จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โพลล์85%เห็นด้วยร.ร.จัดติวเอง ส่วนภาษีกวดวิชา 60-68% เห็นด้วย เก็บทั้ง "ติวเตอร์-สถาบัน"
นิด้าโพลสำรวจพบประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยให้โรงเรียนจัดสอนพิเศษเองจะได้ไม่ต้องกวดวิชา ชี้เพิ่มโอกาสการเรียนอย่างเท่าเทียม และช่วยลดค่าใช้จ่าย ด้านเหตุผลการเรียนพิเศษ พบส่วนใหญ่ต้องการรู้เทคนิคพิเศษที่ไม่มีสอนในโรงเรียน รองลงมาคือ นำไปใช้สอบแข่งขัน และเพิ่มเกรด
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้าโพล เปิดเผยเมื่อเร็วๆ นี้ ถึงผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "การเก็บภาษีสถาบันกวดวิชา" ตามข้อเสนอแนะของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 15-16 ธ.ค.2557 จากประชาชนทั่วประเทศ กระจายทั่วทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น 1,251 ตัวอย่าง
ผลการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อข้อเสนอให้เก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลกับสถาบันกวดวิชา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 68.19% ระบุว่า เห็นด้วย เพราะสถาบันกวดวิชาถือเป็นสถานประกอบการในเชิงพาณิชย์หรือธุรกิจ บางสถาบันเรียกเก็บค่าเรียนสูงมาก เมื่อมีรายได้ ก็ควรจะเสียภาษีให้กับรัฐบาลเพื่อนำภาษีไปพัฒนาประเทศ
รองลงมา 25.90% ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะเมื่อมีการเรียกเก็บภาษี สถาบันกวดวิชาอาจจะเก็บค่าเรียนเพิ่มขึ้น จะเป็นการสร้างภาระให้กับผู้ปกครองเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และยังถือเป็นสถาบันการส่งเสริมการเรียนให้กับเด็ก อีกทั้งสถาบันกวดวิชามีค่าใช้จ่ายที่สูงในการจ้างบุคลากร ครู อาจารย์ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ จึงไม่ควรเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติม และ 5.91% ไม่ระบุหรือไม่แน่ใจ
ความคิดเห็นของประชาชนต่อข้อเสนอการเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากับ ครู อาจารย์ ที่ไปสอนพิเศษตามสถาบันกวดวิชา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 60.51% ระบุว่า เห็นด้วย เพราะถือเป็นกฎหมายที่บังคับใช้อยู่แล้วกับผู้ที่มีรายได้ในอัตราที่ต้องเสียภาษีโดยเฉพาะ ถ้าหากเป็นการสอนพิเศษแบบประจำตามสถาบันกวดวิชา
รองลงมา 33.09% ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะถือเป็นรายได้เสริมของครู อาจารย์ และปกติก็เสียภาษีอยู่แล้ว อาจเป็นการเสียภาษีซ้ำซ้อน และครู อาจารย์ บางรายก็มีค่าใช้จ่ายมากเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และ 6.40% ไม่ระบุหรือไม่แน่ใจ
ส่วนเหตุผลของเด็กและเยาวชนไทยที่ต้องไปเรียนพิเศษ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 51.48% ระบุว่า เป็นเพราะเด็กต้องการความรู้เพิ่มเติม ตลอดจนเทคนิค วิธีการคิด การจดจำ ที่ไม่ได้สอนในโรงเรียน
รองลงมา 26.30% ระบุว่า เป็นเพราะต้องการนำไปใช้ในการสอบแข่งขัน 21.34% ระบุว่า เป็นเพราะต้องการเพิ่มเกรด 21.02% ระบุว่า เป็นเพราะเรียนในห้องเรียนไม่ทันเพื่อน 12.71% ระบุว่า เป็นเพราะครูที่โรงเรียนสอนไม่ดี
12.55% ระบุว่า เป็นค่านิยมหรือแฟชั่น 9.83% ระบุว่า ต้องการแข่งขันกับเพื่อน และผู้ปกครองบังคับให้ไปเรียน 9.11% ระบุว่า ครูมีพฤติกรรมบังคับให้เด็กนักเรียนเรียนพิเศษกับตน
1.44% ระบุว่า ต้องการเรียนกับ ครู อาจารย์ที่ดังๆ หรือมาจากสถาบันดังๆ 1.04% ระบุว่า อื่นๆ ได้แก่ ผู้ปกครองไม่มีเวลาทบทวนการเรียนให้กับเด็ก โรงเรียนมีกิจกรรมมาก ครูสอนเด็กไม่ทั่วถึง เป็นข้ออ้างของเด็กที่อยากอยู่กับเพื่อน และ 1.12% ไม่ระบุหรือไม่แน่ใจ
เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อนโยบายให้ทุกโรงเรียนจัดสอนพิเศษให้นักเรียนทุกคนเพื่อจะได้ไม่ต้องไปเรียนพิเศษตามสถาบันกวดวิชา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 85.37% ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ ครู อาจารย์ที่สอนเด็กอยู่ในโรงเรียนจะรู้พื้นฐานของเด็กเป็นอย่างดี และเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับเด็กสำหรับการเรียนเพิ่มเติมอย่างเท่าเทียมกัน ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองในเรื่องของค่าเรียนพิเศษ และครูสามารถสอนให้กับเด็กนักเรียนได้อย่างเต็มที่
ส่วนที่ไม่เห็นด้วยมี 13.35% โดยให้เหตุผลเพราะไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ได้ เวลาเรียนในห้องเรียนเพียงพอแล้ว ครูบางคนมีประสิทธิภาพในการสอนน้อยอาจใช้ระบบการสอนแบบเดิม และเด็กมีการรับรู้ไม่เท่ากัน และ 1.28% ไม่ระบุหรือไม่แน่ใจ
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน