จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ ถามมา-ตอบไป สไตล์คอนซัลต์ โดย อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา กรรมการบริหารสลิงชอท กรุ๊ป
ตอนนี้ประเด็นที่มาแรงแซงทางโค้งในแวดวงการธุรกิจ คงหนีไม่พ้นเรื่อง "FinTech" สตาร์ตอัพที่เข้ามาปั่นป่วนกระบวนการดำเนินธุรกิจแบบเดิมขององค์กรน้อยใหญ่ จนแทบตั้งตัวไม่ติด
"FinTech" เป็นคำย่อมาจาก "Financial Technology" หรือเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการเงิน ซึ่งอนาคตจะมีบทบาทมากมายในสังคมยุคดิจิทัลของเรา และนี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้หลาย ๆ องค์กรเริ่มหันมาให้ความสนใจอย่างจริงจังกับเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย รวมทั้งสถาบันการเงินทั้งไทยและเทศ ธนาคารใหญ่ ๆ เกือบทุกแห่งตั้งหน่วยงาน หรือบริษัทย่อยขึ้นมาเพื่อดูแลและลงทุนใน FinTech โดยเฉพาะ
ผู้ประกอบการอิสระ นักลงทุนทั้งมืออาชีพ และสมัครเล่นต่างตื่นตัวจนเกือบถึงขั้นตื่นตูม บางกลุ่มจัดตั้งบริษัทที่มีระบบการบริหารจัดการขึ้นมาอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เพื่อทำหน้าที่ให้บริการด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการเงินในรูปแบบใหม่ ๆ จนแทบไม่ต้องพึ่งพิงธนาคารหรือสถาบันการเงินอีกต่อไป
ตัวอย่างเช่น เมื่อเร็ว ๆ นี้ผมมีโอกาสร่วมงานเปิดตัวสตาร์ตอัพรายใหม่ชื่อ ReFinn ที่มีอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนักการเงินรุ่นลายครามอย่าง "กรณ์ จาติกวณิช" เป็นประธาน ReFinn เป็นตัวกลางที่ทำหน้าที่ช่วยลูกหนี้ให้มีช่องทางในการโยกย้ายแหล่งเงินกู้จากธนาคารหนึ่งไปยังสถาบันการเงินอื่นด้วยการเปรียบเทียบผลประโยชน์แบบเรียลไทม์ผู้บริโภคถูกใจแต่แบงก์ใหญ่ๆอาจไม่สบอารมณ์เพราะทำให้การแข่งขันตัดราคาที่มีทีท่าว่าจะเป็นปัญหาอยู่แล้วยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นไปอีก
เหตุผลหนึ่งที่ "FinTech" ถือกำเนิดขึ้นได้ เป็นเพราะประสิทธิภาพของบริการทางการเงินที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ เริ่มไม่ตอบโจทย์รูปแบบการดำเนินชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่พึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น แทนที่จะต้องเดินจนขาขวิดเพื่อเลือกซื้อสินค้าสักชิ้น ปัจจุบันสามารถใช้เทคโนโลยีช่วยค้นหาแทนได้ เพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัสโดยไม่ต้องออกเดินให้เมื่อยตุ้ม
ในช่วงแรก ๆ ของการซื้อขายออนไลน์ ลูกค้าอาจยังต้องติดต่อธนาคารเพื่อโอนเงินให้กับผู้ขายสินค้าอยู่ แต่ปัจจุบันเมื่อเทคโนโลยีมีความทันสมัยและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เราสามารถซื้อและจ่ายเงินค่าสินค้า หรือบริการที่ต้องการจากทั่วทุกมุมโลกได้อย่างสะดวกและง่ายดาย โดยไม่ต้องออกจากบ้านเสียด้วยซ้ำ
ไม่ใช่เฉพาะเอกชนเท่านั้นที่ให้ความสำคัญ และสนใจ "FinTech" รัฐบาลก็ส่งโครงการ "พร้อมเพย์" ที่ให้ประชาชนลงทะเบียนผูกเลขบัตรประชาชนหรือเบอร์โทรศัพท์มือถือเข้ากับบัญชีธนาคารเพื่ออำนวยความสะดวกในการโอนเงินงานนี้ถือว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัวเพราะนอกจากจะช่วยให้การทำธุรกรรมทางการเงินมีความสะดวกสบายมากขึ้นแล้วยังเป็นการจัดระเบียบการใช้จ่ายที่เกิดขึ้นอย่างกระจัดกระจายให้เข้าสู่ระบบเพื่อขยายฐานภาษีได้อีกด้วย
นอกจากนั้นยังมีผลพลอยได้ในเรื่องการติดตามธุรกรรมแปลกๆ ที่พวกมิจฉาชีพใช้เป็นช่องทางในการโอนย้ายถ่ายเทและฟอกเงินได้อีก ถือว่าเป็นกลยุทธ์ที่เฉียบคมและแยบคายมาก ๆ
เมื่อ "FinTech" มีบทบาทเพิ่มขึ้นทั้งในบ้านเราและต่างประเทศ ลองมาดูว่าคุณสมบัติของคนทำ "FinTech" ควรมีอะไรบ้าง อย่างแรกเลยคือต้องเปิดใจรับสิ่งใหม่ ๆ และไม่กลัวเทคโนโลยี ซึ่งเรื่องนี้ไม่น่าเป็นปัญหามากนักกับคนรุ่นใหม่ แต่สำหรับคนรุ่นเก๋าอย่างผมที่อายุเลยเลข 5 ไปแล้ว อาจเป็นปัญหาบ้าง
แนวทางหนึ่งที่ใช้แล้วได้ผลในการเพิ่มพูนความรู้ใหม่ ๆ และเข้าใจเทคโนโลยีได้รวดเร็วมากขึ้น คือคบเด็กไว้ เพราะในโลกปัจจุบันต้องยอมรับว่ามีหลายอย่างที่เด็ก ๆ รู้มากกว่าพวกเรา
ถัดมาคือความคิดสร้างสรรค์ ต้องกล้าคิดสิ่งใหม่ ๆ ที่ออกจากกรอบเดิม เพราะเทคโนโลยีทางด้านการเงินสำหรับอนาคตจะไม่เหมือนเดิม เงินตราที่ใช้อยู่ในปัจจุบันอาจไม่จำเป็นอีกต่อไป เพราะในโลกออนไลน์มีเงินสกุลใหม่ที่เรียกว่า "บิตคอยน์" (Bitcoin) เอาไว้ใช้จ่ายกัน และอีกไม่นานบิตคอยน์นี้คงกลายเป็นสกุลเงินหลักที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนแทนดอลลาร์หรือเยนก็เป็นได้
ทักษะด้านการสื่อสารเป็นอีกหนึ่งความสามารถที่สำคัญสำหรับชาว"FinTech"เพราะความคิดไม่ว่าจะดีเพียงใดจะถูกจำกัดด้วยความสามารถในการสื่อให้คนอื่นเข้าใจสินค้าและบริการที่ดีหลายตัวไม่โด่งดังติดตลาดเท่าที่ศักยภาพจริงๆ มี เพราะขาดการสื่อสารและสร้างความเข้าใจให้ตลาดและผู้บริโภคได้รับรู้ได้
อีกหนึ่งทักษะที่สำคัญ และจำเป็นสำหรับการทำ "FinTech" คือการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ เพราะสตาร์ตอัพมักต้องรับมือกับปัญหาร้อยแปดพันประการ ไล่ตั้งแต่ด้านเงินทุน การตลาด การบริหารคน การจัดการกับความเสี่ยง การคิดสร้างสรรค์ การบริการหลังขาย เป็นต้น ปัญหาที่ประดังประเดเข้ามาจำเป็นต้องได้รับการบริหารจัดการและแก้ไขอย่างเป็นระบบ มิเช่นนั้นอาจทำให้องค์กรเล็ก ๆ ที่มีศักยภาพในระยะยาว ก้าวเดินไปไม่ถึงดวงดาว
สุดท้ายแต่ไม่ได้หมายความว่าสำคัญน้อยที่สุด คือทักษะการทำงานเป็นทีม ไอเดียดี ๆ อาจมาจากคนคนเดียว แต่การทำให้ความคิดกลายเป็นความจริง ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของผู้คนหลากหลาย เกือบไม่มีสตาร์ตอัพใดเลยที่ประสบความสำเร็จด้วยพลังและความคิดสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่เพียงอย่างเดียว
หากแต่ต้องการความสุขุมรอบคอบและประสบการณ์จากคนรุ่นเก๋ามาเป็นส่วนผสมที่ลงตัวด้วยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในเรื่องนี้คือเมื่อแลร์รี่เพจ และเซอร์เกย์ บริน 2 ผู้ก่อตั้งกูเกิล ซึ่งขณะนั้นเพิ่งเรียนจบจากมหาวิทยาลัยแสตมฟอร์ด อายุยังน้อยและอ่อนด้อยประสบการณ์ แต่มีความคิดและความฝันที่ยิ่งใหญ่ ตัดสินใจไปชวนเอริค ชมิดท์ อดีตผู้บริหารระดับสูงของซัน ไมโครซิสเต็มส์ (Sun Microsystems) มาเป็น CEO ให้บริษัท
เพราะเชื่อมั่นว่าองค์กรต้องสามารถผสมผสานความคิดสร้างสรรค์ และพลังของคนรุ่นใหม่เข้ากับประสบการณ์ และความเก๋าเกมของคนรุ่นก่อนให้ได้อย่างลงตัวจึงจะประสบความสำเร็จ
จากนี้ไปธุรกิจสตาร์ตอัพ และ "FinTech" จะเป็นพระเอกในวงการธุรกิจยุคใหม่อย่างไม่ต้องสงสัย เฝ้าดูให้ดีห้ามกะพริบตา
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน