เป็นเรื่อง! คตง.เผยข้อมูล “ราชภักดิ์” ใช้งบกลาง 63.57 ล้านบาท ไม่ใช่แค่เงินบริจาค สั่งจ่ายโดยสำนักงานปลัดบัญชีกองทัพบก
จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
MGR Online - ประธาน คตง. เผย กับไทยพับลิก้า ชี้ จากการตรวจสอบของ สตง. พบ เงินที่ใช้ก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ไม่ได้มาจากเงินบริจาคทั้งหมด แต่มีบางส่วนประมาณ 63.57 ล้านบาท เบิกจ่ายจากงบกลาง โดยผู้ที่รับผิดชอบ คือ แผนกสั่งจ่ายงบประมาณ สำนักงานปลัดบัญชีกองทัพบก สั่งจ่ายให้กรมยุทธโยธาทหารบก ขัดแย้งกับคำให้สัมภาษณ์ของ รมว.กลาโหม - ผบ.ทบ. ก่อนหน้านี้
วันนี้ (26 พ.ย.) เว็บไซต์ไทยพับบลิก้า เผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับโครงการอุทยานราชภักดิ์ ซึ่งกำลังตกเป็นข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชัน โดยหัวข้อข่าวระบุว่า “อุทยานราชภักดิ์” ยังไม่จบ สตง. พบสำนักงานปลัดบัญชีกองทัพบก เบิก “งบกลาง” 63 ล้าน ค้านคำพูด ผบ.ทบ. “ไม่ได้ใช้เงินแผ่นดิน” โดยระบุว่า นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) เปิดเผยข้อมูลซึ่งขัดแย้งกับคำให้สัมภาษณ์ของผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกอง ทัพที่ระบุว่า โครงการอุทยานราชภักดิ์นั้นใช้เงินบริจาคทั้งสิ้น
โครงการนี้ไม่ได้มีงบประมาณรองรับ เป็นเงินบริจาคทั้งสิ้น ถ้าเงินไม่พอ ก็ต้องหาวิธีดำเนินงานต่อเพื่อให้โครงการสำเร็จลุล่วง ตรงตามวัตถุประสงค์ - พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 20 พ.ย. ที่ผ่านมา (อ่านต่อ : ผบ.ทบ. แถลงสอบอุทยานราชภักดิ์โปร่งใส หักหัวคิวโบ้ยถาม “บิ๊กโด่ง”)
“จะออกมาเรียกร้องอะไรอีก รัฐบาลไม่เกี่ยวข้อง ขอให้รอผลการสอบสวนจากคณะกรรมการของกองทัพบก หากผลออกมาเมื่อใดทางกองทัพบกก็จะชี้แจงเอง ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล ขอให้เข้าใจด้วย เคยเป็นรัฐบาลมาเหมือนกัน แต่ไม่รู้เรื่อง ทั้งนี้ การจัดสร้างดังกล่าว ไม่ได้ใช้งบประมาณของรัฐบาล แต่เป็นงบประมาณจากการบริจาค ซึ่งต้องชี้แจงให้ประชาชนที่บริจาคเงินได้เข้าใจว่านำเงินไปทำอะไรบ้าง มาเรียกร้องให้รัฐบาลตั้งโต๊ะแถลงนั้นผมไม่เข้าใจ” - พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2558 (อ่านต่อ : “บิ๊กป้อม” ยัวะ! ยันสร้างอุทยานราชภักดิ์ไม่ได้ใช้งบรัฐ เรื่องของ ทบ. งง พท.บี้แจง)
ทั้งนี้ รายงานข่าวดังกล่าวของเว็บไซต์ไทยพับลิก้ามีรายละเอียดดังนี้
หลังจากที่ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2558 พล.อ.ธีรชัย ระบุว่า “โครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ไม่ใช่โครงการที่มีงบประมาณรองรับ เป็นเงินบริจาคทั้งสิ้น ถ้าเงินไม่พอ ก็ต้องหาวิธีการดำเนินการต่อให้โครงการนี้สำเร็จลุล่วง”
ปรากฏว่า ล่าสุด นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในเบื้องต้น พบว่า เงินที่ใช้ในการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ มีส่วนหนึ่งมาจากงบกลางจำนวน 63.57 ล้านบาท โดยผู้ที่รับผิดชอบในการสั่งจ่ายเงินในส่วนนี้ คือ แผนกสั่งจ่ายงบประมาณ สำนักงานปลัดบัญชีกองทัพบก สั่งจ่ายให้กรมยุทธโยธาทหารบก เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ล่าสุดมีการเบิกจ่ายเงินจากงบกลางไปแล้ว 80% ของวงเงินที่ได้รับจัดสรร 63.57 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นเงินที่รับบริจาคมาจากประชาชนทั่วไป ซึ่งตนได้กำชับเจ้าหน้าที่ สตง. ให้ขยายผลการตรวจสอบต่อไปว่าการจัดซื้อจัดจ้างและการเบิกจ่ายเงินเพื่อใช้ใน โครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์นั้น ชอบด้วยกฎหมาย และ เป็นไปตามระเบียบของทางราชการหรือไม่
อนึ่ง ในรายงานโครงการศึกษาวิจัย “การปฏิรูประบบงบประมาณของไทยเพื่อต่อต้านการทุจริต” ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ให้นิยามของคำว่า “งบกลาง” คือ “รายจ่ายที่ตั้งไว้ เพื่อจัดสรรให้ส่วนราชการและหน่วยงานอื่นๆของรัฐนำไปใช้ได้นอกเหนือจากงบ ประมาณที่ได้รับปกติ รวมทั้งรายจ่ายที่ตั้งไว้เป็นค่าใช้จ่ายเฉพาะเรื่องที่มีการกำหนดไว้เป็นราย จ่ายงบกลาง” ซึ่งสามารถจำแนกได้ 3 ประเภท ดังนี้
1. ค่าใช้จ่ายตามสิทธิของบุคคลภาครัฐตามกฎหมายที่ทุกหน่วยงานใช้จ่ายในรายการ เดียวกัน เช่น เบี้ยหวัด เบี้ยบำนาญ เงินช่วยเหลือข้าราชการ รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ
2. ค่าใช้จ่ายเฉพาะกรณีที่ยังไม่สามารถกำหนดเป้าหมาย หรือ วงเงินค่าใช้จ่ายที่แน่นอนได้ เช่น ค่าใช้จ่ายอันเนื่องมาจากโครงการพระราชดำริ เป็นต้น
3. ค่าใช้จ่ายตามนโยบายและโครงการพิเศษของรัฐ เช่น เงินราชการลับ ค่าใช้จ่ายเฉพาะเรื่องตามนโยบายและความเหมาะสมที่เกิดขึ้นในแต่ละปีงบประมาณ
แหล่งข่าวจากสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า ก่อนที่สำนักงบประมาณจะพิจารณาคำขออนุมัติใช้งบกลาง เนื่องจากส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ไม่ได้ตั้งงบประมาณเอาไว้ หรือตั้งงบประมาณไว้แล้ว แต่ไม่พอจ่าย ตามหลักการ สำนักงบประมาณจะให้ส่วนราชการ หรือ รัฐวิสาหกิจ กลับไปทบทวนแผนงานของส่วนราชการนั้นๆก่อน โดยให้พิจารณา “ยกเลิก” หรือ “ตัดทอน” โครงการลงทุนอื่น ๆ ที่อยู่ในแผนงานของส่วนราชการนั้น ๆ ทั้งนี้ เพื่อที่จะโยกงบประมาณในส่วนนี้มาใช้จ่ายในโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน แต่ถ้าส่วนราชการกลับไปพิจารณาแล้ว ปรากฏว่าไม่สามารถตัดทอน หรือยกเลิก รายการอื่นใดได้เลย สำนักงบประมาณถึงจะพิจารณาคำขออนุมติใช้งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็น
สำหรับแนวทางปฏิบัติ กรณีส่วนราชการ หรือ รัฐวิสาหกิจมีความประสงค์ ขออนุมัติ ใช้งบกลาง ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 16 กันยายน 2557 ระบุว่า “การอนุมัติใช้เงินงบกลาง รายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ให้ส่วนราชการ รัฐวิสากิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ เสนอเรื่องต่อรัฐมนตรีเจ้าสังกัด เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว จึงเสนอนายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรี พิจารณาอนุมัติหลักการ หรือให้ความเห็นชอบเป็นรายกรณีไป กรณีที่มีวงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท ให้นำเสนอนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาอนุมัติ หากวงเงินเกิน 100 ล้านบาท ให้เสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาอนุมัติ” (ที่มา : www.thaipublica.org)
ส่งเอกสารเงินบริจาคกองทุนสวัสดิการกองทัพบกให้สตง.
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
"เรืองไกร" ส่งเอกสารเงินบริจาคในบัญชีกองทุนสวัสดิการกองทัพบกให้สตง.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ได้ส่งเอกสารเกี่ยวกับงบประมาณของทางราชการที่ใช้ในโครงการอุทยานราชภักดิ์ รวมกับเงินบริจาคในบัญชีกองทุนสวัสดิการกองทัพบก ไปยังผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน โดยเอกสารประกอบด้วย 1.สำเนาเอกสารตารางแสดงวงเงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรและราคากลางในงาน จ้างก่อสร้าง ชื่อโครงการ แผนงานเพิ่มเติมระหว่างปีงบประมาณ 2558 (งานสร้างป้ายทางเข้าและสร้างอาคารรักษาความปลอดภัย ของอุทยานราชภักดิ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รวม 2 แผนงาน) โดยมี กรมส่งกำลังบำรุงทหารบก เป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการ มีวงเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรร 7,286,000 บาท (แผนงานที่ 1=5,031,700 บาท แผนงานที่ 2=2,254,300 บาท)
2.สำเนาเอกสารตารางแสดงวงเงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรและราคากลางใน งานจ้างก่อสร้าง ชื่อโครงการ เงินงบประมาณประจำปี 2559 งานสร้างรั้ว รอบบริเวณภายในอุทยานราชภักดิ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์) (แผน 8) โดยมี กรมส่งกำลังบำรุงทหารบก เป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการ มีวงเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรร 9,383,500 บาท ลักษณะงานโดยสังเขป สร้างรั้วรอบบริเวณภายในอุทยานราชภักดิ์ ความยาวประมาณ 2,034.00 ม. 3.สำเนาภาพถ่ายป้ายอุทยานราชภักดิ์
จากการตรวจสอบในเว็บไซต์ทั่วไป 4.สำเนาภาพถ่ายรั้วอุทยานราชภักดิ์ จากข้อความในข่าวประชาสัมพันธ์ของสำนักปลัดกระทรวงพลังาน ที่ พน 15/10/58 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการกองทุนฯ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 58 ว่าจะมีการสร้างต้นแบบในการติดตั้งระบบผลิต ไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ในหน่วยงานต่างๆ เช่น อุทยานราชภักดิ์รวมอยู่ด้วย และ5.สำเนาข่าวประชาสัมพันธ์ของสำนักปลัดกระทรวงพลังาน ที่ พน 15/10/58 ซึ่งจากข้อมูลการใช้งบประมาณของส่วนราชการดังกล่าวข้างต้น มีประเด็นต้องแจ้งมายังสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเพื่อทำการตรวจสอบโครงการ อุทยานราชภักดิ์ว่า มีทรัพย์สินส่วนใดที่ได้มาจากการใช้เงินกองทุนสวัสดิการกองทัพบก ซึ่งมีการแจ้งว่าได้มาจากการรับบริจาคประมาณ 1,000 ล้านบาท และมีทรัพย์สินส่วนใดที่ได้มาจากการใช้เงินงบประมาณตามข้อมูลในเอกสารที่ กล่าวมาข้างต้น
ทั้งนี้ เพื่อให้การตรวจสอบได้ทราบถึงรายการทั้งหมดที่ปรากฏอยู่ในโครงการอุทยานราช ภักดิ์ และเพื่อนำไปสู่การตรวจสอบเกี่ยวกับการรับ-จ่ายเงิน มีการใช้เงินที่มาจากการรับบริจาคเป็นไปโดยถูกต้องตามระเบียบและกฎหมายที่ เกี่ยวข้องหรือไม่ และมีการใช้เงินงบประมาณแผ่นดินในการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ทั้งโดยทางตรง และทางอ้อมที่รายการใดบ้าง และมีการปฏิบัติให้เป็นไปตามตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องครบถ้วนหรือไม่
ตั้งทีมสอบเพิ่ม ‘ราชภักดิ์’ ยื้อเวลา-ลดกระแส
โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์
ดูท่าจะยังไม่จบง่ายๆ สำหรับปัญหาความไม่โปร่งใสของการก่อสร้าง โครงการอุทยานราชภักดิ์ เพราะภายหลังกองทัพบกแถลงผลการสอบสวนว่าไม่มีอะไรในกอไผ่ แม้ว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสบแห่งชาติ (คสช.) จะพยายามให้สังคมยุติการวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องนี้ แต่ปรากฏว่ากลับเกิดกระแสต่อต้านในเชิงตั้งคำถามว่า ไม่มีอะไรในกอไผ่อย่างที่กองทัพบกกล่าวมาจริงหรือไม่
มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) เป็นคนแรกๆ ที่ตั้งข้อสังเกตว่า แม้ผลการตรวจสอบจะออกมาว่าไม่มีการทุจริตเกิดขึ้น แต่ก็ไม่ควรที่จะปิดเรื่องราวดังกล่าวให้จบในลักษณะที่ทำอยู่เช่นนี้ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นยังเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจ เพราะยังไม่ได้ข้อสรุปที่ทำให้เข้าใจสถานการณ์ทั้งหมดได้อย่างชัดเจน
“เป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจ ติดตามข่าวสาร และเป็นกระแสข่าวที่ถูกพูดถึงกันเป็นอย่างมาก ส่งผลให้เกิดความระแวงสงสัย ในขณะที่บุคคลซึ่งอาจจะเป็นผู้ที่มีข้อมูลเกี่ยวกับการทุจริต ก็อาจจะไม่กล้าเปิดเผยแสดงข้อมูลต่อเจ้าหน้าที่ ทำให้การดำเนินงานในการตรวจสอบเป็นปัญหา เมื่อไม่มีการเปิดเผยข้อมูลและไม่สามารถที่จะตรวจสอบได้นั้น ประชาชนก็จะไม่เห็นถึงความโปร่งใส” มานะ กล่าว
ส่วนฝ่ายการเมืองอย่างพรรคเพื่อไทย ก็ใช้โอกาสนี้ขยายผลเรียกร้องในเชิงจี้ใจดำให้ คสช.เอาคนผิดมาลงโทษให้ได้ เพื่อสร้างบรรทัดฐานที่ถูกต้อง
“โครงการอุทยานราชภักดิ์มีความสำคัญยิ่งต่อความรู้สึกของประชาชนทั้งประเทศ เป็นโครงการที่เห็นชอบอนุมัติโดยคณะรัฐมนตรี เมื่อมีการทุจริตเกิดขึ้นและเกี่ยวพันถึงบุคลากรในกองทัพ ขอเรียกร้องนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างเปิดเผย โปร่งใส และประกาศให้สาธารณชนทราบต่อไป” สาระสำคัญของแถลงการณ์พรรคเพื่อไทยที่ออกมากระทุ้งเมื่อวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา
เมื่อกระแสวิพากษ์วิจารณ์ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ทำให้กองทัพต้องขยับอีกครั้ง ผ่านการที่กระทรวงกลาโหมตั้งคณะกรรมการตรวจสอบโครงการอุทยานราชภักดิ์ขึ้นมาอีกชุด จากก่อนหน้านี้ที่ดำเนินการโดยกองทัพบก
พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ให้เหตุผลถึงความจำเป็นต้องการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบอีกชุด ว่า “จากการสอบสวนของกองทัพบกในภาพรวมที่ไม่พบความผิดปกติ ซึ่งอาจสร้างความเข้าใจที่หลากหลาย รมว.กลาโหมจึงได้สั่งการให้ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหม ไปตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้นมาเพื่อตรวจสอบเพิ่มเติมอีกครั้ง ดังนั้น ขอให้ดูผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน อย่าเพิ่งพาดพิงหรือกล่าวหาบุคคลใด”
การดำเนินการในลักษณะนี้ ของกองทัพปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นวิธีแก้ไขปัญหาทางการเมืองแบบเดียวกับที่นักการเมืองมักจะใช้ในช่วงที่เผชิญกับเสียงติฉินนินทา ดังจะเห็นได้จากเมื่อครั้งรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรถูกกล่าวหาเรื่องการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว
ช่วงนั้นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบตัวเองเช่นกัน แต่ผลการตรวจสอบกลับไม่ได้รับการยอมรับ เพราะไม่สามารถเอาตัวการที่เป็นต้นทางของการทุจริตมาดำเนินการตามกฎหมายได้
ผลที่ตามมา คือ ไม่ช่วยให้เสียงวิจารณ์ลดลง ตรงกันข้ามกลับยิ่งเป็นผลร้ายในทางการเมืองเข้าไปอีก เพราะถูกโจมตีว่า “ลูบหน้าปะจมูก” ไม่ได้เอาจริงเอาจังกับการปราบปรามการทุจริตตามที่ได้แถลงต่อรัฐสภาว่า การปราบทุจริตเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล
แน่นอนว่าการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเพิ่มเติมของกระทรวงกลาโหมไม่ได้มีเหตุผลอะไรมาก นอกจากต้องการลดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ เพราะต้องไม่ลืมว่าเรื่องการทุจริตเป็นประเด็นที่อ่อนไหวในทางการเมืองอย่างมาก
ในอดีตเคยมีตัวอย่างมาให้เห็นแล้ว ที่มีนายกรัฐมนตรีเคยเป็นที่รักของประชาชนได้รับคะแนนเลือกตั้งถล่มทลาย แต่เมื่อไปเกี่ยวข้องกับการทุจริต ไม่นานนักก็ไม่สามารถอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้
ถึงแม้เรื่องโครงการอุทยานราชภักดิ์จะไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลและ พล.อ.ประยุทธ์ โดยตรง แต่เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ คือผู้นำประเทศและคุมอำนาจสูงสุดในเวลานี้ ย่อมไม่อาจหลีกหนีความรับผิดชอบไปได้
ยิ่งเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ มักจะแสดงท่าทีต่อการสร้างความโปร่งใสด้วยการพยายามจะสร้างมาตรฐานที่สูง ประกอบกับได้ตั้งคณะกรรมการเกี่ยวกับตรวจสอบการทุจริตมาหลายชุดก่อนหน้านี้ด้วยแล้ว ยิ่งส่งผลให้เป็นแรงบีบให้ พล.อ.ประยุทธ์ หนักมากขึ้นไปอีก
หากปล่อยให้กระแสวิจารณ์อยู่นานๆ ย่อมไม่เป็นผลดีในระยะยาว แทนที่สังคมจะโฟกัสกับการทำงานของรัฐบาลในด้านอื่นๆ กลับต้องมาถูกจับจ้องในเรื่องโครงการอุทยานราชภักดิ์โดยไม่มีความจำเป็น
ดังนั้น ทางออกที่ดีที่สุดในเวลานี้ที่กองทัพและรัฐบาลจะดำเนินการได้ จึงหนีไม่พ้นการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบตัวเอง ส่วนในอนาคตเมื่อผลการตรวจสอบออกมาแล้วจะได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายหรือไม่ เป็นสิ่งที่ต้องไปสู้เอาข้างหน้า
เหนือสิ่งอื่นใดการปฏิรูปประเทศในวันข้างหน้าภายใต้การนำของ คสช. ถูกแขวนไว้อยู่ที่การบริหารความเสี่ยงในเรื่องโครงการอุทยานราชภักดิ์
ถ้า คสช.แสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสอย่างมีเหตุผลและหลักฐานที่ชัดเจน ไม่ใช่แค่การกล่าวอ้างด้วยคำพูดเพียงอย่างเดียว หรือถ้าเอาตัวคนผิดมาเข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีได้ ย่อมช่วยให้แนวทางการปฏิรูปของประเทศที่ คสช.วางไว้จะได้รับการยอมรับ
เท่ากับว่าอนาคตของ คสช.ได้แขวนไว้กับการสร้างความโปร่งใสในครั้งนี้
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน