สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

8 ภารกิจรอ เพ้ง จัดการ LPG/NGV ดาหน้าขึ้นราคาปี 2556

จากประชาชาติธุรกิจ

แม้ เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งได้เพียง 2 เดือนเศษ แต่ พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนที่ 3 ในรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็มีภาระงานที่ต้องเร่งสะสางหลังเปิดศักราชใหม่ปี 2556 อยู่อีกเพียบ

โดย นโยบายเร่งด่วนที่ต้องเร่งสะสางมีอยู่ด้วยกัน 8 เรื่องสำคัญ ได้แก่เรื่องแรก การปรับขึ้นราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือแอลพีจี ให้สะท้อนต่อราคาต้นทุนที่แท้จริง โดยหลังสิ้นสุดมาตรการตรึงราคา กระทรวงพลังงานตั้งเป้าปรับราคาภาคขนส่งและภาคครัวเรือนให้เท่ากันที่ 24.82 บาทต่อกิโลกรัม จากปัจจุบันราคาภาคครัวเรือนอยู่ที่ 18.13 บาทต่อกิโลกรัม และราคาภาคขนส่งอยู่ที่ 21.38 บาทต่อกิโลกรัม โดยภาคครัวเรือนจะปรับเพิ่มอีกประมาณ 6 บาทต่อกิโลกรัม ทยอยปรับเพิ่มเดือนละ 50 สตางค์ ส่วนภาคขนส่งจะปรับขึ้นอีกประมาณ 3 บาทต่อกิโลกรัม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานยืนยันว่า การปรับขึ้นราคาจะไม่กระทบต่อกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเด็ดขาด โดยได้ให้ความช่วยเหลือในส่วนภาคครัวเรือนแก่กลุ่มผู้ใช้ไฟไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือน จำนวน 8.3 ล้านครัวเรือน รวมครัวเรือนที่ไม่มีไฟใช้ รับความช่วยเหลือในการอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้มครัวเรือนละ 6 กิโลกรัมต่อเดือน ส่วนจะใช้เงินเป็นจำนวนเท่าไรยังต้องรอข้อสรุปอีกครั้ง แต่คาดว่าจะไม่ต่ำกว่า 900 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ภาคครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยยังจ่ายค่าก๊าซหุงต้มเท่าเดิม

ส่วน ร้านหาบเร่แผงลอย ซึ่งได้รับการอุดหนุน 150 กิโลกรัมต่อร้าน กระทรวงพลังงานได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ให้วงเงิน 50 ล้านบาทจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในการจ้างผู้เชี่ยวชาญจัดทำฐานข้อมูลร้านค้าหาบเร่ แผงลอยอาหารทั่วประเทศ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือนจึงทำข้อมูลแล้วเสร็จ จึงจะออกบัตรเครดิตพลังงานให้ก่อนดำเนินการปรับขึ้นราคา เบื้องต้นคาดว่ามีผู้ประกอบการประมาณ 5 แสนรายที่ตกสำรวจ นอกเหนือจากร้านค้าในโครงการอาหารสะอาดของกระทรวงสาธารณสุข

รวมถึง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการบรรเทาผลกระทบจากการปรับราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) ภาคครัวเรือน มีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธานอนุกรรมการ เพื่อกำหนดแนวทางบรรเทาผลกระทบ หลักเกณฑ์ และคุณสมบัติผู้ได้รับผลกระทบจากการปรับราคาก๊าซแอลพีจีภาคครัวเรือน

2.ปรับ ขึ้นราคาก๊าซธรรมชาติ หรือเอ็นจีวีสำหรับยานยนต์ โดยรายงานจากสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ระบุราคาปรับขึ้นที่ 13.28 บาทต่อกิโลกรัม รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม จากปัจจุบันราคาจำหน่ายอยู่ที่ 10.50 บาทต่อกิโลกรัม

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานตั้งเงื่อนไขการปรับขึ้นราคาเอ็นจีวีตามข้อเสนอของกลุ่มรถ โดยสารสาธารณะ รถแท็กซี่ ที่ต้องการให้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) จัดตั้งสถานีบริการก๊าซเอ็นจีวีให้ครอบคลุมอย่างน้อยจังหวัดละ 1 สถานี โดยสั่งการให้ ปตท.จัดทำแผนลงทุนขยายสถานีบริการก๊าซเอ็นจีวี ซึ่งแผนนี้ ปตท.จะลงทุนเองหรือให้เอกชนมาร่วมลงทุนได้ หาก ปตท.มีแผนขยายสถานีอย่างจริงจังแล้วจะดำเนินการปรับราคาจำหน่ายต่อไป อย่างไรก็ตาม หากไม่มีแผนดังกล่าว ปตท.จะต้องแบกรับภาระการขาดทุนจำนวน 2 หมื่นล้านบาทต่อปี

3.แผนสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ 90 วัน ซึ่งความเป็นไปได้ของโครงการยังอยู่ห่างไกลพอสมควร จากเดิมที่ได้สั่งการให้ภาคเอกชนเพิ่มการสำรองน้ำมันจาก 5% เป็น 6% แต่ส่วนใหญ่ยังติดปัญหาถังเก็บน้ำมันมีไม่เพียงพอ และมีค่าใช้จ่ายที่จะเข้ามาเป็นต้นทุนในอนาคต รวมถึงกฎหมายที่มีอยู่ไม่รองรับแผนสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ และหากจะมีการจัดทำใหม่ใช้เวลาอีกอย่างน้อย 3 ปี

อย่างไรก็ตาม นายพงษ์ศักดิ์ได้มอบหมายให้ สนพ.รื้อแผนโครงการสะพานเชื่อมเศรษฐกิจ หรือแลนด์บริดจ์ ในส่วนของการวางท่อส่งน้ำมันมาศึกษาใหม่ ซึ่งมองว่าหากสามารถวางท่อส่งน้ำมันมายังอ่าวไทยได้ จะช่วยสนับสนุนแผนการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ของประเทศให้เกิดขึ้นจริง เนื่องจากสามารถสนับสนุนให้กลุ่มประเทศตะวันออกกลางที่เดินทางผ่านช่องแคบ มะละกาเข้ามาลงทุนสร้างถังเก็บน้ำมัน และตั้งศูนย์จำหน่ายในประเทศไทยได้ โครงการดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการศึกษาของ สนพ.

4.การยกเลิก จำหน่ายน้ำมันเบนซิน 91 ซึ่งจะทำให้เหลือน้ำมันเบนซินชนิดเดียว คือ น้ำมันเบนซิน 95 และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ โดยเป้าหมายหลักของกระทรวงพลังงานต้องการส่งเสริมให้ภาคประชาชนใช้น้ำมัน แก๊สโซฮอล์มากขึ้น อย่างไรก็ตาม จากการประเมินของกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) คาดว่า การยกเลิกจำหน่ายน้ำมันเบนซิน 91 จะทำให้ประชาชนที่ใช้น้ำมันในกลุ่มนี้ ซึ่งมีปริมาณการใช้ประมาณ 8 ล้านลิตรต่อวัน จะหันไปใช้น้ำมันเบนซิน 95 ประมาณ 17-25% ทำให้ปริมาณการใช้น้ำมันเบนซิน 95 เพิ่มขึ้นจาก 1 แสนลิตรต่อวัน เป็น 2 ล้านลิตรต่อวัน

ประกอบกับการที่สถานีบริการน้ำมันทุกแบรนด์ยกเว้น บางจาก จะนำน้ำมันเบนซิน 95 มาจำหน่ายมากขึ้น ส่งผลให้ค่าการตลาดน้ำมันเบนซิน 95 ปรับลดลงอีกประมาณ 1-2 บาทต่อลิตร ซึ่งอาจทำให้มีการแห่มาใช้น้ำมันเบนซิน 95 แทนที่จะเป็นน้ำมันชนิดใดชนิดหนึ่งในกลุ่มน้ำมันแก๊สโซฮอล์ คงต้องมาจับตาดูว่ากระทรวงพลังงานจะมีนโยบายอย่างไรจูงใจให้เกิดการใช้ น้ำมันแก๊สโซฮอล์มากขึ้น

5.การรักษาสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ ปัจจุบันติดลบอยู่ราว 1.7 หมื่นล้านบาท โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้กองทุนน้ำมันฯมีสถานะติดลบหลักหมื่นล้าน มาจากการอุดหนุนราคาก๊าซแอลพีจีเป็นหลัก ซึ่งที่ผ่านมาใช้เงินอุดหนุนแอลพีจีแล้วกว่า 1.09 แสนล้านบาท กระทรวงพลังงานจึงตั้งความหวังไว้กับการลอยตัวราคาก๊าซแอลพีจีให้เกิดขึ้น ได้จริงในปี 2556 นี้ เพราะอย่างน้อยจะช่วยลดภาระการอุดหนุนลงได้ไม่มากกว่าน้อย

ขณะเดียว กัน รายได้หลักของกองทุนน้ำมันฯมาจากการเก็บเงินในส่วนของน้ำมันเบนซิน 91 ซึ่งหลังจากไทยยกเลิกการจำหน่วยน้ำมันเบนซิน 91 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2556 จะทำให้รายได้เงินกองทุนน้ำมันฯหายไปวันละ 53 ล้านบาท จึงทำให้ไม่มีรายได้เข้ากองทุนน้ำมันฯ คงต้องติดตามนโยบายของกระทรวงพลังงานจะมีแนวทางในการหารายได้เข้ากองทุน น้ำมันฯ

หลังมาตรการยกเลิกน้ำมันเบนซิน 91 ควบคู่ไปกับการส่งเสริมใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ผ่านการอุดหนุนราคา โดยมีความหวังว่าสถานะกองทุนน้ำมันฯจะกลับมาเป็นบวกอีกครั้ง

6.การ ปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan หรือ PDP) ฉบับใหม่ หรือ PDP 2013 โดยนายพงษ์ศักดิ์แสดงความกังวลการผลิตไฟฟ้าในอนาคตจะไม่เพียงพอต่อความต้อง การใช้ จึงอาจต้องมีการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มเติม คือ ประเทศพม่า และ สปป.ลาว ที่ยังสามารถจัดหาไฟฟ้ามายังไทยได้อีกรวม 2 หมื่นเมกะวัตต์

นายพงษ์ศักดิ์ยังไม่ฟันธงว่าจะซื้อไฟเพิ่มจากประเทศ เพื่อนบ้านเป็นจำนวน 2 หมื่นเมกะวัตต์จริงหรือไม่ เนื่องจากในปี 2556 นี้ จะมีการจัดทำแผนพีดีพีฉบับใหม่ (พีดีพี 2013) โดยจะตัดสินใจรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน คงต้องรอการจัดทำแผนดังกล่าวให้เสร็จสิ้นก่อน

7.การเปิดประมูลรับ ซื้อไฟฟ้าจากกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (Independent Power Producer หรือ IPP) ที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลานาน ก่อนจะได้ฤกษ์เปิดขายซองประมูลไปเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา แต่ยังต้องจับตาดูต่อไปว่าการเปิดไอพีพีครั้งนี้จะดำเนินต่อไปจนครบถ้วน กระบวนความหรือไม่

เพราะมีนักวิชาการตั้งข้อสังเกตว่า การกำหนดเชื้อเพลิงในการประมูลครั้งนี้เป็นก๊าซธรรมชาติ 100% อาจทำให้ภาคเอกชนบางรายที่ไม่มีความพร้อมด้านเชื้อเพลิงถอนตัวออกไป จนเกิดช่องว่างให้มีการนำเอาเชื้อเพลิงถ่านหินมาอยู่ในแผนพีดีพีที่จะมีการ ปรับปรุงใหม่นี้

และเรื่องสุดท้าย 8.มาตรการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน โดยการให้อัตราสนับสนุนเงินตามการลงทุนที่แท้จริง (Feed in tariff) ล่าสุด ผลการศึกษาที่ สนพ.ทำร่วมกับสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคาะราคาฟีดอินทาริฟที่ 5.12 บาทต่อหน่วย คิดจากอัตราผลตอบแทนการลงทุน (Internal rate of return-IRR) ที่ 12%

ราคาที่ออกมาดูเหมือนจะไม่ เป็นที่พอใจของภาคเอกชนนัก โดยส่วนใหญ่มองว่าตัวเลขที่ออกมาเป็นค่าที่ต่ำเกินไป อีกทั้งการคำนวณไม่ควรมาจากสถาบันการศึกษาที่ไม่ได้คลุกคลีหรือทำธุรกิจใน แวดวงโซลาร์เซลล์ จึงไม่เข้าใจภาพรวมของธุรกิจอย่างถ่องแท้ ซึ่งภาคเอกชนคาดหวังว่าจะได้รับค่าฟีดอินทาริฟที่ 6.50 บาท จึงจะจูงใจให้เกิดการลงทุน

คงต้องส่งแรงเชียร์ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนนี้แล้ว เพราะภารกิจที่รอการสะสางดูจะเป็นงานหินไม่น้อยเลยทีเดียว


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ภารกิจ เพ้ง จัดการ LPG/NGV ดาหน้า ขึ้นราคา ปี 2556

view