บทเรียนจาก PTTGC (1) : ต้อง “โปร่งใสสุดขั้ว” ไม่ใช่มัวแต่สร้างภาพ
โดย : สฤณี อาชวานันทกุล
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ข่าวใหญ่ในรอบสองเดือนที่ผ่านมาหนีไม่พ้นเหตุการณ์น้ำมันรั่วกลางทะเลของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล (“พีทีทีจีซี”)
บริษัทจดทะเบียนยักษ์ใหญ่ในเครือ ปตท.
ถ้ารั่วกลางทะเลอย่างเดียวคงไม่เป็นข่าวข้ามสัปดาห์ ถึงแม้จะก่อความเสียหายต่อสัตว์น้ำและระบบนิเวศในทะเลอย่างทันทีและเรื้อรัง แต่สิ่งที่ทำให้คนไทยทั้งประเทศลุกขึ้นมาติดตามข่าวนี้จนสื่อพร้อมใจกันลุกขึ้นมาทำหน้าที่อย่างดีพอประมาณ (แม้ว่าสื่อหลายค่ายจะตั้งหน้าตั้งตา “อวย” จนมองเห็นแต่ไกลลิบว่าเป็น “พีอาร์” ไม่ใช่ “ข่าว” ก็ตามที) คือ ภาพอ่าวพร้าวที่เกาะเสม็ดข้นคลั่กไปด้วยน้ำมันดิบ ชนิดที่ต่อให้ใครอยากปิดข่าวก็ปิดไม่มิด
แน่นอน ขึ้นชื่อว่า “อุบัติเหตุ” ย่อมเกิดได้ทุกที่ทุกเวลา ตั้งแต่บริษัทห้องแถวยันบริษัทแสนล้าน ประเด็นอยู่ที่ว่า เมื่อเกิดอุบัติเหตุที่ก่อความเสียหายในวงกว้าง ภาครัฐในฐานะตัวแทนประชาชนจะฟ้องเรียกค่าชดเชยความเสียหายจากบริษัทเมื่อใด จะสอบสวนหาสาเหตุของน้ำมันรั่วอย่างเป็นอิสระจริงๆ และเปิดเผยผลการสอบสวนทั้งหมดต่อสาธารณะหรือไม่
ในส่วนของบริษัท คำถามคือบริษัทจะ “รับผิดชอบ” ต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบ ตั้งแต่ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ชาวประมง รวมไปถึงระบบนิเวศชายฝั่งและในทะเล อย่างเป็นธรรมอย่างไร จะ “ปรับปรุง” การดำเนินงานอย่างไรเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุเช่นนี้อีก
เหตุการณ์ผ่านไปแล้วค่อนเดือน แต่ถึงกลางเดือนสิงหาคม สังคมไทยยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน คณะกรรมการสอบสวนที่รัฐแต่งตั้งเพิ่งประกาศว่าน้ำมันรั่วเกิดจาก “ท่ออ่อนแตก” แต่ยังไม่ชัดว่าแตกเพราะอะไร คนไทยยังไม่แน่ใจว่าอาหารทะเลจากระยองปลอดภัยหรือไม่ ใต้ทะเลตอนนี้เป็นอย่างไร ซ้ำร้ายหน่วยงานราชการตั้งแต่กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ กรมควบคุมมลพิษ ยันกรมเจ้าท่า ยังไม่มีวี่แววว่าจะดำเนินการใดๆ ทางกฎหมาย บางหน่วยงานอ้างว่า “บริษัทยินดีชดใช้ค่าเสียหายแล้ว” ทั้งที่การชดใช้ค่าเสียหายโดยสมัครใจของบริษัทเป็นคนละเรื่องกันอย่างสิ้นเชิงกับการทำหน้าที่ของรัฐ
สิ่งที่รัฐต้องทำหลังจากที่กอบกู้วิกฤติเฉพาะหน้าได้แล้ว คือ “เช็กบิล” ให้ครบถ้วน ไม่ใช่ไปช่วยบริษัทสร้างภาพ ระดมจิตอาสา ฯลฯ ราวกับว่าวิกฤติครั้งนี้เป็นภัยธรรมชาติอย่างสึนามิ ไม่ใช่อุบัติเหตุ
คนธรรมดาและบริษัทขนาดเล็กมากมายถูกดำเนินคดีเป็นกิจวัตรเพราะก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่น แม้เป็นอุบัติเหตุก็ตาม น้ำมันรั่วกลางทะเลกว่า 50,000 ลิตร นับว่าไม่มากแต่ก็มากเป็นประวัติการณ์ของไทยและถือว่าไม่น้อย รัฐกลับไม่จริงจังที่จะเอาผิด
ไม่กี่วันหลังเกิดเหตุน้ำมันรั่ว หลังจากที่ พรเทพ บุตรนิพันธ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ของพีทีทีจีซี ออกมาอ้างอย่างไม่น่าเชื่อว่า “คราบน้ำมันดำไม่อันตราย แค่ย่อยสลายช้า” ผู้เขียนก็โพสต์ข้อความบนเพจเฟซบุ๊คของตัวเอง (www.facebook.com/SarineeA) ว่า
“การปิดบังความจริง พูดงี่เง่า ฯลฯ ของ PTTGC ไม่ใช่แค่ปัญหาการสื่อสาร แต่สะท้อนปัญหาที่ลึกกว่า คือการอวดเบ่ง เส้นใหญ่ และไม่เข้าใจสิ่งแวดล้อม ส่วนปฏิกิริยาของภาครัฐ...ก็เป็นบทสะท้อนที่ดีมากครั้งหนึ่ง ถึงอัปลักษณะของ "ธนกิจการเมือง" และ "ทุนนิยมพวกพ้อง" แบบไทยๆ”
คอลัมน์ “รู้ทันตลาดทุน” วันนี้และนับจากนี้ไปอีกหลายตอน จะอธิบายว่าเหตุใดผู้เขียนจึงคิดเช่นนี้ “ต้นทุน” ของการทำธุรกิจแบบนี้ต่อตัวบริษัทเองและต่อสังคมมีอะไรบ้าง
เริ่มจากการปิดบังความจริงของบริษัท ทั้งต่อประชาชนและต่อนักลงทุน
ผู้อ่านบางท่านอาจพอจะจำคอลัมน์นี้ตอน “ความจริงและความโปร่งใส : กรณี ปตท.สผ. ในออสเตรเลีย” ปลายปี 2553 ได้ โดยผู้เขียนวิจารณ์การรายงานต่อตลท. ของ ปตท. สผ. กรณีคณะกรรมการสอบสวนเหตุน้ำมันรั่วมอนทารา ออสเตรเลีย เปิดเผยรายงานฉบับสมบูรณ์
ผู้เขียนชี้ว่ารายงานต่อ ตลท. ของ ปตท.สผ. ครั้งนั้นละเมิดกฎการเปิดเผยข้อมูลของ ตลท. อย่างชัดเจน เพราะรายงานของคณะกรรมการสอบสวนมีสองส่วน ได้แก่ “ข้อค้นพบ” (findings) อันเป็นข้อเท็จจริงที่ได้จากการสอบสวน และ “ข้อเสนอแนะ” ต่อรัฐบาลออสเตรเลีย แต่ ปตท.สผ. กลับเลือกรายงานเฉพาะส่วนหลังที่ฉายภาพด้านดีของบริษัท อ้างแต่ว่าคณะกรรมการสอบสวนมี “ความเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติงาน...” ของบริษัท โดยไม่พูดถึง “ข้อค้นพบ” ใดๆ ของคณะกรรมการ ซึ่งระบุข้อบกพร่องของบริษัทอย่างละเอียด
น่าเศร้าที่สามปีผ่านไป พอเหตุเกิดในบ้านตัวเอง พีทีทีจีซีซึ่งเป็นบริษัทใหญ่ในเครือ ปตท. อีกบริษัท เลือกที่จะปิดบังความจริงต่อตลท. และนักลงทุน ไม่ต่างจากที่ ปตท.สผ. เคยทำ
พีทีทีจีซีส่งจดหมายแจ้งตลท. เกี่ยวกับกรณีน้ำมันรั่วฉบับแรกเวลา 14.00 น. ในวันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม หลังจากที่ตลาดหุ้นเปิดทำการไปแล้วครึ่งวัน หลังจากที่คนไทยทั้งประเทศได้เห็นภาพอ่าวพร้าวสีดำไปแล้วตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม หลังจากที่เย็นวันที่ 27 กรกฎาคม บริษัทออกสื่อว่า “ควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม” (ดูตัวอย่าง http://www.bangkokbiznews.com/kttv/vdo/519739/)
จดหมายฉบับนี้ไม่พูดถึงน้ำมันที่อ่าวพร้าวหรือเกาะเสม็ด อ้างแต่เพียงว่า “ปัจจุบันคราบน้ำมันสลายลงเหลือประมาณ 5,000 ลิตร” ทั้งที่ ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ซีอีโอของ ปตท. ชี้แจงในการแถลงข่าวว่า น้ำมันเกือบ 20,000 ลิตร จากที่รั่วทั้งหมดกว่า 50,000 ลิตร หลุดไป “โผล่” ที่อ่าวพร้าวแบบ “เหนือความคาดหมาย” (และจนถึงวันนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่าหลุดไปได้อย่างไร)
นับเป็นการปิดบังความจริงที่เป็นสาระสำคัญและละเมิดกฎการเปิดเผยข้อมูลอย่างชัดแจ้งอีกครั้ง แต่ ตลท. ก็ไม่ทำอะไรเหมือนเดิม ปล่อยให้รายงานแย่ๆ ฉบับนี้อยู่ไปถึงสามวัน จวบจนวันที่ 1 สิงหาคม ภายหลังจากที่หุ้นของบริษัทตกลงถึง 10 เปอร์เซ็นต์รวมสองวันคือ 30 และ 31 กรกฎาคม พีทีทีจีซีถึงได้ส่งรายงานแจ้ง ตลท. ที่พอใช้ได้ คืออธิบายความคืบหน้าของการกำจัดคราบน้ำมัน และแจกแจงมาตรการแก้ไขในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
พูดง่ายๆ คือ ต้องรอให้นักลงทุนแตกตื่นเทขายหุ้นกันก่อน ราคาหุ้นตัวเองตกฮวบก่อน บริษัทจึงจะเปิดเผยข้อมูลออกมา แทนที่จะรีบเปิดเผยข้อมูลให้ครบถ้วนทันทีที่ทำได้
เหตุการณ์นี้บ่งชี้ว่า เครือ ปตท. น่าจะยังใช้วิธีประชาสัมพันธ์แบบโบราณ (ซึ่งจะว่าไปก็ผิดหลักการประชาสัมพันธ์) คือเชื่อว่าเวลาที่เกิดปัญหา บริษัทต้องพยายามควบคุมความเสียหายต่อชื่อเสียงด้วยการควบคุมข้อมูลที่ออกสู่สายตาสาธารณะ แต่ในยุคอินเทอร์เน็ตที่ข้อมูลข่าวสารวิ่งเร็วกว่าจรวด กดดันให้บริษัทต่างๆ ต้องโปร่งใสมากขึ้นมาก ไม่ใช่น้อยลง เพราะไม่มีทางที่บริษัทจะหลีกเลี่ยงหรือปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นเชิงลบต่อบริษัทได้ ยิ่งใช้วิธีชิ่งหนี เบี่ยงประเด็น หรือสร้างภาพ ยิ่งไม่อาจสร้างการยอมรับที่แท้จริงจากสังคมได้
พูดง่ายๆ คือ บริษัทยังไม่เข้าใจยุคที่เรียกร้อง “ความโปร่งใสสุดขั้ว” (radical transparency)
โปรดติดตามตอนต่อไป
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน