จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ทนงศักดิ์ วัฒนบวรกุล
นโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ที่จะบังคับใช้ทั่วประเทศในวันที่ 1 ม.ค. 2556
โดยเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าเมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา คณะกรรมการค่าจ้างกลาง หรือบอร์ดค่าจ้าง ได้มีมติให้ปรับขึ้นค่าจ่างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ใน 70 จังหวัด โดยให้เริ่มมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ปี 2556 เป็นต้นไป และให้คงอัตราค่าจ้าง 300 บาทนี้ออกไปอีกเป็นเวลา 2 ปี ตั้งแต่ปี 2557-2558 จากที่ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่1 เม.ย.ที่ผ่านมาเพิ่งมีการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาทใน 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม ภูเก็ต สรุปว่าหลังปีใหม่ที่จะถึงนี้ ฐานค่าจ้างขั้นต่ำจะปรับขึ้นมาเท่ากันทั่วประเทศ
ทั้งนี้เมื่อดูปัจจัยพื้นฐานที่สนับสนุนให้บอร์ดค่าจ้างมีมติปรับขึ้นค่าจ้างรอบนี้ นพ.สมเกียรติ์ ฉายะศรีวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานบอร์ดค่าจ้างให้เหตุผลว่าได้มีการติดตามสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และแรงงาน รวมทั้งข้อมูลสถานการณ์หลังจากที่ได้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทตั้งแต่รอบแรกพบว่า ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ อีกทั้งเศรษฐกิจยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาส 2 มีการขยายตัวถึง 4.2% สะท้อนถึงการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น และยังไม่รวมถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งดูจากช่วง 7 เดือนแรกปีนี้พบว่ามีโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เพิ่มขึ้นถึง 38% คิดเป็นเงินลงทุนรวม 3.3 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อไม่ได้สูงขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้คือเฉลี่ย 7 เดือนอยู่ที่ 2.92% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 3.3-3.8% ส่วนอัตราการว่างงานก็ยังอยู่ในระดับปกติที่ 0.8% และปัญหาการเลิกจ้างยังคงที่ โดยข้อมูลชี้ว่ามีสถานประกอบการเพียง 2 แห่งเท่านั้นที่ปิดกิจการ มีการเลิกจ้าง 144 คน ขณะที่ผลสำรวจของกระทรวงแรงงาน และหอการค้าไทยพบว่าผู้ประกอบการ กว่า 90% สามารถปรับตัวได้ และที่สำคัญไม่พบว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทส่งผลกระทบต่อขีดแข่งขันโดยรวมของประเทศ อีกทั้งช่วยลดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของประชาชนด้วย
ทว่าจากปัจจัยพื้นฐานดังกล่าวกลับสวนทางจากมุมมองของทางฝ่ายลูกจ้าง ล่าสุดมองว่าผู้ที่ได้อานิสงค์จากการปรับขึ้นค่าจ้าง ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างที่เพิ่งเข้าทำงานซึ่่งมีประมาณ 1 ล้านคน ขณะที่ลูกจ้างรายเก่าที่มีกว่า 10 ล้านคนไม่ได้รับประโยชน์ ซึ่งมันคือความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคม ที่สำคัญไปกว่านั้นรัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นได้ เห็นได้จากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำรอบแรกส่งผลให้ราคาสินค้าปรับตัวพุ่งขึ้นทันที กลายเป็นว่าลูกจ้างเสียผลประโยชน์มากกว่าได้ประโยชน์ ค่าจ้างเพิ่มขึ้นจริง แต่ค่าของเงินลดลง ขณะที่สภาพความเป็นอยู่ของลูกจ้างเก่าที่ไม่ได้ปรับค่าจ้างต้องรับสภาพกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ประเด็นที่ต้องจับตาหลังจากนี้ เมื่อบอร์ดค่าจ้างประกาศออกมาแล้ว คราวนี้ปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาททั้ง 70 จังหวัด ไม่ใช่แค่ 7 จังหวัด ซึ่งหากดูฐานค่าจ้างในบางจังหวัดปรับเพิ่มเกือบ 100% ถามว่าอะไรจะเกิดขึ้น ผลกระทบทางด้านจิตวิทยาที่มีต่อราคาสินค้าจะเป็นอย่างไร จะมีการปรับราคาขึ้นราคาสินค้าอีกระลอกหรือไม่
เป็นความกังวลของฝ่ายลูกจ้างส่วนใหญ่ที่เขาอยากให้รัฐบาลเข้ามาควบคุมหรือจัดการกับปัญหานี้ให้ได้ เพราะสุดท้ายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท อาจจะเป็นทุกขลาภของตัวแรงงานเองที่นอกจากต้องเผชิญกับการถูกเลิกจ้างแล้ว แถมค่าเงินในกระเป๋าก็ลดลงด้วย
สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน