จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
อีก วิธีหนึ่งที่น่าสนใจในการเพิ่มทักษะการเขียน ให้สามารถเขียนเรียงความ (Essay) โดยทั่วไป เชิงสร้างสรรค์เชิงโน้มน้าว และเชิงโต้แย้ง (debate)ได้ออกมามีประสิทธิภาพ ก็คือ การฝึกฝนการเขียนโดยกำหนดหัวข้อต่างๆ ขึ้นมานั่นเอง ซึ่งวันนี้ Life on Campus ได้นำ 38 คำถามที่เหมาะแก่การเพิ่มพูดทักษะการเขียน จากทั้งหมด 192 คำถามที่ The New York Times ได้ทำการรวบรวมตลอดระยะเวลากว่า 7 ปี ไม่ได้ใช้ได้เฉพาะนิสิตนักศึกษา แต่อาจารย์หรือคุณครูก็นำไปใช้ในการเรียนการสอนได้เหมือนกัน
คำถามสำหรับการ Debate และการเขียนเชิงโน้มน้าว
ดีเบต (Debate) หรือ การโต้วาที น่าจะเป็นกิจกรรมที่น้องๆ หลายคนคุ้นเคยตั้งแต่สมัยมัธยม ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในชั้นเรียนภาษาไทย สังคมศึกษา หรือบางที่ก็ภาษาอังกฤษ โดยในการดีเบตจะเลือกประเด็นมา 1 เรื่อง แบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายเห็นด้วยกับไม่เห็นด้วย หรือ ฝ่ายสนับสนุนกับฝ่ายค้าน แต่ละฝ่ายก็ต้องงัดเหตุผลและข้อมูลที่ค้นคว้ามาเพื่อสนับสนุนจุดยืนของตน และแน่นอนว่าต้องโน้มน้าวใจผู้ชมด้วย
สำหรับ การดีเบตไม่มีใครถูกผิด เป็นการสร้างการแสดงความคิดเห็นเชิงแลกเปลี่ยนและช่วยเพิ่มมุมมองใหม่ให้ ทั้งสองฝ่ายรวมถึงผู้ชมมากกว่า ในส่วนของคำถามที่ช่วยฝึกฝนการ Debate และการเขียนหรือการพูดเชิงโน้มน้าวมีด้วยกันทั้งหมด 16 คำถาม
นิยามของคำว่าฮีโร่
ที่เรียนทุกวันนี้งานหนักเกินไปหรือเปล่า
Facebook จำเป็นต้องมีปุ่ม 'Dislike' ไหม
หนังสือที่เป็นสิ่งพิมพ์ดีกว่าหนังสือออนไลน์หรือไม่
การทดสอบหรือทดลองในสัตว์เป็นเรื่องที่ผิดศีลธรรมหรือไม่
เราจะมีส่วนในการร่วมแสดงความรับผิดชอบต่อผู้ลี้ภัยอย่างไร
อะไรคือเทคโนโลยีที่โลกต้องการ
สังคมออนไลน์ทำให้ทุกคนกลายเป็นคนหลงตัวเองหรือไม่
นักโทษควรได้รับโอกาสในการศึกษาหรือไม่
เพศที่สามควรมีสิทธิ์ในการใช้ห้องน้ำสาธารณะที่เขาเลือกเองหรือไม่
ดาราเด็กควรมีพื้นที่ส่วนตัวหรือไม่
คนที่ขับรถแบบไม่มีสติ(ฟุ้งซ่าน)ควรได้รับการลงโทษเหมือนคนเมาแล้วขับหรือไม่
5 นวัตกรรมที่ยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาล
การเป็นตัวของตัวเองเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่
สัตว์ เช่น กอริลล่า ควรอยู่ในสวนสัตว์หรือไม่
ถ้าหากวัยรุ่นขับรถแย่ พวกเขาควรได้รับอนุญาตให้ขับหรือไม่ (ถึงแม้จะมีใบขับขี่)
คำถามสำหรับการเขียนเชิงสร้างสรรค์ ความคิดเห็นส่วนตัวและเชิงสะท้อนกลับ
สำหรับ คำถามในลักษณะนี้ จะเป็นการช่วยสำรวจสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว สำรวจตัวเอง ทำให้รู้จักตัวเองลึกมากขึ้น ได้ทบทวนและสร้างมุมมองใหม่ๆ หลังจากที่กลับมาทวนอ่านสิ่งที่เขียนไปอีกครั้ง นอกจากนี้ยังช่วยฝึกการเขียนแสดงความคิดเห็นและการเล่าเรื่องราวส่วนตัว รวมถึงฝึกจินตนาการ เพราะบางครั้งหัวข้อเป็นเรื่องที่สมมุติขึ้น ซึ่งน้องอาจไม่เคยทำสิ่งนั้นมาก่อน หรือเป็นไปไม่ได้ที่จะทำ เช่น การสมมุติว่าตนเองเป็นสัตว์
มาดูกันว่าในหมวดนี้คำถามทั้ง 22 ข้อจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไรบ้าง
คุณคิดว่าการหาเพื่อนใหม่ในโลกออนไลน์หรือในชีวิตจริงแบบไหนง่ายกว่ากัน
คุณมีไอเดียอะไรที่จะช่วยสร้างสังคมให้น่าอยู่มากขึ้น
เทรนด์ในปัจจุบันอันไหนที่สร้างความรำคาญ
คุณถูกรบกวนโดยโทรศัพท์มือถือบ่อยๆ หรือไม่
ชื่อตนเองมีที่มาที่ไปอย่างไร
หากสามารถพูดกับตัวเองได้ อยากจะพูดอะไร
คำแนะนำสำหรับเด็กหรือวัยรุ่นเกี่ยวกับสังคมออนไลน์
สมมุติว่าตนเองสามารถเดินทางข้ามเวลาได้ อยากไปที่ไหน
คุณรู้จักเพื่อนบ้านของตนเองดีขนาดไหน
อะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิต แล้วสิ่งนั้นฟรีหรือไม่
คำแนะนำถึงพ่อแม่หรือผู้ปกครองในการเป็นพ่อแม่ที่ดี
นักดนตรีหรือนักร้องวงไหนที่มีความหมายสำหรับคุณ
ครั้งสุดท้ายที่ทำสิ่งที่น่ากลัวและท้าทายคือเมื่อไหร่
ภายใต้เงื่อนไขใดที่ทำให้คุณทำงานออกมาได้ดีที่สุด
เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับการเหยียดหรือการถูกคุมคามหรือไม่
เรื่องผิดพลาดในชีวิต เรียนรู้อะไรจากสิ่งนั้น
อาชีพในฝัน
วิธีการรับมือกับคนที่เกลียดคุณ
อยากเป็นอะไรเมื่อโตขึ้น
สิ่งที่คุณจะพลาดหากลาออกจากโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยตอนนี้
สิ่งที่เรียนรู้จากคนอายุเยอะกว่า
คุณเป็นคนเก็บตัวหรือเปิดเผย
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของหัวข้อที่น่าสนใจและน่านำมาใช้ในการฝึกเขียน สามารถดูเพิ่มเติมทั้งหมด 192 คำถาม ได้ที่ http://learning.blogs.nytimes.com/2016/06/15/192-questions-for-writing-or-discussion/?rref=collection%2Fsectioncollection%2Feducation&_r=0
แปลและเรียบเรียงโดย วัลย์ลดา หาญยุทธ
ขอบคุณที่มา Nytimes
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน