ข่าวดีหรือร้าย "เมื่อ CEO ไร้โค้ช"
โดย : เสาวคนธ์ ศิรกิดากร
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
มีผู้บริหารสูงสุดหรือ CEO จำนวนสองในสามที่ไม่ได้รับคำแนะนำปรึกษาจากโค้ชภายนอกองค์กรเพื่อพัฒนาภาวะผู้นำ
แม้ทั้งหมดจะ “ต้อนรับ” การพัฒนานี้ก็ตามที ข้อมูลการสำรวจความคิดเห็นจาก CEO บอร์ดองค์กร และผู้บริหารระดับสูง โดย Stanford University ร่วมกับ The Miles Groupที่เผยแพร่ในเดือนสิงหาคม ศกนี้ กล่าวไว้อย่างชวนคิด
ซึ่งผู้ที่เป็นตัวแปรสำคัญให้การส่งสัญญาณสนับสนุนก็ไม่อื่นไกลเลย ท่านเหล่านั้นคือ บอร์ดขององค์กร ผู้เติบโตในโลกการทำงานที่ไม่คุ้นชินกับการสะท้อนมุมใหม่จากผู้รู้ภายนอกองค์กร
ไม่เพียงเท่านั้นค่ะ ในทัศนะของตัว CEO เอง และบอร์ดขององค์กร ยัง “เห็นต่าง” เรื่องทักษะจำเป็นในการพัฒนาอย่างลิบลับ
ขอยกตัวอย่างความต่างของทัศนะที่กำลังส่งผลต่อบรรยากาศและผลงานการบริหารองค์กรอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก อาทิทักษะการบริหารความขัดแย้ง ที่ CEO 43% เชื่อว่าเป็นทักษะการนำที่ตนควรพัฒนาเร่งด่วน แต่มีบอร์ดขององค์กรเพียง 18% ที่เห็นด้วยเช่นนั้น
ด้านทักษะการสื่อสารนั้น CEO 32% จากกลุ่มตัวอย่างเชื่อมั่นว่าตน “จำเป็น” ต้องพัฒนา ทว่าบอร์ดเพียง 11% ที่เห็นคล้อย
อีกประการที่น่าสนใจคือ ทักษะการมอบหมายกระจายงาน ที่บอร์ดองค์กร 22% เห็นว่า CEO จำเป็นต้องพัฒนาส่วน CEO นั้น มีถึงหนึ่งในสามหรือ 36% ที่เห็นความจำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนาตนด้านนี้
ท้ายการศึกษา คณะทำงานสำรวจกล่าวว่า คุณลักษณะของโค้ช ยังเป็นประเด็นสำคัญรองลงไป เมื่อเปรียบเทียบกับเรื่องจำนวน CEO มากมาย ที่บริหารโดยไม่ได้มีการพัฒนายกระดับทักษะภาวะการนำ
เมื่อพิเคราะห์ข้อมูลศึกษาแล้ว ดิฉันเห็นว่า สิ่งที่จะส่งผลกระทบตามมาทั้งในท่วงท่าการจัดการองค์กรวันนี้และผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ มีประเด็นหลักๆชวนคิดไม่น้อย
องค์กรในกล่องยุคสมัยที่โลกธุรกิจแข่งขันกันที่นวัตกรรมล้ำสมัยในน่านน้ำสีส้ม หากผู้บริหารองค์กรใช้ชุดความรู้ ทักษะและคุณลักษณะเดิมที่มีมา ยิ่งตกผลึกซ้ำผ่านประสบการณ์อันยาวนานจนกลายเป็น แบรนด์ผู้นำ อันหยั่งรากลึกถึงระดับจิตใต้สำนึก ก็ยากจะหลุดพ้น “วิถี” การบริหารแบบเดิมที่คุ้นชินว่าเคยสร้างความสำเร็จในวันเก่า เช่นนี้เล่า เราจะหวังผลสำเร็จใหม่ๆ มิพักกล่าวถึงนวัตกรรมที่ตื่นใจ จากมุมมอง ทัศนะ และวิธีการเดิมได้อย่างไร
ผู้นำโคลนนิ่ง เมื่อขาดการเปิดมุมมองภาพกว้าง การล่วงรู้ทันตัวเอง และความตื่นใจที่จะเปลี่ยนตัวเองใหม่ให้เป็นผู้นำร่วมสมัย จะส่งผลอย่างแม่นมั่นว่า การแนะนำปรึกษาพัฒนาผู้นำยุคต่อๆไป จะใช้บรรทัดฐานเดิม ตามแบบฉบับของผู้นำคนปัจจุบัน ในภาพที่เป็นรูปธรรมนับแต่การกำหนดคุณลักษณะผู้นำที่พึงประสงค์ การคัดสรรหาศักยภาพผู้นำยุคใหม่ ประเด็นและทิศทางการพัฒนา ตลอดถึงการตัดสินใจเลื่อนตำแหน่ง ในภาพสุดท้ายองค์กรนั้น จะเปี่ยมด้วยผู้นำในชุดคุณลักษณะภาวะผู้นำคลับคล้ายกันราวกับพิมพ์เดียว
ทอนขีดความสามารถในการแข่งขัน หากผู้บริหารองค์กรตกหลุมความสำเร็จในวันเก่า ไม่ได้มีการพัฒนาอย่างเป็นกระบวนการผ่านมุมมองภายนอกที่หวังผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงที่ชัดแจ้ง องค์กรนั้น อาจมีผลสำเร็จทางด้านปฏิบัติการที่เป็นเลิศ ที่จะเสียเปรียบอย่างมากด้านวิสัยทัศน์อันเฉียบคมกว้างไกล โดยเฉพาะการออกแบบองค์กรและทิศทางธุรกิจในวันหน้าที่อาศัยความลึกซึ้งซับซ้อนทางวิสัยทัศน์ ยิ่งกว่าความรอบคอบสุขุมเช่นหลายสิบทศวรรษที่ผ่านมา
เมื่อเห็นเป็นเช่นนี้แล้ว ดิฉันเห็นว่าภาวะการณ์ CEO ไร้โค้ช ไม่ใช่แค่ภาวะเสี่ยง หรือไฟเหลือง หากแต่เป็นปัจจัยบั่นทอนความสำเร็จของผู้นำและองค์กรมิให้พุ่งทะยานเต็มศักยภาพที่สะสมวันแล้ววันเล่า รอวันปรากฎเป็นผลลัพธ์ร้าย ที่ถึงวันนั้นจะแก้ไขด้วยการโค้ชก็ช้าเกินกาลค่ะ
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน