จากประชาชาติธุรกิจ
กระทรวง การคลังเร่งปรับปรุงกฎหมายรับลูกมาตรการป้องกันก่อการร้าย แจง "กรมสรรพากร" ปรับบทลงโทษกรณีเลี่ยงภาษี ด้าน "สศค.-แบงก์ชาติ" เค้นมาตรการควบคุมนำเงินบาท-ตราสารผ่านแดน คาดเสร็จทันกำหนดในปีนี้
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติรับทราบและเห็นชอบการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านการ ป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการ ร้ายของ Financial Action Task Force (FATF) ในปี พ.ศ. 2559 ซึ่งมีสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ซึ่งการออกมาตรการให้สอดรับกับการดำเนินการดังกล่าว ทางกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการให้เรียบร้อย ภายในปี 2558 นี้
"ที่ผ่านมาประเทศไทยได้เข้ารับการประเมินการ ปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการ สนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย 2 รอบ ในปี 2545 และ 2550 และมีกำหนดเข้ารับการประเมินเป็นรอบที่ 3 ในปี 2559 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องเร่งปรับปรุงกฎหมายให้เสร็จภายในปี 2558 นี้" แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า หากประเทศไทยไม่เข้ารับการประเมินดังกล่าว จะส่งผลให้ประเทศไทยถูกจัดเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงด้านการฟอกเงินและการ สนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายทันที ซึ่งจะส่งผลกระทบด้านลบ ต่อภาพลักษณ์ความโปร่งใส และหลักธรรมาภิบาลของประเทศไทยในสายตาประชาคมโลกโดยภายในปี 2558 นี้ ทางกรมสรรพากรจะต้องแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับข้อ แนะนำของ FATF โดยกำหนดให้ความผิดเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงภาษีหรือฉ้อโกงภาษีตามประมวล รัษฎากรเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และกำหนดให้การจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดดังกล่าว เป็นความผิดฐานฟอกเงิน ให้แล้วเสร็จ
ขณะที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะต้องปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบให้สอดคล้องกับ ร่างพระราชบัญญัติป้องกัน และปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยต้องดำเนินการแก้ไขเพิ่มให้แล้วเสร็จภายในปี 2558 เช่นเดียวกัน
สำหรับรายละเอียดที่ต้องแก้ไข ประกอบด้วย 1) การกำหนดให้บุคคลต้องสำแดงเงินตราที่เป็นเงินบาทขาเข้า 2) การกำหนดให้มีมาตรการควบคุมตราสารผ่านแดน ซึ่งให้ผู้ที่นำตราสารเปลี่ยนมือที่มีมูลค่ารวมกันตั้งแต่ 15,000 เหรียญสหรัฐขึ้นไปผ่านแดน จะต้องสำแดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ศุลกากรและกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ศุลกากรรายงานข้อมูลการสำแดงตราสารดังกล่าวให้สำนักงาน ปปง.ทราบด้วย ทำนองเดียวกับกรณีการสำแดงเงินตรา
และ 3) กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ศุลกากรมีอำนาจตรวจค้นบุคคล ยานพาหนะใด ๆ ตู้ขนส่งสินค้า พัสดุไปรษณีย์ หรือไปรษณียภัณฑ์ที่ออกไปนอกหรือเข้ามาในประเทศได้ หากมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีเงินตราหรือตราสารซุกซ่อนอยู่โดยมิได้สำแดง หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการสำแดงอันเป็นเท็จ รวมทั้งให้มีอำนาจยึดหรืออายัดเงินตราหรือตราสารผ่านแดน หากมีเหตุอันควรสงสัยว่าเงินตราหรือตราสารที่ขนส่งผ่านแดนนั้นเกี่ยวข้องกับ การฟอกเงิน หรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อํานวยการ สศค. รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าว ปปง.เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการเสนอกฎหมาย รวมถึงหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องก็ต้องปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกัน โดยหลักก็คือต้องทำตามมาตรฐานสากล
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน