จากประชาชาติธุรกิจ
การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เอเชีย-แปซิฟิก (APEC : Asia Pacific Economic Cooperation) ครั้งที่ 25 ที่จัดขึ้น ณ บาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ได้สิ้นสุดลงแล้ว ท่ามกลางความสงสัยของผู้ติดตามการเจรจาว่า เป็นการประชุมเพื่ออะไร และจะมีผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมอย่างไร นอกเหนือไปจากเวทีให้บรรดาผู้นำประเทศมาจับมือคล้องแขนถ่ายรูปกันสวย ๆ และบินกลับไปประเทศใครประเทศมัน
แถลงการณ์ระดับผู้นำที่เต็มไปด้วยศัพท์แสงสวย งามอย่างหรูหรา บอกอะไรกับประชาชนที่อยู่ในภูมิภาคนี้ได้บ้าง หลังจากที่ APEC ได้ประชุมกันมาแล้วถึง 24 ปี (ก่อตั้งตามดำริของประเทศออสเตรเลีย ในปี 2532) จากวัตถุประสงค์เริ่มต้น 5 ประการ คือ
1) APEC ไม่ใช่เวทีเจรจาการค้า แต่เป็นเวทีสำหรับปรึกษาหารือ และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นทางเศรษฐกิจ 2) APEC สนับสนุนแนวทางภูมิภาคนิยมแบบเปิด ที่ให้สิทธิประโยชน์กับประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิก APEC เช่นเดียวกับที่ให้กับสมาชิก
3) การดำเนินการใด ๆ ให้ยึดหลักฉันทามติ ความสมัครใจ ความเท่าเทียมกัน และการมีผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศสมาชิก 4) APEC คำนึงถึงความแตกต่างของระบบเศรษฐกิจ สังคม และระดับการพัฒนาของประเทศสมาชิก การรวมกลุ่มของ APEC จนถึงปัจจุบันไม่ได้มีข้อผูกพันทางกฎหมาย และ 5) APEC เน้นความเท่าเทียมกันของการดำเนินงาน 3 ด้าน ได้แก่
การเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ
แต่ มาถึงวันนี้ APEC กลับกลายจากการเป็นเวทีต่อรองทางการค้า ซึ่งแฝงนัยสำคัญทางการเมืองระหว่างกลุ่มประเทศเศรษฐกิจสำคัญ กับประเทศกำลังพัฒนา
ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ คำกล่าวของนายจอห์น แคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ที่ให้ความสำคัญกับข้อเสนอเรื่องความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ Trans-Pacific Partnership Agreement หรือ TPP ที่เสนอโดยสหรัฐ เมื่อปี 2551 แสดงความต้องการให้มีการเปิดเสรีการค้าระหว่างประเทศสมาชิกในกลุ่ม APEC ในลักษณะที่เป็นความตกลงการค้าที่ให้สิทธิพิเศษเฉพาะกลุ่ม (Preferential Trade Agreement : PTA)
ขณะที่ประเทศเจ้าภาพคือ อินโดนีเซียกับจีน แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้อย่างชัดเจน โดยจีนเสนอว่า ควรจะมีความตกลงที่เหมาะสมกับภูมิภาคมากกว่านี้
น่าสังเกตว่า ข้อเสนอดังกล่าวเป็น "ข้อตกลง หรือ Agreement" ไม่ใช่ "ความร่วมมือ หรือ Cooperation" เข้าใจว่า TPP น่าจะมาจาก 1)สหรัฐในฐานะสมาชิก APEC ไม่เห็นพัฒนาการสำคัญอย่างเป็นชิ้นเป็นอันตลอด 24 ปี 2)เกิดความชะงักงันในการเจรจาการค้าโลกรอบโดฮา ที่ยังไม่สามารถตกลงกันได้จนถึงทุกวันนี้ โดยกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐเรียกร้องให้มีการเปิดเสรีทางการค้า ขจัดปัญหาและอุปสรรค "เกินไปกว่า" ที่ได้ตกลงกันไว้
เหตุผลข้างต้นนำ มาซึ่งปรากฏการณ์ใหม่ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา นั่นก็คือเกิดการเจรจาเปิดเสรีทางการค้า หรือที่รู้จักกันดีในนามของ FTA ทั้งแบบทวิภาคีและพหุภาคี โดยสหรัฐเองได้เร่งเจรจาเปิดเสรี FTA กับประเทศคู่ค้าต่าง ๆ จนประสบความสำเร็จ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยเองด้วยที่แสดงความกระตือรือร้นในการเจรจากับสหรัฐเป็น พิเศษ
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอในเรื่อง TPP ของสหรัฐ ด้วยการอาศัยเวที APEC กลับไปไกลกว่าข้อตกลง FTA ที่ได้เจรจากันไปแล้ว เนื่องจากใน 21 กลุ่มเจรจา จะเจรจาใน 5 หัวข้อหลัก ได้แก่ การเปิดตลาดอย่างครอบคลุมทุกสาขา, ความตกลงระดับภูมิภาคโดยสมบูรณ์, ประเด็นการเจรจาที่คาบเกี่ยวกัน, ความท้าทายใหม่ทางการค้า และข้อตกลงที่มีชีวิต สามารถปรับเปลี่ยนตัวบทการเจรจาได้
ท่ามกลาง การขู่บังคับแกมเชิญชวนให้ประเทศสมาชิก APEC รวมทั้งไทย เข้าร่วมการเจรจา ทำนองหากไม่เข้าร่วมก็ไม่สามารถทำการศึกษาผลกระทบที่เกิดจากกระบวนการเจรจา ได้ กลายเป็นโจทย์ใหญ่กับประเทศที่กลัวตกขบวนอย่างไทย สุดท้ายแล้วจะตัดสินใจกรณีนี้อย่างไร ?
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน