ข้อสังเกตงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 (ภาค 2)
โดย : ดร.อาภรณ์ ชีวะเกรียงไกร
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ได้พูดถึงสรุปร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2557 ไปแล้วนะคะ ในวันนี้จะพูดต่อถึงแนวโน้มที่น่าจะเป็นผลกระทบที่น่าจะเกิดขึ้น
ที่สำคัญๆ คือ
หนี้สาธารณะของประเทศที่น่าจะปรับตัวสูงขึ้นอีกอย่างน้อยก็ 250,000 ล้านบาท ตามขนาดของการขาดดุลงบประมาณ แต่ตัวเลขที่แท้จริงแล้วจะต้องรวมในส่วนของพระราชกำหนดเงินกู้เพื่อการบริหารจัดการน้ำจำนวน 350,000 ล้านบาท ที่ได้มีการเปิดประมูลไปในสัปดาห์ที่ผ่านมา และพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินวงเงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง พ.ศ. 2556 ซึ่งผ่านวาระรับหลักการของรัฐสภาไปเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมาและจะมีการพิจารณาในวาระที่สองและสามต่อไป เมื่อเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรในเดือนสิงหาคมที่จะมาถึงนี้
นอกจากนี้ยังมีหนี้ที่เกิดจากโครงการต่างๆ โดยเฉพาะการชดเชยการขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าวที่จนในปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนระหว่างข้อมูลทางการและข้อมูลของพรรคฝ่ายค้าน สำหรับข้อมูลทางการจากการแถลงโดยนายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ใช้ตัวเลขเพียง ณ สิ้นเดือนมกราคม ผลการดำเนินงาน 6 เดือนในช่วงเดือนสิงหาคม 2554 ถึงมกราคม 2555 ที่มีผลขาดทุนของการดำเนินงานรวม 136,908 ล้านบาท จากการรับจำนำข้าวนาปี 2554/2555 และข้าวนาปรังปี 2555
สำหรับตัวเลขของฝ่ายค้านจะใช้ตัวเลขถึงเดือนมิถุนายน ของคณะกรรมการปิดโครงการรับจำนำข้าวที่รวมการรับจำนำข้าวนาปี 2555/2556 ที่เบื้องต้นมีผลขาดทุนอยู่อีกประมาณ 84,000 ล้านบาท รวมแล้วจะมีผลขาดทุน 220,908 ล้านบาท และหากรวมค่าบริหารจัดการต่างๆ เช่น ดอกเบี้ย ค่าเช่าโกดังสำหรับฝากข้าว และการปรับปรุงคุณภาพข้าวอีกประมาณ 40,000 ล้านบาท จะทำให้มีผลขาดทุนรวมประมาณ 260,000 บาท ซึ่งเข้าใจว่าคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติเองก็ได้รับทราบข้อมูลในส่วนนี้ จึงได้มีการประกาศลดราคารับประกันข้าวนาปรังปี 2556 ลงจาก 15,000 บาทเหลือตันละ 12,000 บาทโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2556 นี้ พร้อมกับจำกัดวงเงินให้ชาวนาได้ไม่เกินรายละ 500,000 บาท และตั้งเป้าขาดทุนปีละไม่ถึง 1 แสนล้านบาท แต่น่าสังเกตว่าประเด็นไม่ได้อยู่ที่การขาดทุนเท่าใด เพราะทุกฝ่ายเข้าใจถึงความจำเป็นที่จะต้องให้ความช่วยเหลือชาวนา แต่ประเด็นหัวใจสำคัญและความกังวลอยู่ที่การรั่วไหลของการดำเนินงานที่มีการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งจากข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐแถลงว่าชาวนาได้รับประโยชน์อยู่ประมาณ 87,000 ล้านบาท ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีส่วนต่างหรือการรั่วไหลของเงินอยู่อีกประมาณ 50,000 ล้านบาทต่อปี
ผลกระทบที่ตามมาที่สำคัญอีกประการ คือ การเพิ่มขึ้นของค่าครองชีพที่ใน พ.ร.บ. งบประมาณ 2557 นี้ กำหนดให้มีการปรับเพิ่มอัตราการนำส่งเงินกองทุนน้ำมัน หนี้สาธารณะของประเทศเพิ่มขึ้นสู่ระดับที่เป็นความห่วงใยของนักวิชาการ ทั้งนี้ ตัวเลขหนี้สาธารณะของสำนักงานหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ล่าสุด ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2556 มีจำนวน 5,121,300 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 44.16 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (แปลง่ายๆ ว่า ภาระหนี้ของประเทศคิดเป็น 44.16 ของรายได้ที่หาได้) ซึ่งหากรวมหนี้นอกระบบต่างๆ เข้าไปแล้วภาระหนี้ที่แท้จริงของประเทศจะอยู่สูงกว่าร้อยละ 50 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ทั้งนี้ ตัวเลขหนี้สาธารณะในช่วงของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนสิงหาคม 2554 เพิ่มขึ้น 849,000 ล้านบาท (หนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2554 มีจำนวน 4,271,960 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 41.10) มิหนำซ้ำยังเป็นการก่อภาระหนี้ผูกพันให้กับคนรุ่นลูกหลานต่อไปอีก 50 ปี จำนวน 2 ล้านล้านบาทบวกดอกเบี้ยอีกจำนวนประมาณ 3 ล้านล้านบาท
จากโครงสร้างงบประมาณที่แม้มีการก่อหนี้นอกงบประมาณจำนวนมหาศาลแล้ว ตัวงบประมาณก็มีโครงสร้างเดิมๆ คือในวงเงินงบประมาณ 2.52 ล้านล้านบาทนั้น ร้อยละ 80 เป็นงบประมาณประจำ (งบค่าใช้จ่ายเงินเดือน และค่าใช้สอยวัสดุครุภัณฑ์) งบลงทุนร้อยละ 17 และส่วนที่เหลือเป็นงบประมาณเพื่อการชดใช้หนี้และอื่นๆ ซึ่งสะท้อนว่ามิได้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการรองรับกับยุทธศาสตร์ที่อ้างถึง โดยเฉพาะมาตรการที่ชัดเจนในการรองรับการเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558
ประเด็นที่ร้อนแรงมาก คือ การอภิปรายถึงเงินงบประมาณในโครงการรับจำนำข้าวในปี 2557 จำนวนประมาณ 100,000 ล้านบาท ที่ได้ดำเนินโครงการมาเกือบ 2 ปี แต่ยังไม่เคยมีการเปิดเผยถึงผลการดำเนินงานเลย มีเพียงข่าวเบื้องต้นของคณะกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำผลผลิตทางการเกษตร ที่สรุปผลการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว ปี 2554/2555 ว่าขาดทุนประมาณ 2.6 แสนล้านบาท รวมไปถึงข้อมูลที่แสดงว่ามีแนวโน้มของทุจริตคอร์รัปชันที่ได้มีการอภิปรายในรัฐสภา เป็นความกังวลของคนทั่วประเทศที่เงินภาษีกำลังถูกใช้ไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ
ล่าสุดนี้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส หรือมูดี้ส์ เผยรายงาน "แนวโน้มเครดิตของมูดีส์" ระบุความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวในปีการผลิต 2554/2555 และความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตจากการที่รัฐบาลยืนยันจะเดินหน้าโครงการรับจำนำข้าวต่อไปนั้น จะทำให้เป็นเรื่องยากมากขึ้นที่รัฐบาลจะบรรลุเป้าหมายงบประมาณสมดุลภายในปี 2560 ที่สำคัญยังเป็นปัจจัยลบต่ออันดับเครดิตของไทย
นอกจากความเสียหายที่เป็นภาระต่อฐานะการคลังแล้ว โครงการรับจำนำข้าวจะทำลายอุตสาหกรรมการผลิตและการส่งออกข้าวของประเทศ รัฐบาลจะต้องมีความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูลและมีคำชี้แจงที่ชัดเจน และที่สำคัญที่สุดคือให้ชาวนาได้รับประโยชน์จากโครงการเต็มที่ รวมถึงการไม่เอื้อประโยชน์ต่อการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศมาสวมสิทธิ ซึ่งในความคิดของผู้เขียน เห็นว่าหากจะดำเนินโครงการรับจำนำข้าวต่อไป จะต้องลด/ขจัดช่องโหว่ที่เปิดช่องทางให้ทุจริตคอร์รัปชันของทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็น ข้าราชการ คนกลาง ตลอดจนนักการเมือง
เรื่องสุดท้ายเป็นเรื่องรถตู้ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีการตั้งงบประมาณซื้อรถตู้จำนวน 1,000 คันขึ้นมาสำหรับแก้ไขปัญหาคุณภาพการศึกษา ที่จากเดิมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแถลงว่าจะต้องมีการยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กจำนวนประมาณ 3,000 แห่ง เนื่องจากไม่งบประมาณจัดสรรให้กับโรงเรียนเหล่านั้น และต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงเหตุผลว่าเพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา และจบลงด้วยการซื้อรถโรงเรียนสำหรับรับส่งนักเรียนที่ถูกยุบรวม ซึ่งการอภิปรายพบว่ามีตั้งราคารถตู้สูงกว่าราคาตลาดถึงหนึ่งเท่าตัวและมีคำชี้แจงเพียงว่าเป็นการพิมพ์ผิด
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน