมือง

ปกป้อง : ที่กล้าลอยตัวค่าเงินบาท เพราะกล้าหรือไม่มีทางเลือกแล้ว

ผมเชื่อว่าในท้ายที่สุดชาติต้องการเรา และก็เป็นกรรมของเราที่ต้องรับตำแหน่งนี้ และก็เป็นบุญเป็นวาสนาที่ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง และได้ทำในสิ่งที่รัฐมนตรีธรรมดาคงไม่กล้าทำ เพราะจะเกิดความเสียหายแก่พรรคนั้นอย่างรุนแรงแน่ๆ และก็เกิดจริงๆ

ปกป้อง : ณ วันนั้น ถ้าเป็นคนอื่นจะทำอย่างที่คุณทนงตัดสินใจไหม

ผมไม่แน่ใจ ผมไม่รู้ ผมรู้แต่ว่า ได้ทราบเปรยๆ ว่าคนอื่น บางคนไม่ยอมรับตำแหน่งนี้ ผมไม่รู้จริงๆ เพราะผมไม่อยู่เมืองไทย พอท่านอำนวยลาออก ผมไม่รู้เรื่อง ผมเตรียมเดินทางไปเที่ยวมาเก๊า ในชีวิตไม่เคยไปสักทีหนึ่ง ก็เลยซื้อทัวร์ด้วยซ้ำ เตรียมตัวไป ก็ไม่ได้คิดอะไรเลยในชีวิต ในเมื่อท่านต้องการให้เราไปรับใช้ชาติ เราก็ไปรับใช้ชาติ

ก่อนวันที่จะประกาศเงินลอยตัวค่าเงิน ผมก็คุยกับภรรยาว่า “ผมไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับชีวิตและครอบครัวเรา”

เพราะการลอยตัวค่าเงิน ทำให้คนได้ คนเสีย คนที่เป็นหนี้เงินต่างประเทศเขาเสียหายแน่ คนที่เป็นผู้ส่งออกเขากำไรแน่ เกษตรดีขึ้นแน่ แต่คนที่รวยขึ้นเขาไม่มาเดินขบวนสนับสนุนเรา แต่คนที่แย่ลงและคนที่เสียหาย เขาอาจจะประณามเรา ด่าเรา ทุกวันนี้ก็ยังมี คนเขามองภาพว่าผมคงจะรวยเป็นพันๆ ล้าน เพราะรู้ตัวว่าจะลอยตัวค่าเงิน แล้วเขาเองก็เสียหาย หลายๆ คนก็ยังมองภาพนี้อยู่ ก็โชคดีที่นักธุรกิจส่วนใหญ่เข้าใจ ก็ถือว่าผมเป็นผู้โชคที่ไม่เกิดปัญหาอะไรกับผม

ผมจำได้ สมัยนายกเปรม (ติณสูลานนท์) ที่ท่านสุธี สิงห์เสน่ห์ เป็นรัฐมนตรีคลัง ก็เคยประกาศลดค่าเงินเปลี่ยนจาก 23 บาทต่อดอลลาร์ เป็น 27 บาทต่อดอลลาร์ ตอนนั้นท่านต้องหนีไปอยู่ญี่ปุ่นตั้งเดือนหนึ่ง เพราะมีเหตุการณ์ทหารตบเท้า และมีนักธุรกิจกลุ่มหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการลอยตัวค่าเงิน เพราะเขาจะเสียหายแน่ ผมก็จำเหตุการณ์นั้นได้ ผมก็เลยบอกภรรยาผมว่า “ผมไม่รู้นะว่าอะไรจะเกิด แต่เราต้องทำ เราก็ต้องทำ”

ปกป้อง : ลังเล สงสัยสักนิดไหมครับว่าจะทำดีหรือไม่ทำดี

ไม่เคยเลย วันที่คุยกับผู้ว่าฯ วันพฤหัสเย็น ผมบอกท่านผู้ว่าฯ เลยว่าท่านจะเอาวิธีลอยตัวหรือเอาวิธีตั้งเพดาน

ปกป้อง : วันนั้นใจคุณทนงคิดว่าจะเอาวิธีไหน

ณ วันนั้นผมคิดว่าวิธีที่ดีที่สุดคือลอยตัว เพราะไม่เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีเงินสำรองหรือจะไปขอเครดิตจากที่ ไหนได้ แต่ก็ต้องให้เกียรติแบงก์ชาติเขา เราไม่มีหน้าที่ไปเสนอแนะ การเสนอแนะเป็นหน้าที่ของแบงก์ชาติ และเรามีหน้าที่เอาข้อเสนอแนะนั้นที่เราเห็นด้วยเข้า ครม. ผมก็ต้องปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรี

ปกป้อง : คุณเริงชัยโทรมาบอกก็สบายใจ

คืนวันเสาร์โทรมาบอกผม และเช้าวันอาทิตย์เราก็ไปรายงานนายกรัฐมนตรีว่ากำลังเตรียมตัว กำลังศึกษา

ปกป้อง : ตอนไปคุยกับท่านชวลิต ไปคุยอะไรครับ ท่านแปลกใจอะไรไหม หรือรู้อยู่แล้วมาต้องมาทางนี้ครับ

จริงๆ ที่ไปพบท่านตอนนั้น เป็นเพราะว่าตอนเย็นท่านต้องไปออกทีวี สรุปผลงานช่วงครึ่งปีของท่านเมื่อวันอาทิตย์ที่ 29 มิถุนายน 2540 จึงกำลังเตรียมพูดอยู่ ท่านเริงชัยกับผมก็เข้าไปรายงานภาวะเศรษฐกิจ ก็ได้เปรยกันว่าเรากำลังศึกษาอยู่

ปกป้อง : ท่านแปลกใจไหมครับ

ท่านก็ไม่แปลกใจ เพราะสมัยท่านอำนวยก็คงมีการคุยกันพอสมควรแล้ว เพราะผมไม่เชื่อว่าเรื่องการโจมตีค่าเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยจะไม่รายงานรัฐมนตรีคลังหรือนายกฯ ให้ทราบเลย แต่ก็ไม่รู้ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร แต่เชื่อว่าท่านคงได้รับทราบปัญหาพอสมควรมาโดยตลอด

ปกป้อง : เมื่อท่านทราบจากคุณทนง ท่านบอกคุณทนงว่าอย่างไรครับ

ผมก็ยังไม่ได้บอกชัดเจนว่าจะลอยตัวยังไงเมื่อไหร่ พูดเพียงแต่ว่าคงจะหนีไม่พ้นและก็กำลังเตรียมตัวกับธนาคารแห่งประเทศไทย ก็มีการคุยกัน ผมจำไม่ได้ว่าอยู่ในห้องท่านหรืออยู่นอกห้อง แต่คุยกับคุณเริงชัยว่าจะใช้วันไหนดี เพราะว่าเราพยายามทำให้เร็วที่สุด

ปกป้อง : ท่าน (พลเอกชวลิต) อยู่ด้วยไหมครับ

จำไม่ได้ครับ เพราะท่านจะมีแขกเข้าออก เนื่องจากต้องเตรียมตัวคุยเรื่องเศรษฐกิจคืนนั้น ท่านเคยถามคุณเริงชัยว่าจะให้คุยอย่างไรเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ท่านเริงชัยก็บอกว่าเป็นเรื่องเดียวที่นายกรัฐมนตรีต้องบอกว่ายังไม่มีการ ลอยตัว ต้องพูดในเชิงว่ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราการแลกเปลี่ยน ท่านก็พูดออกทีวีในคืนวันนั้นแบบนั้น

ปกป้อง : บอกว่ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในวันนั้น แต่วันหน้า

ครับ แต่ท่านก็ไม่ได้พูดอะไรในรายละเอียด ผมก็ไม่แน่ใจเพราะผมได้ดูทีวี แต่เราคุยกันกับคุณเริงชัยว่า จะทำให้เร็วที่สุดได้เมื่อไร นี่คือรายละเอียดแล้ว ปรากฏว่าวันอาทิตย์คือวันที่ 29 มิถุนายน วันที่จะลอยตัวได้เร็วที่สุดคือวันที่ 30 วันจันทร์ เพราะแบงก์ชาติได้เตรียมมาพอสมควรก็ทำได้

ปกป้อง : แต่ทำไมถึงเป็นวันที่ 2 กรกฎาคมครับ

นี่คือเหตุผล เราก็บอกว่าถ้าวันจันทร์ลอยตัวเลย ท่านผู้ว่าฯ คิดอย่างไร ท่านก็บอกว่ามันจะมีปัญหากับธนาคารพาณิชย์ เพราะอัตราการแลกเปลี่ยนจะขยับไปทันที เสร็จแล้วธนาคารจะปิดบัญชีแบบขาดทุน ก็ต้องเกิดปัญหาตามมาอีกเยอะ จะทำให้ระบบธนาคารพาณิชย์ไม่น่าเชื่อถือ เพราะฉะนั้นท่านอยากให้มีการปิดบัญชีให้เรียบร้อยก่อน ก็คือปิดบัญชีวันที่ 30 มิถุนายน แล้ววันที่ 1 กรกฎาคมเป็นวันหยุดธนาคารซึ่งเราทำอะไรไม่ได้ เราเลยวางแผนเลือกวันที่ 2 ซึ่งเป็นวันอังคาร แล้วทุกคนก็ไปอยู่ฮ่องกง

ปกป้อง : ทำไมต้องไปฮ่องกง

วันที่ 1 เป็นวันอังคาร ก็มีการประชุม ครม. แล้วที่ฮ่องกงก็จะมีการส่งมอบคืนให้แก่จีน ในวันที่ 2 มีประชุม ครม. พอเสร็จจากประชุม ครม. ผมจำได้ท่านศิริก็เอาจดหมายมาให้ผมเพื่อส่งให้นายกรัฐมนตรีเซ็น

ปกป้อง : พลเอกชวลิตรู้ทีหลัง?

ผมขอเชิญท่านตอนบ่าย มาที่ห้องเลย และบอกว่า ท่านครับ ผมจะทำกันพรุ่งนี้

ปกป้อง : ทำไมในทางปฏิบัติ คนเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้ร่วมตัดสินใจว่าจะเอาวันไหนตั้งแต่ต้น

ผมว่าเป็นความรับผิดชอบของรัฐมนตรีคลังในฐานะเป็นผู้รักษาการ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย แล้วก็มันเป็นความลับสุดยอด จะไปบอกใครล่วงหน้ามากไม่ได้ ท่านนายกฯ ไม่ถามเราก็ไม่พูดว่าเมื่อไร แต่ถ้าท่านถามผมก็ต้องตอบ

ปกป้อง : คนที่รู้เรื่องลับสุดยอดนี้มีใครบ้างครับ ในตอนนั้น

ทนง : ก็มีธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ไม่รู้มีใครทราบบ้าง แล้วก็ผม ฉะนั้น วันนั้นอังคารบ่าย เมื่อผมได้รับจดหมาย ก็เชิญท่านนายกรัฐมนตรีมาที่ห้องเล็กๆ ข้างห้องประชุม ครม. ว่าท่านครับ กรุณาเซ็น พูดง่ายๆ คือจับมือท่านเซ็น

ปกป้อง : คุณทนงบอกว่าคุณไม่ใช่นักการเมืองเลยกล้าตัดสินใจ พลเอกชวลิตเป็นนักการเมือง คิดบ้างไหมว่าพลเอกชวลิตไม่เอาด้วย

ท่านก็ถามผมว่า เอาจริงหรือน้อง

ปกป้อง : ตอบพี่ว่ายังไงครับตอนนั้น

ผมก็เล่าให้ฟังว่ามันอยู่ไม่ได้ท่าน ผมเชื่อว่าท่านรู้ข้อมูลพอสมควร

ปกป้อง : มีลังเลสงสัยไหมครับ

ไม่เลย ท่านก็เซ็น เพราะผมบอกผมต้องรับผิดชอบ ก็ต้องพยายามปกป้องท่านนายกรัฐมนตรีอย่างเต็มที่อยู่แล้ว เพราะท่านเป็นผู้ที่บริหารประเทศ เราเป็นผู้บริหารเศรษฐกิจเราก็ต้องรับผิดชอบ ก็เป็นสปิริตที่เราต้องทำ นั่นคือสิ่งที่เตรียมให้ท่านบ่ายวันอังคารนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยมาผมก็เอาไปให้เซ็นต่อหน้าคุณศิริ

ปกป้อง : ในรายงานของ ศปร. เขียนว่า ในตอนที่ไปพบท่านนายกรัฐมนตรี ในเช้าวันที่ 29 มิถุนายน ไม่ได้มีแค่ 3 ท่าน นอกจากคุณทนง คุณเริงชัย และคุณชวลิต ก็มีคุณโภคิน พลกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมด้วย ทำไมถึงมีคุณโภคินด้วยครับ

ท่านโภคินต้องไปเตรียมงาน เพราะท่านเป็นคนร่างแถลงการณ์ของนายกฯ ตอนนั้น คุณกร ทัพพะรังสี ก็ไป ก็มีหลายคนครับ ตอนที่ท่านเริงชัยอยู่กับผม คุณโภคินก็อยู่ด้วย

ปกป้อง : เราก็ได้ยินเสียงสื่อมวลชนบ้างใช่ไหมครับ ที่วิพากษ์จารณ์ หลายคนคงเคยถามคุณทนง ผมอยากจะบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์อีกทีว่า จากตอนที่บอกว่าลอยตัวค่าเงินแน่ๆ จนถึงวันลอยตัวจริง มีช่วงเวลาห่างพอสมควร มีคนรู้ข้อมูลเชิงลึกก่อนไหม

ผมคิดว่าก็ต้องให้เกียรติท่านนายกรัฐมนตรี ท่านโภคินในฐานะรัฐมนตรี ถ้าไม่ให้เกียรติเลยผมก็ไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร แล้วผมไม่ได้เป็นคนเกริ่นปัญหานี้ ท่านเริงชัยเป็นคนเข้าไปคุยปัญหานี้ ในเมื่อท่านโภคินอยู่ด้วยท่านก็ต้องเข้าใจว่าจรรยาบรรณของนักการเมืองที่ ต้องดูแลประเทศชาติควรจะเป็นอย่างไร ก็เชื่อว่าไม่น่าจะเกิดขึ้น

ปกป้อง : ได้ยินข่าวไหมครับว่ามีนักการเมือง นักธุรกิจร่วมอยู่ด้วย

ในสภาก็มี ผมบอกตรงๆ นะครับ ว่าคนที่พูดถึงสิ่งเหล่านี้ส่วนมากเป็นเรื่องของการเมือง เป็นนักการเมืองที่พยายามทำร้ายนักการเมืองด้วยกัน เป็นการสู้กันทางการเมือง ที่ผมเรียนแบบนั้นเพราะว่าระหว่างวันอาทิตย์-พุธนั้น ตลาดมันวายไปหมดแล้ว

ผมถามคำถามง่ายๆ ใครจะยอมโง่ที่จะไปเสียค่าโง่ ทุกคนรู้ว่าเงินบาทจะอยู่ไม่ได้ ใครจะไปสู้ อีกด้านหนึ่ง แบงก์ชาติก็ไม่มีปัญญาไปสู้แล้ว หมดเงินไปนานแล้ว ผมเลยถามว่าคนที่มาพูดคิดว่าใครยอมขาดทุนเพื่อจะให้คนอื่นไปทำกำไร ถ้ารู้นะครับ นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้น

หลังจากลอยตัวค่าเงิน 2 สัปดาห์ เราก็ตรวจสอบกลับย้อนหลังไปยังทุกธนาคาร ว่ามีการถอนเงินเป็นกรณีพิเศษเพื่อไปเล่นค่าเงินไหม มันก็ไม่มี ในใจผมเอง ถึงแม้นักการเงินจะรู้ก็ไม่มีตลาดให้คุณเล่นแล้ว ใครจะมายอมขาดทุน คิดว่าต่างชาติเขาโง่กว่าเราหรือ คิดว่าคนไทยมีปัญญาเอาเงินเป็นพันๆ ล้านภายใน 3-4 วันแล้วก็มีคนมารับแทงเพื่อยอมขาดทุนหรือ ผมนึกไม่ออก ใครที่ขาดทุนคนนั้นควรจะมายิงผมทิ้งใช่ไหม ไม่มีหรอกครับในแง่ปฏิบัตินะครับ

ส่วนในแง่ทฤษฎี รู้ล่วงหน้าแค่ 1 ชั่วโมงคนก็ว่าได้ มันไม่มีอะไรที่จะตอบสังคมได้มากไปกว่านี้ แต่ในแง่ปฏิบัติมันไม่มีตลาดแบงก์ชาติก็รู้ เราก็รู้ แต่นักการเมืองไม่รู้ (หัวเราะ) นักการเมืองก็เลยกล่าวหากันไปกล่าวหากันมา

ปกป้อง : ในสถานการณ์วันนั้น ทำไมไม่ทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนกันเป็นส่วนใหญ่

มันไม่มีตลาด ตลาดมันวายไปหมดแล้ว ใครจะกล้าไปทำ ความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน สมมติถ้าต้องจ่าย 1 ดอลลาร์เท่ากับ 5บาทแล้วใครจะกล้ารับด้วย ตลาดที่จะรับอยู่ที่ไหน ตอนนั้นมัน dead lock เหมือนไก่ที่กัดจนทุกฝ่ายงงแล้วพักเหนื่อย กว่าจะเริ่มยกใหม่ ผมอยู่ในช่วงนั้น คือช่วงที่ทุกคนรอว่าจะเกิดอะไรขึ้น จะเป็นอย่างไรต่อไป แต่ต่างชาติไม่หยุดที่จะทวงหนี้คืน นั่นคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วเราก็ไม่มีเงินที่จะไปจ่ายคืน เราจะเบี้ยวหนี้หรือ บางคนก็เสนอให้ชักดาบ

แต่ถ้าชักดาบ เราก็จะเป็นแบบละตินอเมริกา 20 ปียังไม่ฟื้นเลย ถึงเวลามันไม่มีปัญญา แล้วก็จะโดนฮุบธุรกิจหมด เพราะต่างชาติเขาใหญ่กว่าเราเยอะ อย่างยุโรปหรืออเมริกาที่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของเรา ก็จะมาบีบเราว่าต้องขายกิการ ขายรัฐวิสาหกิจ ขายการบินไทย แล้วเรายอมได้ไหม ในที่สุดเราก็ต้องวิ่งไปหาที่พึ่งแหล่งสุดท้าย หรือองค์กรที่จะช่วยเราได้ คือกองทุนเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ถามว่าเราชอบไหม เราไม่ชอบ

ทำไมเราต้องวิ่งไปจีน ไปญี่ปุ่น เพราะเราไม่อยากเข้าองค์กรการเงินระหว่างประเทศ เพราะว่าเขาจะยื่นเงื่อนไขซึ่งโหดมากสำหรับเรา เหมือนสมัยพลเอกเปรม เขาก็ยื่นเงื่อนไขให้เรารัดเข็มขัด แต่ตอนนั้นมันทำได้เพราะหนี้ต่างประเทศทั้งหมดเป็นของรัฐบาล แต่ตอนนี้หนี้ต่างชาติเกือบทั้งหมดเป็นของภาคเอกชน มันตรงกันข้ามสิ้นดีเลย เพราะเราไปเปิดนโยบายให้นำเงินกู้จากต่างชาติเข้ามาได้อย่างเสรี ตรงนี้คือความแตกต่าง แล้วพอเครดิตเราหมด ถ้าเราไม่วิ่งหาแหล่งเงินมาเพื่อเสริมเครดิตเรา เราจะทำอย่างไร

ทำไมถึงลอยตัววันที่ 2 กรกฎาคม อย่างที่เรียนว่ามันเร็วที่สุดแล้ว ผมสามารถประวิงไปถึงจนกระทั่งกองทุนสำรองระหว่างประเทศทำสัญญาเสร็จแล้วก็ ได้ จนตกลงกันเรียบร้อยแล้วก็ได้ จนรอให้มีแหล่งเงินมาช่วยก่อนก็ได้ ผมประวิงได้ แต่คนก็จะมองว่ารัฐมนตรีคลังยังไม่ทำ ปัญหาคือเราทำไปเรายิ่งถูกกล่าวหา ตรงนั้นแหละเป็นสิ่งที่ผมมองว่าทำให้เร็วที่สุด

และคำว่าเร็วที่สุดเป็นคำถามที่ถามแบงก์ชาติว่าเร็วที่สุดได้วันที่ เท่าไร ถ้าเร็วที่สุดในวันที่ 30 มิถุนายน แบงก์ก็พัง จะเจ๊งไปอีกเยอะ ระบบการเงินอาจจะพังทั้งหมดได้ ผมก็ต้องเข้าใจธนาคารแห่งประเทศไทยที่มีแผนแบบนั้น เพราะฉะนั้น เร็วที่สุดเมื่อไหร่ วันที่ 1 วันอังคารเป็นวันหยุดธนาคาร วันที่ 2 คือเร็วสุดแล้วใช่ไหม ใช่ เราก็ทำวันที่ 2 กรกฎาคม

ปกป้อง : ชีวิตในเช้าวันที่ 2 กรกฎาคมของทนง พิทยะ เป็นอย่างไรครับ

ก็ต้องทำใจ ผมเป็นคนที่พึ่งธรรมะ แล้วก็มองว่าอะไรที่ผมทำแล้วถูกต้องกับประเทศชาติ ผมไม่เสียใจและไม่คิดอะไรมากไปกว่านั้น

ปกป้อง : ผ่านไป 1 วันสถานการณ์เป็นอย่างไร ดีกว่า แย่กว่า หรือเป็นอย่างที่คิด

เราก็ต้องเตรียมแก้ไขปัญหา จากวันที่ 2 กรกฎาคม เราก็ต้องเตรียมแก้ไขวิกฤติของประเทศเรา ไม่เคยหยุดนิ่งเลย ในเวลา 4 เดือน 5 วันที่ผมเป็นรัฐมนตรีคลัง จนกระทั่งวันที่ผมได้เงินไอเอ็มเอฟเรียบร้อย ไม่มีวันหยุดนิ่งเลย เพราะว่าการเกิดปัญหาเครดิตประเทศแย่ลง ค่าเงินเริ่มเปลี่ยนแปลงหลังลอยตัว แล้วไอเอ็มเอฟก็เริ่มเสนอตัวเข้ามา ธนาคารแห่งประเทศไทยกับไอเอ็มเอฟและกระทรวงการคลังเริ่มมีการเจรจากัน ตั้งแต่ผมเริ่มลอยตัวค่าเงินเขาก็รีบส่งทีมเข้ามาเลย และก็มีโทรศัพท์จากรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ โทรมาบอกว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวไอเอ็มเอฟจะช่วย ผมก็ชื่นชมในการตัดสินใจของท่าน ผมก็ขอบคุณ และจริงๆ แล้วไอเอ็มเอฟกับธนาคารแห่งประเทศไทยเขาได้คุยกันมาพอสมควร

ปกป้อง : เราเข้าไอเอ็มเอฟ สิงหาคม 2544

มันใช้เวลา มันไม่น่าเชื่อ เพราะว่ากว่าที่เราจะเริ่มทำอะไรได้นอกเหนือจากการลอยตัวค่าเงิน ไอเอ็มเอฟต้องการให้เราดูแลสถาบันการเงินอย่างเข้มงวด ตั้งแต่ก่อนหน้านั้นย้อนหลังไปขอเรียนก่อนว่าสถาบันการเงินอ่อนขนาดไหน ณ เดือนเมษายน ท่านอำนวย วีรวรรณ กับธนาคารแห่งประเทศไทย ได้สั่ง 16 สถาบันการเงินเพิ่มทุนให้ได้ ให้มีแผนการเพิ่มทุนมาเสนอธนาคารแห่งประเทศไทย

ณ วันที่ผมเข้าไป ได้มีการถกกันระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยกับไอเอ็มเอฟ ในที่สุดข้อเสนอมาคือ เราจำเป็นจะต้องระงับการถอนเงินฝาก เพราะเงินฝากเริ่มไหลออกสัปดาห์ละ 20,000 ล้านบาท พูดง่ายๆ ว่าสถาบันการเงินทั้ง 50 กว่าแห่งนั้นมีคนถอนเงินออกอาทิตย์ละ 20,000 ล้านบาท ย้ายไปฝากที่แบงก์ใหญ่ ธนาคารขนาดเล็กก็ถูกถอดออกเช่นกัน

นึกภาพดีๆ นะครับ การไหลออกของเงินฝากสัปดาห์ละ 20,000 ล้านบาทจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง จะทำยังไงดี ผมคุยกับธนาคารพาณิชย์ทั้งหมดและธนาคารแห่งประเทศไทยว่าเงินไม่ได้ไปไหน แค่ออกจากสถาบันการเงินที่เล็กไปสู่สถาบันการเงินที่ใหญ่ เราจำเป็นต้องรีไซเคิลปรับสถาบันการเงินที่เล็กให้เขาอยู่ได้ ปรากฏว่าการรีไซเคิลกลายเป็นต้นทุนมหาศาลสำหรับธนาคารขนาดเล็ก เพราะมีการคิดดอกเบี้ยกัน สถาบันการเงินขนาดเล็กซึ่งแย่อยู่แล้วก็ถูกถอดออกไปอีก ไหลเข้ามาก็ออกไปอีก

นี่เป็นสิ่งที่ผิดพลาด แต่เป็นเรื่องที่ธนาคารแห่งประเทศเขาทำ

ปกป้อง : วันนั้นคุณทนงตัดสินใจหยุดวงจรนี้อย่างไร

ผมก็หยุดวงจรนี้โดย 1. หยุดการถอนเงินฝาก 2. ประกาศคุ้มครองเงินฝากของผู้ฝาก หลังจากนั้นเราก็มาหามาตรการว่าสถาบันการเงินทั้งหมดต้องทำยังไง เราระงับชั่วคราวการถอนเงินฝากและเข้าไปดูแลลูกค้าสินเชื่อ แล้วเราก็เรียกสถาบันการเงินทั้งหมดมาประชุมแล้วบอกว่าคุณควรจะร่วมกัน อันนั้นแนวทางของไอเอ็มเอฟเริ่มมาแล้วนะครับ โดยตอนนั้นเรามีทรัพย์สินที่ไม่ก่อรายได้ ที่เรียกว่า NPL ก็ให้เอาออกมาให้หมด ส่วนทรัพย์สินที่ดีอยู่ให้ดูแลต่อไป แล้วให้เอาสถาบันการเงินทั้งหมดเอาทุนมารวมกัน หรือเอาทรัพย์สินที่ดีมารวมกัน แล้วผมจะออกใบอนุญาตธนาคารให้ใหม่ ก็เป็น Good Bank กับ Bad Bank เพราะเราจำเป็นต้องออกกฎหมายเพื่อดูแลทรัพย์สินที่เสียหาย

ต้องเข้าใจว่าช่วงนั้นมันมีความเกี่ยวข้องกับกองทุนฟื้นฟูฯ เพราะ ตอนที่ผมเข้าไปกองทุนฟื้นฟูฯ เริ่มให้เงินเข้าไปช่วยสถาบันการเงินหลายแสนล้าน ที่ถูกถอนเงินไปก็ประมาณ 400,000-500,000 ล้านบาทแล้ว ในที่สุดก็หมดแรงที่จะช่วย พอช่วยไม่ได้เงินก็ถูกถอนออกจนกระทั่งสถาบันการเงินแห้งตาย แล้วสินเชื่อเองก็ไม่มีเงินไปหมุนให้เขา สินเชื่อเองก็จะตายไปด้วยเพราะสินเชื่อก็ต้องการเงินทุนหมุนเวียน เมื่อไม่มีเงินทุนหมุนเวียนแต่ละธนาคารก็ต่างหวงเงิน ไม่ยอมปล่อยสินเชื่อเงินหมุนเวียนให้ใคร กลัวที่จะถูกแอบเอาเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ทุกคนกลัวไปหมด สิ่งเหล่านี้ก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ที่ชุลมุนมากๆ เราจึงประกาศหยุดกิจการชั่วคราวกว่า 50 สถาบัน

ปกป้อง : 27 มิถุนายน 2540 ที่คุณทนงใช้คำว่าสั่งระงับถอนเงินฝากชั่วคราว 16 สถาบันการเงิน และประกาศคุ้มครองเงินฝากไปด้วย อีกช่วงหนึ่งคือ 5 สิงหาคม 2540 ที่ประกาศระงับการถอนเงินฝากอีก 42 สถาบันการเงิน แล้วอัดฉีดเงินเข้าระบบกองทุนพัฒนาและฟื้นฟูสถาบันการเงิน

ครับ และก็พยายามให้เขาแยก Good Bank กับ Bad Bank ให้ได้ ซึ่งตรงนั้นเป็นจุดที่ต้องพยายามทำ และเริ่มออกกฎหมายเกี่ยวกับ บสท. (บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย) บบส. (บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน) เป็นต้น กฎหมายที่ออกมาเพื่อช่วยดูแล Bad Bank หรือทรัพย์สินที่ไม่ดี ก็มีกฎหมายที่ว่าด้วยการจัดตั้ง บสท. การแต่งตั้งคณะกรรมการ ปรส. (องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน) และการตั้ง บบส. เพื่อมาดูแลสินทรัพย์ที่ไม่ดี

ปกป้อง : วันนี้เมื่อย้อนกลับไปดูเหตุการณณ์ในอดีต คิดว่าแนวทางการแก้ปัญหาระบบสถาบันการเงิน ณ วันนั้น อะไรที่ทำถูก อะไรที่ทำผิด หรือว่าอะไรจะไม่ทำถ้าหากกลับไปได้

ผมย้อนลับไปดูแล้ว ผมว่าเป็นมาตรการซึ่งเหมาะสมที่สุดในขณะนั้น เพราะธนาคารใหญ่เขาไม่ร่วมมือกับเรา ผมบอกง่ายๆ เลย คือ ถ้ามีการรีไซเคิลแบบไม่ต้องมีต้นทุนมาก คือเงินจากตรงไหนย้ายไปตรงไหน ที่ไหนเพิ่มแล้วลดแล้วเอากลับมาโปะกัน สถาบันการเงินก็ไม่มีปัญหาอะไรครับ ถูกต้องไหมครับ เพราะเงินบาทอยู่ในนั้น แต่พอมันไม่เป็นอย่างนั้นก็ต้องมีค่าใช้จ่าย คนก็ยิ่งถอนเงินกันใหญ่ แล้วยิ่งเกิดข่าวลือธนาคารขนาดเล็กก็ไปด้วย

ผมว่าตรงนั้นก็เป็นจุดที่ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่สามารถดูแลโลกธนาคารด้วยอำนาจที่เด็ดขาดได้ เพราะเป็นระบบเสรี เป็นระบบเอกชน

ปกป้อง : แล้วมีมาตรการอื่นๆ ที่ทำให้ธนาคารใหญ่ร่วมมือในสถานการณ์วิกฤติตอนนั้นไหม

ไม่มีเลย ผมก็เสียใจ เพราะผมเป็นแค่นายแบงก์เล็ก และก็ได้คุยกันหลายครั้งแต่ทุกคนก็เงียบ

ปกป้อง : คุณทนงเป็นนายแบงก์มาก่อน จะอธิบายมันอย่างไร ว่ามันเป็นปัญหาอะไรของระบบสถาบันการเงิน

ผมว่าเป็นทุกที่ทุกประเทศ ในเมื่อเราอยู่ในระบบตลาดการเงินเสรี ปลาใหญ่ก็ต้องกินปลาเล็ก มันเป็นระบบการเงินเสรี สถาบันการเงินขนาดเล็กก็ต้องไปก่อนเมื่อเกิดวิกฤติ ไม่ว่าจะที่สหรัฐ ยุโรป สเปน และที่กรีซ สถาบันการเงินขนาดเล็กทั้งนั้นที่ถูกถอนออกไปก่อน ฉะนั้นมันเป็นเรื่องของตลาดการเงินเสรี ตราบเท่าที่เราอยู่ในตลาดเสรีเราก็ทำอะไรไม่ได้ เราไม่เหมือนจีนที่เป็นตลาดสังคมนิยม ถึงแม้จะมีตลาดการเงินแบบที่เปิดเสรีพอสมควร แต่ว่าเขามีมาตรการชัดเจน เช่นเรื่องการสำรอง เขาออกระเบียบได้ทุกอันตามที่เขาเห็นว่าสมควร เขาหยุดยั้งการที่จะเกิดวิกฤติได้ แต่ก็เกิดผลกระทบทางอื่น ความน่าเชื่อถือ ก็เกิดขึ้นมา

ปกป้อง : วิกฤติไหนยากกว่ากันระหว่างค่าเงินบาทกับวิกฤติสถาบันการเงิน

วิกฤติสถาบันการเงินยากกว่าเยอะ

ปกป้อง : ยากตรงไหนครับ

ผมยกตัวอย่างง่ายๆ วิกฤติค่าเงินบาท พอลอยตัวเสร็จทุกอย่างมันถูกลง ส่งออกเพิ่มขึ้น ปีแรกเรากำไรมาทันที 14,000 ล้านเหรียญ ปีที่ 12,000 ล้านเหรียญ ปีที่ 30,000 ล้านเหรียญ 3 ปี 30 กว่าพันล้านเหรียญ ในสมัยคุณธารินทร์ ท่านจึงคุยได้เลยว่าเศรษฐกิจกลับมาแล้ว แต่จริงๆ มันเกิดจากที่ค่าเงินบาทมันถูก

คุณทักษิณ (ชินวัตร) ก็บอกว่าอีก 5 ปีจะใช้หนี้หมดแล้ว ท่านก็คุยได้ แต่จริงๆ แล้วเกิดจากลอยตัวค่าเงิน ทำให้สินค้ามีความสามารถในการแข่งขันเพราะถูกลง แต่ยังไม่ใช่ความสามารถทางการแข่งขันที่แท้จริง แต่อย่างน้อยที่สุดการทำให้ราคาสินค้าถูกในระยะหนึ่งนั้น การที่ค่าเงินบาทต่ำลงมาถึง 40 กว่าบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ทุกคนอยากมาเที่ยวเมืองไทย เพราะราคาถูก ตรงนี้จึงทำให้เรากลับมาเร็วมาก เพราะการลอยค่าเงินช่วยเศรษฐกิจได้เร็วมาก

ปกป้อง : แล้วหันมาดูวิกฤติสถาบันการเงิน

ปัญหาสถาบันการเงินต้องเข้าใจว่ามันเกี่ยวพันกันมาก เราดูสถาบันการเงินอย่างบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ สินเชื่อที่ปล่อยมีอยู่ 3 อย่าง คือ ขายลดเช็ค ปล่อยอสังหาริมทรัพย์ และปล่อยเล่นหุ้น มีแค่ 3 อย่างจริงๆ ปล่อยตั้งกว่า 90% อย่างอื่นไม่ปล่อย เพราะเขาไม่มีอำนาจปล่อย L/C ( Letter of Credit ) ไม่มีอำนาจเปิดบัญชี current account ไม่มีวงเงิน O/D ( Over Draft ) ฉะนั้นก็ต้องอยู่ด้วยธุรกิจแบบนั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจเก็งกำไร ฉะนั้นเวลาขาดทุนจึงต้องไปก่อน คือกำไรมากขาดทุนมาก ก็เป็นปกติเพราะความเสี่ยงสูง

ปกป้อง : ความกดดันเยอะไหมครับ เพราะเราปิด 42 บริษัท อีก 16 บริษัทกระทบคนมหาศาล แต่ละคนก็มีอำนาจวาสนาทางเศรษฐกิจ การเมือง คุณทนงอยู่ข้างบนยอดต้องตัดสินใจ

ผมคิดว่าทุกคนรู้ตัวเอง ไม่มีความกดดันเลยจากสถาบันการเงิน และผมก็ให้เกียรติเขา พยายามให้เขารวมตัวกันเอง พยายามรวม Good Bank เข้าด้วยกันให้ได้ ผมพยายามจนวินาทีสุดท้ายที่ผมอยู่

เพราะผมไม่เคยคิดจะปิด ผมคิดจะเอา Good Bank รวมกันให้เป็นธนาคารใหญ่ แล้วผมก็ออกใบอนุญาตให้เอา Bad Bank มารวมกัน เสร็จแล้วเขาก็ถือไว้เหมือน บสท. (บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย) ในที่สุด พอเศรษฐกิจมันกลับ ค่าที่ดินมันกลับ เขาก็ได้คืนกลับไป นี่คือ บสท. ที่เกิดขึ้นมา ทำให้ทุกคนได้สินทรัพย์คืนกลับไป ที่ดินก็มามีกำไรใหม่ ทุกอย่างกลับมาหมด แล้วพยายามบอกว่านี่คือแนวทางที่ต้องทำ แต่มาสมัยถัดจากผมท่านปิดเลย ปิดแล้วก็ชำระบัญชี ออก ปรส. ออกอะไรไปเลย ซึ่งมันก็เปลี่ยนมือไปหมด

ต้องเข้าใจว่าเรามาตั้ง บสท. สมัยทักษิณ แล้วผมเป็นคนตั้งเอง เพราะผมยังเชื่อว่าทรัพย์สินที่ไม่เกิดรายได้ที่อยู่ในธนาคารมีอีกมหาศาล 1.7-1.8 ล้านล้านยังไม่ได้รับการแก้ไขเลย แล้วมันไม่มีวันที่จะทำให้สถานการณ์ของธนาคารพาณิชย์ดีขึ้นเลย เพราะว่าต้องนั่งดูแลทรัพย์สินเหล่านี้ เราจึงได้ออก บสท. ขึ้นมา แล้วเอาทรัพย์สินที่กรุงไทย ที่ธนาคารรัฐ และธนาคารเอกชนที่ต้องการในเกณฑ์ออกมารวมกันขึ้นมาประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท

ปกป้อง : คุณทนงคิดว่าสิ่งที่รัฐบาลประชาธิปัตย์ที่รับตำแหน่งต่อรัฐบาลพลเอกชวลิตทำกับสถาบันการเงินนั้นเป็นสิ่งที่ผิดพลาด

ผมไม่แน่ใจว่าผิดพลาดหรือไม่ แต่ผมไม่เห็นด้วย (หัวเราะ) นะครับ ผมบอกได้เพียงว่าผมไม่เห็นด้วย

ปกป้อง : ถ้าคุณทนงนั่งต่อไปวิธีที่จะทำคือ

ผมก็คงจะรีบตั้ง บสท. แล้วเอาสินทรัพย์ที่ไม่ดีรวมเข้าด้วยกันไว้ในนี้ แล้วอัดฉีดเงินให้ธนาคารไป เพื่อให้เขามีทุน ก็เหมือนกับที่สหรัฐฯ ทำกับซิตี้แบงก์ หรือกับทุกแบงก์ตอนเกิดซับไพรม์ ก็ต้องอัดเข้าไป

คุณธารินทร์ (นิมมานเหมินท์) ก็ช่วยบ้าง ช่วยทางธนาคารไทยพาณิชย์ แต่ไม่ได้ช่วยในแง่ดูแลทรัพย์สินที่ไม่ดี ช่วยในแง่ของการเพิ่มทุน ซึ่งท่านก็ทำถูกของท่าน แต่ผมก็ยังมองว่าธนาคารก็ยังเหนื่อยเหมือนเดิม จนกระทั่งเกิด บสท. ขึ้นมา ธนาคารใหญ่อาจจะอยู่รอด แต่ธนาคารขนาดกลางและเล็กนั้นไปหมดเลยใน 3 ปีนั้น เพราะว่าไม่มีใครเข้าไปช่วย ไม่มีใครคิดจะสร้าง Good Bank ให้เขา ไม่มีใครเอา Bad Bank ให้เขาเอาออกมาวางไว้ก่อนชั่วคราวแล้วอีกสัก 5-6 ปีค่อยมาเอาคืนไป หรือขายคืนไป ไม่มีใครจะดูแลสิ่งเหล่านี้ให้เป็นระบบ

ปกป้อง : บทบาทของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือ เอฟไอดีเอฟ ควรจะเป็นยังไงในวันนั้น เขาทำถูกหรือทำผิด หรือควรจะจัดการอย่างไร เพราะมาถึงวันนี้มหากาพย์นั้นยังไม่จบ

เอฟไอดีเอฟเป็นผลพวงจากการเกิดวิกฤติครั้งแรกสมัยพลเอกเปรม ซึ่งพยายามดูแลสถาบันการเงินที่เสียหายโดยใช้กองทุนฟื้นฟูฯ เข้ามาดูแล แล้วตอนนั้นก็ได้ผลเพราะขนาดของความเสียหายมันเล็กมาก ไม่กระทบถึงธนาคารพาณิชย์ เอฟไอดีเอฟก็ทำหน้าที่ได้ดีพอสมควรตลอดช่วงที่ผ่านา

แต่พอมีความคิดว่าจะตั้งสถาบันประกันเงินฝาก หลายๆ คนก็บอกของเก่าดีอยู่แล้วทำไมต้องไปทำ เราก็พยายามชี้แจงว่าที่สุดในระยะยาวโลกที่เจริญแล้วจะต้องเป็นยังไง หากเราอยากจะเจริญอยู่ในโลกที่เจริญแล้วสถาบันการเงินต้องพัฒนาตัวเองยังไง เขาก็ว่าของเก่าดีแล้ว ดูแลตัวเองได้ แต่เมื่อถึงวิกฤติจริงๆ มันไม่มีเครื่องมือที่ดีพอที่จะไปดูแลตัวเอง ฉะนั้นก็คือเหตุผลว่ามันล้าสมัย มันต้องเปลี่ยนวิธีการดูแล

ปกป้อง : การที่เอฟไอดีเอฟเข้าไปช่วยสถาบันการเงินในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ

มันสร้างสิ่งที่เรียกว่า Moral Hazard ก็คือการใช้ประโยชน์ของชาติไปเป็นประโยชน์ส่วนตน เป็นประโยชน์แอบแฝง สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งซึ่งคงละเว้นโดยเด็ดขาดไม่ได้ แต่การที่มีเอฟไอดีเอฟขึ้นมาทำให้หลายๆ คนรอดตัว ถ้าดูลึกๆ ผมไม่แน่ใจว่าเหตุการณ์ลึกๆ คืออะไร

สมัยที่ผมออกไปแล้ว และมีการปิดสถาบันการเงิน มีการไปชำระบัญชีต่างๆ คนวิ่งเต้นกันมหาศาลเพื่อจะเอาตัวรอดไม่ให้ถูกฟ้อง เอาบัญชีทิ้งไป ผมไม่รู้ว่าจริงไหมนะ แต่ที่ได้ยินมามันเกิดขึ้นเยอะมากจาก 50 สถาบัน ฉะนั้นเอาเข้าจริงแล้วการไปปิดมัน แล้วยกกล่องแฟ้มทั้งหมดไปให้บางคนดูแล มันเกิดสิ่งที่คาดไม่ถึงเยอะแยะ แต่ถ้าให้เขาดูแลไปเรื่อยๆ แล้วกำกับโดยการมีโทษ หรือให้เขามีโทษ เขาก็จะดูแลให้ถูกต้องมากขึ้น

ปกป้อง : จากประสบการณ์ที่ผ่านวิกฤติใหญ่อย่าง ปี 40 มาแล้ว จุดสมดุลเวลาเกิดวิกฤติระหว่างการทำให้ระบบสถาบันการเงินเดินไปข้างหน้าได้ มีความมั่นคงระดับหนึ่ง แก้ปัญหาจิตวิทยาไม่ให้คนแห่ไปถอนเงิน กับการจัดการไม่ให้เกิดปัญหา Moral Hazard ที่ทำให้สถาบันการเงินเคยตัวว่าเดี๋ยวรัฐบาลก็เข้ามาอุ้มเข้ามาช่วย จุดสมดุลควรอยู่ตรงไหน เราควรออกแบบระบบอย่างไร

ต้องเรียนว่าระบบธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินมันต้องปรับตัวไปตามความ เจริญทางเศรษฐกิจ ที่น่าสนใจคือระบบสถาบันการเงินของชาติเราเป็นระบบค่อนข้างเปิดในสนามแข่ง ขันโลก ถึงจะมีการปิดกั้นในเรื่องการคิดค่าธรรมเนียมไม่ให้คนอื่นเข้ามาได้เร็วขึ้น แต่ก็มีแผนชัดเจนที่จะค่อยๆ เปิดสู่ตลาดเสรีทางการเงินให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

แต่ถ้าดูข้อเท็จจริง ผมถามตรงๆ เลยว่าธนาคารไทยที่มีศักยภาพที่ไปต่างประเทศได้จริงๆ มีกี่แห่ง ผมเรียนเลยว่ามีแห่งเดียว และธนาคารแห่งเดียวที่มีอยู่ซึ่งใหญ่ที่สุดคือ ธนาคารกรุงเทพ เทียบกับธนาคารอื่น แม้แต่ธนาคารในมาเลเซียเราก็เล็กกว่าเขามาก อันนี้คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจไทยไม่ได้เล็กกว่ามาเลเซีย ทำไมธนาคารของไทยเราถึงไม่สามารถที่จะมีความก้าวหน้าหรือมีขนาดที่ยิ่งใหญ่ พอที่จะสู้กัน โดยเฉพาะในอาเซียน ที่ AEC (Asean Economic Community) กำลังจะเปิด ถามว่าธนาคารไทยจะสู้เขาไหวไหม

ปกป้อง : คุณทนงจะอธิบายอย่างไรครับ ทำไมเป็นแบบนั้น

ผมยังไม่แน่ใจ แต่ผมมองว่าตลาดในเมืองไทยยังปกป้องไม่ให้มีคนเข้ามาแข่งขันมากเกินไป ทำให้อยู่ด้วยระบบกึ่งผูกขาด คือมีผู้แข่งขันพอสมควร แต่ว่าเป็นผู้แข่งขันอยู่ภายใต้กติกามวยไทย ไม่ใช่กติกามวยสากล เป็นเวทีของตัวเองอยู่ ฉะนั้น เวลาเป็นเวทีของตัวเอง ใครเข้ามาใหม่ได้ก็ได้ประโยชน์มาก ดูอย่างซิตี้แบงก์ที่เข้ามาในไทยหลังเกิดวิกฤติ ก็สามารถเปิดเครดิตการ์ดได้ใหญ่ที่สุดในประเทศทั้งๆ ที่ไม่มีสาขาเลย ดูจีอีแคปปิตอลเข้ามาใหญ่ที่สุด มีกำไรมหาศาล เนื่องจากเขามีความรู้ มีปัญญา มีเทคโนโลยีซึ่งเราไม่มี แล้วเราก็ต้องคอยวิ่งไล่ตามเขา ใครเข้ามาใหม่ที่ก็ต้องคอยดูว่าเขาทำอะไรใหม่ๆ คอยตาม ก็พอไปได้

แต่ถึงจุดหนึ่งต้องถามตัวเองว่า ถ้าเราเปิดเสรีกันในอาเซียน ยอมให้ธนาคารที่สิงคโปร์มาตั้งสาขา เราก็ไปตั้งสาขาในสิงคโปร์ได้ มาเลเซียมาตั้งสาขาที่เรา แล้วเราไปตั้งสาขาที่อื่นก็ได้ เราจะชนะหรือแพ้ ผมว่าด้วยข้อจำกัดของเรา ด้วยความที่เราไม่ได้ใช้ภาษาที่เป็นสากล ทำให้เราไม่ได้เรียนรู้วิทยาการและความก้าวหน้ามากพอ แต่เราอยู่ในโลกที่เปิด เราต้องเรียนรู้อีกมาก

ปกป้อง : ทิ้งท้ายเรื่องวิกฤติสถาบันการเงิน คุณทนงฝ่าวิกฤติมาเยอะ หากเราเจอกับวิกฤติอีกรอบ เราจะทำอะไรที่ต่างจากเดิมได้ครับ ที่ต้องมีกองทุนฟื้นฟูฯ เข้าไปช่วยอุ้มแบงก์ ประชาชนส่วนใหญ่ที่เสียภาษีก็ต้องเข้าไปช่วยอุ้มด้วย โครงสร้างพื้นฐานปัจจุบัน

ผมว่าอย่าให้เกิดดีกว่า มันวิธีการป้องกันตั้งเยอะ ฉะนั้นคนที่เป็นรัฐมนตรีคลังและเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยต้องคอยดู ผมก็ดีใจที่ท่านผู้ว่าฯ ประสาร (ไตรรัตน์วรกุล) เป็นคนเข้าใจที่จะสร้างสมดุลให้ระบบเศรษฐกิจให้ดีพอสมควร แม้บางเรื่องผมจะไม่เห็นด้วยก็ตาม แต่ท่านพยายามอธิบาย พยายามสร้างสมดุลให้กับระบบเศรษฐกิจ

แต่ที่ผมกลัวมากคือรัฐบาลที่ประชานิยมมากเกินไป กลัวมากว่ารัฐบาลจะใช้จ่ายโดยไม่รู้ว่าจะเก็บภาษีได้แค่ไหน กลัวว่าเขาจะเก็บภาษีในระดับสูงเกินไปแล้วเก็บไม่ได้มากกว่าลดภาษีแล้วเก็บ ได้มากขึ้น ผมจึงเชื่อว่าพอเปิด AEC ขึ้นมาเราจะแย่ลง เพราะภาษีเราลดลงไม่ได้ ถ้าจะลดเจ้าหน้าที่กระทรวงคลังก็บอกทำไม่ได้ เพราะรายได้จากภาษีจะลดลง ทำให้ไม่มีงบประมาณ ต้องเป็นงบประมาณต้องขาดดุล ผมไม่เชื่อในสิ่งเหล่านั้นเลย

ผมมองว่าทำไมมาเลเซียเก็บภาษี 20% เศรษฐกิจเขาก็เติบโตได้ สิงคโปร์เก็บ 17% ทำไมเงินเขาเหลือเยอะแยะ VAT (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) ก็ไม่ได้มากกว่าเรา ประเทศใหญ่ๆ ทั้งหมดเขาเก็บภาษีเงินได้ส่วนบุคคลและนิติบุคคลของบริษัทน้อยกว่าเราทั้ง นั้น แล้วทำไมเขาเติบโตได้ เขามีมาตรการแบบไหน มีวิธีการดูแลงบประมาณอย่างไร มีวิธีการเก็บภาษีแบบไหน ซึ่งผมมองว่ามีตัวอย่างเยอะแยะในโลก ซึ่งเราจะต้องเริ่มคิดว่าทำไมเราคิดเพียงแค่ว่าลดภาษีเมื่อไหร่ก็คูณจำนวนคน ที่เก็บได้ กับจำนวนที่ลดลง แล้วบอกว่านี่คือส่วนที่เสียหาย

เหมือนกับตอนที่ผมอยู่การบินไทย ผมบอกให้ลดที่นั่ง First Class ลงจาก 14 เป็น 8 ที่นั่งแล้วทำให้นอนราบซะจะได้นอนสบาย เป็นที่นั่งเดียว เขาบอกลดไปจะหายไป 6 ที่นั่งคูณ 200,000 บาท เที่ยวบินไปลอนดอน หายไป 1.2 ล้านบาท แต่ตอนมันมี 14 ที่นั่ง มันว่างเปล่าไม่มีใครบิน ผมก็ไม่ยอมบอกว่าเขาต้องทำแล้วก็ไปเพิ่ม Business Class ไปสู้กับเขา

อย่างนี้คือวิธีการ จะให้บอกว่าการลดภาษีลงจะทำให้เก็บเงินได้น้อยลง ผมไม่เชื่อ คุณเก็บภาษีในอัตราภาษีน้อยลง บริษัทมีกำไรมากขึ้น เขาสะสมทุน เขาสร้างธุรกิจ เขาก็จะสู้กับคนอื่นได้ เขาก็สร้างรายได้มากขึ้น เราเก็บภาษีจาก 30% ลดลงเหลือ 20% เขาสร้างรายได้ได้เท่าตัว เท่ากับเราเก็บภาษีเขาได้ 40% เพราะกำไรเขาเพิ่มเท่าตัว นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นจริงในทั่วโลกทุกที่ จากการวิจัยของไอเอ็มเอฟ จากวิจัยของผู้เชี่ยวชาญภาษีก็บอกทั้งนั้น

ผมก็มองว่าเราต้องคิดให้เป็นเรื่องโครงสร้างภาษี มันต้องสู้กันใน AEC ถ้าเราไม่คิดจะสู้กับมาเลเซียกับสิงคโปร์ ในที่สุดเราต้องคอยดูว่าเวียดนามจะชนะเราเมื่อไร เราแย่ทั้งที่เราเจริญกว่าเขาตั้งเยอะ แต่เรามัวคิดแข่งเรื่องปลูกข้าวกับเวียดนามผมว่ามันไร้สาระ ผมว่าเราต้องสู้กับประเทศที่เจริญกว่าเรา แล้วก็เอาชนะเขา

รัฐมนตรีคลัง กระทรวงการคลังต้องมานั่งคิดสิ่งเหล่านี้ ผมมองว่าการไปนั่งทำประชานิยมอยู่มันไม่ค่อยถูกต้อง และก็เป็นการยอมให้งบประมาณติดลบ การจะสร้างสาธารณูปโภคโดยที่ไม่รู้ว่าทำไปแล้วผลตอบแทนจะเป็นยังไงน่ากลัว

สมัยที่ผมทำ เราวางแผนหมดว่าการเงิน เศรษฐกิจ และภาษีเราจะเป็นยังไงแล้วถึงจะระดับไหน ใช้เวลากี่ปี แล้วหน้าที่คือเพดานหนี้ต้องไม่เกินร้อยละ 50 ที่วางเอาไว้ มาตรการหรือกลยุทธ์ต้องออกมาชัดเจน ไม่ใช่มี 12 สาย ต่างคนต่างแย่งกัน ใครจะได้ แล้วก็แย่งกันจนเซ็นไม่ได้ตั้งหลายสาย

ผมว่ามันเป็นวิธีบริหารประเทศแบบตัวใครตัวมัน ไม่ได้มีระบบหรือกลยุทธ์ที่ดีพอ มันก็จะป้องกันวิกฤติไม่ได้ เมื่อป้องกันวิกฤติไม่ได้ก็ต้องหาวิธีใหม่มาแก้ มันก็ต้องเจ็บปวดอีกก็เป็นเหมือนเดิม

เรามาถามว่า เรามีทุนสำรอง 180 พันล้านเหรียญ ประเทศไทยเป็นประเทศที่รวยมหาศาล ผมต้องถามว่ามันรวยจริงหรือเปล่า แต่ก่อนเรามี 38 พันล้านเหรียญ เราคิดว่าเรารวยมาก เราไม่เคยรวยจากทุนสำรอง เงินสำรองคือเงินดอลลาร์ซึ่งคนเอาดอลลาร์เข้ามาแลกเป็นเงินบาทแล้วเอาไปลง ทุน

แล้วถามว่าเงินลงทุนในไทยมาจากไหน คนไทยหรือเปล่า ไม่ใช่นะครับ ดูอย่างมาบตาพุดมีเงินลงทุนเป็นล้านล้านบาท เป็นของคนไทยกี่เปอร์เซ็นต์ ดูจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ 1 ใน 4 เป็นของต่างชาติ ดูการให้กู้ยืมเงินเราก็ยังกู้ยืมเงินต่างประเทศประมาณ 7-10 พันล้านเหรียญ หรือประมาณเกิน 1 ใน 3 ของทุนสำรองที่มีอยู่ เงินจะเป็นของเราจริงก็ต่อเมื่อบัญชีเดินสะพัดเราเป็นบวกจริงๆ การค้าขายเป็นบวกจริงๆ ถ้าดูลึกไปอีก การส่งออกประมาณ 70% ของ GDP แต่สินค้าที่ผลิตโดยคนไทยจริงๆ มี ผมว่ามีแค่ 20% อีก 50% ของ GDP เป็นของต่างชาติ การลงทุนเป็นของเขา กำไรเป็นของเขา เงินเป็นของเขา ถ้าเรายอมรับความจริงข้อนี้ เราจะเริ่มคิดว่าทุนสำรองนั้นต้องหวงแหนยิ่งกว่าชีวิตอีก

เพราะถ้าเขาต้องการแลกเมื่อไรเราต้องมีเงินให้เขา ต้องการเอาคืนเมื่อไรเราต้องมีให้คืน เพื่อเครดิตของเรา นี่คือความคิดง่ายๆ พื้นฐานเลย อย่าไปสร้างวิกฤติโดยไปจำเป็น อย่าไปสร้างให้เราหมดเครดิตโดยไม่จำเป็น เครดิตทางการเงินเราดี ธนาคารแห่งประเทศไทยเราเก่งอยู่ เป็นที่ยอมรับของทั่วโลก ธนาคารพาณิชย์ถึงแม้จะยังไม่พร้อมจะสู้กับโลกจริงแต่เราก็แข็งแรงพอสำหรับ ระบบภายในประเทศ ก็อย่าไปสร้างให้เกิดวิกฤติ มันไม่จำเป็นเลย

มันจะเกิดวิกฤติเมื่อไหร่ ก็เมื่อเปิดประเทศแบบลืมตัว หรือไม่พร้อมจะสู้กับเขา เปิดการค้าและการลงทุนไม่มีปัญหา แต่เปิดโลกการเงินแบบที่ยังไม่พร้อมนั้น เรามีหน้าที่ต้องสร้างความพร้อม ต้องเอาสิ่งใหม่ๆ เข้ามา เอาคู่แข่งใหม่ๆ เข้ามาในประเทศ ให้เขาเอาชนะธนาคารไทยเพื่อให้ธนาคารไทยเรียนรู้ที่จะเอาชนะเขาในระยะยาว ถ้าเรามัวแต่ปิดอยู่เราก็เหนื่อย เราดูพวกโบรกเกอร์ทางตลาดทุนทั้งหลาย ทุกคนต่างพยายามรักษาค่าธรรมเนียมไว้ ไม่กล้าเปิดให้ใคร กลัว ปรากฏว่าผู้ที่เข้ามาแล้วเท่านั้นที่กำไร เช่น กิมเอ็ง คนไทยหรือเปล่า ตั้งเยอะแยะ ชื่อฝรั่งทั้งนั้น แล้วพวกนี้ทั้งนั้นที่ปกป้องตัวเองไม่ให้ฝรั่งเข้ามาแข่ง

เพราะฉะนั้นเรากำลังจะบอกว่า ในเศรษฐกิจแบบบ้านเรา เราทำเพื่อใครแน่ ประชาชนหรือนักธุรกิจกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มๆ ไปแล้วก็เอาใจเขา ผมไม่ได้บอกว่าไม่อยากให้เขารวย ควรจะให้เขารวย แต่ต้องแน่ใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นต้องตกทอดถึงประชาชน เรายังมีเกษตรอีกประมาณ 40% ของประเทศ ทำไมเป็นอย่างนั้น ทุกคนสงสัยหมดว่าประเทศไทยเจริญมากเลย แต่ทำไมยังทำการเกษตรขนาดนั้น แล้วผลผลิตเกษตรกรรมคิดเป็นสัดส่วนที่ได้ก็ไม่ถึง 20% ของจีดีพี สรุปคน 40% อยู่กับสินค้ากว่า 10% และในกว่า 10% เป็นของตัวเองที่ตกทอดมาเป็นเงินของตัวเองประมาณ 1/3 อีก 2/3 เป็นของพ่อค้าคนกลาง แล้วเขาจะรวยยังไง

ผมจึงบอกว่าเราไม่ได้แก้ปัญหาต้นตอ แล้วมัวแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เราพยายามคิดแบบไม่ครบวงจร เราไม่คิดว่าจะยกระดับคนให้รวยยังไง เรามัวคิดแต่ว่ากลัวผักแพง ข้าวแพง กลัวไม่ได้ส่งออกข้าวเป็นอันดับ 1 ของโลก ผมว่าความกลัวเหล่านี้เป็นความกลัวที่ผมกลัวที่สุดเลย (หัวเราะ) ก็ยังมีอะไรอีกเยอะที่ต้องทำในระบบเศรษฐกิจ

ปกป้อง : เราฟังคุณทนงร่ายยาวถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย ฟังแล้วตั้งคำถาม ตกลงว่าเศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจใครกันแน่ ก็เลยไม่แน่ใจว่า 15 ปีผ่านไป ในเชิงเศรษฐกิจประเทศไทยดีขึ้นหรือเลวลงยังไง

คุณลองคิดภาพดูดีๆ นะ ผมช็อกเลย พอบอกมีการสัมภาษณ์ มีการสำรวจมาโดยสวนดุสิต เมื่อวานบอกกว่า 60% ให้คำตอบว่ายอมให้รัฐบาล หรือนักการเมืองคอรัปชั่นได้ถ้าตัวเองได้ประโยชน์ด้วย คุณคิดว่ามันดีไหมสำหรับประเทศชาติ คิดว่าประชาชนของเราเป็นยังไง แล้วเราอยู่กับอะไรอยู่ในตอนนี้

ปกป้อง : รู้สึกไหมครับว่าตอนนั้นทำงานแทบตายต่อสู้กับวิกฤติ มาตอนนี้คนลืมไปแล้ว 15 ปีผ่านไป บทเรียนจากวิกฤติเศรษฐกิจคืออะไร

ผมคิดว่าผู้ที่เสียหายคงยังเข้าใจว่ากว่าเขาจะฟื้นได้นั้นเป็นยังไง และเขาป้องกันตนเองได้ดีพอสมควรในระบบการเงิน แต่ในระบบการเมืองมันตามเศรษฐกิจไม่ทัน แล้วนักธุรกิจเราเริ่มหาบทเรียนให้เขา เริ่มสอนเรื่องจรรยาบรรณทางธุรกิจ เรื่อง Governance ทางธุรกิจให้เขา ผมบอกข้าราชการกระทรวงการคลังทุกคนเลยว่าใครจะเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจ ของกระทรวงต้องผ่านการอบรมของ IOD (Thai Institute of Directors) กรรมการในตลาดหลักทรัพย์ผ่านการอบรมที่นี่ นักธุรกิจสมัยใหม่เริ่มเรียนรู้เรื่องอินเทอร์เน็ต เรื่องโลกดิจิทัล เริ่มรู้เรื่องการค้าการแข่งขัน

ผมถามหน่อยเถอะ คุณเคยให้นักการเมืองเปิดอินเทอร์เน็ตไหม มีนักการเมืองกี่คนที่เปิดอินเทอร์เน็ตเป็น ผมท้าทายเลย แท็บเล็ตที่เอาไปแจกเด็ก นักการเมืองใช้เองเป็นไหม ผมกำลังจะบอกว่าเราอยู่ในโลกซึ่งกำลังเปิดไปสู่สากล แต่นักการเมืองเราที่พูดภาษาอังกฤษได้มีกี่คน นักการเมืองอาจจะบอกว่าไม่จำเป็นต้องพูดได้ เพราะผมเป็นคนไทยต้องอนุรักษ์ภาษาไทย ตกลงเราจะแข่งกับโลกได้ยังไง

ผมกำลังจะถามตัวเองว่า เรากำลังอยู่ในโลกแบบไหน เราไม่ใช่เมืองขึ้น เราต้องภูมิใจในภาษาไทย แต่ผมมองว่าถ้าจะสู้กับโลกเราต้องรู้ภาษาอังกฤษ รู้คอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นพื้นฐานของมนุษย์ ซึ่งผมดีใจที่นักธุรกิจ นักเรียนสมัยใหม่ ดูเป็น ทำเป็น ใช้เป็น แล้วถามนักการเมือง ถาม ส.ส. ในสภา คุณลองไปจับ ส.ส. จับนักการเมืองสอบให้ดูหน่อย ให้คอมพิวเตอร์ไปคนละเครื่องแล้วให้เปิดอีเมล์ให้ดูหน่อย ผมบอกได้เลยว่าได้ไม่กี่เปอร์เซ็นต์หรอกจากกว่า 600 คน ผมไม่ได้ดูถูกนะ

นักการเมืองหลายคนเก่ง มีความรู้ความสามารถ แต่ไม่เรียนรู้ที่จะแข่งกับโลก ไม่เรียนรู้ที่นำพาประเทศไปสู้กับโลก ท่านรู้แต่ว่าต้องแจกแท็บเล็ตให้เด็กไปสู้กับโลก แต่เด็กเหล่านั้นอีก 40 ปีถึงจะเริ่มได้สู้กับโลก แล้วตอนนี้คนที่สู้กับโลกมีแต่นักธุรกิจ ซึ่งรุ่นลูกจบโท จบเอก และเริ่มทำธุรกิจการค้า เริ่มทำเป็น แต่มีนักการเมืองรุ่นหนุ่มกี่คน ส่วนมากที่มีก็ทำไม่เป็น เป็นนอมินีทั้งนั้น

ฉะนั้น ผมมองว่าอย่าปล่อยให้การเมืองนำเศรษฐกิจไปสู่วิกฤติ นักธุรกิจตอนนี้เขาเรียนรู้ความเสียหายจากวิกฤติ แต่นักการเมืองไม่ได้เรียนรู้ความเสียหายจากวิกฤติเศรษฐกิจ ลืมหมดแล้ว

ปกป้อง : ตัวผู้กำหนดนโยบายเอง แบงก์ชาติเอง เรียนรู้อะไรจากวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้

ผมว่าเขาเรียนรู้เยอะมาก เริ่มเข้าใจวิธีที่จะสร้างสมดุลและหัวใจที่เขาจะต้องทำมากขึ้น คือการดูแลการไหลเข้าออกของเงินทุน ฉะนั้น การที่เขารักษาเงินทุนสำรองไว้สูงระดับนี้ก็เป็นต้นทุนสำหรับเขา แต่ถ้าเขาเรียนรู้การกำกับดูแลการไหลเข้าออกของเงินทุนมากกว่านี้ เขาอาจไม่ต้องใช้ต้นทุนมากขนาดนี้ก็ได้ ก็เป็นเรื่องของโลกใหม่ ที่เรียกว่า Liquidity Management ซึ่งเรื่องแบบนี้ประเทศจีน สิงคโปร์ ฮ่องกง จะเก่ง เขาเกือบไม่ต้องมีทุนสำรองมากก็ได้ แต่วิธีการเปิดเสรีคือ ไม่ยอมให้ใช้เงินบาทเป็นเครื่องมือเพื่อเก็งกำไร แต่ให้ใช้เงินสกุลท้องถิ่นเป็น pocket money อย่างฮ่องกง แต่ใช้เงินดอลลาร์ ยูโรเพื่อการค้า มันก็ไม่เกิดอะไรมากระทบเศรษฐกิจ มีอะไรที่ทำได้อีกเยอะแยะ

ปกป้อง : ขมวดปมทิ้งท้าย คุณทนงมาถึงวันนี้ เมื่อมองย้อนกลับไป ตัวเองในวันที่เหนื่อยแสนสาหัสเพื่อจัดการวิกฤตินั้น รู้สึกภูมิใจในตัวเองไหม และประเมินตัวเองด้วยใจนิ่งๆ ณ วันนั้นอย่างไร

ผมไม่ได้คิดอะไรเลย ผมคิดว่าเขาเรียกให้เราเข้าไปผมก็ไป แล้วเราก็ไม่ใช่นักการเมืองอาชีพ เราเป็นนักการเมืองโดยถูกเกณฑ์ ในครั้งที่ 2 ผมก็ถูกเกณฑ์เข้าไปเช่นกัน

ปกป้อง : รอบแรกทำไมเข้าไปไม่กี่เดือนก็ออกแล้ว

รอบแรกที่อยู่ไม่กี่เดือน ผมเรียนตรงๆ เลยนะ ตอนนั้นคณะรัฐมนตรีมีอยู่ 49 คน จาก ส.ส. กว่า 300 คน พอได้เงินไอเอ็มเอฟเสร็จ รัฐมนตรีกับ ส.ส. ถามว่าเงินไอเอ็มเอฟอยู่ไหนเขาอยากได้ใช้

ปกป้อง : ไปดีกว่า

ผมก็บอก เออ ตกลงเขาไม่รู้หรือไงว่าเงินไอเอ็มเอฟคืออะไร จุดที่สองคือผมไม่ได้คิดจะไปหรอก แต่ผมเป็นรัฐมนตรีก็ต้องปกป้องนายกฯ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็คือ ตอนนั้นราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 8 บาทกว่า น้ำมันเบนซิน 10 บาท แล้วทางไอเอ็มเอฟก็พยายามบีบว่าราคาน้ำมันเราถูกกว่าที่ควรจะเป็น ผมก็บอกว่าถ้าอย่างนั้นขอขึ้นสัก 2 บาท แล้วเอาเงินที่ได้ 2 บาทนั้นหรือได้ประมาณ 20,000 ล้านบาทต่อปีมาทำระบบขนส่งมวลชน เงินจำนวน 20,000 ล้านบาทต่อปีเยอะนะครับ

ผมคิดแบบพ่อค้า คือ ผมมีเงิน 20,000 ล้าน ผมกู้ได้ประมาณ 200,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถเอามาทำขนส่งมวลชนได้เยอะทั้งรถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน ผมคิดแบบนั้นจริงๆ ก็เลยเอา เพราะคิดว่ายังไงไอเอ็มเอฟก็บีบเรา ซึ่งเรื่องก็ผ่านคณะรัฐมนตรีมาโดยดี เป็นส่วนหนึ่งของระบบงบประมาณที่เราจะต้องทำ เอาเงินไปพัฒนาระบบขนส่งมวลชน

ปรากฏว่าเรื่องผ่านวันพุธ พอวันพฤหัสฯ ก็ให้สัตยาบรรณ พ.ร.ก. 3 ฉบับ ผมจำได้ดี เพราะตอนเย็นผมถูกเรียกเข้าไป ก็มีพลเอกชวลิตนั่งอยู่ แล้วก็ ส.ส. หลายคน ท่านก็บอก “ทนงเอย เขากำลังจะเดินขบวนกันวันเสาร์-อาทิตย์ ต่อต้านการขึ้นราคาน้ำมัน ทำไงดีน้อง” ผมก็บอกผมไม่ทราบ เพราะสิ่งที่ผมทำนั้นผ่านการประชุม ครม.เศรษฐกิจ ผ่านคณะรัฐมนตรี แล้วทุกคนในคณะรัฐมนตรีก็เห็นด้วย ผมก็ดำเนินการ ก็มี ส.ส. อยู่ท่านหนึ่งบอกว่า “ท่านรัฐมนตรีครับ เราจำเป็นที่จะต้องอยู่ข้างประชาชน ไม่เช่นนั้นรัฐบาลจะอยู่ไม่ได้ (จากเรื่องที่ท่านขึ้นราคาน้ำมัน แต่ท่านไม่ได้พูดตรงๆ ) ก็อยากให้ท่านพิจารณาทบทวน”

ผมฟังอยู่สักพักก็มองว่า ส.ส. เหล่านี้คงคิดถึงสถานภาพทางการเมือง คิดถึงอำนาจทางการเมืองมากกว่าเหตุผลทางเศรษฐกิจ ผมก็บอกท่านพลเอกชวลิตเลยว่า “ท่านครับ ผมพร้อมที่จะลาออก และพร้อมจะลดราคาน้ำมันไปสู่เดิม แต่ผมต้องลาออกเพราะผมต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่ให้ท่านหรือ ครม. รับผิดชอบ ผมจะรับผิดชอบทั้งหมด” นักข่าวรุ่นเก่าจะจำได้ เย็นวันนั้นกลับไปผมไปก็ให้สัมภาษณ์ว่า ผมคงจะลาออกในวันที่เหมาะสม

ปกป้อง : ท่านไม่ได้ห้าม

ท่านก็บอกว่า ท่านเองก็อาจจะอยู่ไม่ได้เหมือนกัน หรืออาจอยู่ไม่ไหว (หัวเราะ) ผมบอกท่านกับ ส.ส. ว่า “ผมพร้อมในสิ่งที่ท่านอยากให้ผมทำเพื่อยืนอยู่ข้างประชาชน แต่ทำเสร็จแล้วผมไม่แน่ใจว่าประชาชนจะอยู่ข้างท่านหรือไม่” แล้วผมก็โทรศัพท์สั่งอธิบดีกรมสรรพสามิตทำหนังสือสั่งลดราคาน้ำมัน นำมาให้ผมเซ็น

ปกป้อง : แล้วออกเลย

ยังออกเลยไม่ได้ ท่านขอร้องว่าอย่าเพิ่งออก ผมก็ไม่เป็นไร โดยประเพณีเมื่อเราประกาศลาออกโดยปริยาย ผมเลยบอกว่าผมจะลาออกเมื่อถึงเวลาพอสมควร วันนั้นก็รอหาคนมาแทนได้แล้วก็ออก

ปกป้อง : ในวันนั้นรู้สึกเจ็บปวดไหม

(ตอบทันที) ไม่เจ็บปวดเลย ผมไม่เจ็บปวดอะไรเลย ผมรู้สึกว่าผมทำหน้าที่ครบตามที่เขาอยากเห็นแล้ว ลอยตัวค่าเงิน พยายามกำกับดูแลสถาบันการเงินให้ดีที่สุด พยายามดูแลให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทำงานต่อไปได้ แล้วก็เอาเงินไอเอ็มเอฟเข้ามาเพื่อพยุงเครดิตของรัฐบาลให้อยู่ได้ ผมทำหน้าที่ครบแล้ว แต่ผมถือว่านักการเมืองไม่เข้าใจเลยว่าผมทำอะไร ในเมื่อเขาไม่เข้าใจเลยและก็มองว่าสิ่งที่เราทำกลายเป็นผลเสียต่อเขา อย่างการปรับราคาน้ำมัน ซึ่งสมัยท่านธารินทร์ก็ปรับกลับขึ้นไป ไม่เห็นมีใครเดินขบวน

ผมยังแปลกใจจนกระทั่งบัดนี้ว่า นักการเมืองสมัยนั้นเขาคิดอะไรอยู่ ผมก็เลยมองว่าผมไม่ใช่นักการเมือง

ปกป้อง : แต่ก็ยังไม่เข็ดนะครับ เพราะมารับตำแหน่งต่อ

ผมมองว่าทั้ง 2 ครั้งเป็นเรื่องของบุญคุณต้องทดแทน ต้องเข้าใจว่าผมเป็นลูกจ้างของนายกทักษิณมา แล้วตอนสมัยทักษิณ 1 ผมไม่รับตำแหน่ง จะสังเกตว่าผมไม่รับตำแหน่ง วันที่ท่านชนะเลือกตั้งมีภาพที่ผมไปจับพุงท่านด้วยความคุ้นเคย ความลืมตัว ภาพนั้นหนังสือพิมพ์ลงหลายฉบับ ผมก็มารู้สึกว่าละลาบละล้วงท่าน ไม่นึกว่าท่านจะเป็นนายกฯ

แล้วคืนนั้นท่านก็เรียกผมไปที่ตึกชินวัตร แล้วท่านก็ส่งบัญชีรายชื่อ สสร. แล้วบอกว่าให้ผมช่วยดูว่า “อาจารย์ช่วยดูใครจะเป็นรัฐมนตรีอะไร” ผมก็มาเปิดๆๆ แล้วก็คืนท่าน บอกว่าผมไม่มีความเห็นอะไรเลย ผมไม่ใช่นักการเมืองและคิดว่าคงช่วยอะไรไม่ได้ในแง่การเมืองปกติ ท่านก็ถามว่าผม “อาจารย์อยากจะทำอะไร” ผมก็บอกว่าผมคงรับตำแหน่งรัฐมนตรีไม่ได้ เพราะพลเอกชวลิตท่านยังมีพรรคการเมืองของท่านอยู่ ท่านเชิญผมไปอยู่ด้วยผมไม่ไป ถ้าผมย้ายมากับท่านเมื่อไร ผมก็เป็นคนเนรคุณ

ท่านก็ถามว่า ”แล้วจะช่วยท่านอย่างไร” ผมก็บอกว่า ผมขอเป็นที่ปรึกษาแล้วกัน ท่านจะให้ทำอะไรก็บอกมา ท่านก็ตั้งผมเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และท่านก็ถามว่าผมว่า ”มาช่วยที่สภาพัฒน์ (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ได้ไหม” เพราะท่านมองว่าสภาพัฒน์เป็นหน่วยงานที่ทำแต่วางแผน 5 ปี แล้วก็ไม่ได้ทำอะไรใหม่ๆ ผมก็เห็นว่างานวิชาการไม่ได้เงินเดือน ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่มีประโยชน์เกี่ยวเนื่องกับใคร ผมบอกก็รับได้ไม่มีปัญหา

ตอนนั้นผมลาออกจากธนาคารทหารไทยแล้ว เนื่องจากท่านให้มาช่วยดูบริษัทที่กลุ่มชินวัตร ผมก็ลาออก เพราะเชื่อคนง่าย (หัวเราะ) แต่ไม่ได้ต้องการอะไร

ท่านก็แต่งตั้งผมเป็นประธานสภาพัฒน์ และที่ปรึกษาฯ ก็เข้าไปช่วยงานบ้าง เช่นเรื่องตั้ง บสท. เกิดขึ้น ก็เป็นคนช่วยดูแล ตอนหลังก็ดูแลเรื่องญี่ปุ่น เพราะเราเป็นนักเรียกเก่า ก็พยายามดูแลเรื่องความสัมพันธ์ นำเอาเจโทรเข้ามา เอาโอท็อปเข้ามา เอาเอสเอ็มอีแบงก์จากญี่ปุ่นมา และส่งคนของเราไปคุยกับเอ็กซิมแบงก์ของญี่ปุ่น ก็พยายามช่วยในแง่นโยบายเศรษฐกิจที่ญี่ปุ่นจะช่วยเราได้

ทำหน้าที่อยู่ 4 ปี ตอนหลังท่านส่งไปเป็นกรรมการอยู่การบินไทย พอเป็นกรรมการปุ๊บ ประธานก็ถูกเดินขบวนไล่ออก 2 ท่าน คือท่านชัยอนันต์ (สมุทรวานิช) และท่านวีรพงษ์ (รามางกูร) ออก อยู่ไม่ได้ทั้งคู่ ผมจึงถูกจับไปเป็นประธานแทน ก็อยู่การบินไทย 3 ปีกว่าในสมัยทักษิณ 1 โดยไม่มีการเดินขบวนเลย ทำกำไรได้ปีละ 10,000 กว่าล้านบาท ผมก็ภูมิใจว่าเราช่วยพลิกฟื้นการบินไทยได้ พนักงานก็มีความสุข ไม่มีการเดินขบวน

พอทักษิณ 2 โดนเรียกกลับมา ถึงเวลาที่ผมต้องกลับมาแล้ว ผมเสวยสุขมานานพอ (หัวเราะ) ผมก็ถามท่านจะให้ทำอะไร ท่านก็ส่งให้ไปดูกระทรวงพาณิชย์ก่อน ให้ไปดูการค้าระหว่างประเทศ เพราะกำลังจะมีเอฟทีเอ (การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี) ผมก็เข้าไปกระทรวงพาณิชย์ และผมเป็นเริ่มต้นสำเร็จเรื่องเจเทปป้า คือการทำสัญญาการค้าเสรีกับญี่ปุ่น นั่นคือจุดที่จบที่นั่น

หลังจากนั้นก็มาอยู่กระทรวงการคลัง ผมถามท่านว่ามาทำไม ท่านบอกว่า “มาทำโครงการเมกะโปรเจ็ก วางแผนการเงินให้เรียบร้อย” เพราะโครงการตั้ง 1.5 ล้านล้าน ผมก็ไปนั่งวางโมเดลแผนงานกระทรวงการคลัง ว่าจะมีค่าใช้จ่ายอย่างไรของแต่ละโครงการอย่างไรในแต่ละปีๆ และรายรับมาจากไหน จะกู้เงินจากไหน ตรงไหนเป็นภาคเอกชนทำ รวมๆ กันแล้วทำอย่างไรไม่ให้เพดานหนี้เกิน 50% ก็เป็นเรื่องของการชดใช้บุญคุณ

ปกป้อง : อยู่จนถึง 2549 ใช่ไหมครับ

ก็อยู่จนถึงปฏิวัติ

ปกป้อง : จนถึงวันนี้ 2555 คุณทักษิณบอกหรือยังครับว่า อาจารย์เสวยสุขมากพอแล้ว กลับไปแบกทุกข์เหมือนเดิมอีก

คุณทักษิณคงไม่บอกอะไรผมแล้วครับ เพราะคุณทักษิณท่านก็ยังไม่ได้กลับมา แล้วผมเองก็ไม่ได้ติดต่อท่าน ผมมองว่าเราไม่ใช่นักการเมือง และผมไม่ต้องการตำแหน่งการเมือง ผมอยากช่วยชาติในทางอื่นๆ ก็ไปเป็นอาจารย์สอนหนังสือ ทำอะไรที่เราทำได้ แต่ไม่ต้องการทำงานการเมือง และผมประกาศตลอดว่า ”ผมเป็นยาสามัญประจำบ้านที่หมดอายุไปแล้ว”

ปกป้อง : คำถามสุดท้าย จากวิกฤติ 40 มาจนถึงชีวิตประสบการณ์ในโลกการเมือง เหตุการณ์เหล่านั้นสอนอะไรคุณทนง พิทยะ บ้างครับ

ผมว่าผมโชคดี ที่ชีวิตผ่านงานมาเยอะมากๆ จากการทำงานที่ธนาคารโลก มาเป็นอาจารย์สอนหนังสือที่นิด้า มาอยู่โรงงานน้ำตาล มาอยู่ธนาคารทหารไทย มาอยู่กลุ่มชินวัตร มาอยู่การบินไทย ไปเป็นประธานอีกหลายๆ บริษัท แล้วก็อยู่รัฐบาลตั้ง 2-3 สมัย ผมว่าผมโชคดี ในความโชคดี แน่นอนก็มีสิ่งให้คิด สิ่งทำให้เครียด แต่ว่าใครจะโชคอย่างผมบ้างจากเด็กกะโปโลที่สุพรรณได้รับทุนการศึกษาได้เรียน ขึ้นมา จนได้รับตำแหน่งนับไม่ถ้วนถ้าอ่านในประวัติการทำงานของผมคนญี่ปุ่นเห็นยัง ตกใจว่าเป็นได้อย่างไรทุกๆ อย่าง

ปกป้อง : งานชิ้นไหนภูมิใจที่สุด

ถ้ามองว่าภูมิใจที่สุด ก็คงตอนเป็นรัฐมนตรีคลังสมัยแรก เพราะผมมองว่าสิ่งที่ผมตัดสินใจนั้นทำให้ประเทศไทยฟื้นได้ภายในเวลาแค่ 6-7 ปี

ปกป้อง : รู้สึกอย่างไร เมื่อมีคนนึกถึงหน้าคุณทนงแล้วนึกถึงการลอยตัวค่าเงิน เมื่อ 2 กรกฎาคม 2540

ก็ต้องขออภัยที่บางคนต้องเจ็บปวด และผมคิดว่าเป็นความเจ็บปวดซึ่งในที่สุดทำให้เราได้เรียนรู้ แล้วทำให้เราสำเร็จในอนาคต และผมเชื่อว่าหลายๆ คนที่เจ็บปวดจากค่าเงินก็ได้เรียนรู้ ได้ฟื้นกลับมาใหม่เกือบหมด เกือบครบทุกคน ก็ถือว่าเขาคงเข้าใจผมแล้ว ก็ต้องขออภัยที่เขาเกิดเจ็บปวดตอนนั้น หลายๆ คนก็มีปัญหาเยอะนะครับ


ชำแหละ “ทนง พิทยะ” ตัวจักรโกงชาติยุค “แม้ว”

จาก blog  indexthai

       พี่น้องครับ วันนี้ผมมีความจำเป็นที่ต้องพูดถึงคนๆ หนึ่งที่เคยเป็นเพื่อนผม "เคย" วันนี้ไม่ใช่เพื่อนผมอีกต่อไปแล้ว ผมเคยประกาศให้พ่อแม่พี่น้องฟัง จำได้ไหม ว่านายทนง พิทยะ ถ้าคุณตายผมไม่ไปงานศพคุณ ถ้าผมตายคุณก็ไม่ต้องมางานศพผม ทำไมผมต้องมาพูดเรื่องนี้ ผมต้องมาพูดเรื่องนี้เพราะว่านายทนง พิทยะ นามสกุลเดิมที่พ่อแม่ตั้งมาชื่อ ลำไย อับอายขายหน้า ต้องไปขอเปลี่ยนขอเป็นนามสกุลพระราชทาน เป็น "พิทยะ" คนๆ นี้ให้สัมภาษณ์เมื่อวานนี้ พูดยังไงรู้ไหม พูดบอกว่า การบินไทยที่มันเจ๊ง มันเจ๊งด้วยเหตุ 3 ประการ 1 ใน 3 ประการนั้น มันหาว่าการที่พวกเราไปปิดสนามบินสุวรรณภูมินั้นทำให้การบินไทยเจ๊ง
      
       ผมจะเล่าอะไรให้พ่อแม่พี่น้องฟัง ตั้งใจฟังให้ดีๆ ใครก็ตามรู้จักนายทนง พิทยะ อัดเทปชุดนี้ไปให้มันดู เพราะคนอย่างมันไม่ดูหรอก รายการฉลาดๆ แบบนี้ พี่น้องจำปี พ.ศ.2540 การล่มสลายทางเศรษฐกิจได้ใช่ไหม (ได้) วันที่ 1 กรกฎาคม วันที่ 7 กรกฎาคม เป็นวันที่ประเทศไทยลดค่าเงินบาท พี่น้องรู้ไหม พอลดค่าเงินบาทแล้ว กิจการเอกชน ธนาคาร และสถาบันเงินทุนต้องปิดเยอะแยะไปหมด
      
       คนที่ทำให้ประเทศไทยเจ๊งแล้วเปิดประตูให้ฝรั่งต่างชาติเข้ามาสูบเลือดสูบ เนื้อ ซื้อหนี้สินคนไทยไป มูลค่าหนี้ 100 บาท ซื้อไป 10 บาท แล้วไปบังคับให้คนไทยผ่อนในมูลค่า 100 บาท คนที่เปิดประตูให้เข้ามาชื่อ ทนง พิทยะ ทำไมผมต้องพูดเช่นนี้ เพราะวันที่เศรษฐกิจล่มนั้นพี่น้องครับ นายทนงประกาศออกไปเป็นทางการ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ว่ารัฐบาลไทยจะรับผิดชอบหนี้ทุกก้อนที่ทุกคนติดอยู่เมืองนอก ไม่ว่าจะเป็นไฟแนนซ์ ไม่ว่าจะเป็นแบงก์
      
       การพูดเช่นนี้นอกจากเป็นการแสดงความโง่แล้วยังเป็นการทำร้ายทำลายประเทศชาติ จะรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือรู้เท่าถึงการณ์ไม่สำคัญ สำคัญเท่ากับทำร้ายทำลายประเทศชาติ พี่น้องเวลาผมขอยืมเงินเมืองนอกมา มันเป็นเรื่องแบงก์ต่างชาติกับผมใช่ไหม ทำไมประเทศไทยต้องเสือกมาค้ำประกันหนี้ผมล่ะ เข้าใจหรือยังพี่น้อง ประเทศไทย รัฐบาลไทยจะค้ำประกันหนี้ได้ก้อนเดียว คือหนี้ที่รัฐบาลสร้างขึ้น การรถไฟแห่งประเทศไทยไปกู้หนี้เมืองนอกมา การบินไทยไปกู้หนี้เมืองนอกมา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตไปกู้หนี้เมืองนอกมา รัฐบาลต้องค้ำประกัน แต่ไม่ใช่ไฟแนนซ์ที่ล้มไป 75 แห่ง แบงก์ที่ล้มไป รัฐบาลไปค้ำประกัน หรือว่าคนซึ่งกู้หนี้ยืมสินจากแบงก์ต่างชาติแล้วไปค้ำประกัน การทำเช่นนั้นเกิดอะไรขึ้น การทำเช่นนั้นทำให้ฝรั่งได้ใจ ไม่ยอมประนอมหนี้กับลูกหนี้
      
       ด้วยเหตุนี้ กิจการไฟแนนซ์ถึงล้มกันเป็นแถว ด้วยเหตุนี้ IMF ถึงเข้ามา ด้วยเหตุนี้ถึงมี ปรส.เกิดขึ้น พรรคประชาธิปัตย์ โดยนายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ ได้ออกนโยบายที่เอื้อประโยชน์กับฝรั่งต่างชาติ ซึ่งเป็นผลพวงจากการเปิดประตูให้พวกนั้นเข้ามาโดยฝีมือ นายทนง พิทยะ เพราะว่าถ้าวันนั้นนายทนงไม่ออกมาค้ำประกันหนี้ทุกหนี้ให้กับต่างชาติ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่า ลูกหนี้ซึ่งอยู่ในเมืองไทยก็จะไม่จ่ายหนี้ให้ฝรั่ง ฝรั่งก็ต้องถามว่า เอ็งเป็นหนี้ 100 บาท เกี้ยะเซี้ยกันเท่าไหร่ดี เราก็บอกว่า 100 บาทเอาไป 10 บาท มันก็บอก 20 ได้ไหม เราบอกไม่ได้เอา 15 แล้วกัน เพราะฉะนั้นแล้วธุรกิจก็อยู่ได้ ฝรั่งไม่แคร์มันขอให้หนี้บางส่วน เพราะมันตัดเป็นหนี้สูญไปแล้ว แต่จู่ๆ นายทนงไปบอกว่า รับประกันให้ นี่เป็นความรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือความโง่ หรือว่าตกเป็นเครื่องมือของเขา หรือว่าสมรู้ร่วมคิด เสร็จแล้วพี่น้อง นายทนงบอกว่า การบินไทยนั้นขาดทุน ขาดทุนเพราะว่าการตลาดไม่ดี อะไรๆ ก็ไม่ดี
      
       ผมจะบอกให้พี่น้อง นายทนง พิทยะ อยู่ในช่วงรัฐบาลที่มีการโกงกินมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย นายทนงจะไม่รู้เห็นเป็นใจด้วยสุดแล้วแต่นายทนงพูด แต่ในฐานะที่เป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถ้าคุณบอกคุณไม่รู้ด้วย มีใครเชื่อไหม เพราะฉะนั้นแล้วนายทนงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการโกงชาติ กินบ้านกินเมืองของนายทักษิณ ชินวัตร
      
       พี่น้องครับ ผมจะให้ดูอะไรอย่างหนึ่ง ผมไม่ได้ซี้ซั้วพูด นายทนงพูดเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2547 ยุครัฐบาลชุดทักษิณ ชินวัตร เป็นยุคที่มีการซื้อเครื่องบินมากที่สุด มูลค่าการซื้อเกือบ 2 แสนล้านบาท ซื้อทำไม โดยอ้างเพื่อขยายเส้นทางการบิน แต่เบื้องหลังการซื้อก็เพื่อกินค่าคอมมิชชั่น ฟังให้ดีๆ แผนกลยุทธ์ของการบินไทย ผมจะเอาคำพูดที่สำคัญนะ
      
       "ฉะนั้นในการซื้อเครื่องบินจะต้องอิงกับการใช้เครื่องบินให้นานที่สุด ต้องบินให้ยาว การหยุดจุดใดจุดหนึ่งและต่อไป ต้นทุนสูงมาก ค่าแลนดิ้ง ค่าเติมน้ำมัน ดังนั้นเมื่อสั่งซื้อมาแล้วต้องใช้เครื่องบินที่มีสมรรถนะใหม่ บินจากจุดหนึ่งไปกลับได้ ไม่ต้องพักระหว่างทาง" นายทนงพูดเมื่อ สิงหาคม 2547 ปรากฏว่าพี่น้องครับ หลังจากนั้นอีก 3 เดือน นายทนงชงเรื่องให้ ครม. สั่งซื้อเครื่องบินแอร์บัส 340-500 และ 600
      
       แปลว่าอะไรผมอธิบาย พี่น้องที่ไม่เข้าใจเรื่องเครื่องบิน จะอธิบายให้ฟัง แอร์บัส 340-500 และ 600 เป็นเครื่องบินพิสัยไกล จุคนได้ 210 คนสูงสุด ถามว่ามีสายการบินอื่นไหมที่เขาใช้แอร์บัสนี้ มี มากไหมไม่ค่อยมาก แล้วเขามีบินไหมสิงคโปร์-นิวยอร์ก ฮ่องกง-นิวยอร์ก มี เขาใช้ทั้งแอร์บัสแล้วเขาใช้ทั้งโบอิ้ง ปรากฏว่า ทำไมสิงคโปร์เขาอยู่ได้ สิงคโปร์เขาอยู่ได้เพราะเขาเปลี่ยนแอร์บัสทั้งลำเป็น Business Class หมดเลย เป็นชั้นธุรกิจหมดเลย แล้วคิดราคาแพงกว่าชั้นธรรมดา 5 เท่า เขาอยู่ได้
      
       แต่การบินไทย พี่น้องมันจะซื้อเครื่องบินเพื่อกินค่าคอมมิชชั่น ในยุคนายทนง พิทยะ มันไปสร้างความชอบธรรมในการซื้อเครื่องบินขึ้นมา คือไปสร้างเส้นทางขึ้นมาก่อน มันบอกว่าการขยายเส้นทางปีหน้าของการบินไทยนั้น ต้องบินกรุงเทพฯ-นิวยอร์ก มันพูดเลยนะ เมื่อบินกรุงเทพฯ-นิวยอร์ก แล้ว มันต้องหาเครื่องบินที่บินกรุงเทพฯ-นิวยอร์ก ได้ ก็ในเมื่อแอร์บัสมันระยะไกลบินได้ไกล มันถึงแน่นอน แต่มันไม่ได้ตอบโจทย์ว่าบินไปแล้วขาดทุนหรือกำไร เพราะมันต้องเติมน้ำมันเต็มลำ มันก็บรรจุคนได้ไม่เต็มที่ จาก 210 คน มันบรรจุได้ไม่ถึง 200 คน ไม่ถึง นอกจากนั้นแล้วคาร์โก้ หรือการส่งของ ก็ส่งไม่ได้ เพราะมันบรรทุกหนักไม่ได้ บินถึงแต่ขาดทุน
      
       เขาบอกว่าถ้าจะให้เท่าทุน ต้องจุคนได้ 270-280 คนขึ้นไป นั่นหมายความว่า นั่งเครื่องบินไปแล้วยังต้องเกาะปีกไปอีก แล้วก็ห้อยโหนที่เครื่องบินไปด้วย ถึงจะเท่าทุน พี่น้อง เพราะฉะนั้นแล้วมีหลักฐานให้พ่อแม่พี่น้องดูหมด ดูยังไง ดูว่าพอมันสร้างเงื่อนไขการซื้อเครื่องบิน มันสร้างเงื่อนไขยังไงรู้ไหม
      
       ผู้จัดการฝ่ายวางแผนจะต้องพิจารณาว่า ถ้าบินกรุงเทพฯ-นิวยอร์ก แล้วซื้อเครื่องบินไอ้บ้า 2 ยี่ห้อเนี่ย แอร์บัส 340-500 และ 340-600 มันไปได้ไหม ไอ้ผู้จัดการฝ่ายวางแผนคนเก่ามันบอกว่า ทำแล้วเจ๊ง อ้าวฉิบหายสิ แล้วทำยังไงล่ะ ถ้ามันเขียนว่าทำแล้วเจ๊งส่งขึ้นมา มันก็ซื้อไม่ได้สิ ก็ย้ายแม่งไปเลย ไปวางแผนเรื่องการสร้างส้วมให้กับการบินไทย นี่ยกตัวอย่างให้ฟัง ก็ไปถามไอ้คนที่อยากเป็นผู้จัดการฝ่ายวางแผน บอกอยากเป็นไหม ไอ้นี่ก็บอกว่าอยากเป็น อยากเป็นมึงเขียนให้หน่อยได้ไหม ว่าแอร์บัส 340-500 และ 340-600 ที่จะซื้อมา ถ้าบินนิวยอร์กมันมีกำไร
      
       เหมือนอะไรรู้ไหมพี่น้อง เหมือนไอ้รองอธิบดี กับอธิบดีกรมสรรพากร ใช่ไหม อยากเป็นอธิบดีไหม อยากเป็น มึงยกภาษีให้กูหน่อยได้ไหม เห็นไหม มันก็มีคนโง่ ยอมทำตามสิ่งที่ไอ้พวกบอร์ดการบินไทยมันต้องการ เพื่อทำมาหารับประทานกัน ก็เขียนแผนให้ ก็ปรากฏว่าแผนเขียนซะสวยหรู เขียนว่าบินแล้วมีกำไร พี่น้อง นี่คือความชอบธรรมที่เขาสร้างมา แล้วก็เอาแผนอันนี้เข้าประชุมคณะกรรมการ คณะกรรมการก็บอกว่า ในเมื่อฝ่ายวางแผนเขาบอกว่าทำแล้วมีกำไรก็ควรจะซื้อ เอ้าพิสูจน์มาแล้วนี่ ฝ่ายวางแผน ไอ้บ้านั่นเพียงแต่อยากเป็นผู้จัดการฝ่ายวางแผน มันไม่สนบริษัทจะเจ๊ง ประเทศจะเจ๊ง ช่างหัวมารดามัน ขอให้กูได้เป็นผู้จัดการ ไอ้ข้างบนที่นักการเมืองส่งเข้ามา กูไม่สนใจ กูขอให้กูได้คอมมิชชั่น ทำไมต้องเป็น 340-500 /-600 เพราะว่าการซื้อเครื่องบินนั้นเขามีมาตรฐานการให้ค่าคอมมิชชั่นตายตัว 3 เปอร์เซ็นต์ ทั่วโลก โบอิ้งก็ให้ 3 เปอร์เซ็นต์ แอร์บัสก็ให้ 3 เปอร์เซ็นต์
      
       3 เปอร์เซ็นต์ เอเย่นต์ได้มา เอเย่นต์ได้มาจะแบ่งให้คนซื้อ 2 เปอร์เซ็นต์ หรือ 2 เปอร์เซ็นต์ครึ่ง แล้วเก็บไว้ครึ่งเปอร์เซ็นต์ เป็นเรื่องธรรมดา แต่เมืองไทยไอ้ 3 เปอร์เซ็นต์นี้ไม่เคยคืนกลับมาหาประเทศไทย ไอ้ 3 เปอร์เซ็นต์บ้านี่มันไปเข้ากระเป๋านักการเมือง
      
       พี่น้อง เกือบ 2 แสนล้านบาทของค่าเครื่องบิน 3 เปอร์เซ็นต์ ก็คือ 6,000 ล้าน ใช่ไหม มันเข้ากระเป๋าหมาตัวไหน ก็รู้ๆ กันอยู่แล้ว ต้องพูดให้พี่น้องฟังก่อน แต่ว่ายังไม่จบเพียงแค่นั้น เผอิญไอ้เครื่องบินตัวนี้มันเป็นเครื่องบินที่ขายไม่ออก พี่น้องเข้าใจหรือเปล่า เวลาของขายไม่ออก พี่น้องลดราคาของไหม เหมือนกัน เพราะฉะนั้นแล้วคอมมิชชั่นไอ้เครื่องบ้านี่มันไม่ใช่ 3 เปอร์เซ็นต์ พี่น้อง มัน 10 เปอร์เซ็นต์ เขารู้กันให้หมด นี่คือวิธีการ พอมันซื้อขึ้นมา มันก็เปิดตัวบินกรุงเทพฯ-นิวยอร์ก พานักข่าวไปที่นิวยอร์ก ไอ้พวกกัปตันบางคนก็ไปเหมาโรงแรมที่นิวยอร์ก เอามาเซ็นสัญญากับการบินไทยให้ลูกเรือไปพักที่นั่น คือมันทำมาหารับประทานกันตั้งแต่ระดับล่างขึ้นไป จนกระทั่งกัปตันบางคนที่ขับเครื่องบิน ไปจนถึงคนที่นั่งอยู่ในกรรมการ ซึ่งมาจากทางการเมือง
      
       พี่น้องฟังให้ดีๆ นะ ด้วยเหตุนี้ พอทนงไม่อยู่ พอเปลี่ยนแปลง ก็มีกรรมการผู้จัดการคนใหม่เข้ามา อ้าวฉิบหาย บินไปบินมา 2 ปีกว่าเองพี่น้อง ขาดทุนไป 7,000 กว่าล้าน ก็ไหนคุณบอกว่ากำไรไง แล้วทำไมขาดทุนไป 7,000 กว่าล้าน แล้วยืนยันโดยผู้บริหารระดับสูงของการบินไทย อดีตกรรมการผู้จัดการ อภินันท์ บอกว่าบินแล้วขาดทุน ต้องปิด แล้วเขาแก้ยังไงรู้ไหม เขาแก้ด้วยการบอกว่า พี่น้อง เขาแก้ด้วยการบอกว่า ถ้าจะให้ดีมันต้องแวะสักแห่งหนึ่ง โอซากา ที่ญี่ปุ่น แล้วค่อยบินต่อ มันพูดอย่างนี้ เมื่อมันพูดอย่างนี้แล้ว ผมก็เลยจะทวนคำพูดของนายทนงที่พูดเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ที่ผมอ่านให้พี่น้องฟังเมื่อกี้
      
       กรรมการผู้จัดการการบินไทยพูดบอกว่า ถ้าจะให้อยู่รอดต้องแวะตรงกลาง แล้วก็ค่อยบินต่อไป แต่นายทนงพูดเมื่อสิงหาคม 2547 ฉะนั้นในการซื้อเครื่องบินจะต้องอิงกับการใช้เครื่องบินให้นานที่สุด ต้องบินให้ยาว การหยุดจุดใดจุดหนึ่งและต่อไปต้นทุนสูงมาก ตกลงพวกมึงนี่ใครโง่หรือใครฉลาดกันแน่วะ เห็นหรือยังพี่น้อง
      
       พี่น้อง นายทนงบอกว่ามีการคอร์รัปชั่นในการบินไทย การตลาดในการบินไทย คำถามมีอยู่ว่า คุณเป็นประธานกรรมการการบินไทยมาตั้งนานทำไมคุณไม่แก้ปัญหาคอร์รัปชั่น แล้วคุณมาเสือกพูดเอาดีใส่ตัวแล้วมาโทษพันธมิตรฯ ว่าปิดสนามบินทำให้การบินไทยเจ๊ง
      
       พี่น้อง ส้มใบหนึ่งที่ขึ้นไปบนเครื่องการบินไทยมันแพงกว่าส้มใบเดียวกันที่ขึ้น สิงคโปร์แอร์ไลน์ คาเธ่ย์แปซิฟิก อีวีเอ กระดาษเช็ดก้น 1 ม้วนที่ขึ้นเครื่องการบินไทยก็แพงกว่ากระดาษเช็ดก้น 1 ม้วนที่ขึ้นสายการบินอื่น ทุกอย่างที่ขึ้นบนเครื่องการบินไทยแพงกว่าทุกอย่างที่ขึ้นเครื่องสายการบิน อื่น เครื่องบินเสือกซื้อแพงกว่าเขา เสียค่าคอมมิชชั่นมากกว่าเขา มันโกงกันทุกระดับ ระดับเล็กโกงเล็ก ระดับใหญ่ กลางโกงกลาง ระดับใหญ่โกงใหญ่ ระดับนักการเมืองโกงแบบเชี่ยๆ เลย มันโกงมาตลอดพี่น้อง มันโกงมาตลอดพี่น้อง
      
       นอกจากโกงมาตลอดแล้ว ซื้อเครื่องบินก็ซื้อเพื่อหวังคอมมิชชั่นไม่ใช่ซื้อเครื่องบินที่เหมาะในการ ใช้ในการบิน ใครให้คอมมิชชั่นสูงรับคนนั้น จะมีนักวิ่งเต้นคน ชื่อนายเต๋า ตัวแทนแอร์บัส ไอ้หมอนี่วิ่งเข้าระบอบทักษิณ วิ่งเข้าทนง พิทยะ วิ่งเข้าทุกคน วิ่งเข้าจนกระทั่งปัจจุบัน ไอ้หมอนี่เป็นคนเอาแอร์บัส 340-500 และ 600 มาขาย
      
       และพี่น้องรู้ไหมที่น่าเจ็บปวด การบินไทยขาดทุนมาตั้งหลายปีแล้ว แล้วบอกมีกำไร กำไรจากไหนพี่น้องรู้รึเปล่า มันเอาเครื่องบินเก่าไปขาย ขายได้ทรัพย์สินมันก็เอารายได้จากทรัพย์สินมาลงบัญชีว่าเป็นรายได้ถึงมีกำไร ไงพี่น้อง แล้วทำไมปีที่แล้วขาดทุนพี่น้องรู้รึเปล่า เพราะว่าแอร์บัส 340-500 และ 600 มันพยายามขาย ไม่มีใครซื้อ
      
       ความเลวของผู้บริหารการบินไทยเลวมากกว่านี้อีก เพิ่งสั่งซื้อแอร์บัส 330 ใหม่ ที่มีเรื่องมีราวอีก 6 ลำหรือ 8 ลำจำไม่ได้ ที่วางมัดจำไปแล้วแล้วเขาจะส่งเครื่องบินแล้วไม่มีเงินให้ พี่น้องรู้ไหมทำไมซื้อลำนี้ เพราะว่านายหน้าที่ชื่อ นายเต๋า เที่ยวหว่านเงินไป ผู้บริหารในการบินไทยกับผู้บริหารที่อยู่ในบอร์ด เหมือนหมาที่หิวโซ รับเงินกัน แล้วแอร์บัส 330 พี่น้องรู้ไหม เข้าอีหรอบเดิมกับแอร์บัส 340-500 และ 600 คือว่าไม่มีใครเขาสั่งซื้ออีกแล้วพี่น้อง
      
       นี่คือความเป็นตะกวดหางแดงของพวกที่ทำงานระดับสูงๆ ในการบินไทย ตำแหน่งเต็มไปหมดเลยพี่น้อง มันแข่งกันเลื่อนตำแหน่ง เพื่ออะไรรู้ไหม เพื่อเลื่อนแล้วได้สิทธิ์พิเศษมาพร้อมตำแหน่ง จากพนักงานธรรมดากลายเป็นไดเร็กเตอร์ พอเป็นไดเร็กเตอร์นั่งเฟิสต์คลาสได้ พอเป็นวีไอพีนั่งเฟิสต์คลาสพาเมียไปได้ พอเป็นผู้จัดการ ผู้จัดการอาวุโส รองผู้จัดการ แล้วกำลังจะตั้งตำแหน่งใหม่ รองผู้จัดการอาวุโส อีกหน่อยคงจะตั้งอีก รองผู้จัดการแก่เฒ่า ไม่ได้คิดอะไรเลย ไม่ได้คิดเพื่อการบินไทย ไม่ได้คิดเพื่อพนักงาน ไม่ได้คิดเพื่อประเทศชาติ คิดเฉพาะตัวของมันเองเท่านั้นเอง แล้วพอขาดทุนก็ผ่องภาระไปให้พนักงาน ไปตัดอันโน้นตัดอันนี้
      
       พี่น้องขึ้นเครื่องการบินไทย ผมเป็นคนรักษาความสะอาด เวลาผมเข้าห้องน้ำผมใช้อ่างน้ำ น้ำมีหยดอยู่ ผมจะดึงกระดาษแล้วเช็ดให้เขา พ่อแม่สอนมาอย่างนี้ ผมดึงกระดาษซับน้ำเช็ด พี่น้องครับกระดาษมันไม่ซับน้ำ พี่น้อง เห็นหรือยังพี่น้องนี่แค่ของในห้องส้วมมันยังโกงกันแม้กระทั่งกระดาษที่เอา มาเช็ดน้ำ มันโกงหมด มันโกงตั้งแต่กระดาษเช็ดตูดไปจนถึงเครื่องบิน แล้วมันจะอยู่ได้ยังไง เวลาการทำมาค้าขาย ต้นทุนสินค้าสำคัญที่สุด ส้ม ดอกไม้ กระดาษ ผ้าห่ม บวกไปจนถึงเครื่องบินแพงกว่าเจ้าอื่นแล้วจะสู้เขาได้อย่างไร
      
       แล้วปัญหานี้มันแก้ไม่ได้ มันแก้ได้ยังไง บินจุดๆ หนึ่งไปสู่จุดๆ หนึ่ง เทียบกับสายการบินอื่นบินเหมือนกันทำไมตั๋วเราแพงกว่าเป็นหมื่น พี่น้องก็รู้ ตั๋วการบินไทยแพงที่สุด พอแพงที่สุด โทรศัพท์ไปจองบอกว่าเต็ม โทรไปบอกเต็ม พอขึ้นเครื่องว่างหมดทั้งลำ ทำไมรู้ไหมพี่น้องเพราะว่ากินกันเป็นกระบวนการในการบินไทยกับเอเย่นต์ขาย ตั๋วที่อยู่ต่างประเทศ มันบล็อกที่เอาไว้ ลดราคากันแหลกเพื่อให้เอเย่นต์กำไรเยอะๆ การบินไทยเป็นสายการบินเดียวใน 2 สายการบินในโลกนี้ที่ยังใช้ระบบเอเย่นต์อยู่ นอกนั้นเขาไม่ใช้ระบบเอเย่นต์อีกต่อไปแล้ว พี่น้องบอก ซื้อตั๋วผ่านอินเทอร์เน็ตแล้วถูก กลายเป็นว่า ซื้อตั๋วผ่านอินเทอร์เน็ตแพงฉิบหาย
      
       มีอะไรบ้าง ผู้บริหารการบินไทยระดับสูงๆ ที่กินเงินเดือนกันเป็นแสน ทำอะไรบ้างวันๆ นอกจากเดินสะบัดก้นใส่เสื้อนอกผูกเนคไท ขอยืมคำพูดของ เยส โนโคคาโคล่าแอ็คอาร์ท เห็นหรือยังพี่น้อง แล้วเรื่องนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดมันเกิดมานานแล้ว แล้วเกิดสมัยที่นายทนงเป็นประธานกรรมการบริษัท การบินไทย ทำไมไม่แก้ แล้วทะลึ่งมาพูดบอกว่าการบินไทยที่เจ๊งเพราะพันธมิตรฯ ปิดสนามบิน
      
       ยังมีอีกพี่น้อง บอร์ดการบินไทยชุดนี้เป็นบอร์ดเฮงซวย ผมจะพูดให้ฟัง ไม่โปร่งใส นายพิชัยกรรมการการบินไทย ซึ่งอยู่ ปตท. เป็นกรรมการ มันออกมาให้สัมภาษณ์ ว่าการซึ่งพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ปิดสนามบิน ทำให้การบินไทยขาดทุน ผมจะบอกให้รู้ ต้องเล่นงานไอ้นายพิชัย เอามันติดคุก เพราะทำไมรู้ไหม เพราะว่าบอร์ดการบินไทย ด้วยการพูดจาของนายพิชัยจาก ปตท.มันบอกว่าน้ำมันจะขึ้นถึง 200 เหรียญต่อบาร์เรล เพราะฉะนั้นไปซื้อตั๋วน้ำมันล่วงหน้าในราคา 140 เหรียญ แล้ววันนี้น้ำมันเหลือ 40 เหรียญ การบินไทยก็ยังจ่ายน้ำมันในราคา 140 เหรียญอยู่พี่น้อง
      
       นี่ไง ในบอร์ดมีคนอย่างนายวิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหารธนาคารไทยพาณิชย์ พวกคุณไม่รู้จักคำว่าโปร่งใส ธรรมาภิบาลเหรอ บริษัทคุณอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ คุณขาดทุนจากการเล่นตั๋วน้ำมัน คุณต้องแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ใช่ไหม ทำไมคุณไม่พูดสักคำ คุณขาดทุนเท่าไรคุณบอกมาสิ แอร์ไชน่า ไชน่าอีสเทิร์นแอร์ไลน์ ไชน่าเซาเทิร์นแอร์ไลน์ ของประเทศจีน แต่เขาอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ที่ฮ่องกง เขาเล่นตั๋วน้ำมัน เขาขาดทุนไป 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เขาก็ต้องแจ้งตลาดหลักทรัพย์ แต่เมืองไทยมันนอกจากไม่แจ้ง มันเอาซุกก้นมันแล้ว มันยังบอกว่าการบินไทยขาดทุนเพราะพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยปิดสนาม บิน
      
       เห็นหรือยังพี่น้อง ออกมาเถียงกับผมสิ คุณขาดทุนเพราะคุณไปเก็งกำไรล่วงหน้า ขาดทุน ทำให้การบินไทยขาดทุนเละเทะ ทำไมคุณไม่บอกผู้ถือหุ้น คุณไม่มีธรรมาภิบาล บอกออกมาเลยว่าคุณขาดทุนจากการซื้อตั๋วน้ำมันเป็นจำนวนเงินเท่าไร และคุณจะต้องซื้อตั๋วน้ำมันในราคา 140 เหรียญต่อ 1 ถัง อีกกี่เดือนข้างหน้า
      
       พี่น้องเห็นความชั่วของมันหรือยัง ผมต้องออกมาพูดวันนี้ ออกมาฉีกหน้ากากไอ้พวกผู้บริหารระดับสูงของการบินไทยและกรรมการของการบินไทย แล้วนายทนงยังทะลึ่งไปว่าประธานสหภาพการบินไทย ว่าไม่รู้ข้อมูล ผมไม่รู้ คุณทนง คุณบอกผมหน่อยซิ ผมได้ข่าวว่ามันมีคนๆ หนึ่งไปซื้อบ้านที่ดูไบไว้วงเงิน 400 ล้านบาท คนนั้นใครวะ ช่วยบอกหน่อยได้ไหม แล้วมีการบินอยู่ที่เมืองนอก มีเครื่องบิน เช่าเครื่องบินส่วนตัว G-5 บิน บอกหน่อยได้ไหมทนง ว่าใคร เขาเรียกว่าอยู่ดีๆ คนกำลังจะลืมมึงอยู่แล้ว คงได้รับการเสนอให้มาเป็นประธานบอร์ดการบินไทยสิ ก็เลยกลับมาโชว์พาวร์ หารู้ไม่ว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยรอคิดบัญชีมึงอยู่
      
       พี่น้องชาวการบินไทยที่รักความเป็นธรรม ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่พวกคุณบางคนหายโง่เสียที ไม่ต้องมาด่าพวกเสื้อเหลือง เหลือบกินคุณจนกระทั่งคุณหนังหัวจะไม่เหลืออยู่แล้ว คุณยังมานั่งด่าเสื้อเหลืองอีก ไอ้พวกที่โง่ๆ ทั้งหลายน่ะ ที่บอกว่าพันธมิตรฯ นี่ตัวป่วน ตัววุ่น โทษสถานเบานี่เขกกบาลตัวเองเสียก่อน จะได้หายโง่ เขาโกงกินบริษัทคุณ ลำพังแค่เรื่องแอร์บัส 340-500/-600 บินนิวยอร์ก แล้วยกเลิกไป นิวยอร์กบินตรง และลอสเเองเจลิสบินตรง พี่น้องชาวการบินไทยขาดทุนไป 7,000 กว่าล้านบาท พวกคุณไม่มีใครสักคนเลยเหรอที่จะเรียกความรับผิดชอบจากผู้บริหารคุณและคณะ กรรมการบริษัท ไม่มีเลยเหรอ มีปัญญาอย่างเดียวใช่ไหม มานั่งด่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยน่ะ
      
       พี่น้องรู้ไหม หนังสือพิมพ์ ASTVผู้จัดการ เป็นหนังสือพิมพ์ฉบับเดียว ที่ขึ้นเครื่องการบินไทยถูกสั่งให้เอาลง ได้ขึ้นเครื่อง ถูกสั่งให้เอาลง ตั้ง 4-5 รอบ ฉบับอื่นไม่มี เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเรากล้าพูดความจริง ฉบับอื่นพอมาถึงการบินไทย แบ๊ะๆๆๆ หมด ไม่มี เคยเห็นไหมไอ้พวกช่อง 3 5 7 9 11 ตลอดจน TPBS เคยรายงานข่าวการบินไทย วิเคราะห์แบบที่เราวิเคราะห์อย่างนี้ไหม ไม่มี
      
       และไม่ต้องเสือกเอาหนังสือพิมพ์ ASTVผู้จัดการ ขึ้นการบินไทยอีกนะ เพราะว่าผมสั่งเด็ดขาดแล้ว คุณอยากเอาขึ้น ผมก็ไม่ให้ขึ้น คนอย่างพวกคุณไม่มีวุฒิภาวะพอที่จะมาอ่านหนังสือพิมพ์ดีๆ แบบนี้ พี่น้องเห็นหรือยัง นี่ไงครอบครัวพันธมิตรฯ ทนไม่ได้กับความอยุติธรรม ทนไม่ได้กับการโกงชาติ กินบ้านกินเมืองพี่น้อง มันเป็นไปได้ยังไง ขาดทุนไป 7,000 กว่าล้าน จากการบินกรุงเทพฯ-นิวยอร์ก ไม่มีใครต้องรับผิดชอบเลย แล้วไอ้ผู้จัดการฝ่ายวางแผนที่มึงเขียนบอกว่ากำไร วันนี้ฉิบหายไป ทำไมไม่ถลกหนังหัวมันออกมาล่ะ เห็นหรือยัง
      
       พี่น้องนั่งเครื่องบินลงมา ถึงกรุงเทพฯ ก่อนลงจำได้ไหมที่เขาประกาศ การบินไทยได้ให้บริการการขนส่งผู้โดยสาร สำหรับท่านที่ต้องการที่จะขึ้นรถไฟฟ้าใต้ดิน เรามีรถบริการท่านไปส่งสถานีที่ลาดพร้าว นึกออกไหม จำได้หรือเปล่าพี่น้อง พี่น้องรู้ไหม มันลงทุนไป 200 กว่าล้านบาท เฉลี่ยคนใช้บริการวันละ 20 คน นี่ไงการทำงานของการบินไทย การทำงานของฝ่ายการตลาดการบินไทย เห็นหรือยังพี่น้อง มันไม่ฉิบหายวันนี้แล้วมันจะฉิบหายวันไหนล่ะ
      
       ผมสงสารพนักงานการบินไทยที่ตั้งใจทำงาน รักบริษัท โอบอุ้มบริษัท สมัยหนึ่งคนพวกนี้ต้องทนทำงานหนักหนาสาหัสยังไงเขาก็ยอมเพื่อบริษัทการบิน ไทย แต่วันนี้มันไม่มีเหลือแล้ว เหลือน้อยมาก มันเหมือนสังคมไทยทุกวันนี้จังเลย การบินไทยคือแบบจำลองการเมืองเก่าที่เห็นได้ชัด พี่น้องครับ
      
       **การท่าอากาศยานฯ ก็เน่า
      
       เพราะฉะนั้นพี่น้องจะเห็นได้ชัดเลยว่า เราแตะไปที่ไหนก็เน่าที่นั่น เหมือนการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย พี่น้องรู้ไหม มันอ้างว่ากำไรปีนี้ กำไรตรงไหน ไปเอาเงินค้ำประกันที่คิงเพาเวอร์ทิ้งไว้ให้เอามาลงบัญชีว่าเป็นรายได้ถึงมี กำไร แล้วบริษัทขาดทุนยังหน้าด้านพอที่จะจ่ายเงินโบนัสกรรมการอีกคนละ 1.3 ล้านบาท แล้วก็โกหกหน้าด้านๆ ว่าเราเป็นคนปิดสนามบิน เราไม่ได้ปิดสนามบิน เราอยู่ข้างนอกสนามบิน เราประท้วงรัฐบาล เราไม่ได้เข้าไปแล้วไม่ให้เขาไม่ทำงาน คนที่เขาทำงานอยู่ข้างในเขายังยืนยันว่าวันที่เราเข้าไปนั้นถ้ายังให้บริการ อยู่เครื่องบินก็ขึ้นได้ลงได้ตามปกติ อาจจะมีความไม่สะดวกของประชาชนที่กำลังจะเดินทาง แต่ถ้าเป็นเช่นนั้นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยพร้อมจะเปิดทางให้รถที่ ไปส่งผู้โดยสารให้ลงได้ แต่มันจงใจปิด สั่งให้หยุดทั้งๆ ที่เครื่องพร้อมจะออก เช็กอินเรียบร้อยแล้ว
      
       นายเสรีรัตน์ คู่เขยของนายวีระ มุสิกพงศ์ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นคนสั่งให้ปิด เพื่ออะไร เพื่อทำให้ดูว่าเรานั้นเป็นตัวการที่ทำให้สนามบินไม่สามารถทำงานได้ ดูความชั่ว คนเราถ้ามันชั่วมันก็ชั่วได้หมด การบินไทยก็มีคนชั่วๆ การท่าอากาศยานก็มีคนชั่วๆ เช่นกันพี่น้อง ทนง พิทยะ ได้ข่าวว่าคุณกับนายวิชัย รักศรีอักษร คิงเพาเวอร์ สนิทสนมกันอิบหายเลยไม่ใช่เหรอ ไม่รู้คุณค้าขายอะไรกัน แต่รู้สึกว่าคุณ 2 คนรักใคร่อุ้มชูซึ่งกันและกันยิ่งกว่าคู่แฝดสยามอิน-จันซะอีก คุณทำอะไรคุณอย่านึกว่าประชาชนไม่รู้ ประชาชนเขาต้องรู้เพราะว่าผมรู้ เมื่อผมรู้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเขาก็รู้ พี่น้องครับ วันนี้เราเอาการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย เล็กๆ น้อยๆ การบินไทยเยอะหน่อย เอามาชี้ให้พ่อแม่พี่น้องเห็น


เทียบกันเอาเองครับ

Tags : คำต่อคำ ทนง พิทยะ เปิดใจ 15 ปี วิกฤติ 2540 บุญคุณต้องทดแทน ต้องเข้าใจว่า ผมเป็นลูกจ้างของนายกทักษิณ

view