Stress Test ธนาคารอังกฤษ 2014
โดย : ผศ.ดร.บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
แม้จะดูไม่หวือหวาเหมือนกับของสหรัฐหรือยุโรป ทว่าการทดสอบภาวะวิกฤติหรือStress Test สำหรับธนาคารพาณิชย์ของอังกฤษ
ที่เพิ่งผ่านพ้นไปช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมานั้น ก็เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ควรจะมองข้าม เนื่องจากอังกฤษมีแบงก์ที่ใหญ่และสำคัญอย่าง Barclays และ HSBC Bank รวมถึงมีผู้ว่าการธนาคารกลางที่เป็นชาวต่างชาติคนแรกอย่าง ดร. มาร์ก คาร์นีย์ ที่ได้ปรับปรุงการทำงานของแบงก์ชาติอังกฤษจากยุค ดร. เมอร์วิน คิง ไปมากพอสมควรจนธนาคารกลางยุโรปเริ่มจะนำไปเลียนแบบเข้าบ้างแล้ว
จากผลการวิเคราะห์ของธนาคารกลางอังกฤษ ปรากฏว่า สถานการณ์ที่เลวร้ายจากเหตุการณ์วิกฤติ จะส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ในส่วนของหุ้นสามัญต่อสินทรัพย์เสี่ยงของทั้ง 8 แบงก์ในอังกฤษ ลดลงจากร้อยละ 10 ในปี 2013 ลงมาที่ร้อยละ 7.3 ในปี 2015 หากปราศจากการบริหารเชิงกลยุทธ์ของผู้บริหารแบงก์ดังกล่าว ในภาพรวม เมื่อพิจารณาจากการทดสอบภาวะวิกฤติในครั้งนี้ จะพบว่ากรณีที่แบงก์สามารถบริหารจัดการตนเองอย่างที่พูดคุยกับแบงก์ชาติอังกฤษ ระบบสถาบันการเงินของอังกฤษยังจะสามารถดำเนินงานต่อไปได้แม้จะเกิดวิกฤติขึ้น ยกเว้น แบงก์เดียวที่ชื่อว่า Co-op ดังรูปที่ 1
ผมมีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการทดสอบในครั้งนี้อยู่ 3 ประการ
หนึ่ง การทดสอบในครั้งนี้มีการตั้งสมมติฐานการทดสอบภาวะวิกฤติโดยแบ่งเป็น 2 ภาค ได้แก่ ระดับยุโรปโดยธนาคารกลางยุโรป และระดับในอังกฤษเอง ในส่วนหลังเน้นไปที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ซึ่งตอนนี้เฟื่องฟูเป็นอย่างมาก และดูจะเสี่ยงต่อความเสี่ยงเชิงระบบในนาทีนี้เนื่องจากอังกฤษมีสัดส่วนของสินเชื่อบ้านที่ใช้อัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัวในระดับที่สูงกว่าประเทศหลักอื่นๆ ดังรูปที่ 2 โดยแบงก์ชาติอังกฤษให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ลดลงร้อยละ 35 ในสถานการณ์วิกฤติ และใช้การชะลอตัวของจีดีพีเศรษฐกิจอังกฤษในระดับที่ดูค่อนข้างรุนแรงมากดังรูปที่ 3 ซึ่งทั้งสองส่วนถือว่าได้จี้มาตรงจุดอ่อนของเมืองผู้ดีได้ถูกเผง นอกจากนี้ยังใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่กำลังจะเพิ่มขึ้นในปีหน้า อัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานเป็นสมมติฐานของการทดสอบอีกด้วย
สอง ที่ถือว่าค่อนข้างผิดคาด ได้แก่การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่ได้มีผลต่อแบงก์พาณิชย์ภายใต้ช่วงวิกฤติมากนัก แม้ว่าการเพิ่มขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้สินทรัพย์ของแบงก์ในอังกฤษแย่ลงเนื่องจากจะมีลูกค้าที่ส่งเงินงวดให้แบงก์ไม่ไหวมากรายยิ่งขึ้น โดยทำให้แบงก์ทั้งระบบของอังกฤษมีกำไรลดลงไม่เกิน 6 พันล้านปอนด์ ที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากอังกฤษมีส่วนที่เป็น Retail Banking อยู่ค่อนข้างมาก ส่งผลให้มีบัญชีเงินฝากกระแสรายวันมีอยู่ถึงร้อยละ 20 ของเงินฝากทั้งหมด ทำให้แม้ดอกเบี้ยจะขึ้น แบงก์ในอังกฤษสามารถเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ทว่าสามารถมีรายจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากที่เพิ่มขึ้นไม่มากเท่าไร ส่งผลให้รายได้ที่เพิ่มขึ้นในส่วนนี้ไปกลบส่วนที่เป็นคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลงได้เยอะอยู่
สาม แบงก์ชาติอังกฤษ ยังเปิดเผยถึงกลยุทธ์หรือ Strategic Management ในการจัดการของผู้บริหารแบงก์ต่างๆ ในอังกฤษว่า ส่วนใหญ่จะใช้การลดจำนวนพนักงานและลดการจ่ายเงินปันผล นอกจากนี้บางแบงก์จะใช้การเปลี่ยนแนวในการปล่อยสินเชื่อเมื่อเกิดวิกฤติ โดยแบงก์ชาติอังกฤษจะพยายามออกกฎเกณฑ์ที่จะสนับสนุนให้แบงก์พาณิชย์ปล่อยเงินกู้ในเซกเตอร์ที่ค่อนข้างเสี่ยงต่ำให้มากกว่าส่วนอื่น
อย่างไรก็ดี แบงก์ชาติอังกฤษมิได้นำสถานการณ์การดิ่งลงของราคาน้ำมัน ความไม่แน่นอนในตลาดเกิดใหม่ และ วิกฤติของรัสเซีย มาใช้ในการทดสอบในครั้งนี้ ซึ่งถือว่าเป็นจุดอ่อนของการทดสอบเที่ยวนี้ครับ
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน