จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : จีราวัฒน์ คงแก้ว
หมดยุค“คุณพ่อผู้รู้ดี”ได้เวลา ปฏิวัติกลไกสนับสนุนStartupของภาครัฐ มาสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสม เอื้อต่อการดำรงอยู่ของธุรกิจเกิดใหม่อย่างแท้จริง
“Startup เป็นกระบวนทัศน์ที่คนละเรื่องกับเอสเอ็มอี เป็นคนอีกเจเนอเรชั่น ที่กล้า ลองผิด ลองถูก ไม่งอมืองอเท้าร้องขอ คนพวกนี้อาจไม่มีเงิน แต่มีไอเดีย กล้า แล้วก็ต้องการการเปลี่ยนแปลง”
คำอธิบายจาก “ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์” รัฐมนตรี ช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และประธานร่วมภาครัฐ คณะทำงานด้านการส่งเสริม SMEs Start-ups & Social Enterprises ภายใต้คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ ผู้สนองนโยบาย “S - Curve” ของรัฐบาล ที่มุ่งอัพเกรดอุตสาหกรรมเดิม และสร้างอุตสาหกรรมใหม่
เมื่อชัดเจนว่า รัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญ Startup และมองเป็น “ความหวัง” หลังยกให้เป็นหนึ่งใน “3S” ที่รัฐมุ่งส่งเสริม คือ Startup, SME และ Social Enterprise (กิจการเพื่อสังคม)
หนึ่งความพยายาม คือการโละกลไกการทำงานแบบเก่า มาอยู่บนโมเดลใหม่ที่ให้เอกชน และภาคประชาสังคม ได้เข้ามาร่วมกันขับเคลื่อน โดยที่รัฐบาลจะเป็นผู้สนับสนุน และช่วยเติมเต็มส่วนที่ขาดให้
“กลไกเดิมของรัฐเป็นประเภท ‘คุณพ่อผู้รู้ดี’ เราไม่ได้สร้างจิตวิญญาณผู้ประกอบการ ไม่ได้เอื้อให้คนที่มี Entrepreneur Spirit ได้เกิด จริงๆ ต้องให้เขารู้จัก ล้มแล้วลุก มากกว่าที่จะอุ้มอยู่ตลอด เราต้องเปลี่ยนตั้งแต่กระบวนทัศน์ วิธีคิด และการทำงาน เพราะ Startup เป็นโมเดลที่ต่างไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง”
โมเดลสนับสนุนและพัฒนาระบบนิเวศของ Startup ฉบับคุณพ่อพันธุ์ใหม่ ครอบคลุมตั้งแต่ Startup ในระยะเริ่มต้น เติบโต ไปจนเก็บเกี่ยว โดยรัฐแบ่ง Startup ออกเป็น 6 กลุ่มหลัก ตั้งแต่ E-commerce หรือ E-Marketplace สอง Fintech คือ Startup ด้านการเงิน Agritech คือ Startup ที่เกี่ยวข้องกับเกษตร Edtech Startup ด้านการศึกษา รวมไปถึง Startup ที่เป็นภาคบริการ และ Internet of things
หนึ่งปัญหาสำคัญของ Startup คือส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการคนเดียว บางคนมีแค่ก้อนไอเดียด้วยซ้ำ ทำให้ยากมากที่จะเข้าสู่ระบบ จดทะเบียนในรูปบริษัท สิ่งที่รัฐกำลังทำโดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า คือมองกฎหมายฉบับใหม่ ที่ให้สามารถจดทะเบียนนิติบุคคลได้ในรายคน เพื่อตอบโจทย์ Startup
รวมถึง “ปลดล็อก” การส่งเสริมการลงทุนจาก BOI จากในอดีตที่บอกว่า ต้องเป็นโครงการ เป็นบริษัท มีเครื่องจักรแล้วเท่านั้น ถึงจะให้ BOI ได้ แต่จากนี้เงื่อนไขเหล่านั้นไม่จำเป็นอีกต่อไป เมื่อบุคคลคนเดียว ที่มีไอเดีย ก็สามารถรับการส่งเสริมจาก BOI ได้ ซึ่งเรื่องนี้อยู่ระหว่างการทำงานของ BOI
“ขนาดธุรกิจไม่จำเป็น เขาดูกันที่ขนาดไอเดีย” เขาย้ำเช่นนั้น
เช่นเดียวกับ กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจที่จะเปลี่ยนไป จากอดีตต้องมีการค้ำประกัน มีจำนองอะไรกันมากมาย แต่จากนี้ขอแค่มี “ไอเดีย” หรือทรัพย์สินทางปัญญาที่จดได้ ก็ใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้
เวลาเดียวกันคือ การสร้างระบบนิเวศด้านแหล่งทุน แหล่งสนับสนุน ไม่ว่าจะเรื่องหน่วยบ่มเพาะ (Incubator) กองทุนร่วมลงทุน (Venture Capital: VC) การระดมทุนจากมวลชน (Crowdfunding) ต่างๆ โดยเริ่มจาก “ต้นทาง” คือใช้มาตรการจูงใจ เพื่อให้ Startup เข้าสู่ระบบกันมากขึ้น เป็นบริษัทที่โปร่งใส มีมาตรฐาน เพื่อดึงดูดใจผู้ลงทุน
“เมื่อไรก็ตามที่ Startup เข้าระบบมากขึ้น โอกาสในการเกิด VC ต่างๆ ก็จะมากขึ้นเช่นกัน ตอนนี้ที่ VC ไม่ค่อยเกิด เพราะเขาไม่กล้าลงทุน อย่าง คุณมี 2 บัญชี จะให้เขามั่นใจได้อย่างไร ฉะนั้นการที่นโยบายรัฐให้คนเข้าระบบภาษีมากขึ้น ก็เพื่อจะไปส่งเสริมให้คนกล้าที่จะเข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์หรือ ลงทุน กับ Startup และ เอสเอ็มอีมากขึ้น”
ต่อมาคือการจัดตั้ง National Startup Center โดยกระทรวง การคลัง เพื่อรวมเอาเหล่าคนมีไอเดีย นักลงทุน กลุ่มทุนสนับสนุน อาทิ กองทุนนวัตกรรม กองทุน Startup เหล่า Angel fund, Crowdfunding, VC, กลุ่ม Incubators ที่พร้อมสนับสนุน Startup ที่มีไอเดีย Accelerators บริษัทที่ค้นหาธุรกิจใหม่ๆ ที่มีศักยภาพในการเติบโต ที่จะให้ทั้งคำปรึกษาและสนับสนุนเงินทุนแก่ Startup เหล่านี้ ให้มารวมอยู่ในที่เดียวกัน
“เราต้องทำให้อุตสาหกรรมนี้เกิดความมั่นใจ นักลงทุนถึงอยากจะเข้ามาลงทุน โดยอาจมีเรื่อง มาตรการจูงใจทางภาษี (Tax Incentives) หรือ มีหลักประกันอะไรต่างๆ ให้กับผู้ลงทุนด้วย”
ในระยะเก็บเกี่ยว จะพัฒนากฎระเบียบและเครื่องมือทางการเงิน ช่องทางการ Exit ผ่านตลาดทุน เพื่อเป็นแนวทางเก็บเกี่ยวมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการและผู้ลงทุน หรือ VC ให้เกิดมีเงินทุนหมุนเวียน มีการลงทุนเกิดขึ้น แล้วเกิดความต่อเนื่องของการสร้างผู้ประกอบการในประเทศไทย โดย ดร.สุวิทย์ บอกว่า ถึงปลายทางคงต้องหาอะไรมารองรับ Startup ซึ่งไม่ใช่แค่ตลาดหลักทรัพย์ MAI แต่อาจจะเป็นกระดานอีกกระดานหนึ่งสำหรับ Startup โดยเฉพาะ
ไม่เพียงนโยบายสนับสนุน แต่ต้องทำกันตั้งแต่ปรับและโละหลักสูตร MBA เดิม เพื่อให้สนองต่อ Startup มากขึ้น
“เหมือนคนสองคน ‘โมสาร์ท’ กับ ‘บีโธเฟน’ บีโธเฟน เขาจะเป็นพวกคอนเซ็ปชวลดีไซน์ คือ ต้องเห็นภาพใหญ่ก่อน ถึงค่อยเล่น ค่อยแต่งขึ้นมา ทุกอย่างเขาต้องเป๊ะ แต่โมสาร์ท จะเล่นแบบ ทดลอง ดีแล้วไปต่อเลย ต่อเพลงไปเรื่อยๆ ซึ่งคอนเซ็ปต์ของ Startup วันนี้ ต้องเป็นแบบ โมสาร์ท คือ เล่นแล้วเล่นต่อเลย ลองผิดลองถูก ล้มแล้วลุก”
เขาย้ำในตอนท้ายว่า รัฐต้องสลัดภาพคุณพ่อผู้รู้ดี เลิกเสียทีโมเดลเสียเงิน แต่มาสร้าง Ecosystem ดีๆ ให้เกิดขึ้นให้ได้
“คุณล้มไม่เป็นไร ผมจะทำให้คุณลุกเร็วขึ้น แล้วโตต่อไปได้ ซึ่งวิธีนี้ในระยะยาวการพึ่งพาภาครัฐจะน้อยลง พอพึ่งพารัฐน้อยลง เขาจะแข่งขันได้มากขึ้น และจะไม่สนใจประชานิยมอีกต่อไป"
ด้าน “ไผท ผดุงถิ่น” นายกสมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ (Thailand Tech Startup Association) แสดงความเห็นต่อการขยับตัวครั้งสำคัญของภาครัฐว่า ประเทศไทยก็เปรียบเสมือน Startup เช่นเดียวกัน โดยเราไม่แน่ใจหรอกว่า โมเดลนี้จะถูกหรือผิด แต่ก็ต้องให้กรอบในการทดลองอย่างเต็มที่ ซึ่งถ้าผลออกมาว่าไม่ใช่ก็ต้องไปปรับกันต่อ ถ้าผิดก็ทำใหม่ ทุกอย่างเป็นการทดลอง และนี่คือวิธีคิดแบบ Startup
“วันนี้เรายังตามเพื่อนบ้านไม่ทัน ยังโดนทิ้งห่างอยู่หลายขุม โดยเฉพาะในเรื่องกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ ที่ไม่จูงใจให้ Startup เติบโตในเมืองไทย แต่ต้องไปโตต่างประเทศ ไปจดทะเบียนที่สิงคโปร์ เพราะว่ากฎหมายเราล้าหลังมาก และเป็นตัวที่ฉุด Startup ไทยให้ตกต่ำลง วันนี้รัฐบาลรับปากว่าจะแก้นโยบายพวกนี้ให้ ซึ่งถ้าทำได้ก็เชื่อว่าเรายังมีโอกาส”
ขณะที่แหล่งข่าวในวงการ Startup อีกท่านบอกว่า อยากให้การสนับสนุน Startup ทำอย่างจริงจัง เป็นองคาพยพเดียวกัน ไม่ทับซ้อน และอยากให้รัฐแค่สนับสนุน ไม่ต้องทำเอง แต่ให้เอกชนเป็นคนทำ เพราะหลายอย่างรัฐไม่มีโนว์ฮาว และอยากให้เรียนรู้โมเดลการสร้าง Ecosystem จากสิงคโปร์ ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จมากเรื่อง Startup
“รัฐบาลสิงคโปร์เขาไม่ทำ VC แข่งกับเอกชน เขาแก้กฎหมายที่ควรทำ พวกพื้นฐาน อย่าง Tax Incentive การทำ Matching Fund โดยไม่มีเงื่อนไข การเปิดให้นักลงทุนและ Startup จากต่างประเทศเข้ามา และให้สิทธิประโยชน์ เขาผลักดัน Ecosystem อื่นๆ เช่น Co-working spaces ที่มีอยู่ ให้เติบโตไปพร้อมกัน ง่ายๆ สิงคโปร์เขาทำอะไร ก็ทำให้ดีกว่าเขา และปรับให้เหมาะกับประเทศไทย”
เสียงสะท้อนจากฝั่ง Startup เพื่อให้การเข้ามาสนับสนุนธุรกิจเกิดใหม่ของภาครัฐ ไม่ได้สวยแต่รูป ทว่ายังยั่งยืน แก้ปัญหาถูกที่ และจี้ถูกจุดด้วย
.....................................................
Key to success
ถอดโมเดลสนับสนุน Startup
๐ รัฐสนับสนุน เอกชนและประชาสังคมขับเคลื่อน
๐ เปลี่ยนโมเดลการทำงาน สนองกลุ่ม Startup
๐ ปลดล็อกข้อจำกัดในอดีต ไอเดียก็เป็นทุนและหลักประกันได้
๐ สร้างระบบนิเวศที่เหมาะสม หนุนธุรกิจ Startup
๐ แก้ไขกฎหมายการแข่งขันทางการค้า
๐ ปรับหลักสูตรการศึกษา สอดรับเผ่าพันธุ์ Startup
ที่ เห็นโอกาส กล้าเสี่ยง ล้มแล้วลุก มีจิตวิญญาณผู้ประกอบการ
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน