สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ดราม่า พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว 2560 (2) ขอ กทม.-ปริมณฑลเป็น 1 พื้นที่ แก้ปัญหาทำงานย้ายข้ามเขต

จากประชาชาติธุรกิจ

เพิ่งจะสงบลงได้ชั่วคราวหลังจากรัฐบาล คสช.ตัดสินใจใช้ ม.44 เลื่อนเวลาบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 บางมาตราที่มีผลกระทบเกี่ยวกับอัตราค่าปรับใหม่ออกไป 6 เดือน โดยให้มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2561 แทน

แขกรับเชิญวันนี้ “วิโรจน์ เจริญตรา” กรรมการผู้จัดการ บริษัท พรีบิลท์ จำกัด (มหาชน) บริษัทรับเหมาก่อสร้างอาคารติดอันดับท็อป 5 ร่วมเปิดมุมมองถึงผลกระทบที่มีต่อวงการอสังหาริมทรัพย์

“รับเหมาจับเข่าคุยกัน เดือดร้อนมากตอนนี้” คำบ่นสั้น ๆ มาพร้อมกับคำอธิบายยาว ๆ

“พรีบิลท์เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทำถูกกฎหมาย 100% แต่เรามี 10 กว่าไซต์ก่อสร้างต้องใช้รับเหมาช่วง แรงงานก็มีเปลี่ยนหน้าเปลี่ยนตาไปเรื่อย ๆ เราก็ตรวจไม่ไหวหรอก ตัวรับเหมาช่วงเองก็ตรวจไม่ไหว เพราะไม่ได้มีงานต่อเนื่อง ไม่เหมือนบริษัท สมมุติรับเหมาช่วงทำงานได้ 6 เดือน ตกงาน 1 เดือนรองานใหม่ลูกน้องก็หนีหมดเพราะไม่มีอะไรจะกิน เพราะฉะนั้นรับเหมาที่รับเป็นโควตาต้องแบกต้นทุนค่าแรงงานตลอดไม่ว่าจะมีงานหรือไม่มีงาน”

วิโรจน์ เจริญตรา

แนะลดค่าหัวเหลือ 5-6 พัน

ประเด็นการสนทนาจึงพุ่งเป้าเป็นเรื่อง “ค่าใช้จ่าย” ในการนำเข้าแรงงานต่างด้าวของผู้ประกอบการไทย”ตอนนี้ปัญหาส่วนใหญ่ การที่จะให้แรงงานต่างด้าวเข้าระบบ มีค่าใช้จ่ายตกหัวละ 2 หมื่นบาทบวกลบ ถ้าเป็นแรงงานเขมรแพงกว่าหน่อยหนึ่งแต่ได้พาสปอร์ต 10 ปี เลยแพงกว่าอยู่ที่หัวละ 2.5 หมื่นบาท แรงงานพม่าถูกกว่า”

อยากรู้ว่าเดือดร้อนยังไง ให้ลองนึกดู กรณีผู้รับเหมารายย่อยหรือผู้รับเหมาช่วง ถ้ามีลูกน้อง 10 คน คูณด้วยหัวละ 2-2.5 หมื่นบาท เท่ากับมีค่าใช้จ่าย 4-5 แสนบาท บอกได้เลยว่าส่วนใหญ่ไม่มีเงินหรอก

ดูเหมือนยังเดือดร้อนไม่พอ เพราะหลังจากนำเข้าแรงงานต่างด้าวแล้ว วิธีการปกติคือนายจ้างหรือผู้นำเข้าจ่ายเงิน 2-2.5 หมื่นบาทให้ก่อน จากนั้นแรงงานต่างด้าวก็ทำงานแล้วให้หักเงินเดือนมาคืนทีหลัง

ปัญหาใหม่เกิดตามมาทันที เพราะแรงงานต่างด้าวเมื่อได้เข้ามาในประเทศไทยแล้วมักจะทำกับนายจ้างคนเดิมแค่ 1-2 เดือนก็ย้ายที่ทำงาน ย้ายไปหานายจ้างใหม่ เหตุผลง่ายนิดเดียวเพราะทำงานกับนายจ้างใหม่ได้รับเงินเต็มเดือน เทียบกับอยู่กับนายจ้างเดิมต้องถูกหักเงิน

“เพราะฉะนั้น อยากให้เข้าระบบจริง ๆ รัฐบาลต้องลดค่าใช้จ่ายตรงนี้ เพราะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ผู้รับเหมาย่อยถ้ามีลูกน้อง 20-30 คนก็แบกค่าใช้จ่ายตรงนี้ไม่ไหวแล้ว เป็นไปได้ไหมอย่าให้ถึง 2 หมื่นบาท หัวละ 5-6 พันบาท หากค่าใช้จ่ายถูกลงคนทำงานทั้งนายจ้างลูกจ้างก็จะเข้าระบบกันหมด ส่วนรัฐบาลก็ไปหักภาษีหรือประกันสังคมให้มากขึ้น อาจหักกองทุนส่งคืนประเทศหรืออะไรก็ว่าไป ไปหารายได้เข้ารัฐทางอื่นจะดีกว่า”

สิ่งที่ประเมินก็คือหลังจากเวลาผ่อนผัน 6 เดือนหมดลงและเริ่มบังคับใช้กฎหมายใหม่ที่มีอัตราโทษรุนแรง โดยเฉพาะค่าปรับสูงสุดหัวละไม่เกิน 2 หมื่นบาทเพิ่มเป็น 4-8 แสนบาท ถ้ายังไม่สามารถจูงใจการใช้แรงงานต่างด้าวให้เข้าระบบได้ ปัญหาก็ยังทิ้งเชื้ออยู่ดี

จับตาขึ้นค่าตัว-วัสดุจ่อปรับ

คำถามหลัก คือ ต้นปีหน้าผลกระทบยังมีหรือไม่ ถ้ามี ระดับความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน

“ผมว่าหลังจากผ่อนผัน 6 เดือน สิ่งที่จะกระทบ 1.ขาดแคลนแน่นอน เกิดภาวะแย่งคนงาน บางคน (แรงงานต่างด้าว) กลับไปถ้ายุ่งยากก็ไม่มา หรือไม่มีเงินเพราะค่าปรับสูงมาก ย้ายไปทำงานประเทศอื่นก็มีนะ หรือกลับไปทำงานพม่าเลย งานที่โน่นก็บูม ค่าแรงที่พม่าก็เริ่มจะสูง ค่าครองชีพยังต่ำ ผมกลัวว่าจะกลับมาไม่หมด”

ภาวะแย่งแรงงานเล็ก ๆ ได้ก่อตัวขึ้นมาแล้ว “วิโรจน์” บอกว่า ณ ตอนนี้มีการอัพค่าแรงกันแล้ว เช่น เคยจ้างแรงงานต่างด้าว 300 บาทตอนนี้เริ่มมี 320-330 บาทแล้ว ในขณะที่แม้แรงงานก่อสร้างขาดแคลน แต่คนไทยก็ไม่ทำอาชีพนี้อยู่แล้ว หรือทำน้อยลง

“ยิ่งปีหน้าบอกว่าจะมีเมกะโปรเจ็กต์ภาครัฐประมูลออกมาอีกจำนวนมาก ต่อไปค่าก่อสร้างขึ้นแน่นอน เพราะไซต์ก่อสร้างทุกวันนี้พึ่งแรงงานต่างด้าว 70-80%”

2.ค่าวัสดุก่อสร้างจะขึ้น เพราะอย่าลืมว่าวัสดุแต่ละตัวก็ใช้แรงงานต่างด้าวเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนราคาสินค้า โฟกัสสินค้ากลุ่มที่ใช้แรงงานหรือกลุ่มที่ไม่ได้ใช้เครื่องจักรในการผลิต เช่น ทำประตู หน้าต่าง ประเมินต้นทุนค่าวัสดุน่าจะเห็นเพิ่มขึ้น 5%

บ้าน-คอนโดแพงขึ้นหรือไม่

สำหรับคำถามกระแทกใจผู้บริโภคมากที่สุดหนีไม่พ้นบ้าน-คอนโดมิเนียมขึ้นราคาหรือไม่

“แนวโน้มต้นทุนค่าแรงขึ้น กระทบกับค่างาน ณ วันนี้เขาปรับกันแล้ว วันนี้ถ้าใครยังไม่ได้เซ็นสัญญา ราคาก่อสร้างก็ต้องปรับโครงการอสังหาฯ ส่วนใหญ่ล็อกรับเหมาไม่เกิน 6 เดือน หลังจากนั้นน่าจะได้เห็นงานใหม่ต้องขึ้นแน่นอน”

ในทางเทคนิค คำนวณคร่าว ๆ ผลกระทบหากค่าแรงงานขึ้น กรณีโครงการไฮเอนด์ ถ้าใช้สูตรค่าก่อสร้างต่อต้นทุนที่ดิน 50/50 แล้วมีการขอขึ้นค่าแรง 5% เทียบเท่าต้นทุนแพงขึ้น 2.5% ของราคาอสังหาฯ

ในขณะที่โครงการโลว์เอนด์หรือกลุ่มตลาดกลาง-ล่าง ถ้าสูตรค่าก่อสร้างต่อต้นทุนที่ดิน 70/30 (ปกติทำเลตลาดนี้ที่ดินจะถูกกว่า) แล้วมีการขอขึ้นค่าแรง 5% เทียบเท่าต้นทุนแพงขึ้น 3-4% ของราคาอสังหาฯ

อย่างไรก็ตาม วิเคราะห์แบบระดับวิกฤต ปัญหาราคายังด้อยกว่าปัญหาขาดแคลนแรงงาน

“ราคามันปรับได้แต่ผมมองว่าแรงงานขาดแคลนเป็นเรื่องเดือดร้อนมากกว่า ถ้าก่อสร้างและส่งมอบไม่ทัน เศรษฐกิจชะงักหมด ทั้งโปรเจ็กต์รัฐและเอกชน ความสามารถในการแข่งขันของประเทศก็ลดลง ถ้าแรงงานเราไม่จูงใจ (ให้เข้ามาทำงาน) ก็ไม่รู้จะเอาอะไรแข่งขันแล้ว”

สางปมใหญ่ “ย้ายข้ามเขต”

สุดท้าย ข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลอันดับแรกรัฐต้องเพิ่มโควตา และต้องเปิดให้เขา (แรงงานต่างด้าว) ทำบัตรเพราะบัตรชมพูหมดอายุ 5 ปีแล้วภายใน 31 มีนาคม 2561 แรงงานต่างด้าวก็ต้องเดินทางกลับไปทำเอกสารที่ประเทศต้นทางอีก

กับข้อเสนอสำคัญไม่แพ้กันคือ การแก้ปัญหาการย้ายข้ามเขตของแรงงานต่างด้าว โดยขอให้พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็น 1 เขต

“สภาพปัญหาในกรุงเทพฯ แค่ย้ายไซต์ก่อสร้างจากพญาไทไปสีลมก็โดนจับแล้ว สัญญางานของผมในกรุงเทพฯ มี 10 กว่าไซต์ ต้องทำเรื่องวุ่นวายไปเลยล่ะ เวลาก็นานไป ควรแจ้งปุ๊บย้ายปั๊บได้เลย แต่กลายเป็นว่าต้องรออีก 7 วันซึ่งแรงงานรอไม่ได้หรอกเพราะทำงานรายวันมีรายได้รายวัน ต้องกินต้องใช้ทุกวัน ในทางเทคโนโลยีตอนนี้มีบัตรสมาร์ทการ์ด แจ้งที่ไหนก็รู้ได้เลย รัฐบาลตามได้หมด”

สิ่งที่เอกชนเอาใจช่วยรัฐบาลมากที่สุดคือการสร้างสมดุลระหว่าง “ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม” เพราะเข้าใจดีว่าถ้าทุกอย่างทำมาเป็นสิบ ๆ ปีแล้วคงลำบากที่อยู่ ๆ จะมาแก้ให้เสร็จใน 6 เดือน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ดราม่า พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว 2560 กทม.-ปริมณฑล 1 พื้นที่ แก้ปัญหาทำงานย้ายข้ามเขต

view