จากประชาชาติธุรกิจ
ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานการสัมมนาเรื่อง ข้าว ชาวนา นักการเมืองและประเทศชาติ ใครได้ใครเสีย ? จัดโดยสำนักข่าวไทยพับบลิก้า ในต้นสัปดาห์นี้ โดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงผลกระทบต่อหนี้สาธารณะและความน่าเชื่อถือของประเทศจากโครงการรับ จำนำข้าวของรัฐบาล หลังจากที่คณะกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำผลิตผลทางการเกษตร ได้ประเมินความเสียหายหลังสิ้นสุดโครงการได้ 3 เดือน โดยพบว่าจะมีความเสียหายเกิดขึ้นประมาณ 32,000 ล้านบาท
ม.ร.ว.ปรีดิ ยาธรกล่าวว่า การคำนวณความเสียหายของคณะกรรมการปิดบัญชีฯ เป็นการประเมินจากปริมาณข้าวที่รับจำนำเข้ามา 6.95 ล้านตัน ด้วยต้นทุนทั้งหมด ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2555 แต่หากคิดจากปริมาณข้าวที่จะเข้ามาตามโครงการรับจำนำทั้งปี 2555 ราว 21.64 ล้านตันแล้ว คาดว่าผลขาดทุนทั้งปี 2555 ของรัฐบาลจะอยู่ที่ 140,000 ล้านบาท และหากรัฐบาลยังไม่ยอมยกเลิกโครงการรับจำนำปี 2555/56 จากปริมาณข้าวที่จะรับจำนำเข้ามาทั้งสิ้น 33 ล้านตัน ก็จะทำให้มีผลขาดทุนสูงถึง 210,000 ล้านบาท
หากนำข้อมูลผลการ ขาดทุนข้างต้นมาคำนวณหนี้สาธารณะแล้วก็จะพบว่า การขาดทุน 140,000 ล้านบาท รวมกับหนี้ค้างจ่ายธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รวมถึงการเพิ่มทุนให้ธนาคารของรัฐต่าง ๆ แล้วจะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเป็น 49.9%
รัฐบาลชุดนี้บอกว่า จะทำงบประมาณสมดุลภายใน 5 ปี แต่หากดูจากรายการกู้จาก 3 ส่วนแล้ว ทั้งการกู้เงินเพื่อตั้งกองทุนประกันภัย 50,000 ล้านบาท กู้เพื่อโครงการบริหารจัดการน้ำ 350,000 ล้านบาท และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอีก 2.27 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนตามแผนของรัฐวิสาหกิจอยู่แล้ว 70% แต่ก็จะมีส่วนที่มาใช้งบประมาณอยู่ 30% หรือ 680,000 ล้านบาท แม้จะยอมให้ GDP โตได้ปีละ 4.5% พอถึงปี 2562 หนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นเป็น 53.7% ของ GDP แต่ถ้าโครงการรับจำนำข้าวยังเดินหน้าต่อและรัฐบาลต้องขาดทุนต่อไปเรื่อย ๆ ปีละ 210,000 ล้านบาท หนี้สาธารณะ ณ ปี 2562 จะอยู่ที่ 61%
ขณะ ที่ นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวถึงวิธีการระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาลว่า รอบนี้บริษัทผู้ส่งออกข้าวที่มีสายสัมพันธ์กับนักการเมืองมีวิธีการระบาย ข้าวที่สลับซับซ้อน จากเดิมที่ใช้บริษัทเดียวเข้ามาประมูลไปขาย ปรากฏว่า "ไม่ประสบความสำเร็จ" มารอบนี้จึงเปลี่ยนเป็นรูปแบบการใช้บริษัทนายหน้าหลายบริษัทและกินส่วนต่าง กว่าข้าวจะไปถึงผู้ส่งออกต้องผ่าน 3-4 ขั้นตอน "สลับซับซ้อนมาก การตามเรื่องนี้ไม่ใช่ง่าย ๆ"
"ต้องระวังว่า โครงการรับจำนำข้าวแบบนี้กำลังทำลายผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลุ่มเกษตรกรที่ พยายามพัฒนาข้าวคุณภาพ สุดท้ายแล้วจะเหลือแต่โรงสีขนาดใหญ่ที่เข้าโครงการ ทำให้โรงสีเหล่านี้กลายเป็นฐานการเมืองที่เข้มแข็งขึ้น เท่าที่ผมติดตามข้อมูลการรับจำนำข้าว ปริมาณข้าวในตลาด ราคาข้าวในประเทศควรจะสูงขึ้น แต่ปรากฏว่า ราคาข้าวในประเทศไม่ปรับขึ้น หมายความว่า อาจมีการอนุมัติขายข้าวในประเทศโดยไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ"
ทั้งนี้จากการประเมินปริมาณข้าวที่รัฐบาลคาดว่า จะระบายได้ตั้งแต่ไตรมาส 4/2555 และตลอดปี 2556 คาดว่ารัฐบาลจะมีการขาดทุนทั้งสิ้น 172,000 ล้านบาท ซึ่งประโยชน์ทั้งหมดจะตกสู่ชาวนาอยู่ประมาณ 1.1 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเสียไปกับค่าดอกเบี้ย ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รวมถึงการที่ข้าวเสื่อมสภาพ โดยเมื่อแยกย่อยผลประโยชน์ที่ชาวนาได้รับแล้วพบว่า ชาวนาจนได้ประโยชน์อยู่ 18% ชาวนาฐานะปานกลาง 42% และชาวนารวย 39% แสดงให้เห็นชัดว่า โครงการนี้ออกแบบมาเพื่อการเมือง เพราะผลประโยชน์ส่วนใหญ่ตกอยู่กับชาวนาฐานะปานกลางกับร่ำรวยเป็นฐานการเมือง ขนาดใหญ่กว่าชาวนายากจน
นอกจากนี้โครงการรับจำนำข้าวจะส่งผลกระทบ ต่อโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศด้วย เพราะรัฐบาลต้องใช้เงินจำนวนมากไปกับโครงการนี้ ยกตัวอย่างเช่น ในปีงบประมาณ 2556 รัฐบาลทำ
งบประมาณขาดดุลและกู้ยืมได้ 480,000 ล้านบาท ถ้าโครงการรับจำนำข้าวเดินหน้าต่อจะทำให้การกู้ยืมกว่า 66% ต้องหมดไปกับโครงการนี้ และเหลือการกู้ยืมเพื่อโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพียง 34% เท่ากับว่าคนที่เกี่ยวข้องกับข้าว 3 ล้านคนได้ประโยชน์ไป 66% และมีส่วนเหลือมาลงทุนเพื่อประโยชน์แก่ส่วนคนไทยอีก 60 กว่าล้านคนเพียง 34%
ด้าน นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า โครงการรับจำนำข้าวได้ทำให้ใน 9 เดือนแรกการส่งออกข้าวหดตัวลงถึง 44% แม้ตอนนี้จะยังเป็นผู้นำด้านมูลค่าการส่งออก แต่พบว่า ช่วงห่างของราคาเทียบกับข้าวเวียดนามแล้ว แคบลงจาก 84% เหลือ 31% กล่าวคือ 9 เดือนแรกของปีที่แล้วไทยและเวียดนามมีมูลค่าส่งออก 5,800 ล้านดอลลาร์ และ 2,800 ล้านดอลลาร์ แต่มาปีนี้อยู่ที่ 3,400 ล้านดอลลาร์และ 2,600 ล้านดอลลาร์ตามลำดับ คาดว่าหากดำเนินโครงการรับจำนำข้าวแบบนี้ต่อไปเวียดนามจะแซงประเทศไทยในแง่ มูลค่าการส่งออกข้าวได้ภายใน 1-2 ปี
"โครงการรับจำนำข้าวที่ รัฐบาลกำลังทำอยู่นี้ ไม่น่าจะทำให้ราคาข้าวในตลาดปรับตัวสูงขึ้น เพราะขณะนี้ประเทศผู้ผลิตไม่มีปัญหาด้านอุปทานที่จะออกสู่ตลาด
ขณะ ที่ผู้ผลิตสำคัญ เช่น พม่าและกัมพูชา ก็เปิดตัวเองเพื่อส่งออกมากขึ้น ตลอดจนการระบายข้าวออกของรัฐบาลไทยนี่เองที่จะกดให้ราคาข้าวในตลาดโลกปรับ ตัวลดลง แม้ภาพรวมของประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ดีมานด์ข้าวไม่ได้สูงขึ้น ดังนั้นจึงง่ายมากที่จะมีคู่แข่งมาแทนที่ผู้ส่งออกข้าวไทยได้ง่าย โอกาสที่จะถูกแย่งมาร์เก็ตแชร์มีมากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่คุณภาพข้าวมีแต่แย่ลง เพราะเกษตรกรไม่สนใจเรื่องคุณภาพ เพราะปลูกยังไงก็นำมาจำนำกับรัฐบาลได้"
อย่างไรก็ตาม ที่น่าห่วงอีกประการหนึ่งคือ การขายข้าวแบบลับ ๆ ของรัฐบาลที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปลายรัฐบาลที่แล้ว ต่อเนื่องมาถึงต้นรัฐบาลชุดนี้ ทำให้ฝ่ายค้านไม่ค่อยกล้าตีเรื่องนี้มากนัก ซึ่งกรณีนี้ทำให้เห็นว่า
ผู้ส่งออกข้าวบางบริษัทมียอดส่งออกข้าว พุ่งขึ้น ประมูลข้าวได้ในราคาถูกกว่าตลาด จึงขายได้สวนทางกับบริษัทส่งออกรายอื่นที่อยู่ในสถานการณ์ย่ำแย่ เหมือนเป็นการสร้างการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม (unfair competition) ซ้ำเติมวงการข้าวไทย
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน