สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แมงเม่ายุคเข้าเน็ต : บทเรียนจากกรณี Jonathan Lebed ถึงไทย (1)

แมงเม่ายุคเข้าเน็ต : บทเรียนจากกรณี Jonathan Lebed ถึงไทย (1)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ถึงแม้ตลาดหุ้นไทยในวันนี้จะผันผวนปรวนแปรกว่าในอดีต และถึงแม้ผู้กำกับดูแลคือ ก.ล.ต.จะยังไม่เคยจับนักปั่นหุ้นรายใหญ่ขึ้นศาลได้แม้แต่ครั้งเดียว

ตลอดประวัติศาสตร์ 35 ปีของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) (ซึ่งที่จริงไม่อาจโทษความหย่อนยานของ ก.ล.ต. ได้ทั้งหมด สาเหตุส่วนใหญ่มาจากความไม่เหมาะสมของการใช้กฎหมายอาญาอย่างเคร่งครัดกับคดีอาชญากรรมในตลาดหุ้น เพราะโดยธรรมชาติยากยิ่งที่จะรวบรวมหลักฐานพิสูจน์ชนิด “สิ้นสงสัย” มีแต่พอให้ “เชื่อได้ว่า” ทุจริตจริง ส่งผลให้การดำเนินคดีใช้เวลานานมาก เจ้ามือบางคนก็หลบหนีได้จนหมดอายุความ ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงสนับสนุนการเสนอเพิ่มอำนาจทางแพ่งของ ก.ล.ต. หวังว่าคณะรัฐมนตรีจะเร่งชงร่างกฎหมายใหม่เข้าสภา และสภาจะออกกฎหมายนี้โดยเร็ว)

ความเสี่ยงที่จะถูก “ต้ม” ในตลาดก็ดูจะไม่ทำให้ “แมงเม่า” ยุคนี้สะทกสะท้าน หันไปทางไหนก็เห็นแต่คนเล่นหุ้น โดยเฉพาะเทรดออนไลน์ เวลาผู้เขียนเข้าร้านกาแฟจะเห็นคนจับกลุ่มกันสองประเภทใหญ่ๆ คือถ้าไม่ใช่กลุ่มขายตรง ก็เป็นกลุ่มคนเล่นหุ้นที่มานัดแจกแลกเปลี่ยนความรู้และเคล็ดลับการเทรด

(กลุ่มขายตรงกับกลุ่มเล่นหุ้นแยกออกจากกันได้ไม่ง่ายนัก ผู้เขียนสังเกตว่ากลุ่มขายตรงมักจะสั่งน้ำหรือกาแฟมาแก้วเดียว (มักจะเป็นโต้โผ) แล้วสุมหัวคุยกันยาวหลายชั่วโมง ส่วนกลุ่มเล่นหุ้นจะสั่งกาแฟแก้วใครแก้วมัน แล้วมานั่งคุยกันชิวๆ บางคนพกตำราเล่นหุ้นหรือสมุดจดมาด้วย - อย่างไรก็ดี ต้องออกตัวว่าข้อสังเกตนี้คร่าวมาก ไว้เมื่อไรได้ไปนั่งร้านกาแฟที่หลากหลายกว่านี้ เก็บข้อมูลจากสายตามาได้มากกว่านี้ จะมาเล่าสู่กันฟังอีกครั้ง)

การซื้อขายหุ้นออนไลน์คึกคักขึ้นเรื่อยๆ ทั้งมูลค่าและจำนวนคนเล่น สถิติของ ตลท. ระบุว่า ณ สิ้นเดือนเมษายน 2013 มูลค่าการซื้อขายหุ้นผ่านเน็ตมีสัดส่วนถึงร้อยละ 32 ของมูลค่าการซื้อขายหุ้นทั้งหมด ที่น่าสนใจคือบัญชีเล่นหุ้นผ่านเน็ตที่ active (คือส่งคำสั่งซื้อขายอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง) มีจำนวนทั้งสิ้นกว่า 160,000 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 53 ของบัญชีที่มีการซื้อขายทั้งหมดราว 300,000 บัญชี

พูดง่ายๆ คือ ถึงวันนี้นักลงทุนเล่นหุ้นผ่านเน็ตได้กลายเป็นนักเล่นหุ้น “ส่วนใหญ่” ของนักลงทุนรายย่อยในประเทศไปแล้ว และในเมื่อคนรุ่นใหม่เชี่ยวชาญและคุ้นเคยกับโลกออนไลน์มากกว่าคนรุ่นเก่า บรรยากาศการพบปะพูดคุยกันระหว่างอาม้า อาซิ้ม อาแปะ ฯลฯ ระหว่างจิบชาในห้องค้าแอร์เย็นเฉียบ ก็คงเป็นฉากที่เราพบเห็นได้น้อยลงเรื่อยๆ สวนทางกับการแลกเปลี่ยนเคล็ดลับกันในร้านกาแฟ หน้าเพจเฟซบุ๊คและเว็บไซต์ต่างๆ และงานสัมมนามากมาย

ในเมื่อการเทรดหุ้นออนไลน์เป็นการซื้อขายด้วยตัวเองโดยตรง ไม่ต้องผ่านเจ้าหน้าที่ของบริษัทหลักทรัพย์ (มาร์เก็ตติ้ง) ก่อน จึงไม่น่าแปลกใจที่คอร์สอบรมและหนังสือเกี่ยวกับการเล่นหุ้นจะผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด (ถึงแม้รัฐมนตรีคลังคนปัจจุบันจะยังล้าหลังและใจแคบ เหยียบแผนการเปิดเสรีธุรกิจหลักทรัพย์ไว้กับที่ ทำให้แม้จะซื้อขายเองได้ผ่านเน็ต นักลงทุนก็จำต้องขายผ่านระบบของโบรกเกอร์ จ่าย “ค่าต๋ง” ให้โบรกเกอร์ก่อน)

จากรายชื่อหนังสือขายดีที่สุด 100 เล่มของซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์ ร้านหนังสือที่มีสาขามากที่สุดในประเทศไทย (เว็บไซต์ www.se-ed.com) พบว่าในจำนวนนี้เป็นหนังสือเกี่ยวกับหุ้นและการลงทุน (ซึ่งส่วนใหญ่ก็พูดถึงหุ้น) มากถึง 22 เล่ม หรือ 22 เปอร์เซ็นต์

ชื่อหนังสือขายดีหลายเล่ม อาทิเช่น “ลงทุนหุ้นอย่างสบายใจ” “คู่มือเริ่มต้นเล่นหุ้น Online” “เล่นหุ้นออนไลน์ไม่ยาก” “เล่นหุ้นสไตล์มนุษย์เงินเดือน” “เพาะหุ้นเป็น เห็นผลยั่งยืน” “เก็บเงิน 10 ล้านคุณทำได้” “สร้างเงินล้านก่อนเรียนจบ” “มือใหม่เล่นหุ้นแนวเทคนิค ฉบับเริ่มต้นจนเล่นจริง” “เล่นหุ้นดูกราฟไม่ยาก” “โรงเรียนสอนเล่นหุ้น” ฯลฯ สะท้อนว่ากลุ่มนักเล่นหุ้นที่มาแรงที่สุดคือคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะนักศึกษามหาวิทยาลัยและมนุษย์เงินเดือนที่เพิ่งเริ่มทำงานได้ไม่นาน

ในเมื่อ “เวที” ของนักลงทุนรายย่อยย้ายจากโลกจริงไปออนไลน์ มีประเด็นอะไรบ้างที่นักลงทุนรุ่นใหม่ควรระวัง และผู้กำกับควรดูแล?

กรณีที่เกิดในอเมริกากว่าหนึ่งทศวรรษก่อน ตอนที่การซื้อขายหุ้นออนไลน์เริ่มเป็นที่นิยม คล้ายๆ กับบรรยากาศในไทยปัจจุบัน อาจเป็นจุดตั้งต้นที่ดีให้เราเริ่มตอบคำถามนี้

ข่าวใหญ่ในเดือนกันยายน ปี 2000 ไม่นานก่อนที่ตลาดหุ้นแนสแด็กของอเมริกาจะดิ่งเหว คือข่าว ก.ล.ต. อเมริกัน ตกลงยอมความนอกศาลกับนักลงทุนรายย่อยนาม โจนาธาน เลอเบด (Jonathan Lebed) ในข้อหา “สร้างราคาหุ้นเทียม” ภายใต้ข้อตกลงนี้ Lebed ถูกริบกำไรราว 285,000 ดอลลาร์ หรือประมาณร้อยละ 35 ของกำไรทั้งหมดที่ได้จากการเทรด แต่ไม่ต้องยอมรับว่ากระทำผิดกฎหมายใดๆ (ถ้า ก.ล.ต. ไทยมีอำนาจทางแพ่งก็จะสามารถใช้วิธีแบบนี้ได้)

ที่เป็นข่าวใหญ่คือ กรณีนี้เป็นครั้งแรกที่ ก.ล.ต. สหรัฐ ลงโทษเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ

โจนาธาน เลอเบด อายุ 15 ปีในวันที่เขาถูกจับ เล่นหุ้นออนไลน์ได้เงินกว่า 800,000 ดอลลาร์ ภายในระยะเวลาเพียงหกเดือน จากทุนตั้งต้น 8,000 ดอลลาร์ที่พ่อให้เป็นของขวัญวันเกิด เทรดหุ้นในชื่อพ่อ (ทั้งพ่อและแม่ของเขาไม่เล่นเน็ต) เปิดเว็บไซต์ของตัวเองชื่อ Stock-dogs.com เชิญชวนให้คนอื่นมาซื้อหุ้นราคาถูก (มีชื่อเล่นว่า “penny stocks”) ที่เขาคิดว่าเจ๋ง เลอเบดสร้างบัญชีผู้ใช้หลายบัญชี เข้าไปโพสต์เชียร์หุ้นตามแชทรูมและกระดานสนทนาต่างๆ

ก.ล.ต. มองว่าการโพสต์เชียร์ให้คนอื่นซื้อหุ้นที่เขาถืออยู่แล้ว โดยใช้บัญชีหลายบัญชี (ปกปิดตัวตนที่แท้จริง อันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในเน็ต) โพสต์ข้อความซ้ำๆ กันทีละหลายร้อยครั้ง เข้าข่ายการ “สร้างราคาหุ้น” โดยมิชอบ เพราะกิจกรรมของเขาส่งผลต่อตลาดหุ้น บริษัทขนาดเล็กที่เขาเทรดปกติมีปริมาณการซื้อขายเพียง 60,000 หุ้นต่อวัน เพียงหนึ่งวันหลังจากที่เขาโพสต์เชียร์หุ้น ปริมาณการซื้อขายของหุ้นบริษัทเหล่านี้ก็พุ่งขึ้นไปถึงหลักล้านหุ้น

เลอเบดยืนกรานตลอดมาว่าสิ่งที่เขาทำไม่แตกต่างจากสิ่งที่ “มืออาชีพ” ในภาคการเงินทำกันทุกวัน ต่างกันแต่ตรงที่เขาใช้อินเทอร์เน็ตเท่านั้น ในจดหมายถึงทนายความของเขา เลอเบดเขียนว่า “ทุกเช้าผมดูรายการ Shop at Home ทางเคเบิลทีวี ...พิธีกรชอบพูดประมาณ 'ดีลนี้เจ๋งที่สุดในประวัติศาสตร์รายการเรานะครับ! ไม่ต้องคิดเลยครับท่านผู้ชม! เร่เข้ามาสั่งก่อนของหมดนะครับ!' …เขาไม่ได้ทำอะไรผิดเวลาที่ใช้คำแบบนี้ ตราบใดที่เขาไม่ได้โกหกเกี่ยวกับสภาพหรือสเปคของสินค้า เขาก็ไม่ได้ก่ออาชญากรรม คนที่คุยกันเรื่องหุ้นก็เหมือนกัน”

กรณีของเลอเบดก่อให้เกิดคำถามว่า ในยุคอินเทอร์เน็ต เส้นแบ่งระหว่างการ “เชียร์หุ้น” (ไม่ผิดกฎหมาย) กับ “สร้างราคาหุ้น” (ผิดกฎหมาย) นั้น อยู่ตรงไหนกันแน่และเราจะรู้ได้อย่างไร?

โปรดติดตามตอนต่อไป


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : แมงเม่า เข้าเน็ต บทเรียน Jonathan Lebed ไทย

view