จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ ช่วยกันคิด
โดย ดร.นิตินัย ศิริสมรรถการ กก.ผอ.สถาบันอนาคตไทยศึกษา
หนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2555 อยู่ที่ 4.9 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 44.2 ของ GDP เพิ่มขึ้นราว 6.2 แสนล้านบาทในระยะเวลา 1 ปี ซึ่งกระทรวงการคลังคาดว่า สิ้นปีงบประมาณ 2556 สัดส่วนหนี้สาธารณะ/GDP จะเพิ่มขึ้นเป็น 47.5% โดยสัดส่วนดังกล่าวจะสูงสุด ณ ปี 2558 ที่ระดับ 48.5% และค่อย ๆ ลดลงในปีถัดมาหนี้จำนวน 4.9 ล้านล้านบาทนี้ มากหรือน้อยครับ ?
ถ้าเอาหนี้ทั้งก้อนมาหารเฉลี่ยต่อจำนวนประชากร พบว่าคนไทยเราเกิดมาก็มีหนี้คนละกว่า 7 หมื่นบาท ก็ดูมาก ถ้าเอาหนี้เฉพาะที่เพิ่มขึ้นปีที่ผ่านมามาหารเฉลี่ย แล้วพูดว่าปีก่อนรัฐบาลเพิ่มหนี้ให้เราปีเดียวประมาณคนละ 1 หมื่นบาทก็ดูน่าตกใจ หรือถ้าหันไปมองประเทศอย่างโอมาน หรือมาดากัสการ์ ที่เขามีหนี้เพียงราว 5% ของ GDP ก็ดูว่าหนี้เรามากเช่นกัน
แต่ถ้าหันไปดูประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา ที่มีหนี้สาธารณะระดับราว 100% ของ GDP หรือญี่ปุ่นที่ราว 230% ของ GDP เราก็อาจใจชื้นได้ว่าหนี้เรายังไม่มาก
หลายท่านจึงมีข้อสงสัยว่า สรุปแล้วหนี้เรามากหรือไม่
ฝั่งหนึ่งบอกว่า หนี้จำนวนมากแล้วจะกู้อะไรกันอีก อีกฝั่งหนึ่งก็บอกว่า รัฐบาลยังมีความจำเป็นต้องกู้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ...จริง ๆ แล้วการกู้เงินหรือการมีหนี้ไม่ใช่ประเด็น ถ้าผมกู้เงินไปทำกิจการแล้วกิจการรุ่งเรืองก็นับเป็นเรื่องที่ดี แต่ในทางกลับกันแม้ผมจะใช้เงินเก็บส่วนตัว แต่นำไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ใช้จ่ายอะไรที่ไม่เกิดผลดีในระยะยาว อันนี้แม้จะไม่ได้กู้ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีใช่ไหมครับ ?
...ผมกำลังจะบอกว่า การกู้เงินไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่เราต้องดูว่าเรากู้ไปทำอะไร และมีการบริหารจัดการหนี้ที่มีอยู่กันอย่างไรมากกว่า
เรื่อง "กู้ไปทำอะไร" หลาย ๆ ท่านคงติดตามข่าวนโยบายของรัฐบาลกันพอสมควรแล้ว ซึ่งผมขออนุญาตไม่หยิบยกมากล่าวกันในวันนี้ แต่วันนี้มาดูกันครับว่า ปีงบประมาณ 2556 รัฐบาลเขามีแผนบริหารจัดการหนี้กันอย่างไร
สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) มีแนวทางการบริหารความเสี่ยงปี 2556 สำหรับหนี้ในประเทศ 2 ข้อ คือ 1.การกู้เงินใหม่เพื่อชำระหนี้เงินกู้เดิม จะดำเนินการก็ต่อเมื่ออัตราดอกเบี้ยลอยตัวเดิม
สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยคงที่ในตลาดที่มีอายุเท่ากัน หรือในกรณีที่ดอกเบี้ยคงที่ในตลาดมีระดับต่ำ 2.การแปลงภาระดอกเบี้ยคงที่เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว จะดำเนินการก็ต่อเมื่ออัตราดอกเบี้ยคงที่เดิมมีค่าสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยลอยตัวในตลาดที่มีอายุเฉลี่ยเท่ากัน...
พูดง่าย ๆ คือ ไม่ว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนหนี้จากลอยตัวเป็นคงที่ หรือจากคงที่เป็นลอยตัว รัฐจะพิจารณาว่าดอกเบี้ยอันไหน "ถูกกว่ากัน"
กรณีนี้รัฐจะเป็นผู้กู้ และส่วนใหญ่ก็คือธนาคารพาณิชย์ที่จะเป็นผู้ให้กู้...แล้วเมื่อไหร่หรือครับที่อัตราดอกเบี้ยลอยตัวจะต่ำกว่าดอกเบี้ยคงที่ ?
ถ้าผู้ให้กู้คิดว่าดอกเบี้ยจะมีทิศทางขาขึ้น วันนี้เขาก็จะไม่อยากให้ใครกู้คงที่ เพราะถ้ากู้คงที่วันนี้ 5% พรุ่งนี้ดอกเบี้ยลอยตัวขึ้นไปเป็น 6% ผู้ให้กู้ก็ยังได้คงที่แค่ 5% ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องดีสำหรับเขา...แล้วทำอย่างไรถ้าเขาไม่อยากให้ใครกู้คงที่...เขาก็ต้องเอาดอกเบี้ยลอยตัวในอัตราที่ต่ำกว่ามาล่อ ให้คนกู้ (รัฐบาล) กู้ในอัตราถูก ๆ ในวันนี้ เพื่อที่จะได้ลอยตัวขึ้น ๆ แล้วได้อัตราแพง ๆ ในวันหน้า
มาดูครับ...ถ้าดอกเบี้ยลอยตัวต่ำกว่าดอกเบี้ยคงที่ รัฐบาลเขาจะทำอย่างไร...
คำตอบมีในแผนการบริหารความเสี่ยงข้อ 2 รัฐจะแปลงหนี้จากดอกเบี้ยคงที่เป็นแบบลอยตัว...ซึ่งเข้าทางผู้ให้กู้หรือธนาคารพาณิชย์เลย พอแปลงเป็นลอยตัวแล้ว ดอกเบี้ยที่รัฐต้องรับภาระแม้จะต่ำกว่า
ในช่วงแรก แต่ภาระดอกเบี้ยก็จะลอยขึ้นไปเรื่อย ๆ ตามทิศทางที่ตลาดเห็นว่ามันจะลอยขึ้น...ภาระดอกเบี้ยก็จะมากขึ้นในที่สุด
นั่นเป็นแนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงสำหรับหนี้ในประเทศ ส่วนแนวทางการบริหารความเสี่ยงหนี้ต่างประเทศมีอยู่ 5 ข้อ ขอยกมาเป็นตัวอย่างสักข้อ คือ รัฐบาลจะเน้นการบริหารความเสี่ยงแบบธรรมชาติ (natural hedge) ซึ่งหมายถึงการเน้นความสมดุลระหว่าง "รายได้" กับ "รายจ่าย" ให้เป็นเงินสกุลเดียวกัน...
เช่น หน่วยงานไหนมีรายได้เป็นดอลลาร์ ก็ควรมีภาระหนี้เป็นดอลลาร์ เพราะเมื่อค่าเงินดอลลาร์เปลี่ยน ทั้งรายได้และรายจ่ายก็จะเปลี่ยนไปในทิศทางที่หักล้างกัน...ซึ่งในทางกลับกัน ตามหลักการนี้
ถ้าหน่วยงานไหนมีรายได้เป็นเงินบาท
ก็ไม่ควรไปกู้เงินสกุลต่างชาติ เพราะหากเงินสกุลต่างชาติที่เราไปกู้นั้นผันผวน ภาระหนี้ที่เราต้องจ่ายก็จะผันผวนตามไปด้วย ซึ่งถือว่าเสี่ยง ไม่ควรทำ
หลักการนี้เป็นหลักการที่ดี และใช้กันเป็นการทั่วไปสำหรับการบริหารความเสี่ยง
แต่เมื่อดูการก่อหนี้ต่างประเทศใหม่ของรัฐวิสาหกิจ พบว่าปี 2556 มีรัฐวิสาหกิจ 2 แห่งคือ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ขอกู้เงินต่างประเทศรวมวงเงิน 15,455.77 ล้านบาท หรือเทียบเท่า 498.57 ล้านเหรียญ สรอ. และมีการ refinance หนี้ต่างประเทศสำหรับ รฟม. ร.ฟ.ท. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) อีกรวม 34,208.40 ล้านบาท ซึ่งรัฐวิสาหกิจที่กล่าวมาทั้งหมดล้วนแล้วแต่มีรายได้เป็นเงินบาททั้งสิ้น !
ผมจึงเริ่มไม่ค่อยแน่ใจว่า หลักการบริหารความเสี่ยงแบบธรรมชาติ (natural hedge) ที่กล่าวไว้ในแนวทางการบริหารความเสี่ยงปี 2556 ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) แท้จริงแล้วถูกนำมาพิจารณาใช้ในการก่อหนี้ หรือ re-finance หนี้ต่างประเทศของรัฐวิสาหกิจมากน้อยเพียงใด
การกู้เงินไม่ใช่เรื่องเสียหาย แล้วแต่ว่ากู้แล้วจะเอาไปทำอะไร และการบริหารจัดการหนี้มีประสิทธิภาพมากน้อยขนาดไหน ซึ่งดูจากแผนการบริหารหนี้ 2556 แล้ว อดกังวลไม่ได้ว่า หนี้ที่มีอยู่ในปัจจุบันได้รับการบริหารจัดการความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด ตรงนี้แตกต่างจากการบริหารจัดการให้ต้นทุนทางการเงิน หรือภาระหนี้ต่ำเพียงอย่างเดียว
ต้นทุนต่ำ ไม่ได้หมายความว่า "ไม่เสี่ยง" อันนี้ยังไม่รวมถึงที่ว่าก่อหนี้แล้วนำไปทำประโยชน์ หรือเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำอีกประเด็นครับ
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน