สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ซูเปอร์สตาร์ CEO

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ คิด วิเคราะห์ แยกแยะ โดย ชาย มโนภาส (คนขายของ)

เมื่อราวยี่สิบกว่าปีก่อนผมจำได้ว่านิตยสาร Newsweek ของอเมริกา ลงเรื่องของประเทศไทยบนหน้าปกว่าจะเป็น "เสือตัวที่ห้า" ของเอเชีย แต่หลังจากนั้นไม่นานประเทศไทยของเราต้องเผชิญวิกฤต "ต้มยำกุ้ง" และเรื่องเสือตัวที่ห้าก็เริ่มหายไปจากความทรงจำ

อีกวาระหนึ่ง ในปี 2007 นิตยสาร The Economist ลงเรื่องประเทศเวียดนามบนหน้าปก เกี่ยวกับเศรษฐกิจที่กำลังจะรุ่งโรจน์ของเวียดนาม แต่ต่อมาไม่นาน เวียดนามกลับประสบวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศ ค่าเงินด่องอ่อนค่า หนี้เสียเพิ่มขึ้น พร้อมกับการชะลอตัวอย่างรุนแรงของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ประสบการณ์เหล่านี้เป็นครูสอนผมอย่างดีให้ระวังเรื่องที่นิตยสารทางการเงิน และเศรษฐกิจนำมาขึ้นปกว่าต้องเผื่อใจไว้บ้างสำหรับการพลิกผัน

ทุกๆปีนิตยสารทางธุรกิจและการเงินของสหรัฐจะมีการนำเสนอผู้ที่ได้รับรางวัลประเภท"CEOที่ดีที่สุด ของปี" หรือไม่ก็แนว ๆ "ผู้นำที่ดีที่สุดในโลกธุรกิจ" เป็นธรรมดาว่าหลังจากขึ้นปกนิตยสารชั้นนำเหล่านั้น แล้วชื่อเสียงเงินทองก็จะหลั่งไหลเข้ามาหา CEO เหล่านั้นที่ได้รับรางวัลมากขึ้น เพราะการได้ขึ้นปกนิตยสารชั้นนำเป็นการประกาศถึงความรู้ความสามารถของ CEO เหล่านั้นได้อย่างดียิ่ง

ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่ผลงานของเขาเหล่านั้นเป็นอย่างไรหลังได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ ? เป็นไปได้ไหมว่าส่วนใหญ่หลังจากที่ได้ขึ้นปกแล้ว เรื่องราวกลับกลายเป็นแย่ลงเหมือนเรื่องของไทย และเวียดนามในอดีต ?

เพื่อหาคำตอบในประเด็นนี้ อาจารย์ Ulrike Malmendier ของ UC Berkeley และอาจารย์ Geoffrey Alan Tate ของ UCLA ได้ร่วมกันทำวิจัย CEO ที่เคยได้รับรางวัลจากนิตยสารชั้นนำต่าง ๆ มากกว่า 250 ราย เริ่มตั้งแต่ปี 1975 เพื่อดูว่าผลงานของเขาเหล่านั้นเป็นอย่างไรหลังจากได้รับรางวัล ผลงานวิจัยในหัวข้อ "Superstar CEO" ได้สรุปว่า ผลงานของ CEO ที่ได้รับรางวัลนั้นแย่ลงกว่า ค่าเฉลี่ย ทั้งในแง่ของผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (ROA) และราคาหุ้น ในปีที่หนึ่ง สอง และสาม หลังจากที่ได้รับรางวัล

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ? หลังจากเขาเหล่านั้นได้รับรางวัล การเป็นจุดสนใจของสาธารณชนมากขึ้นทำให้การให้ความสนใจในการบริหารลดลง CEO บางคนได้เริ่มออกหนังสือของตัวเองเพื่อวางจำหน่าย บางคนได้รับเชิญไปเป็นบอร์ดบริหารในบริษัทอื่น ยิ่งได้รางวัลมากก็อาจจะไปเป็นนั่งเป็นบอร์ดหลาย ๆ ที่

ปัญหาอีกอย่างหนึ่งของซูเปอร์สตาร์ CEO คือมั่นใจในตัวเองมากเกินไป เพราะความสำเร็จในอดีตเป็นตัวผลักดัน ในช่วงทศวรรษ 1990 บริษัทเทคโนโลยีที่ร้อนแรงมากที่สุดในยุคนั้นคงหนีไม่พ้นบริษัท AOL ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต จากมูลค่ากิจการเพียง 61.8 ล้านเหรียญในปี 1992 กลายมาเป็น 161,000 ล้านเหรียญในปี 2000 ในเวลาเพียงแปดปี ขึ้นมาราว 2,600 เท่า

ในเดือนมีนาคม 1998 นิตยสาร Fortune ลงรูป Steve Case บนปกพร้อมข้อความว่าบริษัทนี้จะเป็น "Superpower" เจ้าแรกในวงการอินเทอร์เน็ต ในอีกราวสองปีต่อมารูปของ Steve Case ขึ้นปกคู่กับ Bill Gates พร้อมข้อความว่า "ชายทั้งสองผู้พร้อมครองบัลลังก์ (อินเทอร์เน็ต)" ในปี 2000 รูปของ Steve Case ถูกตีพิมพ์ในนิตยสารหลายฉบับเมื่อเขาประกาศซื้อกิจการ Time Warner กลายเป็นบริษัทสื่อครบวงจรที่ใหญ่ที่สุด ก่อนจะกลายเป็นการควบรวมกิจการที่ล้มเหลวครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์

"ความสำเร็จ" เหมือนเป็นดาบสองคม หากบุคคลใดไม่เตรียมตัวเตรียมใจรับให้ดี ความสำเร็จเหล่านั้นอาจจะกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของความล้มเหลวได้ เรื่องนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะกับผู้บริหารองค์กรเท่านั้น แม้เหล่านักลงทุนทั่วไปไม่ว่าจะเป็นสินทรัพย์ประเภทไหนก็ควรระวังด้วยเช่นกัน ผมเคยได้ยินว่ามีนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ บางคนประกาศแบบฟันธงไปเลยว่าราคาน้ำมันจะพุ่งไป 200$ ด้วยความมั่นใจในผลตอบแทนที่ตัวเองทำได้อย่างงดงามในอดีต พร้อมทั้งชื่อเสียงที่ถาโถมเข้ามา อาจทำให้เขารู้สึกว่ามีความสามารถหยั่งรู้อนาคตได้ สิ่งที่เขาคิดต้องถูกเสมอ ผ่านมาถึงตอนนี้ก็เกือบแปดปีแล้วผมยังไม่เคยเห็นน้ำมันที่ 200$ ต่อบาร์เรลเลย ผมก็หวังว่าเขาคงได้บทเรียนที่ดี

จากความคาดเดาที่ผิดพลาดผู้อื่นบ้าง เมื่อนั้นความล้มเหลวของเราก็อาจเป็นจุดเริ่มต้น ของความสำเร็จได้เหมือนกัน


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ซูเปอร์สตาร์ CEO

view