จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ เปิดมุมมอง โดย ดร.จริยา บุณยะประภัสร Team Group โดย ดร.จริยา บุณยะประภัศร Team Group
การลดต้นทุนผลิตและพัฒนาตลาดเริ่มชัดเจนจากปัจจัยขับเคลื่อนที่รัฐบาลได้เดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง1.8ล้านล้านบาทเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของห่วงโซ่อุปทาน
การขับเคลื่อนนโยบาย Thailand 4.0 ได้ยกระดับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิต เน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพื่อนบ้าน CLM (กัมพูชา ลาว เมียนมา) ที่ยังมีค่าแรงถูกกว่าไทย ส่งผลให้ "โมเดล Thailand-Plus-One" จากแนวคิดธุรกิจของการใช้ไทยเป็นฐานผลิตหลัก ที่มี R&D เชื่อมต่อห่วงโซ่อุปทานกับแหล่งผลิตและการขยายตลาดในประเทศเพื่อนบ้านเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น
การเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งปรับปรุงมอเตอร์เวย์ท่าเรือสนามบิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าในเมือง และรถไฟความเร็วสูงเพื่อสร้างโครงข่ายระบบรางเชื่อมโยงกรุงเทพมหานครและประเทศเพื่อนบ้าน เป็นแผนการลงทุนที่สนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี และยุทธศาสตร์ที่ 7 ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (ปี 2560-2564) ว่าด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์
โดยตั้งเป้าว่าในปี 2564 ประเทศไทยจะลดต้นทุนเหลือ 12% ของ GDP เพิ่มการขนส่งทางรางเป็น 4% จาก 2% ทางน้ำ เป็น19% จาก 15% เป็นต้น และยังจะช่วยเชื่อมโยงประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาคอีกด้วย
แนวคิด Thailand-Plus-One เป็นแนวคิดที่พัฒนามาจากมุมมองของนักลงทุนญี่ปุ่นที่มาลงทุนในประเทศไทย ที่เล็งเห็นศักยภาพของการใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนสำคัญ (Production Cluster) และย้ายโอนชิ้นส่วนที่ใช้แรงงานเข้มข้น (Labor-Intensive)ไปยังเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ ในประเทศเพื่อนบ้าน CLM เนื่องจากที่ประเทศไทยมีต้นทุนค่าแรงเพิ่มสูงขึ้น และปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ส่งผลกระทบอย่างสูงต่ออุตสาหกรรมผลิตที่พึ่งพิงแรงงานสูง ทำให้เกิดการต่อขยายฐานการผลิตห่วงโซ่อุปทานจากฐานการผลิตหลักในประเทศไทยไปยังประเทศ CLM โดยรูปแบบการขยายธุรกิจมักจะปรากฏในลักษณะของการดำเนินกิจการภายใต้บริษัทเดียวกัน หรือในเครือข่ายของบริษัทลูก หรือการจ้างบริษัทให้มาผลิตสินค้ายี่ห้อของตนเอง (Outsourcing)
นอกจาก ต้นทุนค่าแรง ที่ถูกกว่าไทยแล้ว ประเทศ CLM ยังมีเสถียรภาพทางการเมืองและศักยภาพทางเศรษฐกิจมากขึ้น ทั้งนี้จากการประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจ ปี 2558-2563 ของ IMF และ World Bank ประเทศไทย คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตประมาณ 3.3% ในขณะที่กัมพูชาเติบโต 7.2% ลาว 7.5% และเมียนมา 8.0%
ทำให้เกิดโอกาสการพัฒนาตลาดใหม่ในประเทศ CLM ซึ่งแนวโน้มของสินค้า 5 กลุ่ม ที่คาดว่าจะเติบโตในตลาดของประเทศกำลังพัฒนา ประกอบด้วย สินค้ากลุ่มอาหารแปรรูป (Processed Food) กลุ่มสินค้าอุปโภค (Consumer Goods) กลุ่มสินค้ายารักษาโรค (Pharmaceutical Products) กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics) และกลุ่มสินค้าพลาสติก (Primary Plastics and Products) เป็นต้น
การเพิ่มประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบหรือสินค้า (Sourcing) การผลิต (Manufacturing) และการกระจายสินค้า(Distribution) ไปยังผู้บริโภค เป็นหัวใจสำคัญที่บริษัทผู้ประกอบการควรจะต้องวิเคราะห์และตรวจสอบตลอดห่วงโซ่อุปทาน เช่น การวิเคราะห์โดยเครื่องมือ Network Optimization เพื่อสร้างและออกแบบโครงข่ายห่วงโซ่อุปทานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้มั่นใจว่า การบริหารจัดการโลจิสติกส์ มีต้นทุนรวม (Total Costs) ต่ำสุด ช่วยลดต้นทุนผลิต รวมถึงลดระยะเวลาในการขนส่ง
ตัวอย่างผลของการวิเคราะห์ Network Optimization จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถทราบตำแหน่งที่ตั้ง ที่จะเป็นศูนย์กระจายสินค้าระดับภูมิภาค (Regional Distribution Center : DC) รูปแบบศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้า (Cross Docking) หรือรูปแบบ Hybrid DC ผลการคำนวณจะทำให้ทราบว่าต้นทุนและระยะเวลาที่ใช้ในการขนส่งจะลดลง ก่อน-หลังที่มีการจัดการโลจิสติกส์ใหม่อย่างไร ทั้งในกรณีของพื้นที่ในห่วงโซ่อุปทานปัจจุบัน และในกรณีของพื้นที่ห่วงโซ่อุปทานใหม่ในอนาคต
โดยเฉพาะจากนี้ไป ที่จะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง ทั้งในเส้นทางปัจจุบันและเส้นทางใหม่ เชื่อมโยงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จังหวัดสำคัญในภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน และยกระดับสู่ภูมิภาคเอเชีย (Trans-Asian Railways และ Highway) ซึ่งจะเป็นการเชื่อมโยงโลจิสติกส์ (Logistics Linkage) ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
การที่ประเทศไทยบรรจุนโยบาย Thailand 4.0 เป็นแนวทางการพัฒนาประเทศในระยะยาว ส่งเสริม R&D การสร้างนวัตกรรมและการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในฐานการผลิตของประเทศ ซึ่งประกอบด้วย 5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-Curve) คือ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ท่องเที่ยวไฮเอนด์และเชิงสุขภาพ เกษตรเทคโนโลยีชีวภาพ และ แปรรูปอาหาร กับ 5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) ได้แก่ หุ่นยนต์เพื่อการผลิต การบินและโลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ดิจิทัล (ได้แก่ Internet of Things) และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ทำให้เป็นตัวเร่งที่สำคัญ
นอกเหนือจากปัจจัยการเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง และการพัฒนาของประเทศ CLM โดยคาดหวังว่าร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ EEC ที่จะประกาศใช้ปลายปีนี้ ซึ่งเป็นกฎหมายที่จะประกาศส่งเสริมเศรษฐกิจภาคตะวันออกพื้นที่ของจังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา และพื้นที่อื่นใดที่จะมีการออกพระราชกฤษฎีกาเพิ่มเติมจะเป็นเขตที่ได้รับการพัฒนา สิทธิประโยชน์ และการอำนวยความสะดวกเป็นพิเศษ เพื่อส่งเสริมการพัฒนา R&D และการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง
โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากรและความชำนาญต่าง ๆ เพื่อสร้างคลัสเตอร์ และซูเปอร์คลัสเตอร์ แต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อช่วยบูรณาการทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระบบคมนาคม ระบบการขนส่ง และการอำนวยความสะดวกในพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก ให้เกิดประสิทธิภาพและทันต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
การยกเครื่องพัฒนา EEC จะเป็นการกระตุ้นการลงทุน ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก (Eastern Seaboard) รอบใหม่ เพื่อให้ประเทศไทยมีความพร้อมและศักยภาพสูง และให้เป็นศูนย์กลางการผลิตและบริการที่สำคัญของประเทศ ช่วยขับเคลื่อนโมเดล Thailand 4.0 ต่อเชื่อมห่วงโซ่อุปทาน Thailand-Plus-One อย่างมีประสิทธิภาพ
ถึงเวลาแล้วที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องติดตามความคืบหน้าและการเปลี่ยนแปลงของโมเดลThailand4.0และ Thailand-Plus-One เพื่อวางแผนธุรกิจและจัดทำรูปแบบธุรกิจ (Business Model) ให้สอดรับกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของภูมิภาคและของประเทศ โดยเฉพาะการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์ในห่วงโซ่อุปทาน เพื่อลดต้นทุนการผลิตและสร้างความได้เปรียบในการพัฒนาตลาด
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน