FTA Watchชี้แก้ม.190ตัดตอนอำนาจปชช.
จาก โพสต์ทูเดย์
เอฟทีเอว็อทช์ อัดรัฐสภาล้มเหลวเหตุแก้รธน.190 ชี้ ตัดตอนอำนาจประชาชน ทำลายระบบตรวจสอบ
กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ว่าด้วยลักษณะหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา หลังจากที่ประชุมรัฐสภาได้ลงมติแก้ไขในวาระ 2 เสร็จเรียบร้อยเมื่อวันที่ 16 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยในแถลงการณ์มีเนื้อหาดังนี้
"ตามที่การประชุมของรัฐสภาได้ลงมติเมื่อวันที่ 16 ต.ค. โดยเสียงข้างมากแก้ไขเนื้อหาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ม.190 โดยมีสาระการแก้ไขที่สำคัญ คือ
1. ตัดลดประเภทหนังสือสัญญาที่จะต้องผ่านกระบวนการพิจารณาของรัฐสภาอย่างมีนัย สำคัญออกไปให้เหลือเพียง (หนึ่ง) หนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตดินแดน (สอง) หนังสือสัญญาที่เปลี่ยนแปลงพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย หรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ (สาม) จะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา และ (สี่) หนังสือสัญญาที่มีบทให้เปิดเสรีด้านการค้าและการลงทุน
2. เพิ่มอำนาจรัฐบาล ให้ก่อนการดำเนินการเพื่อทำหนังสือสัญญา ไม่ต้องเสนอ “กรอบการเจรจา” ต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ
ผลสรุปจากการแก้ไขมาตรการ 190 ดังกล่าว สะท้อนถึงความล้มเหลวของระบบรัฐสภาไทยที่มุ่งเป้าหมายการเอาชนะทางการเมือง เป็นที่ตั้งโดยอ้างเสียงข้างมากในรัฐสภาเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรม ไม่ได้ยึดถือข้อมูล เหตุผล และไม่ได้สำเหนียกถึงสถานการณ์ปัญหา ความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นจากการเร่งทำหนังสือสัญญาความตกลงระหว่างประเทศ ซ้ำยังเป็นการทำลายระบบประชาธิปไตยที่เห็นหัวประชาชนอย่างไร้สำนึก
บทบัญญัติในมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มีเจตนารมณ์เพื่อสร้างธรรมาภิบาลในกระบวนการเจรจา สร้างความโปร่งใส การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม และเป็นกลไกสร้างระบบการถ่วงดุลและตรวจสอบระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่าย นิติบัญญัติเพื่อให้ผลจากการทำหนังสือสัญญาเกิดประโยชน์โดยรวมมากที่สุดต่อ ประเทศชาติ นอกจากนี้คณะเจรจายังสามารถใช้ “กรอบเจรจา”ที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองในการเจรจาได้ อีกด้วย บทบัญญัติเหล่านี้เป็นสิ่งที่อารยประเทศต่างๆ ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
อนึ่ง ปัญหาความยุ่งยาก ล่าช้า การมีหนังสือสัญญาจำนวนมากต้องเสนอไปสู่รัฐสภาโดยอ้างว่าต้องปฏิบัติตาม มาตรา 190 นั้น มีรากฐานสาเหตุสำคัญ 2 ประการ คือ (หนึ่ง) การไม่จัดทำกฎหมายลูกรองรับมาตรา 190 ออกมาใช้บังคับ ซึ่งในรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้อย่างชัดแจ้งแล้วว่าให้ดำเนินการโดยเร็วภายใน เวลา 1 ปีนับจากที่รัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งต้องดำเนินการให้เสร็จตั้งแต่ปี 2552 (สอง) การใช้มาตรา 190 เป็นเครื่องมือต่อสู้กันทางการเมืองมากเกินไป ซึ่งทั้งสองสาเหตุสามารถแก้ไขได้โดยไม่จำเป็นต้องเบียดขับประชาชนออก จากกระบวนการหรือลดทอนความโปร่งใสแต่อย่างใด
ผลจากการแก้ไขมาตรา 190 จะทำให้หนังสือจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ อย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุนหรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ตัวอย่างเช่น การเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ความตกลงเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ความตกลงด้านสิ่งแวดล้อม ความตกลงด้านสิทธิมนุษยชน ฯลฯ ไม่ต้องผ่านกระบวนการเสนอ “กรอบการเจรจา” เป็นการทำลายกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุล การมีส่วนร่วม ระหว่างฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และภาคประชาสังคม ซึ่งเป็นหลักการสำคัญข้อหนึ่งในระบอบการเมืองประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมที่ ทุกฝ่ายกำลังเรียกร้อง เป็นการจำกัดพื้นที่การมีส่วนร่วมทางการเมืองของภาคส่วนต่างๆ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ผลักดันให้ประชาชน ผู้เดือดร้อนต้องใช้ท้องถนนหรือพื้นที่สาธารณะต่างๆ เป็นพื้นที่แสดงออกทางการเมืองแทน
การแก้ไขมาตรา 190 ครั้งนี้ เป็นเพียงผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างนัก(การเมือง)ประชาธิปไตยแต่ปาก กลุ่มทุนครอบชาติ และฝ่ายข้าราชการประจำล้าหลัง ที่ต้องการปลดเปลื้องภาระในการปฏิบัติตามกฎกติกาเพื่อการสร้างธรรมาภิบาลใน กระบวนการเจรจาจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ
ขอไว้อาลัยแด่มาตรา 190 ระบบรัฐสภา และประชาธิปไตยไทย"
'อภิสิทธิ์'ลั่นการมีส่วนร่วมประชาชนถูกตัดออก
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
อภิสิทธิ์"ระบุการรับฟังความคิดเห็น การมีส่วนร่วมของประชาชนถูกตัดออกในร่างแก้รธน.ม.190 ย้ำข้อตกลงศก. พลังงาน ไม่เข้าสภา
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์รายการฟ้าวันใหม่ ทางสถานีโทรทัศน์บลูสกายชาแนล ถึงการแก้ไขรัฐธรรม นูญมาตรา 190 ว่า หลายคนหดหู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นและไม่คาดคิดว่าจะมีอะไรที่แปลกพิสดาร แต่เกิดขึ้นจนได้ในมาตราหลัก ซึ่งเป็นเรื่องแปลกที่ประธานรัฐสภาขอให้สมาชิกรัฐสภาลงมติมาตรา 3 ทีละวรรค รวมทั้งถามสมาชิกว่าเอาตามกรรมาธิการฯแก้ไขหรือไม่ ตามปกติถ้าสมาชิกเห็นตามคณะกรรมาธิการฯ ก็จบและถ้าไม่เอาตามก็ลงคะแนน ทำให้พวกตนรู้สึกงงแต่เข้าใจไม่รู้ว่าโผมาจากไหนจะลงคะแนนเป็นวรรค
ทั้งนี้สรุปได้ว่าต่อไปนี้ข้อตกลงทางเศรษฐกิจ เรื่องพลังงาน ทรัพยากร จะไม่นำเข้าสภาฯแล้ว และในมาตรา 190 เหลือแค่เรื่องเอฟทีเอ เมื่อเจรจาเสร็จจะขอความเห็นชอบรัฐสภา โดยที่รัฐสภาไม่รู้ว่ามีการเจรจาอะไรบ้างและบทบัญญัติการเยียวยา การรับฟังความคิดเห็น การมีส่วนร่วมของประชาชน ถูกตัดออกหมด ส่วนเขตการเจรจาการค้าเสรีไม่เหมือนเดิม เพราะจะไม่มีการแจ้งต่อรัฐสภาว่ากรอบการเจรจามีเรื่องอะไรบ้าง ถือว่าเป็นทางเลือกเลวร้ายที่สุดและเลวร้ายกว่าที่จินตนาการไว้ ยืนยันว่าการที่ทุ่มเทแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาล ลิดรอนอำนาจประชาชน ทั้งที่รัฐบาลอ้างว่าเป็นนักประชาธิปไตย แต่กลับบอกว่าประชาชนอย่ายุ่ง
อย่างไรก็ตามวิปฝ่ายค้านและฝ่ายกฎหมายจะพิจารณากระบวนการพิจารณาเรื่องนี้ โดยเฉพาะการลงมติมิชอบว่าเข้าเงื่อนไขส่งให้ศาลตีความหรือไม่
โต้ปชป.แก้รธน.ม.190เพื่อความคล่องตัว
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
อดีตรมว.พลังงานระบุแก้รธน.ม.190 เพื่อความคล่องตัวการดำเนินงานของรัฐบาล ย้ำรอสภาอนุมัติทุกเรื่องใช้เวลานานเกินไป
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรมว.พลังงาน ในฐานะคณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 เป็นเรื่องจำเป็น เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินงานของรัฐบาลทุกรัฐบาลในการเจรจากับต่างประเทศ โดยเฉพาะเมื่อกำลังจะเข้าสู่เออีซีที่มีรายละเอียดที่จะต้องตกลงกันอีกมาก หากรอให้สภาฯ อนุมัติทุกเรื่องจะใช้เวลานานเกินไป ดังนั้นควรให้สภาฯ อนุมัติเฉพาะเรื่องที่สำคัญๆ เท่านั้น สำหรับกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พูดพาดพิงถึงผลประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลนั้น
อยากให้นายอภิสิทธิ์ ชี้แจงด้วยว่า กรณีที่กัมพูชาแจ้งเป็นเอกสารว่า รัฐบาลที่แล้วที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ขอไปเจอกับรองนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ถึง 2 ครั้งคือที่ฮ่องกงในวันที่ 1 ส.ค. 2552 และที่คุนหมิงในวันที่ 16 ก.ค. 2553 โดยอ้างว่าได้รับมอบหมายจากนายอภิสิทธิ์ให้มาเจรจา ทั้งๆ ที่มีปัญหาความขัดแย้งกันอยู่ในขณะนั้น มีรายละเอียดการเจรจาอย่างไร ทำไมต้องแอบเจรจา และมีการเรียกร้องผลประโยชน์หรือไม่ นี่เป็นสาเหตุที่ทำให้รัฐบาลกัมพูชาไม่ชอบนายอภิสิทธ์และนายสุเทพอย่างมากใช่หรือไม่
นายพิชัย กล่าวอีกว่า ความจำเป็นในการเจรจาเพื่อนำก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนมาพัฒนาร่วมกันนั้น จะทำให้เกิดประโยชน์กับทั้ง 2 ประเทศ โดยไทยจะได้ประโยชน์มากกว่า เพราะมีความพร้อมมากกว่า และจะทำให้ไทยมีความมั่นคงทางพลังงานเพิ่มขึ้น โดยทบวงพลังงานระหว่างประเทศหรือไออีเอ ออกมาเตือนแล้วว่า อีก 22 ปีไทยจะเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงทางพลังงานมากที่สุด เพราะก๊าซที่ขุดในอ่าวไทยจะหมด จะต้องนำเข้าก๊าซและน้ำมันเกือบทั้งหมด ดังนั้นจึงจำเป็นต้องหาแหล่งพลังงานมาเพิ่ม อยากให้พรรคประชาธิปัตย์ปฏิรูปตัวเองและพัฒนาทางความคิดตามที่นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอ ขอให้เห็นประโยชน์ของชาติมากกว่าจะเล่นการเมืองอย่างเดียว
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน