สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เรามา Hedging ค่าเงินกันเถอะ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ฐิตารีย์ ลิขิตธนธรรม



หลังจากที่มีการเปิดเผย 4 มาตรการสกัดเงินทุนไหลเข้าเพื่อแก้ไขการแข็งค่าของเงินบาท ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ออกมาอย่างไม่ค่อยจะถูกที่ถูกเวลาสักเท่าไร ส่งผลให้ค่าเงินบาทในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาขึ้นลงแบบสุดสวิงริงโก้เลยก็ว่าได้ และล่าสุด (13 พฤษภาคม 2556) ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมาถึงระดับ 29.87 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าที่สุดในรอบ 2 เดือน แม้จะมีการหารือร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชนวานนี้ แต่ก็คงไม่ได้ทำให้เกิดภาพที่ชัดเจนกับค่าเงินบาทมากนัก เพราะเป้าหมายของแต่ละองค์กรหลักยังเดินไปคนละทิศละทาง

ประเด็นที่ถือเป็นไฮไลต์ของมาตรการทั้ง 4 นี้คือข้อสุดท้ายที่นักลงทุนต่างประเทศนำเงินเข้ามาต้องทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนด้วย เพราะเท่ากับเป็นการปิดโอกาสในการเก็งกำไรค่าเงินบาทของนักลงทุนต่างชาติเลยทีเดียว จากก่อนหน้านี้ที่นักลงทุนคาดหวังจะได้รับผลตอบแทน 2 เด้งจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยและส่วนต่างอัตราแลกเปลี่ยน แต่มาตรการดังกล่าวทำให้เงินที่แลกเมื่อเข้ามาในประเทศกับเงินที่แลกออกไปเมื่อลงทุนครบกำหนดจะมีอัตราที่แน่นอน

ในแง่ผู้ประกอบการก็ควรใช้หลักการบริหารความเสี่ยงค่าเงิน ยิ่งกว่านักลงทุนเหล่านี้ เพราะเป้าหมายของผู้ประกอบการคือการสร้างรายได้จากธุรกิจเป็นหลัก เราจึงมักจะได้ยินคำแนะนำอยู่เสมอให้ผู้ประกอบการซื้อเครื่องมือป้องกันความเสี่ยง หรือทำประกันความเสี่ยงค่าเงิน แต่ความรู้ความเข้าใจของผู้ประกอบการในเครื่องมือเหล่านี้มีมากน้อยเพียงใด หลายๆ ครั้งจึงได้ยินว่าผู้ประกอบการเข้าไม่ถึง หรือไม่เข้าใจเครื่องมือเหล่านี้

ในบทความนี้จึงขอแนะนำเครื่องมือหลักในการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน (Currency Hedging) ที่ใช้อยู่ในขณะนี้ ได้แก่ สิทธิ์ในการซื้อเงินตราต่างประเทศ (Option) และสัญญาซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า (Forward Contract) และ โดย Option นั้นเรียกง่ายๆ ก็คือซื้อสิทธิ์ที่จะแลกเปลี่ยนเงินสกุลต่างประเทศในอัตราและวันที่กำหนดโดยที่ธนาคารพาณิชย์จะคิดค่าธรรมเนียมที่เรียกว่า Premium แต่เมื่อถึงเวลาหากค่าเงินบาทที่เคยซื้อไว้ ถูกหรือแพงกว่าค่าเงินบาทราคาปัจจุบัน ลูกค้าอาจไม่ใช้สิทธิ์ที่เคยซื้อไว้ก็ได้ ต้นทุนที่เสียไปมีแค่ค่าธรรมเนียมเท่านั้น แต่ Option ยังไม่เป็นที่นิยมเท่ากับการซื้อล่วงหน้าหรือ Forward Contract

การซื้อล่วงหน้าหรือที่แบงก์เรียกว่าจอง Forward ก็คือการทำสัญญาว่าจะนำเงินสกุลต่างประเทศมาแลกในอนาคตตามระยะเวลาที่ต้องการด้วยวงเงินที่กำหนด โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมให้ธนาคารพาณิชย์เหมือนวิธีแรก แต่ลูกค้าจะต้องขอวงเงินไว้กับธนาคารก่อน และแบงก์จะคำนวณส่วนต่างหรือที่เรียกว่า swap point ซึ่งจะมาจากการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยของสกุลเงินที่จะทำการซื้อขาย เช่นดอลลาร์สหรัฐและเงินบาทในระยะเวลาที่จะส่งมอบ เช่น 1 เดือน 3 เดือนหรือ 6 เดือน บางครั้งส่วนเพิ่มอัตราแลกเปลี่ยน (Premium) และ ส่วนลดอัตราแลกเปลี่ยน (Discount) ตามแนวโน้มค่าเงิน 2 สกุล

ข้อมูล ณ วันที่ 13 พ.ค. 2556 อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน (Spot Rate) อยู่ที่ 29.68 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่ swap point ของค่าเงินบาทมีส่วนเพิ่มหรือ Premium ดังนี้ ล่วงหน้า 1 เดือนอยู่ที่ 0.055-0.057 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ล่วงหน้า 3 เดือนอยู่ที่ 0.0148-0.0152 บาทต่อดอลลาร์ ล่วงหน้า 6 เดือนอยู่ที่ 0.028-0.029 บาทต่อดอลลาร์ ล่วงหน้า 12 เดือนอยู่ที่ 0.053-0.054 บาทต่อดอลลาร์ โดยนำส่วนเพิ่มนี้ไปบวกเข้ากับอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน โดยขอยกตัวอย่างการคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า 1 เดือน ดังนี้ 29.68+0.055= 29.735 บาทต่อดอลลาร์

หากติดตามข้อมูล swap point ในช่วงนี้จะเห็นได้ว่ามีความผันผวน ไม่แตกต่างจากความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท โดยเฉพาะในระยะนี้ที่การคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยของไทย ได้รับแรงกดดันจากภาคทางการ แต่ไม่ว่าจะผันผวนอย่างไร หากผู้ประกอบการจองซื้อล่วงหน้าไว้แล้วก็จะได้รับอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความแน่นอน ไม่ต้องลุ้นต้องเกร็งจนตัวโก่งเหมือนที่นักเก็งกำไรกำลังเป็นกันอยู่ในขณะนี้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : Hedging ค่าเงิน

view