จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ โดย กฤษณา ไพฑูรย์
ปัจจุบันอุตสาหกรรมสื่อกำลังเผชิญความท้าทายอย่างหนัก จากความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี เครือข่ายโทรคมนาคม ก่อให้เกิดการติดต่อสื่อสารง่ายขึ้น รวดเร็วขึ้น
การมีโทรศัพท์มือถือเพียงหนึ่งเครื่อง สามารถเป็น "นักข่าว" รายงานสถานการณ์ผ่านช่องทาง เช่น Line, Facebook, Twitter, YouTube, Blog, Web ได้อย่างง่ายดาย
ขณะที่พฤติกรรมการรับรู้ข่าวสารของคนไทยเปลี่ยนไปมาก จากที่อ่านหนังสือพิมพ์ ดูทีวี เปลี่ยนมาเปิดรับข้อมูลผ่านสื่อออนไลน์
ดังนั้น ในการเรียนหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลาง (บสก.) รุ่นที่ 6 ซึ่งจัดโดยสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ได้กำหนดให้ผู้เรียนต้องจัดทำรายงานจึงได้คิดหัวข้อ "การศึกษาพฤติกรรมการใช้สื่อออนไลน์ของนักธุรกิจ : กรณีศึกษาบริษัทในตลาดหลักทรัพย์" มาเป็นโจทย์ครั้งนี้
การศึกษาใช้การรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก โดยใช้กลุ่มตัวอย่าง ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการ และผู้บริหารมืออาชีพระดับสูงในองค์กร 10 คน
ซึ่งได้รับความกรุณาเป็นอย่างสูงจากหลายท่าน เช่น คุณธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าบริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป (TU), คุณสุขวัฒน์ ด่านเสริมสุข ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการสายธุรกิจอาหารสำเร็จรูป บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF), คุณจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น, คุณวีรพันธ์ พูลเกษ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทคอนอินดัสเทรียลคอนเน็คชั่น, คุณชนินทร์ เชาวน์นิรัติศัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทผลิตไฟฟ้า (EGCO), คุณชัยวัฒน์ โควาวิสารัช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม, คุณสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS) ฯลฯ
กลุ่มตัวอย่างมีอายุไล่เรียงจากน้อยสุด 37 ปี ขึ้นไปสูงสุด 65 ปี หลายคนใช้งานบนโลกออนไลน์วันละหลายชั่วโมงทุกวัน
ผลการศึกษาทำให้สะท้อนภาพ และมุมมองที่ส่งผลให้คนทำสื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อออนไลน์กระแสหลัก ต้องเปลี่ยนแนวความคิด เมื่อพบว่า ผู้บริหาร 9 คนเลิกอ่านหนังสือพิมพ์มานาน 1-3 ปีแล้ว โดยอ่านข่าวจากโลกออนไลน์เป็นหลัก เนื่องจากมีเวลาจำกัด มีเพียง 1 คนที่ยังอ่านหนังสือพิมพ์เป็นหลัก แต่อ่านข่าวจากโลกออนไลน์ที่พนักงานในบริษัทเชื่อม Link มาให้ด้วย
ผู้บริหาร 1 คนมีอายุมากที่สุด 65 ปี เลิกอ่านหนังสือพิมพ์นานแล้ว และนิยมท่องโลกออนไลน์ในการเปิดรับข้อมูลข่าวสาร รวมถึงการใช้ Line สื่อสารกับเพื่อนวัยเดียวกันที่ชอบเล่นอินเทอร์เน็ต โดยผู้บริหารทั้ง 10 คนจะมีพฤติกรรมเสพข่าวผ่าน Line เป็นหลัก ทั้งการอ่านข่าวจาก Link ที่มีกลุ่มไลน์เพื่อน เลขาฯ พนักงาน ประชาสัมพันธ์ภายในบริษัทส่งมาให้มากกว่าจะค้นหาจากเว็บข่าวเอง
นอกจากนี้ บทสะท้อนหนึ่งที่ผู้บริหารเกือบทุกคนให้ความเห็นตรงกันคือ คุณค่าข่าว และความน่าเชื่อถือของตัวเนื้อข่าวที่สื่อไทยนำเสนอ หากนำไปเปรียบเทียบกับสื่อของต่างประเทศแตกต่างกันมาก หลายคนเห็นว่า การทำข่าวของผู้สื่อข่าวไทยส่วนใหญ่ทำหน้าที่เพียงผู้รายงานข่าว การทำข่าวเชิงลักษณะสืบสวนสอบสวนยังน้อย
ข่าวเศรษฐกิจส่วนใหญ่ทำในลักษณะสัมภาษณ์ความเห็น ขณะที่การทำงานของนักข่าวต่างประเทศจะนำเสนอเชิงวิเคราะห์ เจาะลึก ข้อมูลที่นำเสนอ เปรียบเสมือนนักข่าวเป็นนักวิเคราะห์ที่มีความเชี่ยวชาญและเข้าใจเรื่องนั้น ๆ เป็นอย่างดี รวมถึงการทุ่มเทลงไปคลุกคลีกับปัญหานั้น ๆ เพื่อหาข้อเท็จจริงมาตีแผ่
ที่สำคัญผลการศึกษาพบว่า ในด้านการใช้เม็ดเงินลงโฆษณา ประชาสัมพันธ์สินค้า และบริการของบริษัทในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาหลายบริษัทมีทิศทางที่ทำโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์มากกว่าการลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์เล่ม ด้วยเหตุผลว่า เข้าถึงผู้บริโภคทุกเพศ ทุกวัยได้มากกว่า รวดเร็ว และค่าใช้จ่ายถูก ขณะที่มีบางบริษัทยังเห็นความสำคัญของสื่อสิ่งพิมพ์
ดังนั้น ผู้ประกอบการสื่อสิ่งพิมพ์ ต้องเปลี่ยนแนวความคิดที่ว่าผู้บริหารรุ่นเก่ายังคงนิยมอ่านหนังสือพิมพ์ มีเพียงผู้บริหารรุ่นใหม่ที่นิยมใช้สื่อออนไลน์ เพราะผลการศึกษาสะท้อนชัดเจนว่า คนสูงวัย หันมาอ่านข่าวออนไลน์กันหมดแล้ว
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน