วิถี “บิลเลียนแนร์”ฉบับ “Startup”
โดย : จีราวัฒน์ คงแก้ว
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
มูลค่าบริษัท100ล้านเหรียญขึ้นไป เรียก“เซนทอร์”เกิน1พันล้านเหรียญเรียก“ยูนิคอร์น”ถ้ามากกว่านั้นเรียกกัน“ เดกาคอร์น”เหล่าสัตว์เทพแห่งโลกStartup
“GRABTAXI” แอพเรียกแท็กซี่สัญชาติมาเลย์ มีมูลค่าบริษัทแตะ “4.5 หมื่นล้านบาท” (1.5 พันล้านเหรียญ) ในเวลาแค่ 3 ปี ถึงวันนี้ ระดมทุนได้แล้วรวมกว่า “1.5 หมื่นล้านบาท” (กว่า 500 ล้านเหรียญ)
“tokopedia” ธุรกิจมาร์เก็ตเพลสสัญชาติอินโดนีเซีย เปิดมาแค่ 3 ปี มีมูลค่าธุรกิจเกินกว่า 3 หมื่นล้านบาท (1 พันล้านเหรียญ)
“Flipkart” ธุรกิจอีคอมเมิร์ซสัญชาติอินเดีย เปิดมากว่า 4 ปี ปีที่แล้วมียอดขายแตะ “6 หมื่นล้านบาท” (2 พันล้านเหรียญ) ปีนี้ตั้งเป้าไปถึง “2.4 แสนล้านบาท” (8 พันล้านเหรียญ) ปีหน้าประกาศจะแซงหน้า Rakuten ที่อยู่มากว่าสิบปี และมียอดขายประมาณ “5.1 แสนล้านบาท” (1.7 หมื่นล้านเหรียญ)
ตัวอย่างเบาะๆ ของเหล่า “ยูนิคอร์น” สายพันธุ์เอเชีย ที่วันนี้ไม่ต้องดูตัวอย่างไกลถึง “ซิลิคอนวัลเลย์” แต่มีให้เห็นแล้วรอบบ้านเรา
นี่คือเผ่าพันธุ์ Startup ธุรกิจที่ เติบโตเร็ว ทำซ้ำได้ เห็นโอกาส มีความหวัง เคลื่อนตัวได้ไว เป็นที่สนใจของนักลงทุน ไม่ต้องรอโตเอง แต่สามารถ “ระดมทุน” จากนักลงทุนที่สนใจ มาสร้างการเติบโตแบบ “ก้าวกระโดด” จนสามารถขึ้นทำเนียบ “บิลเลียนแนร์” ได้ในเวลาเพียงไม่กี่ปี
“ยุคปัจจุบันที่เราอยู่ เป็นยุคสมัยที่การสร้างความมั่งคั่งทำได้รวดเร็ว อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ เรามีธุรกิจ 1 พันล้านเหรียญ หรือ 1 หมื่นล้านเหรียญ เต็มไปหมด ในเวลาแค่ไม่กี่ปี ต่างจากสมัยก่อนการตั้งธุรกิจในระดับหมื่นล้าน อาจต้องผ่านคนหลายเจเนอเรชั่น และใช้เวลาขั้นต่ำเป็น 10-20 ปี”
คำบอกเล่าของ “กระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล” ผู้จัดการกองทุน “500ตุ๊กตุ๊ก” กองทุนเพื่อ Startup ไทย ของกลุ่ม 500Startups จาก ซิลิคอน วัลเลย์ สหรัฐอเมริกา ช่วยฉายภาพความน่าตื่นตาของธุรกิจร้อนแรง ที่ชื่อ Startup
ธุรกิจยุคเก่า อาจขยับตัวแบบค่อยๆ โต ปีนี้สัก 15% ปีหน้าขอเพิ่มสัก 20% แต่กับ Startup ลืมภาพนั้นไปได้เลย เพราะพวกเขา โตกันระดับ “10 เท่า” ต่อปี
ในวิธีคิดที่เรียกว่า “10X Thinking”
...ฉันจะโตขึ้นสิบเท่าในหนึ่งปี
กระทิงยกตัวอย่าง ธุรกิจที่เขาพบเมื่อ 3 ปี ก่อน อย่าง “GRABTAXI” แอพเรียกแท็กซี่ของหนุ่มมาเลเซีย “Anthony Tan” ในวันนั้นมีเจ้าสนามที่อยู่มาก่อนก็คือ “UBER” (ก่อตั้งปี 2009) ที่ลงทุนโดยกูเกิล และเหล่านักลงทุนรายใหญ่ มีมูลค่าธุรกิจในปัจจุบันสูงถึงกว่า 5 หมื่นล้านเหรียญ! (1.5 ล้านล้านบาท)
สั้นๆ “ใหญ่กว่าเครือซีพี (เจริญโภคภัณฑ์) ทั้งเครือ!”
จากธุรกิจเล็กๆ ที่คลานเตาะแตะตามหลังมา วันนี้ “GRABTAXI” ใช้เวลาเพียง 3 ปี ขึ้นมามีมูลค่าบริษัทแตะ 45,000 ล้านบาท โตมากกว่า 10 เท่า ! และไปไกลกว่า คำว่า “ก้าวกระโดด” ทั้งยังระดมทุนได้รวมกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท
ปัจจัยในการโต “สิบเท่า” แบบ Startup คือ การใส่ “เทคโนโลยี” และ “ระดมทุน” เพื่อสร้างการเติบโตอย่างรวดเร็ว
“อย่างเราเป็น Startup ในไทย พอระดมทุน ก็เติบโตในไทย กินส่วนแบ่งตลาดสัก 50-60% จากนั้นก็ระดมทุนต่อ เพื่อขยายไปสิงคโปร์ หรือเพื่อนบ้าน ซึ่งมูลค่าก็จะเพิ่มขึ้นเป็นสิบเท่า จากนั้นก็ระดมทุนเพื่อขยายไปประเทศอื่นต่อไป นี่คือโลกของ Startup”
การระดมทุนแต่ละครั้ง ใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ได้ทุนก็อยู่ได้ประมาณ 1 ปี จากนั้นก็ระดมทุนรอบต่อไป โดยการระดมทุนครั้งแรกเรียก ระดับ Seed ซึ่งเป็นบริษัท Startup ที่คิดออกผลิตภัณฑ์ หรือทำการสร้างตลาดเบื้องต้น ส่วนใหญ่มีไอเดีย มีผลิตภัณฑ์ต้นแบบ มีลูกค้านิดๆ หน่อยๆ เหมือนเมล็ดพันธุ์ที่รอรดน้ำเพื่อให้เติบโต เงินทุนระดับ Seed Fund ส่วนใหญ่ไม่เกิน 1 ล้านเหรียญ มักมาจากกลุ่ม Angel Investor ทุนจากครอบครัว เพื่อนฝูง ญาติสนิท ซึ่งในบ้านเรามี “500ตุ๊กตุ๊ก” เป็นกองทุนร่วมทุน (VC) ที่เน้นลงทุนในผู้ประกอบการระดับ Seed โดยลงทุนที่ประมาณ 3-6 ล้านบาท ต่อบริษัท
หากผลิตภัณฑ์ได้รับความนิยม ก็เป็นสัญญาณการระดมทุนรอบต่อไป เรียก Series A สำหรับการปรับปรุงผลิตภัณฑ์และรูปแบบธุรกิจให้เหมาะสมกับตลาดที่ใหญ่ขึ้น ส่วนมากเฉลี่ยอยู่ที่ 3–7 ล้านเหรียญ จากนั้นก็จะเป็นระดมทุนในระดับต่อไป (Series B, Series C ฯลฯ) เพื่อเข้าสู่การขยายบริษัทให้ใหญ่ขึ้น ขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น เร่งการเติบโต มุ่งสู่ตลาดต่างประเทศ รวมไปถึงการไล่ซื้อบริษัทต่างๆ เม็ดเงินก็ค่อยๆ ขยับ ตั้งแต่ ระดับสิบล้านเหรียญ ไปจนหลักร้อยล้านเหรียญ (ที่มา: thumbsup)
“หลังจากนั้น คุณจะถึงจุดที่เรียก ‘สัตว์เทพ’ กับการระดมทุนในระดับพันล้านบาท แล้วชีวิตคุณจะเปลี่ยนไป” กะทิงบอก
กระทิงบอกเราว่า โลกของ Startup เร็ว และเพี้ยนมาก เป็นโลกที่ “Speed is king” ความเร็วสำคัญอย่างยิ่ง โดยเริ่มจากไอเดีย มาแปลงไอเดียเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบอย่างรวดเร็ว และระดมทุน ที่กินเวลาไม่นาน แต่ถ้าใครเกิดได้ สะเทือนไปทั้งตลาด
“ชีวิตแบบ Startup ก็เหมือนการกระโดดลงเหว แล้วประกอบเครื่องบินให้เสร็จก่อนที่จะถึงก้นเหว ซึ่งบางครั้งพอมาถึงกลางทาง อาจพบว่า อุปกรณ์ไม่พร้อม ทำเครื่องบินไม่ได้ ก็ประกอบเป็นเครื่องร่อนแทน บางคนสุดท้ายทำเป็น ร่ม ให้รอดก่อนถึงก้นเหว ซึ่งโลกของ Startup จะมีการเปลี่ยนยุทธศาสตร์กลางทางเสมอ ถ้าไม่เวิร์ค ก็แค่เปลี่ยน”
เขายกตัวอย่าง “อินสตาแกรม” แอพสำหรับถ่ายรูปและแชร์ ที่ในวันเริ่มต้นเป็นแค่โซเชียลเน็ตเวิร์คแบบง่ายๆ แต่ทำไปแล้วไม่เวิร์ค “Kevin Systrom” ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ อินสตาแกรม เลย “เปลี่ยนกลางทาง” เพราะเห็นคนแชร์รูปเยอะ เลยปรับเป็นแอพแชร์รูปแล้วใส่ฟีลเตอร์เข้าไป ผลที่ได้ไม่ใช่แค่กลายเป็นแอพยอดนิยม ทว่ากลายเป็นแอพเนื้อหอม ที่เฟซบุ๊กซื้อไปถึง “3 หมื่นล้านบาท” ขณะมีพนักงาน ณ ตอนนั้นแค่ 13 คน เท่านั้น
เห็นแต่เรื่องสวยๆ งามๆ ของเหล่า “สัตว์เทพ” แต่ ผู้จัดการกองทุน “500ตุ๊กตุ๊ก” ดึงเรากลับมาสู่โลกความจริงด้วยการบอกว่า ทำ Startup ความเสี่ยง “มหาศาล” และ ยูนิคอร์น ก็ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ
“สำหรับ Startup ผมลงทุนไปสิบบริษัท เจ๊งทันที 5 บริษัท ใน 6 เดือน ”
ย้ำกันให้ชัด กับข้อมูลจาก “หมู-ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์” ประ ธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อุ๊คบี จำกัด พี่ใหญ่แห่งวงการ Startup ไทย ที่บอกเราว่า Startup ระดับ “ยูนิคอร์น” คือมีมูลค่าบริษัทเกิน 1 พันล้านเหรียญ (3 หมื่นล้านบาท) ทั่วโลก ตอนนี้มีอยู่แค่ประมาณ 40-50 ราย เท่านั้น ที่มากหน่อยคือ เหล่า “เซนทอร์” หรือ บริษัทที่มีมูลค่าเกิน 100 ล้านเหรียญ (3 พันล้านบาท) มีอยู่กว่าร้อยราย
ส่วนสัตว์เทพสายพันธุ์ที่เกินหมื่นล้านเหรียญ (3 แสนล้านบาท) ก็พอมีตัวอย่างให้เห็นอย่าง เสี่ยวหมี่ (Xiaomi), Airbnb และอูเบอร์ เป็นต้น
เพราะสัตว์เทพ หายาก เลยจุติบนโลกแค่พอนับตัวได้ แต่จะทำอย่างไรให้เราเป็นได้แบบนั้นบ้าง
ก่อนออกสตาร์ท ไปหาฝันใหญ่ ลองมารู้จักวิถีของ Startup ให้มากขึ้น
พวกเขาบอกว่า ทำธุรกิจ Startup เหมือนการวิ่งมาราธอนที่เป็นการวิ่งร้อยเมตรตลอดเวลา โดยไม่มีหยุด ซีอีโอ ของ Startup ก็ต้องประเภท “Chief Everything Officer” คือ ทำทุกอย่าง แบกรับทุกสิ่ง เป็นเหมือนปิรามิดหัวคว่ำ แล้ว Startup อยู่ตรงปลายยอดปิรามิด
นโยบายการทำงานแบบ Startup คือ “7-11” ห้ามเจ็บ ห้ามป่วย ห้ามตาย
บางคนถึงขนาดต้อง ขายบ้าน ขายรถ ขายทรัพย์สิน กว่าจะตั้งตัวได้ กว่าจะมีคนเอาเงินมาลงทุนด้วย
Startup เลยต้องประเภท “รักในสิ่งที่ทำ มากกว่ารักตัวเอง”
“Startup เริ่มต้น งานหนัก เงินน้อย การแข่งขันมี ความเสี่ยงก็สูง ฉะนั้นสิ่งสำคัญเลยคือ ภายในเราต้องแข็งแกร่ง ผู้นำ ต้องพูดคุย สื่อสารกับทีมงาน และสร้างคัลเจอร์ที่แข็งแรงขึ้นมาให้ได้”
“ณัฐวุฒิ” ซีอีโอ อุ๊คบี แสดงทัศนะ ก่อนจะบอกเราว่า เหล่าผู้ก่อตั้ง Startup ต้องเป็นนักเล่านิทานที่เก่ง (Storyteller) นั่นคือ ต้องสามารถสื่อสารกับทีมงาน ให้เข้าใจตรงกันถึงสิ่งที่ทำ ทิศทางที่จะเดิน และ ความฝันที่จะมุ่งไป
ขณะ “อมฤต เจริญพันธ์” ผู้ร่วมก่อตั้ง HUBBA Thailand บอกเราว่า Startup ต้องสลัดความคิดแบบเถ้าแก่ยุคเก่า ทิ้ง ประเภททำธุรกิจต้องกั๊ก ไม่กล้าคุย ไม่กล้าแลกเปลี่ยนไอเดียกับใคร เพราะกลัวถูกก๊อปปี้ ตรงกันข้าม Startup ต้องสร้างคัลเจอร์ ของคนกล้าแชร์ และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ต้องมองโลกในแง่ดี และเชื่อว่า “ทุกอย่างเป็นไปได้”
สอดคล้องกับ “ธีระชาติ ก่อตระกูล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง StockRadars คนทำแอพหุ้นให้เป็นเรื่องง่าย ที่บอกเราว่า Startup ต้องเปลี่ยนความเชื่อในอดีต ที่บอกว่า ทำธุรกิจต้องเก็บงำความลับ บอกใครไม่ได้ ต้องตายไปกับตัวเราเท่านั้น โลกใบใหม่ที่ Startup ต้องมองเห็นคือ
“ยิ่งให้ ยิ่งได้ ยิ่งแชร์ไป ยิ่งได้กลับมา”
“Startup คนที่สำเร็จ คือคนที่ลงมือทำ ซึ่งอาจต้องใช้ลูกบ้าพอสมควร ต้องทนแรงเสียดสีกดดันจากคนรอบข้าง แม้ไม่ใช่คนดื้อ แต่เราก็ต้องเชื่อมั่นตัวเองพอสมควร ขณะที่คัลเจอร์บางอย่างต้องลืมๆ มันไปบ้าง อย่าง กลัวความล้มเหลว กลัวขายหน้า กลัวไม่ชนะ” เขาบอก
เช่นเดียวกับความคิด “เจ้าของคนเดียว” ถือหุ้น 100% หรือธุรกิจต้องเป็นของคนในครอบครัวเท่านั้น ความคิดเหล่านี้พวกเขาบอกว่า ลืมไปได้ในโลกของ Startup เพราะนั่นไม่จำเป็นอีกต่อไป ดูตัวอย่างบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ที่ผู้ถือหุ้นก็คือคนทั่วไป ขณะที่เจ้าของอาจมีหุ้นแค่ไม่กี่ % เท่านั้น
“แต่ถือหุ้น 1% ของ Google ก็คงใหญ่กว่า 100% ของบริษัทเอสเอ็มอีจริงไหม” ณัฐวุฒิ เคยให้สัมภาษณ์ไว้อย่างนั้น
รู้ซึ้งถึงหัวอก Startup ก็มาดูกันต่อว่า แล้ว “คาแรคเตอร์” แบบไหน ที่จะส่ง Startup ขึ้นทำเนียบ “บิลเลียนแนร์”
กระทิง บอกเราว่า มีแค่ 3 ข้อ 1.ตลาด ต้องเป็น “Big Ass Market” นั่นคือ มีตลาดที่ใหญ่มาก
2. โปรดักส์ ต้องเป็น “Kick Ass Product” คือ โปรดักส์เทพๆ ที่คนอยากได้ พร้อมจ่ายเงิน และบอกต่อ
ปิดท้ายกับ 3. ผู้ร่วมก่อตั้ง ต้องเป็น “Bad Ass Team” คือ ทีมที่เจ๋ง และมีแพสชั่นสุดๆ
ลองดูตัวอย่าง “d.light” บริษัทผลิตโคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อแก้ปัญหาคนด้อยโอกาสที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ ไอเดียที่เกิดจาก “Passion” ในการอยากแก้ปัญหาของผู้ก่อตั้ง Sam Goldman ที่นำมาสู่อุปกรณ์ซึ่งให้ความสว่างกว่าเทียนไขเป็น 10 เท่า ขณะที่ต้นทุนก็ถูกกว่าเทียนไข ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชีวิตคนได้แล้วถึง 39 ล้านคน ที่สำคัญเป็นบริษัทที่ทำกำไร และสามารถระดมทุนจาก VC ได้กว่าพันล้านบาท! เป็นตัวอย่างของ Bad Ass Team ที่เริ่มจากทีมซึ่งมีแพสชั่นอยากแก้ปัญหาเอามากๆ
“Bonobos” ธุรกิจกางเกงสำหรับผู้ชาย ของ “Andy Dunn” และ “Brian Spady” ที่เกิดจากไอเดียแค่อยากมีกางเกงที่เหมาะกับหุ่นของผู้ชายใส่ เลยกลายเป็น Bonobos ธุรกิจที่ขายแค่ช่องทางออนไลน์ แต่สามารถระดมทุนได้ถึง 5,400 ล้านบาท และกำลังจะเข้าตลาดหลักทรัพย์
ขณะที่ผู้ร่วมก่อตั้ง “Brian Spady” ออกมาเปิดอีกบริษัท สนองใจผู้ชายที่เกลียดการชอปปิง โดยทำเว็บไซต์ให้ผู้ชายไปแชตกับสไตลิสต์ส่วนตัว เพื่อจัดส่งเสื้อผ้ามาให้เสริมหล่อกันถึงบ้าน ธุรกิจที่ใครว่า “เพี้ยน” แต่ปัจจุบัน สามารถขายให้ Nordstrom มูลค่าถึง 350 ล้านเหรียญ หรือ กว่าหมื่นล้านบาท !
“Rentherunway” (เรนเดอะรันเวย์) Startup ที่ก่อตั้งโดย “Jennifer Hyman” และ “Jenny Fleiss” สองสาวจาก Harvard Business School ที่ทำเว็บไซต์ให้เช่าเสื้อผ้าดีไซเนอร์แบรนด์ เพื่อสนองใจผู้หญิงทุกคนที่ต่างอยากเป็นเจ้าหญิงในวันพิเศษ ทำธุรกิจแฟชั่น ไม่ใช่ Tech Startup แต่สามารถระดมทุนได้ถึง 30 ล้านเหรียญ (ประมาณ 1 พันล้านบาท) ขณะคนทำไม่เคยเขียนเว็บไซต์ แต่เว็บของพวกเธอเป็นหนึ่งในเว็บไซต์ที่ดีที่สุดในปี 2010 ขณะทั้งสองคนกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลที่อายุต่ำกว่า 30 ปี ไปแล้วเรียบร้อย!
ปิดท้ายกับ “ipsy” เครื่องสำอางระบบสมาชิก ที่เรียกเก็บค่ารายเดือนประมาณ 300 บาท แลกกับเครื่องสำอางที่จัดส่งมาให้ถึงบ้านทุกๆ เดือน ภายใน 3 ปี ทำรายได้แตะที่ 2,500 ล้านบาท และระดมทุนได้อีกเกือบพันล้านบาท
“จะเห็นเลยว่าไม่จำเป็นต้องเป็น Tech เท่านั้น แต่จะธุรกิจอะไรก็ได้ ขอแค่ใส่ไอเดียที่มันเครซี่ๆ หน่อย เอาเทคโนโลยีเข้าไปทำให้โตเร็วๆ แล้วก็ระดมทุน ยอมเสียหุ้นนิดหน่อย เพื่อเติบโตเป็นสิบเท่า นี่คือโลกของ Startup” เขาบอก
แล้วคนแบบไหน ที่จะมี “คุณสมบัติ” เป็น “สัตว์เทพ” กระทิงยกสูตรสำเร็จที่เรียก “1 ส่วน 2 Y ยกกำลัง 2” ถอด รหัสออกมาได้ว่า Startup ต้องเป็นคนที่ทำตัวเหมือน “น้ำครึ่งแก้ว” หรือแทบจะไม่มีน้ำในแก้วเลยด้วยซ้ำ คือ พร้อมที่จะเรียนรู้และเปิดรับกับทุกอย่าง สอง ต้องเป็นคนที่มีความรู้ รู้ลึกในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่รู้กว้างในหลายๆ เรื่อง ต้องมีความรู้และทักษะเหมือนตัว Y และ ตั้งคำถาม (Why?) เพื่อนำมาสู่โอกาสใหม่ๆ
เช่น ทำไมเรียกแท็กซี่แล้วไม่ไป เลยเกิดเป็น GRABTAXI ทำไมถึงไม่มีกางเกงสำหรับผู้ชายที่ใส่พอดี เกิดเป็น BONOBOS ทำไมผู้หญิงทุกคนจะเป็นเจ้าหญิงในวันพิเศษไม่ได้ โดยที่ไม่ต้องจ่ายแพงๆ ก็เกิดเป็น Rentherunway เป็นต้น
นอกจากนี้ เหล่าสัตว์เทพ ต้องมีสปิริต แบบ Startup นั่นคือ ทำตัวเหมือน “ตุ๊กตาล้มลุก” ที่ล้มกี่ครั้งก็ลุกขึ้นมาได้ทุกครั้ง และลุกเร็วกว่าตอนล้มด้วยซ้ำ ขณะต้องมองปัญหาเหมือนเด็กลองขี่จักรยาน ล้มไป ก็ลุกขึ้นมาลองปั่นใหม่ได้
“มีการทำวิจัยพบว่า ยูนิคอร์น ที่มีมูลค่า 1 พันล้านเหรียญขึ้นไป 3 ใน 4 เป็นผู้ก่อตั้งที่เพิ่งเปิดบริษัทครั้งแรก นั่นหมายความ ไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์มาก่อนเลย และการไม่มีประสบการณ์อาจจะดีกว่าด้วยซ้ำ เพราะทำให้สามารถใส่มุมมองใหม่ๆ เข้าไปโดยไม่ยึดติดกับกรอบเดิมๆ และพร้อมเปิดรับกับทุกอย่าง” เขาบอก
ประสบการณ์ไม่สำคัญ และโลกของ Startup ก็ไม่มีคำว่า “Red Ocean” เขายกตัวอย่าง ธุรกิจ “Chat App” แอพพลิเคชั่นสำหรับการสื่อสารพูดคุยกัน ที่มีคนทำแอพสำหรับแชตออกมาเป็นร้อยเป็นพันตัว ใครเห็นก็ว่า “ทะเลเลือด” ชัดๆ แต่วันหนึ่ง “Snapchat” ก็เข้ามาปฏิวัติทุกอย่าง ด้วยการทำแอพเม้าท์มอยที่ข้อความหายไปได้ มีมูลค่าบริษัทเป็นแสนล้านบาท! ขณะที่ “Whatapp” ที่มีพนักงานแค่ 20 คน ก็มีมูลค่าบริษัทถึงเกือบสองหมื่นล้านเหรียญเข้าไปแล้ว
“โลกของ Startup ไม่จำเป็นต้องมองหา Blue Ocean เสมอไป แต่ตลาด Red Ocean นี่แหละ มีโอกาสมหาศาล เพียงแต่ต้องเปลี่ยนประสบการณ์ผู้บริโภค จากหน้ามือเป็นหลังมือ” เขาบอก
ประเทศไทยอาจยังไม่เห็นยูนิคอร์น แต่เร็วๆ นี้ เราจะมี “เซนทอร์” เกิดขึ้นแล้ว นั่นคือ บริษัท Startup ที่มีมูลค่า 3 พันล้านบาท !
หนึ่งในนั้นหนีไม่พ้น “อุ๊คบี” ธุรกิจอีบุ๊คสัญชาติไทย ของ “หมู-ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์” ที่ทำตลาดทั้งในไทยและอาเซียน ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าดาวน์โหลดไปใช้งานแล้วกว่า 6 ล้านราย และมีแฟนคลับที่ใช้งานประจำอยู่สูงถึง 2 ล้านราย
ซีอีโอ อุ๊คบี ย้ำว่า เซนทอร์ หรือ ยูนิคอร์น ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ ทุกคนล้วนต้องผ่านการล้มและบาดเจ็บไปไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ผ่านความยากลำบากกันมาทั้งนั้น ไม่อย่างนั้นโลกเราก็คงมีสัตว์เทพเต็มไปหมด ต้องอาศัยทั้งความสามารถ เก่ง และเฮง คือต้องมีโชคด้วย
สำหรับทางลัดของ Startup ไทย ที่ตลาดเพิ่งเกิดมาได้แค่ประมาณ 3 ปี มีตัวอย่างที่สำเร็จไม่มากนัก เขาบอกว่า อาจใช้การ “โคลนนิ่ง” Startup ที่ประสบความสำเร็จของโลก แล้วมาทำในบ้านเรา ก็ได้
“ยูนิคอร์น หลายเจ้าที่เราเห็นอยู่ ล้วนเกิดจากการโคลนเวอร์ชั่นที่เหมือนกันของอเมริกามาทั้งนั้น อย่าง GRABTAXI ก็จาก UBER หรือ ลาซาด้า ก็จากอีเบย์ อเมซอน มองว่า อเมริกา หรือญี่ปุ่น เขามีทุนเยอะกว่าเรา มีตัวอย่าง Startup จำนวนมาก ฉะนั้นถ้ามีโอกาส แทนที่จะใช้เวลาในการสร้าง Business Model ขึ้นมา 3-4 ปี เราลองไปดู Startup ที่มีตลาดสูงกว่าหนึ่งพันล้าน แล้วดูว่าจะโคลนมาทำที่เมืองไทยได้หรือไม่ ดีกว่าไหม”
ก็เมื่อวันนี้คือ “นาทีทอง” เป็นช่วงน้ำขึ้นให้รีบตัก ของเหล่า Startup ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่กำลังร้อนแรงสุดๆ ชนิดที่หยิบจับอะไรขึ้นมาทำก็ได้ เมื่อแหล่งทุนของโลกต่างโยกมาในภูมิภาคนี้ และบ้านเราก็คือหนึ่งเป้าหมายของนักลงทุน
ประเมินจากปีที่ผ่านมา Startup ไทย มีการระดมทุน (Fund Raising) ได้รวมกว่า 25 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 750 ล้านบาท
ทว่าปีนี้ผ่านมาแค่ “ครึ่งปี” มีการระดมทุนไปแล้วกว่า 25 ล้านเหรียญ! เรียกว่า โตขึ้นสองเท่าทุกปี ขณะที่จำนวนผู้เล่นในสนามที่ประมาณการกันว่าทั้งระบบน่าจะมีอยู่ที่กว่า 500 ราย
แม้วันนี้ยังเป็นได้แค่ “ม้าแกลบ” แต่ถ้าวันหนึ่งแข็งแกร่งพอ Startup ไทย ก็อาจขยับมาเป็นครึ่งคนครึ่งม้าแบบ “เซนทอร์” หรือเป็นม้าเทพที่สง่างามอย่าง “ยูนิคอร์น” ขึ้นทำเนียบ “บิลเลียนแนร์” กับเขาได้
.................................................................
จับเทรนด์ธุรกิจ Startup
1.Sharing Economy การแบ่งปันหรือแลกเปลี่ยนข้าวของเครื่องใช้ที่มี ที่เหลืออยู่หรือยังใช้ไม่เต็มที่ เช่น รถยนต์ ห้องพัก ที่ทำงาน ของใช้ในบ้าน ชุดรับแขก หนังสือเรียน ทักษะความรู้ ฯลฯ มาแชร์กันบนโลกอินเตอร์เน็ต ไอเดียธุรกิจรูปแบบใหม่ที่ใช้อินเตอร์เน็ตเป็นเครื่องมือ ขณะที่ผู้บริโภคก็กลายมาเป็นผู้จัดการได้อย่างเยี่ยมยุทธ์ อย่าง ธุรกิจแชร์ที่พัก Airbnb (Airbnb.com) คอนเซ็ปต์คือ ให้คนทั่วโลกที่มีห้องว่าง มีบ้านปล่อยทิ้ง ได้มาเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าพัก นักท่องเที่ยวได้ห้องพักถูกและดี เจ้าของห้องพัก ก็ได้ค่าเช่า ขณะ Airbnb ก็มีรายได้จากค่าธรรมเนียมที่เก็บจากผู้เข้าพัก
ปัจจุบันมีรายได้หลักแสนล้านบาท
UBER บริการรถแท็กซี่ ที่เปิดให้คนที่มีรถอยู่แล้วมาขับรถหารายได้ ผ่านระบบของอูเบอร์ โดยการใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่แล้ว มาเชื่อมประสานออกมาเป็นบริการ ช่วยลดคอสต์ เพิ่มความมั่นใจให้ผู้ใช้ ในประเทศไทยอูเบอร์เริ่มจากขนส่งคน แต่ในต่างประเทศ พวกเขาพัฒนาไปสู่การส่งของ ส่งสินค้า ส่งเอกสาร ผ่านคนขับรถที่กระจายไปทั่วเมือง ขยับสู่บริษัทโลจิสติกส์ ไม่ใช่แค่แท็กซี่ ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าธุรกิจไปสู่ระดับกว่า 1.5 ล้านล้านบาท! เข้าไปแล้ว
2. On Demand ธุรกิจจัดให้ตามคำขอ บริการตามความต้องการ สนองผู้คนยุค “เมื่อไรที่ฉันต้องการ ฉันต้องได้เดี๋ยวนั้น!” ยกตัวอย่าง บริการเรียกแท็กซี่ สั่งอาหาร เรียกใช้แม่บ้านมาทำความสะอาด เสริมสวย ทำเล็บ แต่งหน้า บริการที่ปรึกษา ฯลฯ สารพัดความต้องการ ที่เรียกใช้ได้ เพียงแค่กดแอพ โดยธุรกิจต่อไปในอนาคต จะเหมือน “กดปุ่มสั่ง” สนองคนอยากได้อะไรก็จะได้ “บัดเดี๋ยวนั้น”
3. Financial Technology (Fintech) ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่มาก และหอมหวานสุดๆ ในตอนนี้ โดยหลักการคือ ธุรกิจการเงินซึ่งทุกวันนี้มีผลิตภัณฑ์มากมายเต็มไปหมด ต่อไปจะมีแอพพลิเคชั่นที่เข้ามา “ปฏิวัติ” การทำธุรกรรมการเงินรูปแบบเดิมๆ ไปจนสิ้น โดยใช้ เทคโนโลยีเข้ามาสนอง เช่น การโอนเงินให้กันผ่านแอพพลิเคชั่นโดยที่ไม่ต้องผ่านตัวกลางอย่างธนาคารอีก ต่อไป หรือ การลงทุนผ่านธุรกิจขนาดเล็กได้โดยตรง โดยที่ไม่ต้องผ่านแบงก์ เหล่านี้เป็นต้น
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน