สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (TPP)

ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (TPP)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ในสัปดาห์นี้มีข่าวทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองค่อนข้างมาก โดยเฉพาะประเทศไทยได้มีโอกาสต้อนรับผู้นำของประเทศมหาอำนาจของทั้งสหรัฐอเมริกาและจีน
ซึ่งการเดินทางมาเยือนประเทศไทยของประธานาธิบดีบารัก โอบามา นั้น เป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางมาร่วมประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐอเมริกาและอาเซียนที่ในปีนี้ประเทศกัมพูชาเป็นเจ้าภาพ การเดินทางมาเยือนไทยในครั้งนี้มีในแผนงานเดิมอยู่แล้ว เพียงแต่มีเงื่อนไขว่าประธานาธิบดีโอบามาจะต้องได้รับชัยชนะดำรงตำแหน่งอีกวาระหนึ่ง แผนการเดินทางดังกล่าวจึงเดินหน้าและได้พ่วงเอาการเดินทางไปเยือนพม่าและประเทศไทยเข้ามาด้วย

มีความชัดเจนว่าสหรัฐอเมริกาจะให้ความสำคัญต่อการเพิ่มความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศพม่า เพราะพม่าได้เริ่มเปิดประเทศต่อประชาคมโลกและมีการปฏิรูปทางการเมืองครั้งใหญ่ ดังนั้น สหรัฐอเมริกาจึงสนใจเข้าไปลงทุนในประเทศพม่าที่มีศักยภาพและมีทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานจำนวนมาก ดังจะเห็นจากการที่รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาได้เดินทางไปเชื่อมสัมพันธไมตรีกับพม่ามาอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และอีกเหตุผลหนึ่งก็น่าจะเป็นการถ่วงดุลอิทธิพลของประเทศจีนในภูมิภาคนี้ที่เพิ่มขึ้นตามลำดับ เพราะเดิมนั้นในการประชุมอาเซียนนั้นนอกจากจะมี 10 ประเทศสมาชิกแล้ว มีการเพิ่มขยายเป็นอาเซียน+3 (ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน) และอาเซียน+6 (ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) และการที่อาเซียนจะยกระดับความสัมพันธ์ในด้านเศรษฐกิจขึ้นเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 จึงทำให้สหรัฐอเมริกายิ่งมีความต้องการเข้ามามีบทบาท และมีส่วนร่วมด้วยทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

ประเด็นหนึ่งที่มีการพูดถึงมากก็คือ เครื่องมือที่สหรัฐอเมริกาจะนำมาใช้ก็ คือ TPP (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement : TPP) ซึ่งเป็นความตกลงการค้าเสรีกรอบพหุภาคีที่มีมาตรฐานสูง มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยการเปิดตลาดการค้าสินค้า บริการและการลงทุน การปฏิรูปกฎระเบียบทางเศรษฐกิจให้สอดคล้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่น นโยบายการเปิดเสรีทางการค้า ทรัพย์สินแห่งปัญญา มาตรฐานแรงงาน และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ในปัจจุบัน TPP มีสมาชิกอยู่ 9 ประเทศ ได้แก่ สมาชิกเดิม 4 ประเทศ ชิลี นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ และบรูไน และต่อมามีสมาชิกใหม่อีก 5 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เปรู เวียดนาม และมาเลเซีย

โดยภาพรวมแล้วกรอบความร่วมมือภายใต้ TPP นั้นจะคล้ายคลึงกับความร่วมมือกันภายใต้กลุ่มเอเปค (APEC) แต่ทำไมประเทศต่างๆ จึงสร้างกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่มีความซ้ำซ้อนกันขึ้น ก็คงจะเป็นเหตุผลเฉพาะตัวของแต่ละประเทศที่อาจจะมองว่า การเจรจาภายใต้กรอบความร่วมมือในกรอบพหุภาคีที่มีสมาชิกจำนวนมากเช่นเอเปคจะเดินหน้าได้ล่าช้า ขณะที่การเจรจาในกรอบทวิภาคีเองก็จะเผชิญกับแรงต้านของประชาชนของประเทศที่เล็กกว่าว่าขาดอำนาจต่อรอง หรือถูกเอาเปรียบจากประเทศที่ใหญ่กว่า

สำหรับสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลกนั้น เห็นว่า TPP เป็นเครื่องมือที่สำคัญประการหนึ่งในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโดยเฉพาะปัญหาการว่างงานของประเทศ เพราะการดำเนินภายใต้การเปิดเขตเสรีทางการค้า (Free Trade Area) ทวิภาคี ที่สหรัฐทำกับประเทศต่างๆ จำนวน 17 ประเทศนั้นสู้ TPP ไม่ได้ เพราะประเภทของสินค้าที่ยอมให้มีการเปิดเสรีนั้นถูกจำกัดอยู่ค่อนข้างมาก นอกจากนี้แล้วสหรัฐอเมริกายังมีเป้าหมายให้ประเทศต่างเปิดเสรีในการเคลื่อนย้ายเงินทุน และการบังคับใช้กฎหมายสิทธิบัตรและสิทธิมนุษยชน (เป็นที่น่าสังเกตว่าทั้ง จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ก็ยังไม่ลงนามเข้าร่วมเป็นสมาชิก TPP นี้) สำหรับประเทศสมาชิกอื่นๆ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม ก็ต้องการขยายการส่งสินค้าไปตลาดสหรัฐเพิ่มขึ้นเพราะเป็นตลาดผู้บริโภคที่สำคัญของโลก

ประเทศไทยนั้นจึงไม่น่าจะต้องเร่งรีบและรีบร้อนต่อการลงนามใน TPP แต่ควรจะพิจารณาและทบทวนยุทธศาสตร์ทางด้านการค้าและการต่างประเทศให้มีความชัดเจนว่า จะให้ความสำคัญต่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายใต้กรอบประชาคมอาเซียน และการรักษาความสัมพันธ์กับประเทศจีน ประเทศญี่ปุ่นที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียที่ไทยจะรักษาดุลอำนาจนี้อย่างไร และที่สำคัญที่จะละเลยไม่ได้ก็คือ ความพร้อมของประเทศไทยในการที่จะปฏิบัติตามมาตรฐานที่สูงของ TPP ในหลายประเด็น เช่น การเปิดเสรีของการเคลื่อนย้ายเงินทุน ภาคการเงิน สิทธิมนุษยชน แรงงาน ตลอดจนสภาวะแวดล้อมต่างๆ ซึ่งไทยอาจจะเสียเปรียบกับบางประเทศ เช่น สิงคโปร์ หรือมาเลเซีย ได้ ซึ่งจะต้องมีการศึกษาและมีการหารือกับภาคธุรกิจเอกชนที่รอบคอบและรอบด้าน และประการสุดท้ายคือการดำเนินการตามขั้นตอนในมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 จะต้องมีการศึกษาถึงผลกระทบตลอดจนประโยชน์ที่ไทยจะได้รับ การทำประชาพิจารณ์ รวมถึงต้องมีการเสนอกรอบการเจรจาให้รัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบก่อน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ความตกลง หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก TPP

view