จากประชาชาติธุรกิจ
คณะกรรมการรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ ได้มีมติมอบรางวัลประจำปี 2014 ให้กับ ดร.ฌ็อง ติโยล (Jean Tirole) นักเศรษฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศส วัย 61 ปี ดร.ติโยลเป็นนักเศรษฐศาสตร์ยุโรปที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ซึ่งปกติมักจะได้กับนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันติดต่อกันเป็นเวลานาน ตั้งแต่ปี 1999 เป็นเวลากว่าสิบปี
ดร.ติโยล เป็นชาวฝรั่งเศสโดยกำเนิด เกิดเมื่อปี 1953 ที่เมืองตรอยส์ หรือ Troyes สำเร็จปริญญาตรีทางวิศวกรรมศาสตร์จาก Ecole Polytechnique และ Ecole Nationale des Ponts et Chaussees ที่ปารีส และวิชาคณิตศาสตร์จากมหาวิทยาลัยปารีส-โดฟีน Universite Paris-Dauphine ได้รับปริญญาเอก หรือ Ph.D. ทางเศรษฐศาสตร์ที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์ หรือ MTI เมื่อปี 1981 ปัจจุบันเป็นกรรมการของสถาบันเศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรม วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์แห่งตูลูส ประเทศฝรั่งเศส Scientific Director at Institut dEconomie Industrielle, Toulouse School of Economics
ดร.ฌ็อง ติโยล มีผลงานสำคัญที่เกี่ยวกับตลาดของอุตสาหกรรมที่อาจจะไม่มีการแข่งขัน หรือมีการแข่งขันน้อย ซึ่งผู้ผูกขาดอาจจะตั้งราคาสินค้าสูงกว่าราคาที่ควรจะเป็นในกรณีที่มีการ แข่งขัน กรณีดังกล่าวรัฐบาลก็มักจะเข้าไปแทรกแซงตลาด โดยออกระเบียบกฎเกณฑ์ให้ปฏิบัติ เช่น เข้าควบคุมราคา หรือควบคุมการผลิตในเรื่องมลภาวะบ้าง เรื่องความปลอดภัยบ้าง ดร.ติโยลแสดงให้เห็นว่าผลของการเข้าไปควบคุมดูแล บางทีก็ไม่ได้ผลตามที่ต้องการ บางทีก็ทำให้ผู้ผลิตกลับมีกำไรเพิ่มขึ้น ทำให้สินค้ามีคุณภาพเลวลงและมีปริมาณน้อยลง ระดับของการควบคุมระดับใดที่จะทำให้ได้ผลตามเป้าหมาย ขณะเดียวกันก็ทำให้อุตสาหกรรมที่ได้รับการควบคุมสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่าง มีประสิทธิภาพไปพร้อม ๆ กันด้วย
เป็นที่รู้ทั่วกันว่าการแข่งขันของ เอกชนน่าจะนำมาซึ่งประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจ ที่ผู้บริโภคจะได้ซื้อหาสินค้าราคาถูกขณะเดียวกันก็มีคุณภาพสูงได้ เพราะผู้ผลิตจะถูกกดดันจากพลังตลาด Market Power ให้ผลิตสินค้าคุณภาพสูงและขณะเดียวกันก็มีต้นทุนต่ำ นั่นอาจจะไม่เกิดขึ้นเพราะอุตสาหกรรมหรือผู้ผลิตมีไม่มากพอที่จะทำให้เกิด การแข่งขันอย่างเพียงพอ และในขณะที่สินค้าเหล่านั้นไม่สามารถนำเข้ามาจากต่างประเทศได้ จึงทำให้ตลาดเกิดการผูกขาด หรือกึ่งการผูกขาดอุตสาหกรรมหลายอย่าง เป็นต้นว่า โทรคมนาคม สถาบันการเงิน ไฟฟ้า แก๊ส บริการรับส่งทางไปรษณีย์ การคมนาคมและขนส่งทางราง การลงทุนที่ต้องใช้ทุนจำนวนมาก ต้องมีการเวนคืนที่ดินและอื่นๆ ซึ่งรัฐไม่สามารถอนุญาตให้มีผู้ผลิตหลายราย ทำให้อุตสาหกรรมเกิดการผูกขาดได้โดยธรรมชาติ หรือ "Natural Monopoly" สมัยก่อนกิจการที่จะต้องมีการผูกขาดโดยธรรมชาติเหล่านี้ มักจะมีความคิดว่า "รัฐ" ควรจะเป็นผู้ทำเอง เพื่อป้องกันผู้บริโภคจากการเอาเปรียบของผู้ผูกขาด
แต่ต่อมาก็ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า การแก้ไขปัญหาของการผูกขาดโดยการดำเนินการลงทุนและบริหารโดย "รัฐ" ไม่ทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ฌ็อง ติโยล ค้นพบว่า จำนวนผู้ถือหุ้นหรือจำนวนคนที่เป็นเจ้าของกิจการ มีผลต่อประสิทธิภาพของฝ่ายจัดการเป็นอย่างมาก ยิ่งจำนวนผู้ถือหุ้นมีน้อยราย ประสิทธิภาพของการบริหารองค์กรก็ยิ่งต่ำลง
การผูกขาดหรือข้อจำกัดใน การแข่งขันอาจจะเกิดขึ้นได้เสมอ ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ การค้นพบเทคโนโลยีหรือวิทยาการการผลิต หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ผู้ค้นพบก็มีสิทธิผูกขาดได้ระยะหนึ่ง หรือกรณีมีผู้ผลิตรายใดรายหนึ่งสามารถผลิตได้โดยมีประสิทธิภาพสูงกว่าราย อื่น ๆ จึงทำให้ผู้ผลิตรายนั้นสามารถมีอิทธิพลผูกขาดตลาดได้
ทฤษฎี ของฌ็อง ติโยล ที่ทำร่วมกับ ฌ็อง-จากค์ ลาฟฟองต์ หรือ Jean-Jacques Laffont ผู้ล่วงลับไปแล้วสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการวางกฎเกณฑ์และการวางนโยบายราคา ทั้งกับผู้ผลิตและผู้บริโภคได้หลายกรณี เช่น
กรณีของอุตสาหกรรม โทรคมนาคม ซึ่งโดยปกติก็จะเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับสัมปทานผูกขาดเพราะต้องลงทุนสูง ความคิดในเรื่องการกำหนดราคากับผู้บริโภคจะใช้หลักอะไร จะใช้หลักจำกัดอัตราผลตอบแทนของบริษัทที่ได้รับสัมปทาน เช่น กำหนดว่าเพื่อให้อัตราผลตอบแทนไม่เกินอัตราที่กำหนด ราคาควรจะเป็นเท่าใด หรือควรจะกำหนดราคาขั้นสูงเท่านั้น ไม่ให้เกินเท่าใด การกำหนดกฎเกณฑ์ทั้ง 2 อย่างมีผลต่อพฤติกรรมและประสิทธิภาพต่อกัน หรือจะใช้หลักผู้ให้ค่าสัมปทานสูงสุดเป็นผู้ได้รับสิทธิในการผูกขาดภายใต้ เงื่อนไขในการตั้งราคาหรือควรจะมีหลักอย่างอื่นที่จะทำให้เกิดผลที่ดีที่สุด ต่อผู้บริโภค
ในกรณีของธนาคารสถาบันการเงิน แม้ว่าธนาคารและสถาบันการเงินอาจจะมีจำนวนพอสมควรที่จะแข่งขันกันได้ แต่ความที่ตลาดการเงินมีความสลับซับซ้อนและมีการเชื่อมโยงกันมาก อุตสาหกรรมธนาคารและสถาบันการเงินจึงเป็นอุตสาหกรรมผูกขาด แต่หลาย ๆ ครั้งเมื่อมีปัญหากับธนาคารใดธนาคารหนึ่ง หรือสถาบันการเงินแห่งใดแห่งหนึ่ง ผลก็จะลามไปยังธนาคารอื่นและสถาบัน การเงินอื่นด้วย ความเสี่ยงของสถาบันการเงินจึงเป็น "ความเสี่ยงร่วม" หรือ Collective Risk การระดมเงินระยะสั้นต้นทุนถูกเพื่อมาลงทุนระยะยาว ผลตอบแทนสูงของสถาบันหนึ่งย่อมไม่ใช่ความเสี่ยงของสถาบันนั้นเท่านั้น แต่เป็นความเสี่ยงร่วมของธนาคารและสถาบันการเงินอื่นด้วย
ขณะเดียวกันกับนโยบายของทางการที่จะปล่อยสถาบันการเงินให้ล้มได้หรือไม่ ถ้าทางการมีนโยบายไม่เข้าไปอุ้มเมื่อธนาคารจะล้ม หรือเป็นที่รู้กันว่าทางการไม่กล้าปล่อยให้สถาบันการเงินล้ม เพราะจะเป็นสาเหตุให้ระบบการเงินทั้งระบบล่มได้ อีกทั้งเหตุผลที่ว่า ผู้ฝากเงินรายย่อยย่อมไม่มีทางรู้ว่าธนาคารหรือสถาบันการเงินใดแข็งแรงหรือ อ่อนแอ จึงเป็นหน้าที่ของทางการที่เป็นผู้กำกับและผู้ตรวจสอบต้องร่วมกันรับผิดชอบ ฉะนั้นแล้วผู้ตรวจสอบและผู้รับผิดชอบก็ควรมีสิทธิ์และอำนาจในการออกระเบียบ กฎเกณฑ์ รวมทั้งเป็นผู้กำหนดปริมาณเงินสภาพคล่องในระบบ รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยด้วย
นอกจากนั้นยังมีผลงานที่สำคัญอีกด้านหนึ่ง ก็คือเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงิน เช่น ในกรณีวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งปี 1997 หรือวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ปี 2008 เมื่อทางการจำเป็นต้องเข้ามา "อุ้ม" หรือ "bailout" สถาบันการเงินที่มีปัญหาแล้ว ทางการควรจะบริหารสินทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นหนี้เสียหรือ NPL หรือทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPA อย่างไร จึงจะเป็นภาระต่อประชาชนผู้เสียภาษีให้น้อยที่สุด
ในบรรดา เจ้าหนี้ ธนาคารและสถาบันการเงินที่เป็นผู้ปล่อยหนี้เสียน่าจะมีข้อมูลที่ดีที่สุดว่า ราคาหนี้เสียเหล่านั้นควรจะมีราคาเท่าใด ถ้ากฎเกณฑ์ของทางการสูงเกินไปทรัพย์สินที่ไม่ก่อรายได้ก็ขายไม่ออก แต่ถ้าต่ำเกินไปทางการก็เสียประโยชน์ ฌ็อง ติโยล สามารถหากฎเกณฑ์และเงื่อนไขที่ดีที่สุด โดยทางการซื้อหนี้เสียจากธนาคารในราคาที่เหมาะสม ทำให้เกิดสภาพคล่องในตลาด จนตลาดสามารถออกจากวิกฤตการณ์ได้
การวิเคราะห์กิจกรรมของตลาดที่ ไม่มีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ หรือตลาดที่ผูกขาดในลักษณะต่าง ๆ เพื่อนำมาสร้างกฎเกณฑ์ให้ตลาดทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นว่านี้ จัดอยู่ในสาขาวิชา "Industrial Organization" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิชาเศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรม หรือ "Industrial Economics" ซึ่งเป็นสาขาวิชาที่ฌ็อง ติโยล มีผลงานมากที่สุด แต่เขาก็ยังมีผลงานอย่างอื่น เช่น การออกแบบกลไกของตลาดสินค้าที่ตลาดปกติทำงานให้ไม่ได้ ให้ทำงานได้ตามเป้าหมายที่ต้องการ ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่ม Game theory and Mechanism design หรืองานทางด้านอื่น ๆ แม้แต่ในเรื่องที่เรียกว่าเป็น "Behavioral Economics"
ปกติทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า "มนุษย์มีเหตุผล และขณะเดียวกันก็เห็นแก่ตัว" แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด บางครั้งมนุษย์ก็มีจิตใจอยากทำบุญกุศล หรือเห็นใจผู้อื่นหรือ "altruism" หรือบางทีก็อยากจะสร้างภาพให้สังคมยกย่อง พฤติกรรมเช่นนี้เป็นพฤติกรรมทางเศรษฐกิจผสมกับพฤติกรรมในแง่จิตวิทยา และสามารถสร้างเป็นทฤษฎีได้ ติโยลก็มีผลงานทางด้านนี้ด้วย
งานของฌ็อง ติโยล จึงรวมเรียกว่าพลังตลาดกับการควบคุม หรือ Market Power and Regulation
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน