2556 ตอกฝาโลง ส่งออกไทย
โดย : บุญชัย ปัณฑุรอัมพร
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ในเวลานี้คิดถึงแต่คำกล่าวของ Charles Darwin คงต้องไปศึกษาวิวัฒนาการการผลิตของฝรั่งว่าเขาปรับตัวอย่างไรจนอยู่รอดมาถึงวันนี้
“The Greatest Salesman in the World”, ผู้แต่ง Augustine Og Mandino 1968 เป็นหนังสือปรัชญาที่ผมจะคิดถึงเสมอๆ ประโยคเด็ดๆ ที่คอยให้พลังและให้กำลังใจตัวเองมักจะผุดขึ้นมาในหัวทุกครั้งที่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์อันแสนยากเข็ญในชีวิตการทำงาน
วันนี้ก็เป็นอีกวันหนึ่งที่เริ่มต้นวันใหม่ในการทำงานที่ Hong Kong รอบนี้ผมติดตามทีมขายต่างประเทศมาหางานผลิตเพื่อส่งออกให้กับลูกค้าในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และยุโรป ในใจคิดย้อนหลังไปในวันเก่าๆ ที่ฝรั่งจะบินมาลงออเดอร์กับเราปีละสองสามหน จัดตารางกันให้วุ่นวายว่าลูกค้ารายไหนจะมาวันใดทั้งรอบเช้าและบ่ายไม่ให้ชนกัน มันช่างแตกต่างกันกับวันวาน วันนี้เรากลับต้องเป็นฝ่ายบินมาหาลูกค้า “I will persist until I succeed.” วรรคทองจาก The Greatest Salesman ก็ผุดขึ้นมาให้หัวอีกครั้ง ก่อนที่พวกเราจะลากกระเป๋าเดินทางที่เต็มไปด้วยตัวอย่างสินค้ามาที่หน้าบริษัทของลูกค้ารายแรก
“แม้ว่า ผมจะสนิทสนมกันกับคุณมายาวนานกว่ายี่สิบปี แต่วันนี้ทางเราคงจะลงออเดอร์กับคุณไม่ได้ เราเสียใจจริงๆ เพราะคู่แข่งที่เป็นผู้ผลิตในอินโดนีเซีย จีน พม่า เวียดนาม และบังกลาเทศ ยังให้ราคาได้ดีกว่าผู้ผลิตในประเทศไทย ไหนคุณลองบอกสิว่า ผู้ผลิตในประเทศไทยมีอะไรดีหรือ แค่ราคาวัตถุดิบของซัพพลายเออร์คุณ เราก็ไม่ไหวแล้ว พวกผ้า ลูกไม้ ยางยืด ต่างก็ขึ้นราคากันหมด ค่าแรง Labor Cost คุณก็สูงขึ้นตั้งแต่ต้นปี ปีหน้าก็ยังจะสูงขึ้นไปอีก ผมรู้ว่าต้นทุนของผู้ผลิตในประเทศไทยเป็นอย่างไร ผมก็ไม่อยากรู้ราคาขายแล้ว ส่วนลดภาษีนำเข้าไปใน EU ประเทศคุณก็ได้แค่ 2% ขณะที่ในเวียดนาม พม่า บังกลาเทศ เขาได้กันตั้งแต่ 12-17% ค่าเงิน Exchange rate ของคุณก็แข็งขึ้นมาตลอดในช่วงสิบปีที่ผ่านมา การเมืองคุณก็ไม่นิ่ง Political Stability นโยบายภาครัฐของคุณก็ไม่ได้สนับสนุนภาคส่งออกอีกต่อไป สำนักงาน Buying Office ของพวกเราในกรุงเทพฯก็ปิดกันไปหมดแล้ว ติดต่องานก็ไม่คล่องไม่สะดวก Top Management ของบริษัทเรามีรายชื่อประเทศที่ลงออเดอร์ได้กับไม่ได้มาให้ ผมคงจะตกที่นั่งลำบาก ถ้าลงออเดอร์กับประเทศไทย เพราะพวกเขาประเมินมาแล้วว่าไม่มีตัวบวกเลย ทั้งๆ ที่ผมรู้ว่า บริษัทคุณเก่งทั้งเรื่องคุณภาพ การส่งมอบ และบริการ”
จบข่าว และนั่นทำให้เราไม่ต้องเปิดกระเป๋าเดินทางสองใบที่อุตส่าห์ลากมาด้วย
ขณะเดินต่อไปยังตึกใกล้เคียง บริษัทที่สอง วรรคทองจากหนังสือสุดประทับใจของผม “Failure will never overtake me, if my determination to success is strong enough.” ก็ยังไม่ยอมแพ้ ลูกค้าเข้ามาสวมกอด หอมแก้มสลับซ้ายขวา ทักทายด้วยคำพูดอันหวานจับใจ “ไม่ได้พบกันนานนะ เย็นนี้เราขอเป็นเจ้าภาพเลี้ยงข้าวบนตึกสูงเอง เรามาชมวิวกลางคืนในฮ่องกงกัน เราหวังว่าบริษัทคุณยังคงอยู่รอดนะ โชคดีเหลือเกินที่คุณคิดเปลี่ยนไปทำ Brand Business แทนการรับจ้างผลิตตั้งแต่สี่ห้าปีที่ผ่านมา วันนี้พวกอินโดนีเซียที่เป็นคู่แข่งคุณ เขายังทำราคาได้ต่ำลงถึง 20% จากการซื้อเมื่อก่อน พวกเขายังท้าทายเราว่า ปีหน้าเขาจะทำราคาให้ต่ำลงได้อีก 10% ด้วยซ้ำ เขารู้และเข้าใจว่าตลาดในยุโรปมันแย่มาก ภาครัฐเขาจึงค่อยๆขยับค่าแรงขั้นต่ำ ไม่ขึ้นพรวดเดียวแบบที่ประเทศของคุณทำ คนทำงานเขาก็ยังมีมาก เพราะแต่ละบ้านจะมีลูกกัน 4-5 คนเป็นอย่างต่ำ กำลังการซื้อภายในประเทศเขาก็ดี ส่งออกของเขาก็ยังดี ผู้ผลิตจากประเทศต่างๆก็เข้าไปลงทุนและขายของในประเทศเขา โอ๊ย อะไรอะไรก็ดีไปหมด งานเยอะ คนเยอะ ซื้อเยอะ พวกเขายังรู้อีกว่า พวกเราเริ่มๆไปผลิตกับพวกยุโรปตะวันออก แถวๆ ประเทศบัลแกเรีย ยูเครน ที่ให้ราคาได้ดีเท่าๆ กับจีน ข้อดีคือ อยู่ใกล้กับประเทศพวกเรา งานดีได้คุณภาพ พวกอินโดนีเซียกลัวตกงานเลยมาท้าทายว่าจะลดราคาขายให้กับเราได้อีก 10% ...ว่าแต่ วันนี้ คุณมาทำอะไรที่นี่หรือ”
จบข่าว และเราไม่ได้เปิดกระเป๋าอีกครั้ง
ขณะเดินไปเรียกรถเพื่อพบลูกค้ารายที่สามของวันแรก วรรคทอง “Never again will I pity or be little myself.” ก็ผุดขึ้นมาในหัว พอรถจอดที่หน้าตึกสูงก่อนขึ้นลิฟท์ วรรคทองอีกประโยคก็ผุดขึ้นมาอีก “Never again will I perform any task at less than my best.” คาดว่า สองประโยคจะยังทำให้มีกำลังใจ และเช่นเดียวกันลูกค้า เข้ามาทักทายอย่างสนิทสนม รอบนี้น่าจะสำเร็จ “ดีใจจังเลยที่บริษัทคุณมา ฉันมีเวลาน้อยมากนะ เพราะค่ำนี้ต้องรีบเดินทางกลับอัมสเตอร์ดัม รีบเปิดกระเป๋าเลือกตัวอย่างกันได้เลย ..... เยี่ยมมาก ตัวอย่างสวย ตรงใจเลย ฉันคาดว่าจะลงออเดอร์ ตัวนี้ ตัวนี้ ตัวนี้ ....” ในเวลานั้น ยังคงคิดว่า มีความหวังและ สองปรัชญาวรรคทองจากหนังสือ The Greatest Salesman มาช่วยไว้ ลูกค้ารายต่อไปในวันพรุ่งนี้ คงต้องนึกให้ได้สักสาม-สี่วรรคทอง ก่อนเข้านอนในวันนั้นที่โรงแรม วรรคทอง “Always will I examine, each night, my deeds of the fading day.” ยังคงผุดขึ้นมา
กลับมาถึงเมืองไทย เห็นรายงานตัวเลขทางสถิติที่จัดทำโดยสมาคมเครื่องนุ่งห่มแห่งประเทศไทย (TGMA) ใช่เลย ตัวเลขกับสามวันที่ได้ไปสัมผัสกับความจริงจากลูกค้าต่างประเทศ ค่าแรงปีนี้ที่เพิ่มขึ้นถึง 40% ทั่วประเทศตั้งแต่เมษายนเป็นต้นมา ส่งผลให้การจ้างงานในอุตสาหกรรมนี้ใช้แรงงานลดลงถึง 30% ผลผลิตลดลงเกือบ 15% การส่งออกลดลงถึง 20% ในเดือนมกราคมปี 2556 ที่จะมาถึงนี้ ก็จะขึ้นอีก 30% ทั่วประเทศ ยกเว้นแปดจังหวัดที่ได้ขึ้นถึง 300 บาทไปแล้วในปีนี้ อ่านรายงานตัวเลขเสร็จหันมาเปิดเมลที่จอคอมพิวเตอร์ ลูกค้าที่ยอมลงออเดอร์กับเราอย่างที่เล่าให้ฟังในรายที่สาม ส่งออเดอร์มาสิบแบบแต่มีปริมาณต่อแบบแค่แบบละแปดร้อยถึงหนึ่งพันตัว เป็นที่น่าตกใจเพราะลูกค้าเคยลงออเดอร์ใหญ่ๆ เมื่อวันวานแบบละสองหมื่นถึงหนึ่งแสนตัวขึ้นไป
ในใจยังคงดันทุรังไม่ยอมแพ้ คิดถึงวรรคทองอีก “Always will I seek the seed of triumph in every adversity.” เช่นเดียวกัน ผมเข้าใจว่าพวกเถ้าแก่ เจ้าของกิจการ ผู้บริหารเก่งๆในสมาคมคงต้องคิดแบบวรรคทองของผม จึงได้ช่วยกันระดมสมองจัดสัมมนาหาทางออกรับมือ 300 บาททั่วประเทศ มาเป็นข้อๆ อาทิเช่น การตั้ง KPI ให้เข้มขึ้นและถี่ขึ้นในแต่ละงานเพื่อเพิ่ม Productivity การปรับสัดส่วนแรงงานทางอ้อมที่ไม่สร้างผลผลิตโดยตรงให้น้อยลง ปรับเปลี่ยนเงินพิเศษต่างๆให้ผูกติดกับผลงาน ลดชั่วโมงทำงานล่วงเวลา หาแนวทางลดพลังงานและลดการขนส่ง รวมทั้งการประหยัดค่าใช้จ่ายในทุกๆ ด้าน เร่งสร้างนวัตกรรม ตลอดจนการปลูกฝังให้พนักงานเข้าใจถึงการอยู่อย่างพอเพียงทั้งส่วนตัว ครอบครัวและองค์กร
อ่านบทสรุปของสัมมนานี้จบ ผมคิดถึงวรรคทองในบทต่อๆ ไปของ The Greatest Salesman ไม่ออกอีกเลย แต่กลับไปคิดถึงคำกล่าวของ Charles Darwin ที่กล่าวไว้ว่า “It is not the strongest of the species that survives, nor the most intelligent that survives. It is the one that is most adaptable to change.” คงต้องไปศึกษาวิวัฒนาการอุตสาหกรรมการผลิตของฝรั่งซะแล้วว่า เขาปรับตัวอย่างไรในช่วงทุกข์ยาก คนที่อยู่รอดมาจนถึงวันนี้เขาอยู่ได้อย่างไร
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน