สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ประกาศใช้เป็นทางการ ราชกิจจาฯ เผยแพร่ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 2560

ประกาศใช้เป็นทางการ ราชกิจจาฯ เผยแพร่ “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 2560

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

ประกาศใช้เป็นทางการ ราชกิจจาฯ เผยแพร่ “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 2560”

        ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เป็นฉบับที่ 20 ของไทย มีเนื้อหาทั้งหมด 279 มาตรา
       
       วันนี้ (6 เม.ย.) ภายหลังจากมีพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม แล้ว เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 นับเป็นการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับถาวรฉบับใหม่ อย่างเป็นทางการ นับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ของประเทศไทย มีเนื้อหาทั้งหมด 279 มาตรา รวมบทเฉพาะกาล โดยมีรายละเอียดทั้งหมดดังนี้ >>http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/040/1.PDF 


เปิด รธน.60 แก้ ม.5 ล้ม 12 ประมุข ผ่าทางตันการเมือง ฟื้น ม.7 ใช้ประเพณีปกครองแก้วิกฤต

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

      ชำแหละ รธน.60 ป้ายแดง แก้มาตรา 5 ล้ม 12 ประมุข แก้วิกฤตทางตันการเมือง ฟื้นมาตรา 7 เดิมใช้ประเพณีการปกครองแก้วิกฤต พร้อมแก้หมวดพระมหากษัตริย์ - องคมนตรี
       
       วันนี้ (6 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา พบว่า คณะกรรมการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ ได้มีการแก้ไขเนื้อหาในบางมาตราต่างไปจากร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ อาทิ
       
       1. มาตรา 5 ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บัญญัติ ว่า “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทําใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทํานั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้ เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทําการนั้น หรือวินิจฉัยกรณีนั้น ไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
       
       ขณะที่ มาตรา 5 เดิม บัญญัติว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้น เป็นอันใช้บังคับมิได้ เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทำการนั้นหรือวินิจฉัย กรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข
       
       เมื่อมีกรณีตามวรรคสองเกิดขึ้น ให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญจัดให้มีการประชุมร่วม ระหว่างประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานองค์กรอิสระ เพื่อวินิจฉัย
       ในการประชุมร่วมตามวรรคสาม ให้ที่ประชุมเลือกกันเองให้คนหนึ่งทำหน้าที่ ประธานในที่ประชุมแต่ละคราว ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งใด ให้ที่ประชุมร่วมประกอบด้วยผู้ดำรงตำแหน่งเท่าที่มีอยู่ การวินิจฉัยของที่ประชุมร่วมให้ถือเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธาน ในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด คำวินิจฉัยของที่ประชุมร่วมให้เป็นที่สุด และผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ
       
       2. มาตรา 12 ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บัญญัติว่า องคมนตรีต้องไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือดํารงตําแหน่งทางการเมืองอื่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เจ้าหน้าที่อื่น ของรัฐ หรือสมาชิกหรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง หรือข้าราชการ “เว้นแต่การเป็นข้าราชการในพระองค์ ในตําแหน่งองคมนตรี” และต้องไม่แสดงการฝักใฝ่ในพรรคการเมืองใดๆ
       
       ขณะที่ มาตรา 12 เดิม บัญญัติว่า องคมนตรีต้องไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ หรือสมาชิกหรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง และต้องไม่แสดงการฝักใฝ่ในพรรคการเมืองใดๆ
       
       3. มาตรา 16 ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บัญญัติว่า ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหาร พระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม จะทรงแต่งตั้งบุคคลคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นคณะขึ้น ให้เป็นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้ และในกรณีที่ทรงแต่งตั้งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
       
       ขณะที่ มาตรา 16 เดิม ระบุว่า ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม จะได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทน พระองค์ และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
       
       4. มาตรา 17 ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บัญญัติว่า ในกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ตามมาตรา 16 หรือในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถทรงแต่งตั้งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะหรือเพราะเหตุอื่น แต่ต่อมาคณะองคมนตรีพิจารณาเห็นว่ามีความจําเป็นสมควร แต่งตั้งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์และไม่อาจกราบบังคมทูลให้ทรงแต่งตั้งได้ทันการ ให้คณะองคมนตรี เสนอชื่อบุคคลคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นคณะ ตามลําดับที่โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมกําหนดไว้ก่อนแล้ว ให้เป็นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ แล้วแจ้งประธานรัฐสภาเพื่อประกาศในพระปรมาภิไธย พระมหากษัตริย์ แต่งตั้งผู้นั้นขึ้นเป็นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์
       
       ขณะที่ มาตรา 17 เดิม ระบุว่า ในกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามมาตรา 16 หรือในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะหรือเพราะเหตุอื่น ให้คณะองคมนตรีเสนอชื่อผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งสมควรดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภา เพื่อขอความเห็นชอบ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ประธานรัฐสภาประกาศในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ แต่งตั้งผู้นั้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
       
       5. มาตรา 182 ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บัญญัติว่า บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญ
       
       ขณะที่ มาตรา 182 เดิมบัญญัติว่า บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับ ราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ในรัฐธรรมนูญให้ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเป็นผู้รับผิดชอบในกิจการทั้งปวงบรรดา ที่ได้รับสนองพระบรมราชโองการ


“ประยุทธ์” แถลงประกาศใช้ รธน.สิทธิเสรีภาพ ปชช.เพิ่มขึ้นแต่ต้องไม่ลืมหน้าที่ - ยังไม่ชัดเลือกตั้งวันไหน

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

        “ประยุทธ์” แถลงเนื่องในโอกาสประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ระบุ หลังจากนี้สิทธิเสรีภาพ ปชช. มีเพิ่มขึ้น แต่ต้องไม่ลืมหน้าที่ จะเรียกร้องเอาแต่ได้ฝ่ายเดียวไม่ได้ เผย ไม่สามารถระบุได้เลือกตั้งวันไหน เพราะยังไม่อาจกำหนดวันเริ่มต้นของแต่ละเหตุการณ์ได้ ลั่นนับจากนี้ไป คสช. จะยังคงอยู่กับคนไทย คำสั่งที่ออกไปแล้วยังคงมีผลใช้บังคับใช้ 
       
       วันนี้ (6 เม.ย.) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงการณ์เนื่องในโอกาส ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐
       
       มีรายละเอียดว่า พี่น้องประชาชนที่เคารพ วันนี้ เมื่อ ๒๓๕ ปีที่แล้ว เป็นวันสถาปนาพระบรมราชจักรีวงศ์ เริ่มต้นรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เราจึงเรียกว่า “วันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช” และ “วันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์” วันเวลาได้ผ่านพ้นรัชสมัยของพระมหากษัตริย์หลายพระองค์ มาจนถึงรัชกาลที่ ๑๐ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ผมจึงใคร่ขอเชิญชวนทุกท่านน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระบูรพกษัตริยาธิราชเจ้าทุกพระองค์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ ที่ปกเกล้าปกกระหม่อมชาวไทยให้ร่มเย็นเป็นสุข และรักษาเอกราช อธิปไตย ยั่งยืนมาได้จนถึงทุกวันนี้
       
       วันเดียวกัน ในปีนี้ เมื่อไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับใหม่ แก่ประชาชนชาวไทยเรียบร้อยแล้ว
       
       นับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ ๒๐ ในประวัติการเมือง ๘๕ ปีของไทย และเป็นรัฐธรรมนูญที่ได้รับความเห็นชอบในการออกเสียงประชามติถึง ๑๖ ล้านเสียงเศษ คิดเป็นร้อยละ ๖๑.๓๕ จากจำนวนผู้มาใช้สิทธิออกเสียงประมาณ ๓๐ ล้านคน หรือร้อยละ ๖๐ ของผู้มีสิทธิทั้งหมด
       
       ผลที่เกิดขึ้นจากการนี้ คือ
       
       ๑. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ ซึ่งใช้มาประมาณ ๒ ปีเศษ เป็นอันสิ้นสุดลง
       
       ๒. ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ คณะรัฐมนตรีชุดนี้จะยังคงอยู่ต่อไป เช่นเดียวกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จนกว่าจะมีการเลือกตั้ง แม้แต่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะยังคงอยู่ต่อไปอีกระยะหนึ่ง
       
       ๓. ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ สิทธิเสรีภาพของพี่น้องทั้งหลายจะมีเพิ่มขึ้น แต่ต้องไม่ลืมว่าหน้าที่ของชนชาวไทยก็เพิ่มจากเดิมด้วยเช่นกัน เพราะคนเราเมื่อมีสิทธิ ก็ต้องมีหน้าที่คู่กัน จะเรียกร้องแต่สิทธิ หรือเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว มิได้ เช่นเดียวกับรัฐ ซึ่งมีหน้าที่มากขึ้น แม้แต่การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการใช้อำนาจรัฐ และการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทั้งหลาย ไม่ว่าทหาร ตำรวจ หรือพลเรือน ก็ต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้นกว่าเดิม
       
       ๔. มีภารกิจสำคัญ ๒ เรื่อง ที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่บัญญัติให้ต้องทำ คือ การวางยุทธศาสตร์ชาติระยะยาว เพื่อกำหนดเป้าหมายการพัฒนาประเทศ ทั้งในทางการเมือง การปกครอง ความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม ว่าเราจะเดินหน้าต่อไปในทิศทางใด และด้วยวิธีการอย่างไร
       
       อีกเรื่องหนึ่งที่ควบคู่กัน คือ การปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ เพื่อจะได้ก้าวเดินต่อไปอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามยุทธศาสตร์ชาติ
       
       ภารกิจนี้มีความสำคัญมาก โดยระยะหนึ่งถึงกับพูดกันว่า “จะปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง หรือจะเลือกตั้งแล้วจึงค่อยปฏิรูป” การดำเนินการทั้ง ๒ ภารกิจนี้จะต้องมีกฎหมายมารองรับเพื่อกำหนดผู้รับผิดชอบ กำหนดวิธีดำเนินการ และขั้นตอนต่างๆ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งรัฐบาลจะได้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในเร็ววันนี้
       
       คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และรัฐบาล ไม่ได้เข้ามาเพื่อต้องการอำนาจและผลประโยชน์ หรืออยู่ยาวนาน โดยปล่อยให้เหตุการณ์ต่างๆ ผ่านพ้นไปแต่ละวันโดยเปล่าประโยชน์ หากแต่ต้องการแก้ปัญหาเดิมๆ ที่ค้างคาอยู่ จนเป็นกับดักสกัดกั้นความเจริญของชาติ ทั้งนี้ ได้เคยแจ้งแผนและขั้นตอนการทำงาน หรือที่เรียกว่าโรดแมป ให้พี่น้องทั้งหลายทราบล่วงหน้ามาตั้งแต่แรกแล้วว่า ช่วงเวลาระยะที่ ๑ จะเป็นการบริหารประเทศโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งได้สิ้นสุดลงแล้ว หลังจากใช้เวลาสั้นๆ เพียง ๒ เดือน
       
       ช่วงเวลาช่วงต้นของระยะที่ ๒ ก็คือ การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และจัดตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นบริหารประเทศ ตลอดจนแต่งตั้งคณะบุคคลขึ้นยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งใช้เวลามาจนถึงบัดนี้ ๒ ปีครึ่ง
       
       ช่วงปลายของระยะที่ ๒ ก็คือ การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเริ่มต้นแล้วในวันนี้
       
       แผนและขั้นตอนการทำงานในช่วงปลายต่อจากนี้ไป คือ การบริหารประเทศโดยการเสริมสร้างความมั่นคงในทุกๆ ด้าน รักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง พัฒนาคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ และแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ให้ทันสมัย ตลอดจนเตรียมการปฏิรูปประเทศ เตรียมการด้านยุทธศาสตร์ชาติ และสร้างความสามัคคีปรองดองของชนในชาติ ซึ่งรัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นกำกับดูแลและขับเคลื่อนงานเหล่านี้ไว้แล้ว ดังที่เรียกตัวย่อว่า “ป.ย.ป.”
       
       นอกจากนั้น ในช่วงปลายของระยะที่ ๒ นับจากวันนี้ไป จะเป็นการเริ่มต้นของเหตุการณ์ต่างๆ ได้แก่ การที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ๑๐ ฉบับ ให้แล้วเสร็จภายใน ๘ เดือน แต่ละฉบับจะเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณา ซึ่งจะต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน ๒ เดือน หากมีการแก้ไขเพิ่มเติม ก็จะใช้เวลาเพิ่มอีกประมาณ ๑ เดือน
       
       ต่อจากนั้น จึงนำทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้เป็นกฎหมายภายใน ๙๐ วัน เมื่อประกาศใช้กฎหมาย ๔ ฉบับแรก เฉพาะที่จำเป็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งครบถ้วนแล้ว ก็จะเข้าสู่ช่วงเวลาของการเลือกตั้ง อันประกอบด้วย การสมัครรับเลือกตั้ง การรณรงค์หาเสียง และการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ซึ่งต้องทำให้เสร็จภายใน ๕ เดือน นับจากวันประกาศใช้กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งครบ ๔ ฉบับ
       
       รัฐบาลไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าวันเลือกตั้งจะเป็นเมื่อใด เพราะยังไม่อาจกำหนดวันเริ่มต้นของแต่ละเหตุการณ์ได้ บัดนี้ เราทราบเพียงวันเริ่มต้นนับหนึ่งของเหตุการณ์แรก คือ การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ต่อจากนั้น เหตุการณ์อื่นๆ ก็จะขับเคลื่อนเลื่อนไหลไปตามลำดับ อันที่จริง ไม่ว่าใครก็ไม่อาจระบุวัน เวลา ชัดเจนได้ นอกจากคาดเดาว่าน่าจะเป็นเมื่อนั้นเมื่อนี้ ขั้นตอนทั้งหลายจะเป็นดังที่เรียนมา และไม่ได้เพิ่งมากำหนดใหม่ในวันนี้ หากแต่ทุกคนทราบมาตั้งแต่การออกเสียงประชามติแล้ว โดยไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลง
       
       สิ่งที่เปลี่ยนแปลง คือ การเริ่มต้นนับหนึ่งของแต่ละเหตุการณ์เท่านั้น เมื่อการเลือกตั้งเสร็จสิ้น และจัดตั้งรัฐบาลใหม่แล้ว รัฐบาลนี้ก็จะส่งมอบภารกิจให้กับรัฐบาลใหม่ และสิ้นสุดการทำงานลง อันจะเป็นการเริ่มช่วงเวลาระยะ ๓ ตามโรดแมปต่อไป
       
       นับจากวันนี้ รัฐบาลจะยังคงอยู่กับพี่น้องทั้งหลาย และปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แม้แต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ก็จะยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป บรรดาประกาศ และคำสั่งของ คสช. หรือหัวหน้า คสช. ที่ออกไปแล้ว ยังคงมีผลใช้บังคับ อำนาจตามมาตรา ๔๔ ยังคงมีอยู่ ซึ่งจะใช้ภายใต้หลักเกณฑ์เดิม คือ ใช้เท่าที่จำเป็น เร่งด่วน เพื่อรักษาความมั่นคง และความสงบเรียบร้อยของประเทศ หรือเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปและแก้ปัญหาของประเทศ ซึ่งไม่อาจใช้มาตรการปกติได้ทัน หากเนิ่นช้าออกไปจะเกิดความเสียหายแก่ส่วนรวม
       
       พี่น้องประชาชนที่เคารพ รัฐบาลขอให้โอกาสต่อจากนี้ไป เป็นเวลาที่ทุกคน ทุกฝ่าย ทุกภาคส่วน จะได้ร่วมมือกันยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาประเทศตามแนวทางประชารัฐ และปฏิบัติตามบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่มุ่งเห็นประเทศไทยมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในทุกทาง ในการร่วมกันสร้างความสามัคคีปรองดอง ตลอดจนรักษาความสงบเรียบร้อย สร้างบรรยากาศที่สงบและสันติสุข เอื้ออำนวยต่อวาระแห่งชาติที่จะมาถึง นั่นคือ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ใหม่ แม้แต่การเตรียมการเลือกตั้ง ภายใต้ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย บริสุทธิ์ และยุติธรรม เพื่อแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ ภายใต้กฎเกณฑ์ กติกาใหม่ เมื่อเป็นวาระแห่งชาติสำคัญ จึงไม่ควรที่ผู้ใดจะทำให้เสียบรรยากาศ หรือทำให้เสียความรู้สึก และเสียความตั้งใจของประชาชนชาวไทย
       
       รัฐบาลขอขอบคุณพี่น้องประชาชนที่ช่วยกันประคับประคองสถานการณ์ ช่วยกันรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง และช่วยกันขับเคลื่อนโรดแมป จนผ่านพ้นช่วงเวลาและขั้นตอนต่างๆ มาได้ด้วยดี และขอเดชะพระบารมีแห่งสมเด็จพระบูรพกษัตริยาธิราชเจ้าในพระบรมราชจักรีวงศ์ จงพิทักษ์รักษาราชอาณาจักรไทยให้สงบสุข และปกเกล้าปกกระหม่อมประชาชนชาวไทย ให้เย็นศิระเพราะพระบริบาล สืบเนื่องต่อไปตราบกาลนาน เทอญ 


“วิษณุ” รับ รบ.ต้องปรับรับ รธน.ใหม่ ชี้ กม.ลูกออกไม่ทันจึงใช้ ม.44 สรรหาตุลาการฯ-คตง.

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

       รองนายกฯ ระบุ รัฐบาลต้องปรับปรุงการทำงานใหม่หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ แจงใช้ ม.44 สรรหาตุลาการศาล รธน.- คตง. เหตุกฎหมายลูกออกไม่ทันหมดวาระ ขอดูก่อน กสม. ที่เหลือทำงานได้หรือไม่
       
       วันนี้ (6 เม.ย.) เมื่อเวลา 16.15 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย พ.ศ. 2560 ว่า หลังจากมีรัฐธรรมนูญใหม่สถานภาพของแม่น้ำ 5 สายจะค่อยๆ สิ้นสุดลงไป แต่ที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด คือ สิทธิเสรีภาพประชาชน ที่ผ่านมาเราไม่เคยมีหน้าที่ของรัฐ แต่ครั้งนี้มีหน้าที่ของรัฐในมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ และสิทธิของประชาชนได้มีเพิ่มเติมหลายเรื่อง นอกจากนี้ ยังมีอะไรใหม่ๆ แต่จะเกิดขึ้นเมื่อมีรัฐบาลและสภาใหม่ ส่วนการทำงานของรัฐบาลชุดปัจจุบันจะต้องมีการปรับปรุงในบางส่วนให้ตรงกับรัฐธรรมนูญ
       
       ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้วจะนับวันไปสู่วันเลือกตั้ง จะมีการผ่อนปรนข้อบังคับพรรคการเมืองหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า นายกฯเคยชี้แจงแล้วว่าให้ฝ่ายความมั่นคงเป็นผู้พิจารณา เมื่อถามอีกว่า รัฐบาลจะนำคำสั่งตามมาตรา 44 มา ปรับปรุงใหม่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นนโยบายของ คสช. ที่จะให้ฝ่ายกฎหมายทยอยดูว่าส่วนใดจะยกเลิก ส่วนใดนำมาควบรวมกัน ไม่ให้กระจัดกระจาย ส่วนใดที่จะให้อยู่ต่อหลังการเลือกตั้งให้ทิ้งไว้ ใครจะยกเลิกทีหลังต้องออกเป็นพ.ร.บ. หลายฉบับมีการเขียนระบุไว้ว่าให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปเขียนกฎหมาย เมื่อ พ.ร.บ. ออกมาคำสั่งนั้นจะถูกยกเลิกไป
       
       เมื่อถามถึงคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 23/2560 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาความต่อเนื่องของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ นายวิษณุ กล่าวว่า เรื่องนี้มีความจำเป็น เพราะจะมีกรรมการในองค์กรอิสระบางแห่งพ้นวาระก่อนกฎหมายลูกจะออกมา จึงได้มีการประสานกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แล้วว่าจะออกคำสั่งในลักษณะนี้ เนื่องจากแม้ตอนนี้จะสรรหาใหม่ แต่พอกฎหมายลูกออกมาจะมีการเซตซีโร่หรือไม่ คนจะสมัครจะไม่กล้า เพราะไม่รู้อยู่ได้นานแค่ไหน การแก้ปัญหาจึงนำหลักเกณฑ์ที่คิดจะออกเป็นกฎหมายลูกมาออกเป็นคำสั่ง โดยยึดหลักเกณฑ์ตาม กรธ.
       
       รองนายกฯ กล่าวว่า ในคำสั่งดังกล่าวมีการระบุถึง 2 องค์กร คือ ศาลรัฐธรรมนูญ และ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ซึ่งจะมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะครบวาระใน พ.ค. 60 เราจึงให้รักษาการต่อ และให้มีการสรรหาระหว่างนั้น โดยยึดคุณสมบัติตามกฎหมายลูกที่ กรธ. แจ้งมา ส่วน คตง. ที่จะครบวาระใน ก.ย. 60 จะให้ทำเช่นเดียวกัน รวมถึงตัวผู้ว่าฯ สตง. ที่จะมีอายุครบ 65 ปี ที่ต้องพ้นวาระตามกฎหมาย ให้ทำหน้าที่ต่อไปจนถึง ก.ย. 60 เช่นกัน และให้ยึดวาระการดำรงตำแหน่งตามคำสั่งนี้ ส่วนกรณี นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ลาออกนั้น เรื่องเพิ่งเกิดขึ้น ยังไม่ได้คิด คงต้องดูว่าเท่าที่มีอยู่ยังสามารถทำงานได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้อาจจะต้องสรรหา โดยต้องคุยกับ กรธ. 


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ประกาศใช้เป็นทางการ ราชกิจจาฯ เผยแพร่ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 2560

view