จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
เรวัติ ตันตยานนท์
ปัจจุบัน คำว่า“ธุรกิจเพื่อสังคม”หรือ Social Business เริ่มเข้ามาเป็นที่แพร่หลายในหมู่ของผู้ประกอบการธุรกิจ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ไฟแรง ที่ต้องการตอบสนองความตั้งใจของตนเองที่จะช่วยเหลือสังคมโดยใช้ “ธุรกิจ” เป็นตัวกลางในการส่งต่อ “สิ่งดีๆ” ให้กับสังคม
ในยุคเดิมๆ การทำธุรกิจ มักจะควบคู่มากับการแสวงหาผลประโยชน์ให้กับตนเองหรือแก่ผู้มีอุปการคุณต่อตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องนึกถึงบุคคลอื่น
นับตั้งแต่ยุคสมัยของการแสวงหาอาณานิคมเพื่อกอบโกยความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ นำกลับไปสู่แผ่นดินเดิมที่เริ่มขาดแคลนทรัพยากรนั้นๆ ต่อมาจนถึงยุคสมัยของการใช้ทาส มาสร้างความมั่งคั่งร่ำรวยให้กับ นายทุน
แม้กระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ ที่ตำราด้านการบริหารธุรกิจ ได้พร่ำสอนผู้บริหารธุรกิจว่า เป้าหมายของการประกอบธุรกิจ ก็คือ การสร้างความมั่งคั่งให้กับเจ้าของธุรกิจ
ดังนั้น เรื่องของการทำธุรกิจเพื่อสังคม จึงถือได้ว่าเป็นแนวคิดสมัยใหม่จริงๆ และน่าจะได้รับความชื่นชมจากคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเข้ามาทำธุรกิจที่ไม่หวังผลตอบแทนเพื่อตนเองแต่ผู้เดียว แต่หวังที่จะส่งผลตอบแทนไปยังสังคมรอบข้าง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สังคมที่อยู่สถานะที่ด้อยกว่า
คำว่า ธุรกิจเพื่อสังคม ได้รับคำนิยามจาก ศาสตราจารย์ มูฮัมเม็ด ยูนุส เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ผู้ก่อตั้งธนาคารกรามีน ซึ่งเป็นธนาคารเพื่อคนจนในปากีสถาน โดยเจตนาที่จะขจัดความยากจนให้หมดสิ้นไปจากโลก
ศาสตราจารย์ยูนุส ได้ให้คำจำกัดความของ “ธุรกิจเพื่อสังคม” ไว้ว่า (1) เป็นธุรกิจที่ออกแบบและจัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาให้กับสังคมโดยเฉพาะให้ด้านใดด้านหนึ่ง และ (2) จะต้องเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างฐานะทางการเงินที่มั่นคงได้ โดยกำไรที่เกิดจากธุรกิจจะถูกนำไปใช้เพื่อลงทุนต่อในธุรกิจหรือใช้เพื่อสร้างธุรกิจเพื่อสังคมขึ้นใหม่ เพื่อขยายผลกระทบต่อสังคมให้กว้างมากยิ่งขึ้น
เช่น ใช้เพื่อขยายขอบเขตของธุรกิจหรือการให้บริการออกไป ใช้เพื่อพัฒนาสินค้า ผลิตภัณฑ์ หรือบริการที่มีคุณภาพสูงขึ้นเพื่อสร้างประโยชน์ต่อสังคมได้มากขึ้น
ธุรกิจเพื่อสังคม แตกต่างจากธุรกิจปกติทั่วไปในแง่ที่จะไม่ประสงค์ที่จะแสวงหากำไรสูงสุด แต่จะต้องมีผลประกอบการที่ได้กำไร เพื่อให้ธุรกิจดำเนินและขยายตัวต่อไปได้อย่างยั่งยืน
ดังนั้น ธุรกิจเพื่อสังคม จึงไม่ใช่กิจกรรมหรือธุรกิจประเภทที่ไม่แสวงหากำไร ซึ่งส่วนใหญ่จะดำเนินการในรูปของมูลนิธิ ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากเงินบริจาคหรือเงินเพื่อการกุศล
ธุรกิจเพื่อสังคม จะต้องสร้างกำไร และนำกำไรนั้นมาลงทุนกลับให้กับสังคมต่อไป พร้อมกับการขยายตัวของธุรกิจ
ศาสตราจารย์ยูนุส ยังได้เสนอหลักการ 7 ประการสำหรับธุรกิจเพื่อสังคม อันได้แก่
1.ธุรกิจเพื่อสังคม จะต้องกำหนดวัตถุประสงค์ที่จะช่วยลดความยากจนในสังคม หรือปัญหาเฉพาะด้านใดด้านหนึ่งในสังคม เช่น ปัญหาด้านการศึกษา ปัญหาด้านสุขภาพสุขอนามัย ปัญหาในการเข้าถึงเทคโนโลยีที่เหมาะสม หรือปัญหาด้านสภาวะแวดล้อม ที่กำลังคุกคามสังคมนั้นอยู่
2.ธุรกิจจะต้องดำเนินไปได้อย่างยั่งยืนทั้งในด้านสถานะทางการเงินและสถานะทางเศรษฐกิจ
3.ผู้ลงทุน หรือเจ้าของธุรกิจ จะได้ผลตอบแทนจากธุรกิจในจำนวนที่เท่ากับเงินที่ลงทุนไปเท่านั้น โดยจะไม่ได้รับเงินปันผล หรือผลประโยชน์อื่นใดจากธุรกิจมากไปกว่าเงินลงทุน
4.เมื่อธุรกิจจ่ายคืนเงินที่นำมาลงทุนให้กับเจ้าของหรือผู้ลงทุนไปแล้ว กำไรที่เกิดจากธุรกิจหลังจากนั้น จะเก็บไว้ในธุรกิจสำหรับใช้ในการขยายกิจการหรือเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินธุรกิจ
5.ธุรกิจจะต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ หรือก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม
6.พนักงานหรือผู้ร่วมงานของธุรกิจ จะได้รับผลตอบแทนการทำงานหรือเงินเดือนที่เทียบเท่ามาตรฐานในอุตสาหกรรม แต่จะมีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีกว่า
7.ทุกคนที่ทำงานให้กับธุรกิจ จะต้องทำงานอย่างมีความสุข
จะเห็นได้ว่า ด้วยแนวคิดและคำนิยามของ ศาสตราจารย์ยูนุส นี้ ทำให้ธนาคารกรามีน เป็นแหล่งเงินสำหรับคนยากจนหรือผู้ที่มีสถานะด้อยในสังคม เช่น สตรีในปากีสถาน สามารถมีแหล่งเงินที่จะนำไปใช้เป็นทุนในการประกอบอาชีพ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม คำจำกัดความในความหมายที่กว้างขึ้น เช่น ในสหภาพยุโรป ที่มีการพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคมได้อย่างแพร่หลาย ได้กำหนดลักษณะของธุรกิจเพื่อสังคมที่ครอบคลุมไปถึง
๐ ธุรกิจที่คำนึงถึงจริยธรรมและประโยชน์ต่อสังคมในการนำเสนอสินค้า ผลิตภัณฑ์ บริการ กระบวนการทำงาน และในกระบวนการผลิต ของธุรกิจ
๐ ธุรกิจที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาสังคม และมีผลลัพธ์จากการประกอบธุรกิจที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ทำให้สังคมมีสถานภาพที่ดีขึ้น จากผลการดำเนินการของธุรกิจ
๐ ธุรกิจที่มีการบริหารจัดการและการดำเนินการที่แบ่งปันผลประโยชน์ให้กับผู้มีส่วนได้เสียอย่างยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็น เจ้าของ ผู้ถือหุ้น พนักงาน คู่ค้า ลูกค้า ชุมชน และสังคมโดยทั่วไป
ในความหมายที่กว้างขึ้นนี้ ธุรกิจเพื่อสังคม ก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่แปลกใหม่มากนักในวงการธุรกิจที่มีอยู่ ซึ่งจะเห็นได้ว่า หลายๆ ธุรกิจ ที่เจ้าของหรือผู้บริหาร ได้ดำเนินธุรกิจมาอย่างมีจริยธรรม มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี และมีการตอบแทนสังคมและชุมชนโดยทั่วไปอยู่เป็นปกติประจำ
ธุรกิจเหล่านี้ มักจะเป็นธุรกิจที่มั่นคง ดำเนินธุรกิจมาได้ยาวนาน โดยไม่ได้หวังกอบโกยผลประโยชน์จากธุรกิจเข้ามาเป็นของตนเองโดยไม่คำนึงถึงสภาพของสังคมรอบข้างทั่วไป ในขณะที่ธุรกิจที่มีวัตถุประสงค์ตรงกันข้ามกับที่กล่าวมา มักจะไม่สามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน และมักต้องออกจากธุรกิจไปในเวลาอันสั้น
สำหรับท่านผู้ประกอบการใหม่หรือผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจอยู่แล้ว ที่สนใจจะสร้างธุรกิจแนวคิดใหม่ที่มุ่งสร้างประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม ก็อาจให้ความสนใจกับ “ธุรกิจเพื่อสังคม” ได้ตามแนวคิดที่นำเสนอมานี้ หรือตามความคิดสร้างสรรค์และเจตนารมณ์ทางธุรกิจของท่านได้ต่อไป
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน,สำนักงานบัญชี พี.เอ็ม.เอส.