ภ.ง.ด.51: ภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปีของ SMEs
โดย : สุเทพ พงษ์พิทักษ์
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ขอนำประเด็นการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2556
ที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2556 มาปุจฉา - วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้
ปุจฉา มีแนวทางในการจัดทำประมาณการกำไรสุทธิเพื่อยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ของกิจการ SMEs สำหรับปี 2556 อย่างไร
วิสัชนา สืบเนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายในการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ จึงได้มีตราพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 530) พ.ศ. 2554 เพื่อลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งไม่เคยมีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีเกินกว่า 5 ล้านบาท และหรือมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการเกินกว่า 30 ล้าน เพื่อสนับสนุนการประกอบวิสาหกิจขนาดย่อมและกระตุ้นให้มีการลงทุนในวิสาหกิจดังกล่าวอันจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2555 เป็นต้นไป ต่อมาได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 564) พ.ศ. 2556 แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับดังกล่าว เป็นผลให้กิจการเอสเอ็มอี ได้สิทธิเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2556 รวมทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชีด้วยดังนี้
1. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิ เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาท
2. กำไรสุทธิ เฉพาะส่วนที่เกิน 300,000 บาท แต่ไม่เกินหนึ่งล้านบาท ให้เสียในอัตรา 15%
3. กำไรสุทธิ เฉพาะส่วนที่เกินหนึ่งล้านบาท ให้เสียในอัตรา 20%
ในการหักจำนวนเงินกำไรสุทธิที่ได้รับยกเว้น 300,000 บาทแรก เพื่อการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี สำหรับการประมาณการกำไรสุทธิ นั้น ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลทำการประมาณกำไรสุทธิของทั้งรอบระยะเวลาบัญชีเสียก่อน แล้วนำมาหารสองคงเหลือเท่าใดเป็นประมาณการกำไรสุทธิที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล จากนั้นให้นำกำไรสุทธิที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจำนวน 300,000 บาทมาหักออก คงเหลือกำไรสุทธิเท่าใดให้คำนวณตามอัตราที่ระบุข้างต้น เช่น
บริษัทจำกัดแห่งหนึ่ง ประมาณการกำไรสุทธิสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2556 ได้เป็นเงิน 5 ล้านบาท จำนวนประมาณการกำไรสุทธิกึ่งหนึ่งเท่ากับ 2.5 ล้านบาท เช่นนี้ แบ่งจำนวนประมาณการกำไรสุทธิออกเป็นส่วนที่ไม่เกิน 1 ล้านบาท ออกมาหักด้วยจำนวนเงินได้สุทธิที่ได้รับยกเว้น 300,000 บาท คงเหนือ 700,000 บาท ให้คำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา 15% ได้เป็นเงิน 105,000 บาท สำหรับกำไรสุทธิส่วนที่เกิน 1 ล้านบาท คงเหลืออยู่จำนวน 1.5 ล้านบาท นำไปคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา 20% ได้เป็นเงิน 300,000 บาท รวมเป็นจำนวนภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชีที่ต้องเสียตามแบบ ภ.ง.ด.51 ทั้งสิ้นเป็นเงิน 405,000 บาท หากในช่วง 6 เดือนแรกกิจการได้ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ก็ให้นำมาเครดิตหักออกจากจำนวนภาษีที่ต้องเสียได้ หากยังขาดให้ชำระเพิ่ม แต่ถ้าเกินให้นำไปถือเป็นเครดิตในการยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ต่อไป
อนึ่ง สำหรับกิจการร่วมค้า ซึ่งโดยสถานภาพทั่วไป มิใช่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล แต่ตามประมวลรัษฎากร กำหนดให้เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นนิติบุคคลเพื่อให้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น แม้กิจการร่วมค้าจะมีเงินทุนไม่เกิน 2 ล้านบาท ก็ไม่ได้สิทธิประโยชน์ในประเด็นนี้แต่อย่างใด
พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน