สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ถ่วงดุลอำนาจ-เพิ่มขนาดศก.เหตุผลที่เอเชียต้องมี RCEP

จาก โพสต์ทูเดย์

เปิดฉากริเริ่มการเจรจาไปแล้วสำหรับความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจครอบคลุมระดับภูมิภาค (อาร์ซีอีพี) 16 ประเทศเอเชียแปซิฟิก

โดย...นันทิยา วรเพชรายุทธ

ระหว่างการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (อีเอเอส) ที่กัมพูชา เมื่อวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา หรือเพียง 1 วัน หลังจากที่ประเทศไทยเพิ่งประกาศเจตนารมณ์ต้องการเข้าร่วมการเจรจาความตกลง หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (ทีพีพี) ซึ่งมีสหรัฐเป็นโต้โผหลัก

การเข้าร่วมเจรจาในอภิมหาเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ครั้งนี้ จึงนำมาซึ่งคำถามจากหลายฝ่ายอย่างไม่ต้องสงสัยว่า เพราะเหตุใดจึงต้องมีเอฟทีเอพหุภาคีซ้ำซ้อน ทั้งที่ไทยและ 10 ชาติอาเซียนต่างก็มีเอฟทีเอกับทั้ง 6 ประเทศอยู่แล้ว และเพราะเหตุใดไทยกับอาเซียนจึงจำเป็นต้องเข้าร่วมกรอบการเจรจาดังกล่าวอีก

หากพิจารณาตามสภาพการณ์ในปัจจุบันของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกแล้ว อาจต้องเรียกว่าเป็น “ความจำเป็นอย่างยิ่งยวด” ทั้งในมิติการเมืองและเศรษฐกิจ

ในเชิงเศรษฐกิจประการแรกนั้น คงไม่มีใครปฏิเสธได้ถึงประโยชน์มหาศาลที่จะได้จากข้อตกลงเอฟทีเอขนาดใหญ่ที่ สุดในโลกแห่งนี้ หากมีการก่อตั้งสำเร็จ ซึ่งจะทำให้กรอบอาร์ซีอีพี 16 ประเทศเอเชียแปซิฟิกเป็นตลาดร่วมที่ใหญ่ที่ด้วยขนาดเศรษฐกิจถึง 30% ของจีดีพีโลก บนความร่วมมือระหว่าง 10 ประเทศสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ร่วมกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

บางฝ่ายยังมีการคำนวณไว้ว่า กรอบอาร์ซีอีพีอาจให้ประโยชน์ต่อชาติอาเซียนมากกว่าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ถึงกว่า 3 เท่าตัวเลยทีเดียว

โยเซ ริซาล ดามูรี ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจของศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ (ซีเอสไอเอส) ในอินโดนีเซีย ได้ให้ความเห็นในจาการ์ตา โพสต์ ไว้ว่า แม้ที่ผ่านมาภูมิภาคเอเชียตะวันออกจะมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้ากัน มาหลายทศวรรษแล้ว แต่การรวมกลุ่มบูรณาการทางเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการนั้นยังถือเป็นเรื่องใหม่

อาเซียนมีการทำข้อตกลงเอฟทีเอในรูปแบบ +1 กับบรรดาชาติเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก แต่ก็ยังไม่สามารถผนึกให้เป็นกลุ่มเดียวกันทั้งหมดได้ ซึ่งกรอบอาเซียน+3 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) และกรอบอาเซียน+6 (เพิ่มอินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) ต่างก็ไม่สามารถผ่านอุปสรรคต่างๆ โดยเฉพาะความไม่ลงรอยระหว่างจีนและญี่ปุ่นได้

ประการต่อมาก็คือ การรวมกลุ่มเอฟทีเอพหุภาคีในเอเชียตะวันออก อาจช่วยลดความซับซ้อนของบรรดาเอฟทีเอที่มีอยู่หลายสิบฉบับ หรืออาจนับร้อยฉบับภายในภูมิภาค จนถูกขนานนามว่าเป็น “ชามก๋วยเตี๋ยว” ที่อัดแน่นไปด้วยเอฟทีเอทั้งกรอบทวิภาคีและพหุภาคี

การมีเอฟทีเอจำนวนมากได้ก่อให้เกิดปัญหาอย่างหนักต่อภาคธุรกิจที่สับสน และต้องเสียเวลาอย่างหนักต่อการเลือกใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอที่ทับซ้อนกัน อยู่เป็นจำนวนมาก และต่างมีระเบียบที่ต่างกันออกไป อาทิ กฎแหล่งกำเนิดสินค้า และระเบียบพิธีศุลกากร ซึ่งกลับกลายเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ภาคธุรกิจมีต้นทุนสูงมากขึ้น เช่น การติดฉลากสินค้าจากข้อบังคับเรื่องกฎแหล่งกำเนิดสินค้า

เพราะที่ผ่านมานั้น หลายชาติเอเชียรีบเร่งทำข้อตกลงเอฟทีเอภายใต้แนวคิด “ใครพร้อมก็ไปก่อน” โดยปราศจากวิสัยทัศน์และการวางแผนเพื่อการรวมกลุ่มในอนาคตให้เหนียวแน่นขึ้น

เอฟทีเอฉบับใหม่อย่างอาร์ซีอีพี จึงตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และมีเป้าหมายหนึ่งที่จะทำให้เอฟทีเอ ภายในภูมิภาคกลายเป็นมาตรฐานเดียวกันให้ได้มากที่สุด เพื่อลดความซับซ้อนที่อาจกลายเป็นอุปสรรคต่อภาคธุรกิจแทนที่จะให้ประโยชน์

ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุผลของการมีอาร์ซีอีพีนั้น ทั้งเป็นไปและช่วยเอื้อประโยชน์ทางการเมือง

อาร์ซีอีพีหรือการรวมกลุ่มที่มีเศรษฐกิจเป็นตัวนำนั้น อาจเป็นปัจจัยเร่งที่ช่วยให้การรวมกลุ่มของภูมิภาคมีความสามัคคีและ สมานฉันท์กันมากขึ้น เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบันมีปัญหาความไม่ลงรอยกันเกิดขึ้นให้เห็นอย่าง ชัดเจน ทั้งในระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกันเองอันเป็นผลจากกรณีพิพาททะเลจีนใต้ หรือระหว่าง 3 ประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ จากกรณีพิพาททางน่านน้ำในทะเลตะวันออก

หากประเทศทั้งหมดสามารถเล็งเห็นถึงประโยชน์ร่วมกัน บนความจำเป็นทางเศรษฐกิจที่บีบคั้นจากผลพวงวิกฤตการณ์หนี้ยุโรปและปัญหา เศรษฐกิจในสหรัฐ อาร์ซีอีพีก็อาจเป็นตัวเร่งที่ช่วยให้ทุกฝ่ายพักยกความขัดแย้งและหันมาร่วม มือกันได้ อย่างเช่น ที่จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เพิ่งประกาศความริเริ่มที่จะเจรจาเอฟทีเอ 3 ชาติกันไปหมาดๆ

นอกจากนี้ ยังเป็นที่ชัดเจนว่า อาร์ซีอีพี ซึ่งมี “จีน” เป็นโต้โผหลักนั้นคือกรอบเอฟทีเอในกลุ่มเอเชียแปซิฟิกที่ต้องการคานอิทธิพล กับสหรัฐ ซึ่งประกาศกลับมาทวงความเป็นพี่ใหญ่ในภูมิภาคนี้อีกครั้ง ทั้งทางด้านยุทธศาสตร์การทหารกับการลดกำลังในสมรภูมิเดิมอย่างเอเชียกลางและ ตะวันออกกลาง และโยกย้ายกำลังมายังภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมากขึ้น

เมื่อหันไปดูทิศทางด้านเศรษฐกิจการค้าที่อบอวลด้วยกลิ่นการเมือง ก็ยิ่งพบการรุกคืบที่ไม่ด้อยไปกว่ากันกับข้อตกลงทีพีพี 11 ประเทศเอเชียแปซิฟิก ซึ่งมี 4 ประเทศอาเซียนคือ บรูไน สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม เข้าร่วมด้วย และมีไทยเพิ่งขอเข้าร่วมเจรจาเป็นรายล่าสุด ขณะที่สหรัฐเองก็ยังเดินหน้าล็อบบี้ชาติอาเซียนให้เข้าร่วมมากขึ้นอีก ในการประชุมนอกรอบระหว่างการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกที่เพิ่งผ่านมา

ขณะเดียวกันมีความกังวลด้วยว่าทีพีพีจะลดน้ำหนักของความร่วมมือในอาเซียน ด้วยกันลง หลังจากที่มี 4 ชาติเข้าร่วม และมีไทยประกาศขอเข้าร่วมเป็นรายล่าสุด

จากรายงานประเมินเออีซีระบุว่า ระหว่างปี 2007–2011 มานี้ 10 ชาติอาเซียนสามารถดำเนินการไปตามแผนงานได้เพียง 70% เท่านั้น จนมีการเปิดเผยจากเลขาธิการอาเซียน สุรินทร์ พิศสุวรรณ ว่าอาจต้องเลื่อนเออีซีออกไปเป็นปลายปี 2558 จากช่วงต้นปีแทน

อาร์ซีอีพีที่มี 3 ยักษ์เศรษฐกิจมาเป็นทั้งปัจจัยดึงดูดให้อาเซียน และเพิ่มความแข็งแกร่งให้ภูมิภาคเอเชียใช้ต่อรองผลประโยชน์บนเวทีโลก จึงอาจเป็นเอฟทีเออีกหนึ่งฉบับที่จำเป็นต่ออนาคตบนเวทีโลกของอาเซียนและ เอเชีย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ถ่วงดุลอำนาจ เพิ่มขนาดศก. เหตุผล RCEP

view