TPP RCEP ASEAN+3 ฯลฯ
โดย : ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
นอกจากข่าวการมาเยือนไทยและร่วมการประชุมผู้นำอาเซียนของประธานาธิบดีโอบามาและนายกรัฐมนตรีเหวิน เจีย เปาแล้ว ข่าวใหญ่คือกระแสต่อต้าน
การที่รัฐบาลไทยประกาศจะขอเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม Trans Pacific Partnership (TPP) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะเปิดเสรีการค้า การบริการระหว่างประเทศสมาชิก 11 ประเทศ ได้แก่ บรูไน ชิลี สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ สหรัฐ ออสเตรเลีย เปรู เวียดนาม มาเลเซีย เม็กซิโก และแคนาดา รวมทั้งมีข่าวว่าไทยจะขับเคลื่อนสนับสนุนการจัดตั้ง Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) เพื่อให้เป็นเขตการค้าเสรี ทั้งนี้ RCEP ประกอบด้วยประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ บวกกับ 6 ประเทศใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ นอกจากนั้นประเทศไทยก็จะยังผลักดันการจัดตั้ง ASEAN+3 Partnership on Connectivity ได้แก่ อาเซียนบวกจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เพื่อส่งเสริมให้จีนมีบทบาทในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างความเชื่อมโยง (connectivity) ในอาเซียน ในขณะที่ญี่ปุ่นน่าจะมีบทบาทในด้านการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว สำหรับเกาหลีใต้นั้นให้มีบทบาทด้านการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและการพัฒนาพลังงานสะอาด (ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลที่นำเสนอในสื่อ เช่น เดอะเนชั่น 14 พ.ย. 2012)
ก่อนที่จะพยายามประเมินสาระของข่าวดังกล่าวข้างต้น ผมขอแสดงความเห็นส่วนตัวว่าแม้ข่าวดังกล่าวทำให้รู้สึกว่าจะมีการเร่งรีบเจรจาเพื่อเปิดตลาดและทำให้การค้าการลงทุนมีความเสรีในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น แต่ผมไม่เชื่อว่าจะเกิดอะไรขึ้นมากในทางปฏิบัติอย่างมีสาระสำคัญ กล่าวคือการเปิดเสรีต่างๆ คงจะเกิดขึ้นอย่างเชื่องช้าหรือไม่เกิดขึ้นเลยมากกว่า ทั้งนี้ผมมีเหตุผลหลักๆ 2 ประการคือ
1. การเปิดเสรีทางการค้านั้นเป็นเรื่องยาก เพราะจะมีภาคธุรกิจภายในประเทศที่แข่งขันไม่ได้ต่อต้านการเปิดเสรี ส่วนธุรกิจที่จะได้ประโยชน์ คือธุรกิจต่างชาติและประชาชนผู้บริโภคจำนวนมาก ซึ่งมีอำนาจต่อรองทางการเมืองไม่มาก เช่น ในกรณีของไทยนั้นผู้ที่หวังจะได้ประโยชน์คือผู้ส่งออกไทย แต่ผู้ส่งออกไทยย่อมมีอำนาจต่อรองทางการเมืองน้อยกว่าธุรกิจในประเทศสหรัฐที่จะได้รับผลกระทบตลอดจนคนงานและสหภาพแรงงานในสหรัฐที่จะต้องต่อต้านการเปิดเสรีดังกล่าว ทั้งนี้ประธานาธิบดีโอบามาและพรรคเดโมแครตนั้นโดยปกติจะไม่ค่อยส่งเสริมและสนับสนุนการค้าเสรีมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวการณ์ที่เศรษฐกิจสหรัฐยังฟื้นตัวอย่างกระท่อนกระแท่นและการว่างงานก็ยังสูงมาก (8%) ซึ่งจะทำให้การตัดสินใจเปิดตลาด ซึ่งอาจส่งผลให้คนงานต้องตกงานนั้นจะทำได้ด้วยความยากลำบาก
2. สิ่งที่จะทำให้สหรัฐยินยอมเปิดตลาดสินค้าในประเทศให้กับผู้ส่งออกไทย คงต้องแลกเปลี่ยนกับเงื่อนไขต่างๆ นอกภาคการผลิต ซึ่งผมเชื่อว่าสิ่งที่สหรัฐต้องการมากคือการเปิดเสรีภาคการเงินการธนาคาร โทรคมนาคมและการเพิ่มมาตรฐานการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งผู้เสียประโยชน์ในไทยและเอ็นจีโอก็ได้รีบออกมาแสดงท่าทีคัดค้านอย่างรวดเร็วและชัดเจน ผมเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องให้เปิดเสรีในทุกภาคส่วน เพราะการเปิดเสรีจะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภครวมทั้งการเปิดเสรีภาคการเงินและธนาคาร ตรงนี้จะสมควรมาดูว่าข้อคัดค้านการเปิดเสรีนั้นมีข้อใดบ้าง ก่อนคุยกันในเรื่องนี้ผมต้องขอเปิดเผยว่าผมเป็นผู้ถือหุ้นธนาคารเกียรตินาคินซึ่งเป็นธนาคารขนาดเล็กที่อาจจะเสียเปรียบหากจะต้องแข่งขันกับธนาคารของต่างชาติ (เช่นธนาคารยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ) ที่จะเข้ามาทำธุรกิจในไทยหากมีการเปิดเสรีในภาคธุรกิจนี้
ประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นเพื่อต่อต้านการเปิดเสรีมีอยู่ 2 ประเด็นหลักๆ คือ 1. ธนาคารไทยจะแข่งขันไม่ได้ 2. สหรัฐจะตั้งเงื่อนไขให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีข้อจำกัดในการควบคุมการไหลเข้า-ออกของเงินทุน ในประเด็นแรกนั้นเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่าธนาคารไทยมีกำไรดีมากมาตลอดเพราะมีการแข่งขันที่จำกัด เห็นได้จากส่วนต่างของดอกเบี้ยเงินฝากกับดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงมาก ทำให้ผู้บริโภคคือผู้ฝากเงินและผู้กู้เงินเสียเปรียบ ดังนั้นจึงควรเปิดเสรีแต่ควบคุมความเสี่ยงให้ดีและหากธนาคารใดแข่งขันไม่ได้ก็จะต้องถูกควบรวม เรื่องนี้ควรแบ่งแยกระหว่างผลประโยชน์ของผู้บริโภคซึ่งจะได้ประโยชน์ กับเจ้าของธนาคารซึ่งจะเสียประโยชน์ และประเทศไม่ควรต้องปกป้องผลประโยชน์ของเจ้าของธนาคารและไม่ต้องกลัวว่าหากธนาคารไทยแข่งขันไม่ได้พนักงานธนาคารจะตกงาน ตรงกันข้ามหากธนาคารต่างประเทศเข้ามาทำธุรกิจในไทยมากขึ้นก็น่าจะมีการแย่งพนักงานธนาคารทำให้ลูกจ้างได้ประโยชน์ไปด้วย
ในประเด็นที่สองนั้นผมก็ไม่ได้ห่วงมากนักเพราะแม้แต่ไอเอ็มเอฟและแนวคิดทางวิชาการก็ยอมรับการควบคุมการไหลเวียนของเงินทุนระยะสั้น โดยทั่วไปแล้วผมมั่นใจว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะสามารถยืนยันความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินการธนาคารเพื่อรักษาผลประโยชน์ของไทยได้โดยไม่มีปัญหามากนัก
ในส่วนของทรัพย์สินทางปัญญานั้นมี 2 เรื่องหลักคือการคุ้มครองลิขสิทธิ์ เช่น ภาพยนตร์และเพลงและการคุ้มครองสิทธิบัตรยา ซึ่งเอ็นจีโอออกมาคัดค้านเรื่องหลังอย่างมาก โดยอ้างว่าหากคุ้มครองสิทธิบัตรให้บริษัทยาต่างชาติ คนไทยก็จะไม่สามารถยึดเอาสูตรของเขามาผลิตยาสามัญออกขายในราคาถูกได้ โดยเอ็นจีโอจะอ้างว่าบริษัทยาต่างประเทศขายยาในราคาแพงกว่าต้นทุนการผลิตมาก ซึ่งเป็นข้อสรุปที่ไม่ถูกต้องเพราะต้นทุนหลักของยาคือต้นทุนในการค้นคว้าวิจัย การทดลอง การนำยาขึ้นทะเบียนและการทำตลาดไม่ใช่ต้นทุนในการผลิตตัวยา เหมือนกับการสร้างภาพยนตร์ที่ต้องลงทุนสูงหลายร้อยล้านเหรียญ แต่เมื่อสร้างเสร็จแล้วดีวีดีที่บันทึกภาพยนตร์ดังกล่าวสามารถนำมาขาย (อย่างผิดกฎหมายลิขสิทธิ์) ได้ในราคาเพียง 80 บาทต่อแผ่น (ต้นทุนน่าจะอยู่ที่ 10-20 บาทต่อแผ่น)
นอกจากนั้นการบอกว่าการไม่คุ้มครองสิทธิบัตรจะทำให้คนไทยได้เข้าถึงยานั้นก็ไม่เป็นความจริง เพราะหากเจ้าของตำรับยาไม่ต้องการนำยาใหม่ (ที่ดีกว่า) ของตนมาขายในประเทศไทยเพราะการคุ้มครองสิทธิบัตรไม่เพียงพอ บริษัทยาก็จะไม่นำตำรับยาของเขามาขึ้นทะเบียนในประเทศไทย (ไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสูตรยา) และเมื่อองค์การอาหารและยาของไทยไม่สามารถอนุมัติตำรับยาเพื่อให้สามารถทำการตลาดและผลิตยาเจ้าตำรับได้ ก็ยากที่จะนำเอาสูตรยาของเขามาผลิตยาตำรับสามัญและขายในราคาถูกในประเทศเราได้ แต่กระแสต่อต้านการเปิดเสรีภาคการเงินและธนาคาร ตลอดจนเรื่องสิทธิบัตรยานั้นเป็นเรื่องที่ผู้เสียผลประโยชน์มีอำนาจต่อรองสูงและเป็นเรื่องที่สร้างกระแสต่อต้านได้ง่าย ผมจึงไม่ค่อยจะเชื่อได้ว่าไทยจะเจรจาเรื่อง TPP อย่างจริงจัง ตรงกันข้ามคงจะ “ถอย” เมื่อเห็นว่ามีกระแสต่อต้าน เพราะรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐเองก็ไม่ได้มีวิสัยทัศน์และความกระตือรือร้นมากนักในการเปิดเสรี ซึ่งต้องใช้ต้นทุนทางการเมืองสูง ในขณะที่รัฐบาลน่าจะอยากประคองตัวให้มีเสถียรภาพมากกว่า
ในส่วนของสหรัฐนั้นคงมีความต้องการทำให้ TPP มีความคืบหน้าในระดับหนึ่งเพราะจะเห็นได้ว่า TPP นั้นหากจะเป็นกลุ่มประเทศในสองฟากของมหาสมุทรแปซิฟิกจริงก็จะต้องนำเอาไทย อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์เข้ามาเป็นสมาชิก นอกจากนั้นจะเห็นว่า TPP นั้นไม่มีจีนร่วมอยู่ด้วย จึงอาจเป็นการสะท้อนว่าสองประเทศมหาอำนาจคือสหรัฐกับจีนนั้น ยังพยายามชิงดีชิงเด่นกันในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในอีกด้านหนึ่งข้อเสนอ RCEP นั้นดูเสมือนว่าเป็นข้อเสนอที่พยายามจะสร้างภาพพจน์ว่าอาเซียนเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค โดยอาจต้องการให้จัดตั้งขึ้นเพื่อให้แซงหน้าหรือกลบความโดดเด่นของเอเปค (APEC) ซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นโดยออสเตรเลีย สำหรับ ASEAN+3 นั้นดูเสมือนว่าไทยอยากให้จีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้มาร่วมลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในอาเซียนโดยเฉพาะที่ทวาย แต่ผมก็ไม่แน่ใจว่าสหรัฐอเมริกาและยุโรปจะอยู่เฉยๆ และทั้ง 3 ประเทศคืนจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ก็น่าจะสามารถเจรจาโดยตรงกับพม่าหรือประเทศอาเซียนอื่นๆ ได้โดยไม่ต้องผ่านกรอบของอาเซียน
กล่าวโดยสรุปคือการประกาศกลุ่มการค้าเสรีต่างๆ ที่กล่าวข้างต้นนั้น ดูเสมือนว่าเป็นการกำหนดท่าทีทางการเมือง (political posturing) มากกว่าการส่งสัญญาณว่าจะมีการเจรจาเปิดเสรีทางการค้าและบริการอย่างเร่งรีบให้เกิดผลโดยเร็วครับ
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน