จากประชาชาติธุรกิจ
ยักษ์ "อินเทล" ขอเอี่ยวโปรเจ็กต์แท็บเลตนักเรียน แนะปรับปรุง "ทีโออาร์" จัดซื้อปีการศึกษา 2557 ระบุช่องโหว่เพียบ ทั้ง "ไม่เข้าใจเทคโนโลยี-เพิ่มสเป็กเครื่องดันต้นทุนพุ่ง" ย้ำควรปรับทัศนคติใหม่จ่ายแพงขึ้น แต่ได้ของคุ้มค่าเงิน เสนอจัดซื้อแบบครบวงจร "เครื่อง-คอนเทนต์-ระบบ"
นายสนธิญา หนูจีนเส้ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า โครงการจัดซื้อคอมพิวเตอร์แบบพกพา (แท็บเลต) สำหรับครู นักเรียนชั้น ป.1 และ ม.1 ช่วยยกระดับการศึกษาไทยไปอีกขั้น แต่การจัดซื้อ 2 ปีที่ผ่านมาไม่ได้สร้างประโยชน์เพราะเครื่องมีคุณภาพไม่เพียงพอ เนื้อหาวิชาไม่อัพเดต และเมื่อการจัดซื้อในปีการศึกษา 2557 ใช้ข้อกำหนดและขอบเขตงาน (TOR) คล้ายของเดิม ผลที่ได้จึงไม่ต่างกับหนก่อน
ที่สำคัญ TOR ใหม่ยังเพิ่มสเป็กเครื่องแต่ใช้ราคาใกล้เคียงของเดิม อาจทำให้ผู้เข้าแข่งขันลดคุณภาพวัสดุลง
"กำหนดทีโออาร์อย่างนี้ใครจะไปทำได้ แค่ NFC ตัวเดียวต้นทุนก็เพิ่มเยอะแล้ว ไหนขนาดหน้าจอที่ไม่เป็นที่นิยมอีก เรื่องแบตเตอรี่ที่กำหนดขั้นต่ำ 3 ชั่วโมง ลดจากปีที่แล้ว 6 ชั่วโมง ผมไม่เข้าใจว่าลดทำไม ส่วนระบบปฏิบัติการคงขั้นต่ำแค่แอนดรอยด์ 4.0 แต่เวอร์ชั่นปัจจุบัน 4.2 แล้ว แต่ที่แปลก คือการเขียนว่ามี Display Port ในแท็บเลต ทั้งที่พอร์ตนี้เฉพาะสำหรับใช้ในโน้ตบุ๊ก แสดงให้เห็นความไม่เข้าใจเทคโนโลยีของคณะกรรมการชุดนี้"
ทั้งตั้งข้อสังเกตว่า การกำหนดสเป็กของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นการนำสเป็กของแท็บเลตระดับ 5,000-10,000 บาท มาใส่ไว้ในแท็บเลตราคาไม่ถึง 3,000 บาท และการไม่ระบุให้ทุกเครื่องมี GMS License (Google Mobile Service) แต่บังคับให้เชื่อม Play Store เพื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นไม่สมเหตุสมผล เพราะมี Play Store ในเครื่องต้องขออนุญาตจากกูเกิลนำเครื่องไปทดสอบเสียค่าใช้จ่ายหลักหมื่นเหรียญสหรัฐ / 1 รุ่น แต่ช่วยขจัดบริษัทที่ไม่มีคุณภาพออกไปได้
ส่วนการทดสอบ Drop Test ก็ไม่มีมาตรฐานชัดเจน ดังนั้นควรกำหนดให้ผู้ที่เข้าร่วมแข่งขันไปทดสอบในศูนย์วิจัยที่มีใบรับรองจะดีกว่า ทั้งน่าจะนำมาตรฐานเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือ IP มากำหนดใน TOR ด้วย จุดที่เหมาะสมอยู่ที่ IP 52 หรือฝุ่นเข้าภายในเครื่องไม่ได้ (เลข 5) และน้ำไม่เข้าตัวเครื่องแม้เอียงเครื่อง 15 องศา (เลข 2) แต่ TOR ฉบับนี้มีข้อดีคือผู้เข้าแข่งขันต้องเป็นบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทย 5 ปี มีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท
สำหรับรูปแบบการแข่งขัน "สพฐ." จัดประมูลแยกกันระหว่างแท็บเลต, ผู้ผลิตคอนเทนต์, ผู้เชื่อมต่อระบบ และการฝึกอบรมครู ทำให้บางระบบไม่สามารถเชื่อมต่อกันได้ แม้การแยกประมูลจะทำให้ตลาดค่อนข้างเปิด แต่เสี่ยงจะได้สินค้าไม่มีคุณภาพ จึงควรจัดซื้อแบบครบวงจรให้ผู้จัดซื้อพิจารณา ตั้งแต่สเป็กแท็บเลตที่เหมาะแก่ครูและนักเรียน, มีการส่งคอนเทนต์แบบออนไลน์ พร้อมทำเซิร์ฟเวอร์เชื่อมต่อระบบทั้งหมด และนำข้อมูลต่าง ๆ ที่เกิดจากใช้แท็บเลตมาวิเคราะห์จุดอ่อน-จุดแข็งของการศึกษาในประเทศไทยได้
แต่รูปแบบนี้นักเรียนทุกคนอาจไม่ได้ใช้แท็บเลต แต่เป็นการแบ่งกันใช้ตามวิชาต่าง ๆ เช่น วิทยาศาสตร์ และศิลปะ
"จัดซื้อแบบนี้ต้องใช้งบประมาณสูง แต่ถ้าแลกกับคุณภาพก็คุ้ม เพราะผู้ซื้อชอบเครื่องถูกจึงต้องปรับความคิดใหม่ ของถูกอาจไม่ดีที่สุดต้องมาพร้อมโซลูชั่น จะได้เหลือแค่ผู้ติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์รายใหญ่ (SI) ที่สำคัญการประมูลแบบนี้ผู้ผลิตรายใหญ่น่าจะเข้ามาร่วมได้ จากที่ก่อนหน้านี้รู้ว่าเข้ามาก็แพ้เพราะแข่งราคาไม่ได้"
นอกจากนี้ รักษาการรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาฯได้เปิดเผยว่า รูปแบบโครงการแท็บเลตนักเรียนปีหน้าจะใช้การจัดซื้อแบบ "Smart Classroom" เหมือนที่อินเทลเสนอ จึงอยากให้เลื่อนมาใช้ในปีนี้ได้หรือไม่ รวมถึงการประชาพิจารณ์ TOR ยังจัดผ่านออนไลน์เท่านั้น ไม่มีการเชิญผู้ประกอบการหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องมาประชุมเพื่อออกความเห็นแต่อย่างใด ซึ่งการประชาพิจารณ์ครั้งที่ 2 เพิ่งเสร็จไปเมื่อ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา พร้อมเซ็นอนุมัติ เหลือแค่จำนวนโรงเรียนที่แจก
"เราต้องการเข้าไปเจรจาตัวต่อตัว พร้อมเชิญให้เวนเดอร์เข้าไปให้ความรู้แก่คณะกรรมการด้วย เพื่อให้ร่าง TOR ไม่มีอะไรบกพร่อง บริษัทต่าง ๆ มีประสบการณ์ในการทำโครงการอยู่เดิม อย่างเราเองก็เคยช่วยทำห้องเรียนอัจฉริยะในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด"
สำหรับงบประมาณในการจัดซื้อแท็บเลตในปีการศึกษา2557อยู่ที่ประมาณ 5,000 ล้านบาท เพื่อซื้อแท็บเลตนักเรียนชั้น ป.1ราคาตั้งต้น 2,720 บาท และครู ป.1 2,920 บาท กับนักเรียนชั้น ม.1 ที่ราคา 2,920 บาท และครู ม.1 ราคา 7,500 บาท
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน