Stress Test ยุโรป 2014 : Credibly Incredible
โดย : ผศ.ดร.บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ข่าวเศรษฐกิจดังฝั่งยุโรปช่วงไตรมาสท้ายสุดของปี คงจะหนีไม่พ้นการประกาศผลการทดสอบภาวะวิกฤติหรือ Stress Test
ระบบแบงก์พาณิชย์ของธนาคารกลางยุโรปจำนวน 130 แห่ง ซึ่งคิดเป็นกว่าร้อยละ 80 ของทั้งหมด ผลปรากฏว่า มีอยู่ 25 ธนาคาร ที่มีเงินกองทุนไม่เพียงพออยู่ 2.46 หมื่นล้านดอลลาร์ ดังรูปที่ 1 โดยหากคิดเฉพาะการประเมินมูลค่าสินทรัพย์ ปรากฏว่าแบงก์ยุโรปตีมูลค่าสินทรัพย์ตนเองสูงเกินไปกว่า 4.8 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยมีส่วนที่ไม่เกี่ยวกับเงินกองทุนที่ขาดไปอยู่ 3.7 หมื่นล้านดอลลาร์ จึงทำให้ผลกระทบรวมทั้งหมดเท่ากับ 6.2 หมื่นล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ ยังพบหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มเติมขึ้นมาอีก 1.36 แสนล้านดอลลาร์
สำหรับในกรณีที่จำลองสถานการณ์เลวร้ายมาก จะทำให้เงินกองทุนของระบบแบงก์หายไป 2.63 แสนล้านยูโร ซึ่งแบงก์เหล่านี้มีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์ขั้นที่หนึ่งต่ำกว่าร้อยละ 5.5 ในภาพรวม โดยเฉลี่ยแล้วอัตราเงินกองทุนขั้นที่หนึ่งของระบบแบงก์ในยุโรปลดลงร้อยละ 4 หากจะถามว่าการทดสอบครั้งนี้น่าเชื่อถือไหม ขอตอบว่า น่าเชื่อถือแต่ไม่ตอบโจทย์ที่ถูกต้องในปัจจุบัน จึงทำให้ตัวเลขที่ได้มากลับดูแล้วไม่น่าเชื่อถือ โดยจะขออธิบายเป็นหัวข้อ ดังนี้
หนึ่ง ไม่มีแบงก์สเปนอยู่ในลิสต์ของแบงก์ที่สอบตกการทดสอบภาวะวิกฤติเที่ยวนี้ ทำให้ผมนึกถึงตอนปี 2009 สมัยที่กรรมการผู้จัดการ Bank for International Settlement (BIS) คนปัจจุบันเป็นประธานธนาคารกลางของสเปน ที่ระบบแบงก์ในสเปนได้รับการยกย่องว่าจะสามารถต้านทางวิกฤติการเงินโลกได้ ด้วยการใช้มาตรการการกันสำรองแบบพลวัต (Dynamic Provisioning) ซึ่งอีกหนึ่งปีต่อมาก็ไม่เป็นไปตามนั้น มาถึงในงวดนี้ สเปนก็ได้รับการยกย่องว่าระบบแบงก์ดีอีก ผู้เขียนก็เลยออกจะลังเลที่จะเชื่อตามที่ธนาคารกลางยุโรปบอกในการทดสอบครั้งนี้ว่า สเปนจะเอาวิกฤติในอนาคตอยู่จริงๆ เพราะจะว่าไปแล้วช่วงปี 2008-2009 ผู้เขียนเห็นว่าระบบแบงก์สเปนในตอนนั้น ดูจะมีบุคลากรในธนาคารกลางสเปนที่ดีกว่าในปัจจุบันเสียอีก
สอง "ไม่มีภาวะเงินฝืด หรือ อัตราเงินเฟ้อติดลบ" ในสมมติฐานของการทดสอบภาวะวิกฤติในครั้งนี้ แม้นายวิคเตอร์ แสตนชิโอ รองประธานธนาคารกลางยุโรป จะบอกว่าการทดสอบภาวะวิกฤติไม่ใช่การคาดการณ์ทางเศรษฐกิจ ทว่าในตอนนี้ ภาวะเงินฝืดกลายเป็นความเสี่ยงที่จะดึงเศรษฐกิจยุโรปไม่ให้เติบโต จึงทำให้การทดสอบภาวะวิกฤตินี้ มีจุดที่ดีในการลงแรงทำให้ได้ผลลัพธ์ แต่สมมติฐานของเหตุการณ์ดูจะไม่ดีเท่าไร แม้จะ Scenario รุนแรงแต่กลับแรงผิดจุด
สาม สมมติฐานในการทดสอบดูล้าสมัย โดยสมมติฐานของการทดสอบในครั้งนี้ มุ่งไปตรวจสอบความแข็งแรงของรัฐบาล หรือ Sovereign Risk ดังจะเห็นได้จากรูปที่ 2 จะเห็นได้ว่าแบงก์ที่เงินกองทุนไม่พอมาจากไซปรัส กรีซ โปรตุเกส และ อิตาลี เป็นหลัก นั่นหมายความว่า สมมติฐานของตัวเลขเศรษฐกิจที่แย่ลงมาจากวิกฤติปี 2011 ที่ภาวะการคลังของรัฐบาลเหล่านี้มีปัญหา ทว่าวิกฤติในปี 2015 ถ้าจะเกิดขึ้น น่าจะมาจากฝรั่งเศส (ผลการทดสอบของแบงก์ฝรั่งเศสถือว่าดีมาก) และทั่วยุโรปมากกว่า เพราะความเสี่ยงของยุโรปในตอนนี้ คือเม็ดเงินสำหรับการลงทุนไม่เพียงพอ และ ภาวะเงินฝืด ไม่ใช่ฐานะการคลังของรัฐบาลย่ำแย่หรือความไม่สมดุลทางการค้าระหว่างยุโรปเหนือและใต้ ดังนั้น ผมจึงคิดว่า การทดสอบในครั้งนี้ มีระบบการทำการทดสอบที่ดี โปร่งใส และได้คำตอบที่น่าจะเชื่อถือได้ ทว่ามาจากโจทย์ที่ผิด หรือ โจทย์ที่เก่าไปแล้ว นั่นคือ การทดสอบภาวะวิกฤติในครั้งนี้ ถือว่าน่าจะเข้าข่าย “Credibly Incredible”
ท้ายสุด เงินกองทุนของระบบแบงก์ยุโรปที่จะหายไปมูลค่า 263 พันล้านยูโร ดังรูปที่ 3 หากเกิดภาวะวิกฤติขั้นรุนแรง แม้ดูจะเป็นตัวเลขที่สูง ทว่าหากเปรียบเทียบกับสินเชื่อปริมาณ 22 ล้านล้านยูโร กลับน่าคิดว่าระบบแบงก์ในยุโรปต้องการเงินกองทุนส่วนที่จะเติมเข้ามาที่ดูน้อยเกินจริง คิดเป็นไม่ถึงร้อยละ 1 ของสินเชื่อเสียด้วยซ้ำ แม้ระบบแบงก์ยุโรปจะยังเพิ่งเข้าสู่ช่วงที่พ้นการขาดสภาพคล่องมาไม่นานอย่างที่ทางธนาคารกลางยุโรปยอมรับเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนคิดว่าตัวเลขดังกล่าวยังต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งอาจจะมาจากสมมติฐานของเหตุการณ์ในการทดสอบที่มาผิดทางก็เป็นได้
โดยสรุป ขอชื่นชมในความพยายามของธนาคารกลางยุโรปในการทดสอบหนนี้ ทว่าเนื่องจากมาผิดทางตอนกำหนดสถานการณ์จำลอง ผู้เขียนจึงขอบอกว่า Euro Stress Test ปี 2014 นั้นดูไม่น่าเชื่อถือ อย่างไรก็ดี ผู้เขียนขอใช้คำว่า Credibly Incredibility กับ Stress Test ของยุโรป ปี 2014 จากใจจริงครับ
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน