หมัดน็อค!รัฐมนตรีกรณีเก็บเงินสด 140 ล้าน?
จากสำนักข่าวอิสรา
"...เหตุที่หยิบยกกรณีนี้เพราะโดย ปกติแล้วนักการเมือง(บางคน)มักจะแจ้งต่อ ป.ป.ช.ว่ามีทรัพย์สินจำนวนน้อย (ต่ำกว่าความเป็นจริง?) และไม่ยอมเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมาว่ามีเงินสดจำนวนมากเก็บไว้ในบ้าน.."
นักการเมืองคนหนึ่งขณะเป็น รัฐมนตรีแจ้งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่าภรรยามีทรัพย์สินกว่า 1,000 ล้านบาท
ในจำนวนนี้เป็นเงินสด 140 ล้านบาท
ต่อมาเมื่อ ป.ป.ช.ต้องการตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริงตามระเบียบการตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
อดีตรัฐมนตรีรายนี้ก็ขนเงินมาให้ ตรวจนับถึงที่สำนักงาน
ทั้งที่ในทางปฏิบัติจะต้องให้ ป.ป.ช.ไปตรวจนับ ณ ที่จัดเก็บเงิน
เหตุที่หยิบยกกรณีนี้เพราะโดยปกติแล้วนักการเมือง(บางคน)มักจะแจ้งต่อ ป.ป.ช.ว่ามีทรัพย์สินจำนวนน้อย (ต่ำกว่าความเป็นจริง?) และไม่ยอมเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมาว่ามีเงินสดจำนวนมากเก็บไว้ในบ้าน
ยกเว้น พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรี เพียงรายเดียวในช่วงเป็น ส.ส.ปี 2540 แจ้งว่ามีเงินสดถึง 90 ล้านบาท กรณีนี้จึงเป็นเรื่องผิดวิสัยและควรตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม จากการสืบค้นคำพิพากษาในคดีร่ำรวยผิดก่อนหน้านี้ วิธีหนึ่งที่ใช้พิสูจน์ว่าผู้ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติหรือไม่? คือการตรวจสอบการเสียภาษีเงินได้ พบว่าจำนวน 8 คดี มี 4 คดีใช้วิธีดังกล่าวคือ คดีพล.อ.ชำนาญ นิลวิเศษ อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม คดีนายเมธี บริสุทธิ์ อดีตรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี คดีนายสมภพ อุณหวัฒน์ นายช่างระดับ 9 กรมโยธาธิการ และคดีนายสุวิทย์ ลอยใหม่ ข้าราชการระดับ 3 องค์การคลังสินค้า
คดีพล.อ.ชำนาญ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ป.ป.ป.) ตรวจสอบพบว่า พล.อ.ชำนาญ นางประนอม นิลวิเศษ ภรรยา และบุตรชาย รวมสามคนมีทรัพย์สินรวม 71,094,000.23 บาท โดยพล.อ.ชำนาญเป็นเจ้าของกรรมสิทธ์ 6,624,425.22 บาท นางประนอมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ 54,469,575.01 บาท บุตรชายเป็นเจ้าของ 10,000,000 บาท นอกจากนั้นมีทรัพย์สินของบุตรสาว เครือญาติ และ ผู้ใต้บังคับบัญชา อีกประมาณ 143 ล้านบาท
แต่ปรากฏหลักฐานว่า ในระหว่างปี 2515 – 2523 พล.อ.ชำนาญและภรรยามีรายได้ตามหลักฐานแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคล ธรรมดา รวม 1,326,619.96 บาท ในจำนวนนี้เป็นรายได้ของนางประนอมเพียง 190,638 บาท ขณะที่ลูกไม่มีรายได้
คณะกรรมการ ป.ป.ป.จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า พล.อ.ชำนาญมีทรัพย์สินร่ำรวยขึ้นโดยผิดปกติ โดยให้ภรรยาและลูกถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินแทน
เมื่อขึ้นสู่ศาล ปรากฏว่าพล.อ.ชำนาญอธิบายที่มาของทรัพย์สินจำนวนดังกล่าวไม่ได้ ศาลฎีกาตัดสินยึดทรัพย์ 69.1 ล้านบาท
คดีนายเมธี บริสุทธิ์ นั้น นายเมธีมีเงินลงหุ้นโรงหนังแห่งหนึ่งจำนวน 7 ล้านบาท นายเมธีนำสืบว่าได้ลงหุ้นเมื่อปี 2512 เป็นเงิน 2 ล้านบาท และขายหุ้นให้บุคคลอื่นเมื่อปี 2519 ระหว่างถือหุ้นได้เงินปันผลปีละ 1 ล้านบาทเป็นเวลา 7 ปี รวม 7 ล้านบาท แม้นายเมธีมีพยานบุคคลมายืนยัน แต่ไม่มีพยานเอกสารที่แสดงถึง “ที่มา”ของรายได้เหล่านั้น รายจ่าย กำไร เงินปันผลว่ามีอยู่ที่ใด อย่างไร ประกอบกับพยานเอกสารการตรวจและวิเคราะห์แบบยื่นรายการเสียภาษีเงินได้ นิติบุคคลพร้อมด้วยบัญชีทำการ บัญชีกำไรขาดทุน และงบดุลของห้าง สำหรับรอบระยะบัญชี ปี 2518 ปรากฏว่า โรงหนังดังกล่าวมีกำไรสุทธิที่จะต้องนำมาคำนวณภาษีเป็นเงิน 661,410.38 บาท และ รอบระยะบัญชีปี 2519 มีกำไรเพียง 384,802.23 บาท เท่านั้น
ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่านายเมธีได้รับเงินปันผลจากห้างหุ้นส่วนจำกัด สามย่านรามา จำนวน 7 ล้านบาท ถือได้ว่าไม่สามารถแสดงให้ศาลเห็นว่าเงินจำนวนดังกล่าวได้มาโดยชอบ ศาลฎีกาพิพากษาให้เงินจำนวน 7 ล้านบาท (จากทั้งหมดที่ถูกยึดทรัพย์ 12 ล้านบาท) ตกเป็นของแผ่นดิน
ขณะที่คดีนายสมภพ อุณหวัฒน์ ถูกร้องเรียนว่ามีพฤติการณ์รวยผิดปกติ โดยจัดฮั้วและเรียกผลตอบแทนจากผู้รับเหมาและมีเงินฝากในธนาคารจำนวนมาก ป.ป.ป.จึงตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่าทรัพย์สินของนายสมภพที่ได้มาระหว่างปี 2531 - 2535 ได้แก่ เงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร รวม 71,460,389.78 บาท และทรัพย์สินอื่นอีกรวมเป็นเงิน 8,567,600 บาท รวมมูลค่าทั้งสิ้น 80,027,989.78 บาท
ศาลได้ตั้งหลักเกณฑ์การพิจารณาเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติหรือไม่ นั้น ต้องพิจารณาจากทรัพย์สินที่มีจำนวนมากผิดปกติเมื่อคำนึงถึงฐานะและรายได้ของ เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้น การเปรียบเทียบทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้น ต้องพิจารณาในขณะที่ได้ทรัพย์นั้นมาว่าขณะนั้นมีรายได้อยู่ แค่ไหน เพียงใด
ข้อเท็จจริงในคดีนี้ ทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นคือที่ดิน รถยนต์ หุ้น เงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร รวมมูลค่ากว่า 80 ล้านบาท ซึ่งรายได้ของนายสมภพตามแบบรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีเฉพาะเงินเดือน จากการรับราชการ ในปี 2531 จำนวน 152,400 บาท ปี 2533 จำนวน 227,250 บาท เมื่อเปรียบเทียบกับทรัพย์สินที่ได้มาถือว่ามีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ มีเพียงรายการเดียวคือโฉนดที่ดิน 1 แปลงและบ้านที่อยู่อาศัยเท่านั้นที่เชื่อว่ามีมูลค่าพอสมควรกับรายได้ของนาย สมภพ
ศาลแพ่งจึงพิพากษาให้นายสมภพโอนทรัพย์สิน จำนวน 73,525,436.09 บาท ให้กระทรวงการคลัง หากไม่โอนก็ต้องชดใช้เงินแทนทรัพย์สินให้แก่แผ่นดิน
ส่วนคดีนายสุวิทย์ ลอยใหม่ ถูกร้องเรียนว่ามีทรัพย์สินรวม 1,773,555.55 บาท เป็นทรัพย์สินที่เริ่มมีขึ้นตั้งแต่ปี 2521-2525 เมื่อเปรียบเทียบกับรายรับตามปกติ เห็นได้ว่ามีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ ทั้งที่ไม่ปรากฏว่ามีเงินหรือมีทรัพย์สินสะสมเป็นทุนรอนมาก่อนแต่อย่างใด
ศาลเห็นว่าการที่นายสุวิทย์อ้างว่ามีรายได้จาก เงินเดือน โบนัส ค่าล่วงเวลา และค่าธรรมเนียมที่ได้รับจากองค์การคลังสินค้า แต่จำนวนเงินดังกล่าวเมื่อแยกแยกออกเป็นรายปี ตามหลักฐานแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ยื่นต่อกรมสรรพากร มีไม่ถึง 200,000 บาท โดยที่ยังไม่หักค่าใช้จ่ายระหว่างปีออก เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับทรัพย์สินที่นายสุวิทย์มีในช่วงดังกล่าว 1,773,555.55 บาท เห็นได้ว่ามีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ จึงพิพากษายึดทรัพย์
เพราะฉะนั้นกรณีนี้แม้ไม่มีผู้ร้องเรียน แต่ในกรณีมีเหตุอันควรสงสัย ป.ป.ช.สามารถหยิบยกขึ้นพิจารณา และตรวจสอบ“ที่มา”ของเงินจำนวนดังกล่าวได้ (พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 77)
และหากใช้วิธีพิสูจน์ข้อเท็จจริงด้วยการตรวจสอบการเสียภาษีเงินได้อย่างละเอียด
การที่จะอธิบาย“ที่มา”ของทรัพย์สินนับพันล้านและเงินสด 140 ล้านบาทให้กระจ่าง คงไม่ง่ายเหมือนยืมเงินเพื่อน?
………..
หมายเหตุ:บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิได้เป็นความเห็นของสำนักงาน ป.ป.ช.
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน