จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
เปิดผลวิเคราะห์โอกาสการลงทุนในพม่า พบต้นทุนธุรกิจสูงขึ้นผิดปกติ เตือนระวังหลังเปิดเออีซีปี 2559 ราคาที่ดิน-ค่าแรงพุ่ง
นายอัทธ์ พิศาลวานิช คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงบทวิเคราะห์เรื่อง “การค้าและการลงทุนของพม่า หลังปี 2515” ว่า ต้นทุนการทำธุรกิจในพม่ากำลังมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างผิดปกติ โดยค่าจ้างแรงงาน ในเมืองใหญ่มีค่าจ้างแรงงานต่อวันมากกว่า 120 บาทต่อวัน ขณะที่ในย่างกุ้งอยู่ที่ระดับ 150 บาทต่อวัน ซึ่งไม่รวมค่าสวัสดิการ การรับส่งพนักงาน และอาหารการกินที่ต้องมีให้พนักงาน โดยเชื่อว่าภายในอีก 3 ปีข้างหน้า ค่าแรงในพม่าจะปรับขึ้นสูงถึง 250 บาทต่อวันทั่วประเทศ
ขณะที่ราคาที่ดินก็ปรับเพิ่มสูงขึ้นกว่า 200-300% โดยราคาที่ดินนอกเขตอุตสาหกรรมจะสูงกว่าในเขตอุตสาหกรรม ส่วนราคาซื้อขายและเช่าที่ดินในกรุงย่างกุ้งในปี 2552 อยู่ที่ราคาไร่ละ 15.5 ล้านบาท ในปี 2556 มีราคาอยู่ที่ไร่ละ128 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 450% และในปี 2559 คาดว่าจะมีราคาอยู่ที่ไร่ละ 232 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 900% ส่วนที่ดินในเมืองมัณฑะเลย์ ในปี 2556 มีราคาอยู่ที่ไร่ละ 35.6 ล้านบาท และ ในปี 2559 จะมีราคาสูงขึ้นอยู่ที่ 61.9 ล้านบาทต่อไร่ ส่วนราคาที่ดินในทวาย ในปี 2556 มีราคาอยู่ที่ไร่ละ 110 ล้านบาท และ ในปี 2559 จะมีราคา 140 ล้านบาทต่อไร่
เตือน3ปีค่าเช่าที่กรุงย่างกุ้งพุ่งพรวด
สำหรับสัญญาการเช่าที่ดินในกรุงย่างกุ้งในปี 2556 อยู่ที่ราคา 4.5 ล้านบาทต่อไร่ต่อปี ส่วนปี 2559 จะปรับสูงขึ้นอยู่ที่ 8.75 ล้านบาทต่อไร่ต่อปี โดยสัญญาเช่าที่ดินในเขตเศรษฐกิจพิเศษทิลาวาจะมีราคาอยู่ที่ 2.5 ล้านบาทต่อไร่ต่อปี และในเขตทวายมีราคาอยู่ที่ 3.5 แสนบาทต่อไร่ต่อปี
นายอัทธ์ กล่าวว่า จากต้นทุนทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้นสวนทางกับดัชนีสิ่งอำนวยความสะดวกทางธุรกิจในพม่า โดยดัชนีโลจิสติกส์พม่า จัดว่าอยู่ในระดับต่ำมาก เทียบกับประเทศต่างๆ ในอาเซียน โดยพม่าอยู่ในระดับ 2.33 ขณะที่กัมพูชาอยู่ที่ 2.37 ลาว 2.46 เวียดนาม 2.96 เช่นเดียวกับการผลิตไฟฟ้าพบว่ายังเป็นอุปสรรคต่ออุตสาหกรรมและครัวเรือน สอดคล้องกับเครือข่ายโทรศัพท์ ที่ยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ โดยราคาซิมการ์ดสำหรับคนพม่า เฉลี่ยอยู่ที่ 250-300 ดอลลาร์ต่อเดือน ขณะที่ชาวต่างชาติ เฉลี่ยที่ 20 ดอลลาร์ต่อเดือน
แนะระวังความโปร่งใสในพม่ายังต่ำ
ด้านประสิทธิภาพและความโปร่งใสของพม่าอยู่ในระดับต่ำ โดยการพิจารณาของธนาคารโลก เมื่อปี 2554 ซึ่งพิจารณา จากเกณฑ์ด้านความรับผิดชอบของภาครัฐ ความมีเสถียรภาพทางการเมือง คุณภาพของกติกาภายในประเทศ กฎหมาย คอร์รัปชัน การปราศจากความรุนแรง โดยพบว่าพม่าอยู่ในระดับต่ำกว่า เกาหลีเหนือ กัมพูชา บังกลาเทศ และเวียดนาม นอกจากนี้ พม่ายังติดบัญชีดำประเทศที่มีความเสี่ยงสูง ภายใต้คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อการดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน (Financial Action Task Force : FATF)
"หากรัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่าร่วมกันเจรจาแก้ปัญหาที่เป็นอุปสรรคดังกล่าวได้ จะเป็นประโยชน์ต่อการทำธุรกิจของไทยมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการขยายตลาดไปยังพม่า เพราะแนวโน้มการขยายตัวของจีดีพีพม่า ยังสูงขึ้นต่อเนื่อง คาดว่าปี 2558-2563 จีดีพีพม่าจะขยายตัวประมาณ 7.6% ต่อปี ชี้ให้เหตุถึงศักยภาพของตลาดนี้"นายอัทธ์ กล่าว
คาดหลังปี2558 จีดีพีพม่าโต7.6%
นายอัทธ์ กล่าวว่า เศรษฐกิจของพม่าภายหลังเปิดเออีซีเต็มรูปแบบ คือ หลังปี 2558 จะขยายตัว 7.6% สูงขึ้นจากช่วงปัจจุบันที่คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 6.7% โดยหลังปี 2558 พม่าจะมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด เนื่องจากมีการเข้ามาลงทุนโดยตรงในพม่ามากขึ้น ทำให้มีความต้องการสินค้าและวัตถุดิบเพื่อการผลิตมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการนำเข้าจากจีน
ขณะที่ไทยแม้จะเป็นประเทศคู่ค้าหลัก แต่ยังคงขาดดุลการค้ากับพม่าเพราะส่วนใหญ่ไทยนำเข้า เชื้อเพลิง พลังงาน รวมถึงก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก และมีแนวโน้มนำเข้าเพิ่มขึ้น ขณะที่การส่งออกของไทยไปพม่า ส่วนใหญ่เป็นสินค้า ประเภทเครื่องดื่ม เครื่องปรุงรส สินค้าเกษตร แต่หลังเปิดเออีซีคาดว่าจะสามารถส่งออกสินค้าได้กว่า 5,100 ล้านดอลลาร์ หรือขยายตัว 14% ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าในกลุ่มสินค้าเกษตรและแปรรูป และสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรม ขณะที่การลงทุนในพม่าปัจจุบันจีนมีการลงทุนสะสมมากที่สุดคิดเป็นมูลค่า 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 34.28% ของการลงทุนทั้งหมด จากจำนวนโครงการลงทุน 34 โครงการ ขณะที่ไทยมีการลงทุนมากเป็นอันดับที่ 2 คิดเป็นมูลค่า 9,500 ล้านดอลลาร์ หรือ 23.19% จำนวน 61 โครงการ
หนุนไทยใช้โอกาสลงทุนพม่าหลังเปิดเออีซี
อย่างไรก็ตาม หลังเปิดเออีซีการลงทุนโดยตรงในพม่า จะขยายตัวสูงขึ้นกว่า 200-400% มีมูลค่าสูงกว่า 1 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนประเภทพลังงาน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ รวมถึงเหมืองแร่ ขณะที่ไทยการเข้าไปลงทุนควรเป็นธุรกิจเกี่ยวกับโรงแรม การท่องเที่ยว อุตสาหกรรมภาคการผลิต และธุรกิจโทรคมนาคม โดยไทยจะต้องใช้โอกาสในการเปิดเออีซีไปลงทุนในพม่า เช่น อุตสาหกรรมเกษตร และแปรรูป เช่น ข้าว ยางพารา เสื้อผ้า และกลุ่มสินค้าโอท็อป โดยรัฐบาลจะต้องเร่งเจรจากับพม่า เพื่อลดอุปสรรคการค้าและการลงทุน แม้ว่าไทยจะขาดดุลการค้าจากพม่า แต่เชื่อว่าหลังเออีซีเกิดขึ้น แนวโน้มการขาดดุลจะน้อยลง
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน